หลังจากความล้มเหลวของทีมชาติเปน ทำให้เกิดคำถามอย่างกว้างขวางในหมู่ชาวไทยว่าเกิดอะไรขึ้น แต่ความถดถอยนี้มีเค้าลางมาตั้งแต่ศึกฟีฟ่าคอนเฟดเดอเรชั่นคัฟ เมื่อปี 2013 ซึ่งเป็นปีที่โลกรับรู้ว่า สถานะทางเศรษฐกิจของสเปนอยู่ในภาวะล้มละลาย คนในยุโรปทราบดีว่าสิ่งที่เหลือค้างอยู่ในสเปน คือ ความขัดแย้งของกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆที่ถูกรวบเข้ามาอยู่ใต้ร่มราชอาณาจักรเดียวกัน
เมื่อถึงคราววิกฤต สารพัดปัญหาจึงประทุออกมา หลักฐาน คือ กระแสการเรียกร้องอิสรภาพเพื่อแบ่งแยกดินแดนของแคว้นคาตาร์โลเนีย และบาสก์
ทำไมทีมสเปนจึงเสื่อม
การพังทลายของระบบการเล่นแบบ ติกี้ตาก้า ที่ต้องอาศัยความร่วมมือระหว่างผู้เล่นในทีม เพื่อสอดประสานกันในเกมส์รุก ด้วยการจ่ายลูกสั้นทะลุตามช่อง ประคับประคองเพื่อนร่วมทีมกันเป็น โครงข่ายใยแมงมุม พร้อมทั้งรับผิดชอบความผิดพลาดด้วยการวิ่งไล่แย่งบอลคืนเมื่อเสียการครอบครอง ต้องการ “ความรักและรับผิดชอบ” ต่อเพื่อนร่วมทีมสูง เกิดจากอะไร
มองในแง่ศาสตร์ฟุตบอล ระบบการเล่นติกี้ตาก้าโดนศึกษาและมีการหาวิธีจัดการมาแล้วอย่างต่อเนื่อง นับตั้งแต่ ทีมเชลซี อินเตอร์มิลาน รีลมาดริด ของโจเซ่ มูริญโญ่ ซึ่งใช้ใช้แท็คติกการเล่น แบบมีระเบียบวินัยเคร่งครัดต่อการ คุมพื้นที่ ยืนปิดช่องว่าง และโจมตีด้วยจังหวะฉาบฉวยและลูกยาว เสริมด้วยแรงขับดันที่ต้องอับอายให้กับการพ่ายแพ้ต่อติกี้ตาก้ามาหลายครั้ง ความสำเร็จของมูริญโญ่ และเชลซี นำมาซึ่งการลอกแบบของทีมชั้นนำอื่นที่มีผู้เล่นระดับโลกและเต็มไปด้วยความกระหายอยากที่จะล้ม ติกี้ตาก้า ผนวกกับแทคติคฟุตบอลที่เปลี่ยนไปซึ่ง บาเยิร์นมิวนิค(2012-2013) แสดงให้เห็นด้วยการ กดดันและปิดพื้นที่ด้วยผู้เล่นทุกคน ทำให้ ตำนานของ ติกี้ตาก้า จบลงแทบจะสิ้นเชิง
ปรัชญาการเล่นแบบติกี้ตาก้า อาศัยการเคลื่อนที่ตลอดเวลาทั้งในยามครองบอล และแย่งบอลกลับมา จึงต้องพึ่งพาสภาพร่างกายที่สมบูรณ์พร้อม สมาธิในเกมส์ และความกระหายอยากได้บอล ซึ่งจิตวิญญาณเหล่านี้เสื่อมลงไปตาม ไฟในใจที่มอดไปตามความสำเร็จที่อิ่มตัว และร่างกายที่เสื่อมถอยลงไปด้วยความแก่ และสภาพร่างกายที่บอบช้ำหลังกรำศึกหนักมานานปี
