Skip to main content

สวัสดีนักท่องเที่ยว

ระหว่างทางนักท่องเที่ยวเจออะไรมาบ้าง ฉันมาอยู่เชียงใหม่สิบกว่าปี แต่บ่อยครั้งที่รู้สึกว่า ตัวเองเหมือนนักท่องเที่ยว

ฉันจะเล่าให้ฟังว่า  ส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ วันที่ 19 ธันวาคม ฉันไปงานคอนเสิร์ตเปิดฝักหรือจะเรียกว่าคอนเสิร์ตเมล็ดพันธุ์  ฉันซื้อข้าวของซึ่งเป็นอาหารอินทรีย์ พวกผักอินทรีย์ต่าง ๆ มัดละห้าบาท ถั่วเหลืองลิตรละสามสิบบาทเพื่อเอาไปทำน้ำเต้าหู้ และยังมีเมล็ดพันธุ์แจกในงานด้วย


ในงานนี้ไม่มีใครใช้โฟมสำหรับใส่อาหาร ไม่มีขยะมากมายเหมือนงานอื่น ๆ แสดงว่า การจัดงานที่มีผู้คนมารวมกันอยู่มากมาย หรือกินกันตลอดนั้น ก็ไม่จำเป็นต้องมีขยะพลาสติกหรือโฟมกองโตก็ได้ ที่นี่เขาขายขนมจีนกันแต่ใช้จานที่กินแล้วเอาไปล้าง  เขาขายของปิ้งย่างแต่ใช้จานกระดาษและใบตอง แสดงว่าผู้คนมีชีวิตอยู่ได้ด้วยการทำขยะน้อย ๆ หรือไม่ทำขยะเลยก็ได้ เขาจัดกันที่ สำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เป็นงานที่ให้เกียรติและเคารพสถานที่

สัปดาห์ต่อมา วันที่ 24 - 27 ธันวาคม ฉันไปงาน  "MICT สร้างคน สร้างชาติเทคโนโลยี" ของกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เขาว่างานนี้ให้คนทั่วไปได้เรียนรู้และเข้าถึงสารสนเทศและการสื่อสาร



เดินดูในงาน เสียงดังตลอดงาน ฉันว่าเขาใช้เสียงมากเกินไปจนไม่มีสมาธิที่จะดูอะไรเหมือนแข่งกันขายของ และที่อยากจะบอกก็คือ งานนี้ไม่สนใจเรื่องสิ่งแวดล้อมใด ๆ แค่น้ำขวดเล็ก ๆ ที่เอามาแจกตลอดเวลา อาหารทุกซุ้มขายด้วยโฟม และช้อนพลาสติก ทำขยะได้หลายตันทีเดียว สโลแกนสร้างคนสร้างชาติอย่างนี้ฟังเท่ดี

ในช่วงหนาวนี้ ใครต่อใครต่างพากันมาเชียงใหม่ เชียงใหม่จะรับภาระหนักอีกครั้งในการรับขยะจากนักท่องเที่ยว วันหนึ่งคุยกับเพื่อนเรื่องขยะ เพื่อนถามว่าเมืองเชียงใหม่กำจัดขยะด้วยวิธีไหน มีโรงงานกำจัดขยะหรือเปล่า

ฉันบอกเพื่อนว่า เคยได้ยินว่า มีโรงงานกำจัดขยะแถวดอยสะเก็ดแต่ยังไมได้เปิดใช้  แต่รู้มาว่าช่วงที่มีนักท่องเที่ยวเยอะ ๆ ต้องถ่ายขยะไปไว้ตามที่ต่าง ๆ เช่น อมก๋อย และป่าอื่น ๆ  ไปซุกซ่อนเอาไว้นั้นเอง และคิดดูเถอะว่าเมื่อฝนตกลงมาน้ำจากที่สูงไหลลงจากที่ต่ำ ผ่านขยะบนเปื้อนมากมาย และอย่าได้คิดว่า ไม่ใช่คนเชียงใหม่แล้วจะปลอดภัย ไม่ปลอดภัยหรอกแต่จะได้เป็นขั้น ๆ เป็นชั้น ๆ ไป เพราะอย่างไรน้ำก็ไหลลงสู่แม่น้ำสาขาต่าง ๆ และแม่น้ำปิงก็ไหลไปสู่เจ้าพระยาอยู่ดี

