Skip to main content

 

งานชั้นนี้ “แพรจารุ” ไม่ได้เขียนเองค่ะ เป็นของคุณวิชัย จันทวาโร ถือโอกาสเอามาลงที่นี่ เพราะตอนนี้อยู่ในช่วงเผยแพร่ให้ผู้อ่านรู้จักทะเลกลาย ทะเลไทย ที่กำลังถูกมือร้ายอย่างเซฟรอนบริษัทขุดเจาะน้ำมันข้ามชาติทำลาย ภายใต้นโยบายของรัฐไทย

***************
อา ออ ออ ออ หอ ออ อ้า
พอฤกษ์งามยามดี ป่านนี้ชอบยามพระเวลา
ออว่าจำเพาะ เจาะจงเรียกหาหลวงรองคนกล้า ถ้าว่าหลวงรองไม่มา ลูกยาจะเห็นหน้าใคร
ออว่ามาทางสายด้าย หรือไล่มาทางสายไหม
หรือว่าคนทรงไม่ชอบเนื้อหรือว่าคนเชื้อไม่ชอบใจ
ว่าจับให้แข็งๆ ขาดเรี่ยวขาดเรี่ยวสักเท่าไร
มาตะ มาตะ ขอให้พ่อมาสักเดียวใจ
ว่างานนี้มันกวดขันไม่ใช่ผลัดวันประกันพรุ่ง
อย่าให้ผีขี้ร้ายมันดูถูก เราลูกผู้ชายเดียวกัน
หรือว่าหลวงรองพ่อหนา มันตายโหง ไม่สู้เข้าโรงมโนราห์..........
ฯลฯ
 
ด้วยถ้อยคำขับขานอันสอดคล้องกังวานกับเสียงปี่มโนราห์ที่รัวถี่และเล็กแหลม อาจเป็นแรงขับส่งให้สถานที่ซึ่งยกเป็นปะรำพิธีชั่วคราวนี้ศักดิ์สิทธิ์และเข้มขลังยิ่งขึ้น  งานเชื้อท่านกลายปีนี้ จึงเนืองแน่นไปด้วยลูกหลานบ้านกลาย อ.ท่าศาลา จ.นครศรีธรรมราช ตลอดจนศรัทธาในพื้นที่ทั้งใกล้เคียงและห่างไกลที่ทราบข่าว จนทำให้บริเวณสถานที่ตั้งศาลท่านกลาย ที่ชาวบ้านในท้องถิ่นเรียกว่า “ศาลาล่าง” ดูคับแคบไปถนัดตา

 
โรงมโนราห์โรงครู เป็นอาคารชั่วคราวติดพื้นดิน หลังคามุงจาก ด้านหนึ่งยกแท่นสูงขึ้นสำหรับตั้งของเซ่นไหว้ และแทนที่นั่งสำหรับคนทรง พื้นที่ส่วนอื่นปูเสื่อกับพื้นดินสำหรับเครื่องดนตรีและมโนราห์ ที่เหลือพอให้ผู้เฒ่าผู้แก่ได้อาศัยนั่งร่วมในพิธี

เสียงปี่ถี่กระชั้น สำทับด้วยเสียงทับกับตะโพนที่หนักแน่นทรงพลัง มีเสียงโหม่งและฉิ่งคอยขับขานเพิ่มความหวานอย่างมีมนต์เสน่ห์
   เมื่อบรรเลงเป็นจังหวะจะโคนลงตัว มโนราห์สูงวัยที่ดูท่าทางไร้เรี่ยวแรงเมื่อตอนกลางวัน บัดนี้น้ำเสียงดุดันทรงพลังเริ่มขับบทไหว้ครู ลูกคู่รับเป็นจังหวะ พาให้หัวใจคนชมฮึกเหิมระคนประหวั่นพรั่นพรึงในที  ผู้คนรอบข้างเริ่มเบียดชิดเข้ามาติดโรงจนแน่นขนัดแบบไม่เสียชื่อเวทีบ้านๆ

