แรงงานพลัดถิ่น คือใคร
ปัจจุบัน คนจำนวนมากต้องเดินทางจากบ้านเข้ามาในเมืองใหญ่เพื่อมาทำงานมากขึ้นเรื่อยๆ ทั้งเมืองใหญ่ในระดับโลกอย่าง กรุงเทพมหานคร หรือหัวเมืองตามภูมิภาคต่างๆ เช่น ขอนแก่น โคราช อุบลฯ เชียงราย เชียงใหม่ พิษณุโลก ชลบุรี ระยอง ภูเก็ต หาดใหญ่(มิใช่สงขลา) ฯลฯ มีตั้งแต่ คนงานในโรงงาน ไปจนถึง คนขับรถ คนทำกับข้าว เด็กเสิร์ฟ พนักงานตามห้าง รปภ. พนักงานต้อนรับ ช่างนวด พนักงานขายต่างๆ ในภาคบริการและพาณิชย์
เนื่องจากเศรษฐกิจของโลกและไทยมีลักษณะการผลิตและให้บริการในเมืองใหญ่ๆ ซึ่งดึงดูดแรงงานเข้ามาในเมืองด้วยค่าจ้าง และการทำให้ภาคเกษตรทะยอยล่มสลายไป ด้วยนโยบายการพัฒนาหลากหลายรูปแบบ บนฐานความคิดที่ว่า "รัฐควรผลิตอะไรที่มีผลตอบแทนสูง และเสียโอกาสน้อย" เป็นที่มาว่า ให้เลิกทำเกษตรที่มีรายได้น้อยและดึงแรงงงานมาอยู่ในภาคอุตสาหกรรม พาณิชย์ และบริการ แทน
ความเหงาของแรงงานพลัดถิ่น เป็นปัญหาที่ต้องแก้จริงหรือ
แรงงานจึงต้องบอกลาครอบครัว เพื่อนฝูง และคนรัก พลัดถิ่นเข้ามาอยู่เมืองใหญ่เพื่อหางาน และมีแรงงานจำนวนมากที่ต้องการติดต่อกับญาติพี่น้อง คนรัก เพื่อนฝูง เพื่อถามไถ่ทุกข์สุข รับรู้ปัญหาของกันและกัน และปลอบประโลมใจในวันที่เจ็บปวด
การใช้โทรศัพท์มือถือแทนโทรศัพท์บ้าน และการใช้อินเตอร์เน็ตผ่านอุปกรณ์สื่อสารต่างๆตั้งแต่ แล็ปท้อป ไปจนถึงสมาร์ทโฟน จึงกลายเป็นสิ่งจำเป็นในการมีชีวิตอยู่ของแรงงานพลัดถิ่น เพราะอย่างที่ทราบกันดีว่า สภาพการทำงานของแรงงานพลัดถิ่นจำนวนมากมีความเครียดสะสม รวมถึงมีลักษณะรองรับอารมณ์ของนายจ้าง และลูกค้า อย่างหนัก
การสื่อสารจึงเป็นมากกว่า "ความงี่เง่า ปัญญาอ่อน เด็กไม่โต ไร้สาระ" แต่กลายเป็น "สิทธิขั้นพื้นฐาน" ในการผักผ่อนและเข้าถึงกิจกรรมสันทนาการของแรงงาน เป็นความยุติธรรมทางสังคมที่แรงงานพลัดถิ่นพึงได้รับ ทั้งในแง่พักผ่อนหย่อนใจ และการเข้าถึง "ความรู้/ข้อมูล" อีกจำนวนมากที่แรงงานจำเป็นต้องมี แตกต่างจากการใช้อินเตอร์เน็ตและสมาร์ทโฟน เพื่ออวดความเท่ห์ เก๋ไก๋ ให้คนอื่นอิจฉา อย่างที่เข้าใจผิดกัน
สถานการณ์ในประเทศไทยเป็นอย่างไร