ยังมีขยะที่ถูกซุกไว้ตามที่ต่าง ๆ และถูกเผาเมื่อมีไฟไหม้ในช่วงหน้าร้อน นั่นก็เกิดมลพิษต่างในอากาศกันอย่างทั่วถึงนั่นแหละ

ต้องขอโทษนักท่องเที่ยวด้วยจริง ๆ ที่ต้องต้อนรับท่านด้วยเรื่องนี้  ขยะเป็นเรื่องน่ากลัวจริง ๆ และไม่มีใครต้องการด้วยค่ะ แค่รถขยะผ่านก็ถูกทำท่ารังเกียจ ถังขยะล้มใครก็เดินถอยห่าง

คุยกันแบบนักท่องเที่ยวนะคะ ความจริงแค่เราตระหนักว่า เมื่อจะซื้อก็คิดก่อนว่า เราทำขยะแต่ไหน กินอาหารหนึ่งอิ่มแต่ทิ้งขยะไว้เท่าไหร่ รวมทั้งเอาขยะขึ้นดอยก็ควรเอาลงกลับมาด้วยเท่านั้น แค่นี้ก็คงช่วยได้เยอะแล้ว

เพื่อนที่ทำเรื่องขยะมีข้อเสนอนักท่องเที่ยวอย่างนี้ด้วย ให้นักท่องเที่ยวเอากระบอกน้ำติดตัวไปด้วยทุกแห่ง ใช้วิธีเติมน้ำแทนซื้อน้ำขวดหรือน้ำเป็นแก้ว ๆ รวมทั้งเตรียมกล่องพลาสติกไว้หนึ่งชุด สำหรับซื้ออาหารแทนกล่องโฟม

แรก ๆ อาจจะรู้สึกไม่คุ้นเคย รู้สึกมีภาระ และอาจจะรู้สึกแปลก ๆ ที่มีคนมองหรือมีแม่ค้าไม่ยอมขาย เช่นต่อรองว่า ถ้าใส่กล่องของเราแล้วเขาจะตักไม่ถูก กะไม่ได้ว่าเท่าไหร่ แต่เราต้องยืนยันไว้ เมื่อเวลาผ่านไปเราจะรู้สึกดีกับสิ่งที่ทำและเป็นความเคยชิน กินแล้วก็ล้างไม่ต้องเอาขยะลงมาทิ้งด้วย ส่วนที่ล้างนั้นหาได้ไม่ยาก ที่ไหน ๆ ก็มีก๊อกน้ำ

ฉันเขียนเรื่องขยะบ่อย ๆ จนดูเป็นเรื่องน่าเบื่อ แต่หน้าบ้านฉันก็ยังเต็มไปด้วยขยะ โดยเฉพาะทางเข้าบ้านตรงหลังโรงเรียนบ้านทุ่งเสี้ยว บอกจริง ๆ ว่าอายเพื่อน อายผู้อ่านเลยแหล่ะ นอกจากขยะหนึ่งกองที่ไม่เคยหมดไปแล้วยังมีถุงพลาสติกขาวโพลนเต็มถนนหลังโรงเรียน มองไกล ๆ เหมือนดอกไม้ปลิว ๆ อยู่ มันเป็นที่ๆ มีผู้คนเอาขยะมาทิ้งกัน

สองวันก่อนตัดสินใจไปเก็บตรงทางเข้าบ้าน ในขณะเก็บผู้คนผ่านไปมา พวกเขาหยุดถามว่าเอาไปไหน บอกว่าขยะพวกนี้ขายได้ค่ะ ถุงพลาสติกขายได้หมดเลย และบอกเขาว่า ดูไม่สวยงามเพื่อน ๆ ญาติ ๆ มาบ้านช่วงปีใหม่อายเขา

ฟังแล้วก็เดินผ่านไป บางคนแนะนำว่า ต้องเผาเลย
มาถึงบรรทัดนี้ ผู้อ่านอาจจะพูดในใจว่า บ้านตัวเองยังทำไม่ได้เลย
ใช่...บ้านตัวเองยังยากเลย