งานเชื้อท่านกลายเปรียบได้ดังพิธีบวงสรวง ที่เชิญท่านกลายมาเข้าทรงคนทรงซึ่งจัดขึ้นเป็นประจำทุกปี ที่ศาลซึ่งมีอยู่ตลอดลำน้ำ โดยมีศาลที่ปากคลองกลายจะทำพิธีเป็นจุดสุดท้าย
 

ท่านกลาย หรือ ทวดกลาย หรือ พ่อท่านกลาย ที่ชาวบ้านเรียกขานกัน เปรียบเสมือนเทพผู้ปกปักรักษาลำน้ำคลองกลายมายาวนาน ตามประวัติซึ่งเล่าสืบทอดกันมา ท่านกลาย คือบุตรชายคนสุดท้องของพระยารามเดโช เจ้าเมืองนครศรีธรรมราช
  ในยุคที่เป็นเมืองประเทศราชของกรุงศรีอยุธยา คราวหนึ่งเมื่อมีศึกสงครามมาประชิดเมือง ท่านได้ออกรบและเสียชีวิตลงแต่ไม่มีผู้ใดพบศพ จนผ่านไปหนึ่งสัปดาห์ ศพได้ลอยทวนน้ำขึ้นมาจากปากน้ำคลองกลายโดยไม่เน่าเปื่อย ผู้คนจึงพากันฝังศพท่านไว้ทางทิศเหนือของคลองกลายใกล้ๆ ปากแม่น้ำ น่าเสียดายที่กว่า 50 ปีที่ผ่านมา บริเวณนั้นได้ถูกน้ำกัดเซาะพังทลายไปเสียแล้ว 

ข้อห้ามหลักๆ ของการใช้ลำน้ำคลองกลายที่ชาวบ้านต่างทราบกันคือ ห้ามซักมุ้ง ห้ามล้างเนื้อหมู และทำความสกปรกลงคลองกลายโดยเด็ดขาด ใครไม่ทำตามหรือลบหลู่ดูหมิ่นจะได้รับโทษต่างๆ นานา
   แต่ไม่ว่าแท้จริงแล้วสิ่งใดจะดลบันดาลให้เกิดความวิบัติต่อผู้ไม่เคารพ ความเชื่อนี้คือกุศโลบายที่ช่วยรักษาลำน้ำคลองกลายให้ยังเป็นคลองกลายจนกระทั่งปัจจุบัน

การบวงสรวงในปีนี้ก็เป็นเช่นทุกปี ที่มีการเชิญครูหมอมโนราห์ เรียกว่า
  “มโนราห์เชื้อ”  มาเป็นประธานในการพิธี เป็นผู้ส่งสารเชื้อเชิญ เริ่มต้นด้วยร้องเรียก “หลวงรอง” อดีตคือผู้รับใช้ของท่าน เป็นที่ทราบกันว่าหากหลวงรองไม่ลงทรงแล้ว เจ้าองค์อื่นๆ ก็จะไม่มาลงทรงเช่นกัน เนื่องจากไม่มีคนคอยรับใช้ ที่จะถ่ายทอดความต้องการต่างๆ

บนพื้นฐานความเชื่อเรื่องท่านกลายนี้เอง เป็นส่วนหนึ่งที่หลอมรวมชุมชนพุทธและมุสลิมไว้ด้วยกันอย่างเหนียวแน่น ซึ่งต่างให้เกียรติในศาสนาและความเชื่อซึ่งกันและกัน ชาวมุสลิมไม่ได้ถือท่านกลายเป็นเทพเช่นชาวพุทธเพราะผิดหลักศาสนา แต่ก็มิได้ลบหลู่
  กลับให้ความนับถือเป็นหนึ่งบรรพชนที่คนรุ่นต่อมาควรค่าเคารพ ชาวพุทธเองก็ยึดมั่นหนักแน่นว่าในงานท่านกลาย อาหารคาวหวานจะต้องทำให้เป็นไปตามหลักศาสนาอิสลาม ให้ทุกคนได้แบ่งปันกันกินเช่นพี่น้องร่วมหมู่บ้าน