แต่เมื่อมองมาในประเทศไทย การสื่อสารถือเป็นบริการราคาแพงที่แรงงานจำต้องจ่าย เนื่องจากประเทศไทยไม่ได้ให้สิทธิกับประชาชนในการใช้อินเตอร์เน็ตฟรีอย่างทั่วถึง (ต่างจากอีกหลายประเทศในโลกที่เริ่มเห็นปัญหานี้ และเริ่มให้หลักประกันว่า ประชาชนจะเข้าถึงอินเตอร์เน็ตหรือการสื่อสารฟรี/ราคาถูก)
หากลองดูสัดส่วนรายจ่าย จะพบว่า ค่าโทรศัพท์/อินเตอร์เน็ต มีสัดส่วนไม่น้อยเลยทีเดียว ผู้ที่ได้ประโยชน์จากสถานการณ์เห็นจะไม่พ้น บรรษัทสื่อสาร บรรษัทผู้ขายอุปกรณ์สื่อสาร เรื่อยไปจนถึงรัฐ และหน่วยงานอิสระผู้จัดเก็บค่าธรรมเนียม
ค่าใช้จ่ายในการสื่อสาร เป็นเพียงหนึ่งในหลายรายจ่ายที่แรงงานพลัดถิ่นต้องจ่าย จึงเป็นคำตอบว่า เหตุใดตั้งใจทำงานหนักเก็บเงินเท่าไหร่ก็เหลือไม่พอจะปลดแอกเสียที เพราะมีรายจ่ายที่แพงเกินจริงอีกหลายอย่างที่รออยู่ในการเข้ามาใช้ชีวิต "ในเมือง" ต่างถิ่นฐานการผลิตเดิม เนื่องจาก แรงงานพลัดถิ่นมีเพียงค่าจ้าง ค่าตอบแทน แต่ต้องซื้อหาทุกอย่างแทน ตั้งแต่ อาหาร หยูกยา หาหมอ ค่าเช่าบ้าน เรื่อยไปถึงสิ่งบันเทิงใจ อย่างเพลง หนัง การคุยโทรศัพท์ แล่นอินเตอร์เน็ต ฯลฯ
ควรจะแก้ปัญหาไปในทิศทางไหน
คงถึงเวลาแล้วที่ต้องคิดอย่างจริงจังว่า การสื่อสาร การใช้โทรศัพท์มือถือ เล่นอินเตอร์เน็ต เป็นความฟุ่มเฟือย/กิเลส หรือเป็น "สิทธิขั้นพื้นฐาน" ที่ทุกคนต้องมีโอกาสในการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีเหล่านี้ เพราะต้องไม่ลืมว่า การกำหนดอนาคตสังคม การสร้างนโยบายสาธารณะ เกี่ยวข้องกับ "การสื่อสาร" ทั้งสิ้น หากแรงงานพลัดถิ่นยังเข้าไม่ถึงอินเตอร์เน็ตและการสื่อสาร ก็ย่อมขาดโอกาสในการมีส่วนร่วมทางเศรษฐกิจการเมืองเป็นอย่างยิ่ง
เข้าทำนอง "คนเยอะแต่เสียงเบา" ต่างจากคนอีกหลายกลุ่มที่ "คนน้อยแต่เสียงดัง" ก็เพราะประเทศไทยมีปัญหาเรื่องการ "กระจายโอกาสในการเข้าถึงเทคโนโลยีสื่อสาร" นั่นเอง
พี่น้องแรงงานทั้งหลาย รวมถึงผู้ที่คิดว่าต้องจ่ายเงินจำนวนมากไปกับการสื่อสาร เรามาร่วมผลักดันให้ "สิทธิในการสื่อสาร" เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานและสวัสดิการที่เราต้องได้ใช้ประโยชน์กันเถอะ หรืออย่างน้อยๆ ก็ผลักดันให้ราคาถูกลง และทั่วถึง มีคุณภาพมากขึ้นกัน