อย่างไรก็ตาม ถ้านักท่องเที่ยวมาอ่านเจอก็ลองเริ่มต้นดูนะคะ แรก ๆ ทำได้บ้างไม่ได้บ้างก็ไม่เป็นไร เพราะเราไม่เคยชิน คนเขียนเองก็ยังทำได้บ้างไม่ได้บ้าง แต่ทุกครั้งที่ได้ทำจะรู้สึกดีกับตัวเองจริง ๆ

 

บล็อกของ แพร จารุ

แพร จารุ
มีคำกล่าวว่า "อาหารอายุสั้น คนกินอายุยืน อาหารอายุยืน คนกินอายุสั้น" แรกที่ฟังก็รู้สึกรำคาญคนพูดนิด ๆ เพราะเรากำลังกินอาหารอายุยืนแต่เราไม่อยากอายุสั้น สงสัยใช่ไหมคะว่าอาหารแบบไหนที่อายุยืน อาหารที่ปรุงแต่งมาเรียบร้อยแล้ว แช่ตู้ไว้ได้นานๆ นั่นคืออาหารอายุยืน กินกันได้นานๆ แช่ไว้ในตู้เย็น อาหารพวกนี้คนกินอายุสั้น แต่อาหารอายุสั้นก็พวกเห็ด ผักบุ้ง พวกเหล่านี้เป็นอาหารอายุสั้นอยู่ได้ไม่นาน แต่คนกินอายุยืน แต่เดี๋ยวนี้มีมะเขือเทศอายุยืนด้วยนะคะ เป็นพวกตัดต่อพันธุกรรมแบบให้ผิวแข็งไม่บอบช้ำในระหว่างขนส่ง
แพร จารุ
  1   เป็นนักเขียนมีความสุขไหม   วันหนึ่งฉันต้องตอบคำถามนี้ “เป็นนักเขียนมีความสุขไหม” ผู้ที่ถามคำถามนี้เป็นเด็กนักเรียนตัวเล็กๆ ชั้นประถมปีที่ 5 ฉันรู้สึกดีใจที่มีเด็กถามเรื่องความสุขมากกว่าเรื่องรายได้
แพร จารุ
ฉันห่างกรุงเทพฯ มานานจริงๆ นานจนไปไหนไม่ถูก ก่อนฟ้าสางรถทัวร์จอดตรงหัวมุมถนน ฉันเดินตรงเข้าไปทางถนนข้าวสารตามพื้นถนนแฉะ หาที่นั่งรอหลานมารับแต่ก็หาไม่ได้ พื้นแฉะ ๆ ผู้คนกำลังล้างพื้นกันอยู่ จึงตัดสินใจ เดินออกจากถนนข้าวสารมุ่งตรงไปทางกองฉลากกินแบ่งรัฐบาล มีคนจรนอนห่มผ้าเก่า ๆ อยู่มากมาย ตามทางเดิน  
แพร จารุ
มีเพื่อนอย่างน้อยสองคนตกหล่นไปจากชีวิต ทั้งที่ก่อนหน้านั้นเราเขียนจดหมายคุยกันอยู่เสมอ ๆ ต่อมาฉันเลิกตอบจดหมายเพื่อนทั้งสองคน 
แพร จารุ
2 กันยายน 2552 นั่งกินมะขามหวานเพลิน ๆ มะขามก็เปรี้ยวขมขึ้นมาทันที เพื่อนโทรมาบอกว่า เธอไปที่โรงพยาบาลนครพิงค์ ได้ยินเสียงตามสายที่ รพ.ขอบริจาคเงินช่วยเหลือเด็กชาวเขาที่แม่มาคลอดตายที่โรงพยาบาล “แม่มาคลอดตายที่โรงพยาบาล แสดงว่าเธอตายระหว่างคลอด” เพื่อนตอบว่าใช่ “เด็กยังอยู่รอดปลอดภัย” “ใช่”    
แพร จารุ
"อะไรเอ่ยมันโผล่ขึ้นมาจากดิน" คำถามเล่น ๆ ของเด็ก ๆ สมัยก่อนเราจะตอบว่า ขอม เพราะเคยเรียนเรื่องพระร่วง  ตอนขอมดำดิน แต่ เดี๋ยวนี้ถ้าไปตอบว่า "ขอม" เด็กไม่เข้าใจ