พิธีภาคค่ำจบสิ้นไป จนรุ่งสางของอีกวันมีการเลี้ยงพระและการเข้าทรงอีกครั้งด้วยขั้นตอนเดียวกับช่วงค่ำ หากแต่เปิดโอกาสให้ชาวบ้านได้สอบถามข้อข้องใจ ทั้งความเป็นไปของบ้านเมืองและเรื่องส่วนตัว
 

ทะเลกลายที่หากินหาอยู่ของผู้คน
ในโมงยามที่ทั้งหมู่บ้านกำลังพบกับระลอกคลื่นของความเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญ เป็นเกลียวคลื่นในนามของการพัฒนา ไม่ว่าจะเป็นการมาของท่าเรือบริษัทขุดเจาะน้ำมัน (เป็นสร้างฐานปฏิบัติการเพื่อการขุดเจาะน้ำมัน) และตามมาด้วยนิคมอุตสาหกรรม อันดับแรก โรงไฟฟ้าถ่านหิน ที่หลายคนรู้สึกหวั่นกลัวยิ่งกว่าคลื่นมรสุมกลางทะเล   จึงไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจที่มีลูกหลานจำนวนมากเฝ้ารอเพื่อสอบถามความเป็นไป ในอนาคตของหมู่บ้านต่อผู้ซึ่งเปรียบเสมือนญาติผู้ใหญ่ที่คอยดูแลลูกหลานมา อย่างยาวนาน อย่างไรก็ตาม สิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ชาวบ้านนับถือบูชาย่อมฟังเสียงร้องของลูกหลาน ทุกอย่างจึงต้องขึ้นอยู่กับคนกลาย รวมถึงคนเมืองคอน และคนไทยทั้งหมด ว่าเราจะร่วมกันกำหนดอนาคตของบ้านเมือง และลูกหลานเราไว้เช่นไร ก็คงย่อมเป็นไปเช่นนั้น
 

นี่คือสิ่งแปลกปลอมกลางทะเลที่จะมาพร้อมกับความเปลี่ยนแปลงและความล่มสลายของชุมชน

ประวัติศาสตร์ยาวนานของบ้านกลาย อยู่คู่กับการ
เปลี่ยนแปลงเหมือนคำว่า “กลาย” หากจะมีการเปลี่ยนแปลงอีกครั้งก็ภาวนาให้มันเป็นไปในทางที่ดีที่งาม และชาวบ้านกลายทุกคนได้มีส่วนรับรู้และเห็นพ้องตรงกัน เชื่อว่าเมื่อนั้นจะไม่มีพายุหรือคลื่นลมระลอกใดให้เป็นสิ่งน่ากลัวสำหรับลูกหลานชาวเลอย่างคนกลายแน่นอน

การเชื้อท่านกลายที่มีทุกปีถือเป็นหลักยึดที่น่ายินดีที่ชาวบ้านมาร่วมกันเนืองแน่น และหากทุกผู้คนแข็งขันแบบนี้ในการต่อต้านการรังแกของกลุ่มทุนที่จะมาใช้ทะเล เพื่อสิ่งอื่นที่มิใช่เพื่อการดำรงอยู่ของสิ่งมีชีวิต ทั้งคนและสัตว์ เชื่อว่าประชาชนจะมีชัยแน่นอน

และเมื่อนั้น คำกล่าวที่ว่า วัฒนธรรม คืออีกเกราะป้องปกชุมชน จะเกิดขึ้นให้เห็นเป็นประจักษ์ที่บ้านกลาย

**พิมพ์ครั้งแรก คมชัดลึก
 
 

 

