Skip to main content

[ ยิ่งกว่าแรงงานทาส ! มหาไทยใช้เงินกู้เยียวยาโควิด จ้างงาน 15,000 ตำแหน่ง เงินเดือนแค่ 5000 บาท ไร้วี่แววกระทรวงแรงงานท้วงติง ]

 

เมื่อวันที่ 31 กรกฎาคมที่ผ่านมากระทรวงมหาดไทย ได้ประชาสัมพันธ์โครงการที่ชื่อว่าโครงการอาสาสมัครบริบาลท้องถิ่นเพื่อดูแลผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิงผ่านเพจ กระทรวงมหาดไทย PR ซึ่งเป็นโครงการของกระทรวงมหาดไทยเป็นผู้เสนอไปยังคณะรัฐมนตรี เพื่อนำเงินกู้แก้ไขปัญหาโควิดของรัฐบาลมาใช้ดำเนินงานโครงการไม่เกิน 1,080.59 ล้านบาท โดย พลเอกอนุพงษ์ เผ่าจินดา ได้กล่าวต่อสื่อมวลชนอย่างภาคภูมิใจในทำนองว่า โครงการนี้เป็นโครงการที่จะช่วยเหลือ บรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนผ่านการจ้างงาน เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจภาคครัวเรือน ทำให้ประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 มีอาชีพ มีรายได้

 

โดยผู้จะเป็นอาสาสมัครบริบาลท้องถิ่นตามโครงการจะต้องปฏิบัติงานดังนี้

1.อาสาสมัครบริบาลท้องถิ่นจะต้องเข้ารับการฝึกอบรมหลักสูตรดูแลผู้สูงอายุขั้นกลาง จำนวน 70 ชั่วโมง

2.ดูแลผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิงในด้านร่างกาย จิตใจ อารมณ์ และสังคม เพื่อลดปัญหาด้านสาธารณะสุข

3.ปฏิบัติตามแผนการดูแลรายบุคคล วันละ 8 ชั่วโมง จำนวน 20 วัน/เดือน

 

ซึ่งตามลักษณะการปฏิบัติงานนั้นมีพฤติการณ์จ้างงานประจำชัดเจน ซึ่งควรจ่ายค่าตอบแทนให้ไม่น้อยกว่าค่าแรงขั้นต่ำ แต่ด้วยเหตุใดไม่ทราบได้ กระทรวงมหาดไทยกลับจ่ายค่าตอบแทนให้เพียง 5,000 เท่านั้น ซึ่งเป็นจำนวนเงินที่น้อยเกินกว่าจะบรรลุวัตถุประสงค์การทำโครงการนี้ที่ต้องการบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนจากปัญหาเศรษฐกิจ

 

เมื่อพิจารณาที่งบประมาณในการเลี้ยงดูพลเอกอนุพงษ์ เผ่าจินดาในฐานะรัฐมนตรีแล้วจะอยู่ที่ประมาณ 100,000 กว่าบาท/เดือน(ยังไม่รวมเบี้ยเลี้ยงต่าง ) จึงเป็นที่น่าคิดว่าควรลดเงินเดือนรัฐมนตรีมหาดไทยให้เหลือ 5,000 บาทจะดีกว่าหรือไม่ เพื่อให้ท่านเข้าใจว่าการจ้างงานด้วยเงินเดือนแบบนี้ไม่เกิดประโยชน์ใด ต่อประชาชน และยิ่งจะสร้างภาระให้กับประเทศที่การใช้งบประมาณจากเงินกู้ถูกใช้อย่างไร้คุณภาพ สะท้อนให้เห็นถึงความล้าหลังของรัฐบาลเผด็จการที่หวังเพียงคะแนนนิยมทางการเมืองหรือเพียงให้มีผลงานออกมาจากหน่วยงานของตัวเอง โดยไม่สนใจความเดือดร้อนของประชาชน

 

เหตุการณ์การกดขี่ผู้ใช้แรงงานโดยภาครัฐครั้งนี้ ไม่ใช่เป็นเหตุการณ์ครั้งแรก และไม่น่าจะเป็นเหตุการณ์สุดท้าย เนื่องจากกฎหมายคุ้มครองแรงงานไม่ครอบคลุมถึงการจ้างงานภาครัฐ ทำให้เป็นช่องโหว่ขนาดใหญ่ทางกฎหมายที่เอื้อให้รัฐบาลกดขี่แรงงานต่อไปโดยชอบด้วยกฎหมาย ด้วยเหตุนี้คณะกรรมาธิการการแรงงานที่มี ..ปีกแรงงาน พรรคก้าวไกล โดย นายสุเทพ อู่อ้น ประธานกรรมาธิการ นายจรัส คุ้มไข่น้ำ นายทวีศักดิ์ ทักษิณ และนางสาววรรณวิภา ไม้สน สมาชิกคณะกรรมาธิการ ได้เล็งเห็นถึงความเร่งด่วนของปัญหา จึงร่วมลงนามเสนอแก้ไขร่างกฎหมายคุ้มครองแรงงานมาตรา 4 ให้คุ้มครองถึงการจ้างงานในภาครัฐต่อรัฐสภา เพื่อแก้ไขปัญหาช่องโหว่ทางกฎหมายดังกล่าว

 

ผู้เขียน

ศุภณัฐ กิ่งแก้ว

สินีนาฎ คะมะคต

บล็อกของ แรงงานก้าวหน้า

แรงงานก้าวหน้า
ก่อนรัฐมนตรีแรงงานคนใหม่จะเปิดตัว คณะก้าวหน้าแรงงานขอเสนอ...
แรงงานก้าวหน้า
[ กลิ่นเผด็จการโชยฟุ้ง! ต่ออายุ พ.ร.ก. ฉุกเฉินอีก 1 เดือน สัญญาณเฮือกสุดท้ายระบอบประยุทธ์? ]
แรงงานก้าวหน้า
[ สมาชิกรัฐสภายุโรป เรียกร้องให้สอบสวนการหายตัวไปของวันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ ]
แรงงานก้าวหน้า
ษัษฐรัมย์ : ปัญหาที่เกิดขึ้นภายใต้วิกฤติโรคระบาดครั้งนี้มีคำกล่าวอยู่บ่อยครั้งว่า