แพร จารุ
1 วันก่อนไปท่ากาน (ท่ากานเป็นหมู่บ้านหนึ่ง ในอำเภอสันป่าตอง เชียงใหม่ ) พบเด็ก หญิงสองคน เอาก้านกล้วยมาแกว่งไปมากระโดดเล่นกัน ดูน่ารักดี เป็นการเล่นแบบหาของใกล้ตัวมาเล่นกัน
แพร จารุ
10 กันยายน 2552 น้องคนหนึ่งโทรศัพท์มาบอกว่า “มีเรื่องตลกเศร้ามาเล่าให้ฟัง” ฉันหัวเราะ ไม่อยากฟังเธอเล่าอะไรเลยเพราะกำลังเจ็บหูอย่างแรง กำลังจะไปหาหมอ แต่เธอรีบบอกก่อนว่า “พี่ยังไม่รู้ใช่ไหม ลุงหมื่นแกฝายพญาคำ กับพ่อหลวงสมบูรณ์ ผู้ช่วยแกฝาย เขาเซ็นยินยอมให้กรมชลประทานสร้างประตูระบายน้ำแล้ว”
แพร จารุ
   บก.สุชาติ สวัสดิ์ศรี เทียบเชิญฉันเขียนเรื่องสั้น ช่อการะเกด ฉบับเทียบเชิญนักเขียนเก่าที่เคยเขียนช่อการะเกด
แพร จารุ
เธอนิ่งเงียบหลังจากกินอาหารเสร็จ "เศร้าทำไม" ฉันถามเธอ "กำลังดูกระถางต้นไม้อยู่" เธอตอบไม่ตรงกับคำถาม ฉันมองไปที่กระถางต้นไม้ มีอะไรตายอยู่ในนั้นที่ทำให้เธอเศร้า หรือว่าเศร้าที่ต้องมากินอาหารใต้ที่เมืองเหนือทั้งที่เธอเพิ่งเดินทางมาจากสามจังหวัดชายแดนภาคใต้
แพร จารุ
 ผู้ชายคนหนึ่ง เลี้ยงปลวกเพื่อเอาปลวกไปเลี้ยงปลาดุก เขาบอกว่า เขาเฝ้ามองปลวกตัวอ้วน ๆ ที่ค่อยเติบโตขึ้น และเอาปลวกไปให้ปลาดุกกิน เขาอธิบายตัวเองว่าเป็นวิถีแห่งสัตว์โลก วิธีการใช้ชีวิตให้อยู่รอดฉันแค่สะดุดใจตรงที่เลี้ยงดูเขาไว้ก่อนแล้วค่อยจัดการ ฉันคิดว่า ถ้ามันกินกันเองตามวิถีชีวิตไม่เป็นไรฉันคิดถึงถ้อยคำหนึ่ง จำไม่ได้แล้วว่า ใครพูด "เขารัก...เหมือนคนเลี้ยงหมูรักหมูที่เลี้ยงไว้" นั่นหมายถึงรักและดูแลอย่างดีเพื่อเอาไว้ฆ่าและขาย
แพร จารุ
1  ฉันเขียนเรื่องราวเกี่ยวกับความตายครั้งแรกเมื่อพ่อตายจากไป ในวันที่แม่ พี่ ๆและ ญาติ ๆ ต่างช่วยกันจัดงานให้พ่อ ผู้หญิงเตรียมอาหาร ปอกหอมกระเทียม เด็ดก้านพริกขี้หนู หั่นตะไคร้ ผู้ชายเตรียมไม้ฟืนเพื่อทำอาหาร หุงข้าว ต้มแกง ต้องหุงข้าวด้วยกระทะใบใหญ่  ต้องทำอาหารจำนวนมากในเวลาหลายวัน เรามีญาติเยอะ มีเพื่อนบ้าน และคนรู้จักมากมาย เพราะเราไม่ได้มีพ่อที่ดีต่อลูกเท่านั้นแต่มีพ่อที่ดีต่อผู้อื่นด้วย