บล็อกของ แพร จารุ

แพร จารุ
มีคำกล่าวว่า "อาหารอายุสั้น คนกินอายุยืน อาหารอายุยืน คนกินอายุสั้น" แรกที่ฟังก็รู้สึกรำคาญคนพูดนิด ๆ เพราะเรากำลังกินอาหารอายุยืนแต่เราไม่อยากอายุสั้น สงสัยใช่ไหมคะว่าอาหารแบบไหนที่อายุยืน อาหารที่ปรุงแต่งมาเรียบร้อยแล้ว แช่ตู้ไว้ได้นานๆ นั่นคืออาหารอายุยืน กินกันได้นานๆ แช่ไว้ในตู้เย็น อาหารพวกนี้คนกินอายุสั้น แต่อาหารอายุสั้นก็พวกเห็ด ผักบุ้ง พวกเหล่านี้เป็นอาหารอายุสั้นอยู่ได้ไม่นาน แต่คนกินอายุยืน แต่เดี๋ยวนี้มีมะเขือเทศอายุยืนด้วยนะคะ เป็นพวกตัดต่อพันธุกรรมแบบให้ผิวแข็งไม่บอบช้ำในระหว่างขนส่ง
แพร จารุ
  1   เป็นนักเขียนมีความสุขไหม   วันหนึ่งฉันต้องตอบคำถามนี้ “เป็นนักเขียนมีความสุขไหม” ผู้ที่ถามคำถามนี้เป็นเด็กนักเรียนตัวเล็กๆ ชั้นประถมปีที่ 5 ฉันรู้สึกดีใจที่มีเด็กถามเรื่องความสุขมากกว่าเรื่องรายได้
แพร จารุ
ฉันห่างกรุงเทพฯ มานานจริงๆ นานจนไปไหนไม่ถูก ก่อนฟ้าสางรถทัวร์จอดตรงหัวมุมถนน ฉันเดินตรงเข้าไปทางถนนข้าวสารตามพื้นถนนแฉะ หาที่นั่งรอหลานมารับแต่ก็หาไม่ได้ พื้นแฉะ ๆ ผู้คนกำลังล้างพื้นกันอยู่ จึงตัดสินใจ เดินออกจากถนนข้าวสารมุ่งตรงไปทางกองฉลากกินแบ่งรัฐบาล มีคนจรนอนห่มผ้าเก่า ๆ อยู่มากมาย ตามทางเดิน  
แพร จารุ
มีเพื่อนอย่างน้อยสองคนตกหล่นไปจากชีวิต ทั้งที่ก่อนหน้านั้นเราเขียนจดหมายคุยกันอยู่เสมอ ๆ ต่อมาฉันเลิกตอบจดหมายเพื่อนทั้งสองคน 
แพร จารุ
2 กันยายน 2552 นั่งกินมะขามหวานเพลิน ๆ มะขามก็เปรี้ยวขมขึ้นมาทันที เพื่อนโทรมาบอกว่า เธอไปที่โรงพยาบาลนครพิงค์ ได้ยินเสียงตามสายที่ รพ.ขอบริจาคเงินช่วยเหลือเด็กชาวเขาที่แม่มาคลอดตายที่โรงพยาบาล “แม่มาคลอดตายที่โรงพยาบาล แสดงว่าเธอตายระหว่างคลอด” เพื่อนตอบว่าใช่ “เด็กยังอยู่รอดปลอดภัย” “ใช่”    
แพร จารุ
"อะไรเอ่ยมันโผล่ขึ้นมาจากดิน" คำถามเล่น ๆ ของเด็ก ๆ สมัยก่อนเราจะตอบว่า ขอม เพราะเคยเรียนเรื่องพระร่วง  ตอนขอมดำดิน แต่ เดี๋ยวนี้ถ้าไปตอบว่า "ขอม" เด็กไม่เข้าใจ
แพร จารุ
