[ กลิ่นเผด็จการโชยฟุ้ง! ต่ออายุ พ.ร.ก. ฉุกเฉินอีก 1 เดือน สัญญาณเฮือกสุดท้ายระบอบประยุทธ์? ]

[ กลิ่นเผด็จการโชยฟุ้ง! ต่ออายุ พ.ร.ก. ฉุกเฉินอีก 1 เดือน สัญญาณเฮือกสุดท้ายระบอบประยุทธ์? ]

เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน ที่ผ่านมาที่ประชุมคณะรัฐมนตรีมีมติต่ออายุ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน อีก 1 เดือน ทำให้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน มีอายุต่อเนื่องไปจนถึงสิ้นเดือนกรกฎาคมนี้ โดยให้เหตุผลว่าเพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่ในขณะนี้มีการระบาดอย่างหนักในหลายพื้นที่ทั่วโลก
เมื่อมองมาที่ประเทศไทย พบว่าไม่มีผู้ติดเชื้อโควิด-19 เพิ่มนอกศูนย์กักกันมาแล้วกว่า 37 วัน ทำให้มีข้อสังเกตว่า ในที่สุดแล้วการต่อ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน มีไว้เพื่อปราบปราม คุกคาม และสกัดการเคลื่อนไหวกลุ่มนักศึกษาและประชาชนที่ออกมาเรียกร้องประชาธิปไตย มากกว่าจะมีไว้เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัส ดังจะเห็นได้จากการที่แกนนำกลุ่มสหภาพนักเรียน นิสิต นักศึกษา แห่งประเทศไทยได้รับหมายเรียกจากตำรวจ เพราะทำกิจกรรมที่มีลักษณะฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน
หากพิจารณาลึกลงไปจะพบว่าการใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ของรัฐบาลในครั้งนี้ อาจเป็นการดิ้นเฮือกสุดท้ายในการรักษาอำนาจ เพราะรัฐบาลภายใต้การนำของ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา หมดสิ้นซึ่งความชอบธรรมและการยอมรับจากประชาชนไทย รวมถึงปัญหารอยร้าวภายในรัฐบาลจากการแย่งชิงตำแหน่งคณะรัฐมนตรีกันเอง
ที่ผ่านมากลเกมของ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชามีตั้งแต่การสร้างกติกาผ่านรัฐธรรมนูญให้ ส.ว.250 คนจากการแต่งตั้งเลือกนายกได้ ผลคือไม่ผิดจากคาด ส.ว.250 ต่างยกมือโหวตเลือกประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายก
เมื่อตั้งรัฐบาลได้ไม่นานก็มีการใช้พลังดูด แจกกล้วยเลี้ยงลิง เพื่อไม่ให้เป็นรัฐบาลเสียงปริ่มน้ำ เมื่อรวมกับปัญหาอื่น ๆ ทั้งการบริหารราชการแผ่นดินที่ผิดพลาดจนทำให้เศรษฐกิจขาดเสถียรภาพ การเมืองขาดเอกภาพและการยอมรับ ทำให้เกิดความเบื่อหน่ายรัฐบาลในวงกว้างทั้งคนที่ไม่ชอบรัฐบาลเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว ไปจนถึงคนทั่วไปที่ไม่ได้ติดตามการเมืองเท่าไรนัก
จนมาถึงสถานการณ์ขณะนี้ที่ไวรัสโควิด-19 ที่เป็นเหมือนฝันร้ายของรัฐบาลพันธุ์ทางของ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เพราะวิกฤติครั้งนี้ได้สะท้อนและเปิดเผยความไร้ประสิทธิภาพของรัฐบาลที่หมักหมมไว้ตั้งแต่การรัฐประหารปี 2557 มาจนหมดสิ้น กลเม็ดในการรักษาอำนาจตอนนี้เหมือนจะถูกใช้จนหมดกระบวนท่า ทำให้ที่ผ่านมาสิ่งที่รัฐบาลทำได้ไม่มีอะไรแปลกใหม่พิสดาร นอกจากการแจกข้อหาให้กับนักศึกษาและประชาชนที่ออกมาต่อต้าน และการต่ออายุ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ไปเรื่อย ๆ โดยใช้เหตุผลข้าง ๆ คู ๆ โหนไวรัสโควิด-19 ที่ไม่รู้เรื่องรู้ราว เพื่อจะได้มีอำนาจเบ็ดเสร็จต่อไป
จึงน่าสนใจว่า ณ ขณะนี้ท่าทีของรัฐบาลในการต่อ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เป็นการดิ้นเฮือกสุดท้ายเพื่อรักษาอำนาจแล้วหรือไม่? จากการรุมเร้าทั้งปัญหาภายในอย่างการแย่งชิงอำนาจกันเองของฝั่งรัฐบาล การบริหารราชการแผ่นดินที่ล้มเหลว การขาดความชอบธรรมและการยอมรับจากประชาชน และปัจจัยภายนอกอย่างการระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่ยังรุนแรง การสูญเสียอำนาจต่อรองทั้งทางการเมืองและเศรษฐกิจระหว่างประเทศ
แน่นอนว่ารัฐบาลไม่สามารถต่ออายุ พ.ร.ก.ฉุกเฉินไปเรื่อย ๆ จนพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา หมดอายุขัยไปเอง อะไรจะเป็นยุทธวิธีใหม่ของรัฐบาลในการรักษาอำนาจหากถึงเวลาที่สถานการณ์กลับมาสู่ภาวะปรกติ?
และที่สำคัญที่สุด ในขณะนี้แรงงานกว่า 8 ล้านคนเสี่ยงตกงาน เพราะเศรษฐกิจที่ตกต่ำ รัฐบาลจะรับผิดชอบและดูแลอย่างไร?