1 วันก่อนไปท่ากาน (ท่ากานเป็นหมู่บ้านหนึ่ง ในอำเภอสันป่าตอง เชียงใหม่ ) พบเด็ก หญิงสองคน เอาก้านกล้วยมาแกว่งไปมากระโดดเล่นกัน ดูน่ารักดี เป็นการเล่นแบบหาของใกล้ตัวมาเล่นกัน
แพร จารุ
10 กันยายน 2552 น้องคนหนึ่งโทรศัพท์มาบอกว่า “มีเรื่องตลกเศร้ามาเล่าให้ฟัง” ฉันหัวเราะ ไม่อยากฟังเธอเล่าอะไรเลยเพราะกำลังเจ็บหูอย่างแรง กำลังจะไปหาหมอ แต่เธอรีบบอกก่อนว่า “พี่ยังไม่รู้ใช่ไหม ลุงหมื่นแกฝายพญาคำ กับพ่อหลวงสมบูรณ์ ผู้ช่วยแกฝาย เขาเซ็นยินยอมให้กรมชลประทานสร้างประตูระบายน้ำแล้ว”
แพร จารุ
   บก.สุชาติ สวัสดิ์ศรี เทียบเชิญฉันเขียนเรื่องสั้น ช่อการะเกด ฉบับเทียบเชิญนักเขียนเก่าที่เคยเขียนช่อการะเกด
แพร จารุ
เธอนิ่งเงียบหลังจากกินอาหารเสร็จ "เศร้าทำไม" ฉันถามเธอ "กำลังดูกระถางต้นไม้อยู่" เธอตอบไม่ตรงกับคำถาม ฉันมองไปที่กระถางต้นไม้ มีอะไรตายอยู่ในนั้นที่ทำให้เธอเศร้า หรือว่าเศร้าที่ต้องมากินอาหารใต้ที่เมืองเหนือทั้งที่เธอเพิ่งเดินทางมาจากสามจังหวัดชายแดนภาคใต้
แพร จารุ
 ผู้ชายคนหนึ่ง เลี้ยงปลวกเพื่อเอาปลวกไปเลี้ยงปลาดุก เขาบอกว่า เขาเฝ้ามองปลวกตัวอ้วน ๆ ที่ค่อยเติบโตขึ้น และเอาปลวกไปให้ปลาดุกกิน เขาอธิบายตัวเองว่าเป็นวิถีแห่งสัตว์โลก วิธีการใช้ชีวิตให้อยู่รอดฉันแค่สะดุดใจตรงที่เลี้ยงดูเขาไว้ก่อนแล้วค่อยจัดการ ฉันคิดว่า ถ้ามันกินกันเองตามวิถีชีวิตไม่เป็นไรฉันคิดถึงถ้อยคำหนึ่ง จำไม่ได้แล้วว่า ใครพูด "เขารัก...เหมือนคนเลี้ยงหมูรักหมูที่เลี้ยงไว้" นั่นหมายถึงรักและดูแลอย่างดีเพื่อเอาไว้ฆ่าและขาย
แพร จารุ
1  ฉันเขียนเรื่องราวเกี่ยวกับความตายครั้งแรกเมื่อพ่อตายจากไป ในวันที่แม่ พี่ ๆและ ญาติ ๆ ต่างช่วยกันจัดงานให้พ่อ ผู้หญิงเตรียมอาหาร ปอกหอมกระเทียม เด็ดก้านพริกขี้หนู หั่นตะไคร้ ผู้ชายเตรียมไม้ฟืนเพื่อทำอาหาร หุงข้าว ต้มแกง ต้องหุงข้าวด้วยกระทะใบใหญ่  ต้องทำอาหารจำนวนมากในเวลาหลายวัน เรามีญาติเยอะ มีเพื่อนบ้าน และคนรู้จักมากมาย เพราะเราไม่ได้มีพ่อที่ดีต่อลูกเท่านั้นแต่มีพ่อที่ดีต่อผู้อื่นด้วย