ซ้ำร้ายเมื่อทีมชาติสเปนต้องมาเล่นในสมรภูมิที่อากาศร้อนชื้น จึงทำให้ความ “กรอบ” ของผู้เล่นสะท้อนออกมาเป็นความอ่อนล้าตลอดเก้าสิบนาที และถ้าเป็นคนศึกษาประวัติศาสตร์สงครามความพ่ายแพ้ของกองทัพสเปนในดินแดนแห่งป่าอะเมซอน ก็เป็นสิ่งที่สะท้อนให้เห็นเป็นตราบาปฝังในใจลึกๆ ของคนสเปน (สเปนเคยพยายามยึดครองพื้นที่แถบนี้แต่ไม่สำเร็จ โปรตุเกสทำสำเร็จด้วยนโยบายกึ่งบรรณาการเอาใจคนท้องถิ่น ก่อนที่โป๊ปจะเป็นผู้ลากเส้นแบ่งเขตอิทธิพลระหว่างสองชาติ)
เส้นทางสู่ยุครุ่งเรืองทีมชาติสเปน
ชาติ ในยามที่เศรษฐกิจเฟื่องฟู หรูหรา จนกลายเป็นฟองสบู่ฟุ่มเฟือยพร้อมจะแตกโพละออกมาในภายหลัง ฟุตบอล คือ ศูนย์รวมจิตใจ คนสเปนทั้งชาติ เพราะสามารถสานต่อความสำเร็จของสโมสรประจำเมืองต่างๆ ให้กลายเป็นความสำเร็จระดับชาติได้สำเร็จ จนดูเหมือนว่า คนในราชอาณาจักรสเปนรักใคร่กลมเกลียวเป็นหนึ่งใจเดียวกัน เทียบเคียงได้กับ กุศโลบายของ เนลสัน แมนเดล่า ในการใช้กีฬาสมานความแตกร้าวภายในชาติ ความสำเร็จของทีมรักบี้อัฟริกาใต้ก็สร้างความกลมเกลียวในระยะหนึ่ง
ความสำเร็จในช่วง 6 ปีทอง เกิดจากอะไร? หากจะหาปัจจัยส่งเสริมเห็นจะเป็น ความรุ่งเรืองของสโมสรบาร์เซโลน่า ที่ก่อตั้งขึ้นมาเพื่อเป็นสัญลักษณ์ประจำแคว้นคาตาร์โลเนีย ที่เป็นสโมสรที่คนมาเชียร์กีฬาเป็นกิจกรรมประจำทุกสัปดาห์โดยแฝงปรัชญาของคนในแคว้น คือ ตัวตนคนคาตาร์ลัน ที่วันหนึ่งจะสร้างชาติให้เป็นอิสระจากการครอบงำของ เจ้าอาณานิคมมาดริด
สโมสรฟุตบอลบาร์เซโลน่า จึงเป็นขบวนการเคลื่อนไหวที่มีประวัติศาสตร์เชื่อมโยงกับ ความพยายามแบ่งแยกดินแดนในแนวทางสันติวิธี พุดง่ายๆ คือ ภาวะสันติภาพร้อนที่รอวันปะทุ
แต่เดิม ทีมชาติสเปนมักจะล้มเหลวในทัวร์นาเม้นต์ใหญ่ แม้สโมสรจะทำผลงานได้ดีมากในระดับนานาชาติ เพราะในรอบคัดเลือกที่คู่แข่งต่ำชั้นกว่ามาก สเปนอาศัยความสามารถเฉพาะตัวของผู้เล่นระดับโลกบดขยี้ได้ง่ายๆ แต่เมื่อเข้าทัวร์นาเม้นต์ใหญ่ที่คู่แข่งสูสี ความรักใคร่รวมพลังเป็นหนึ่งเดียว แบบ All for one (Nation) ไม่บังเกิด
ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น? ใช่แล้ว มันคือ ความเกลียดชังระหว่างนักเตะเมืองหลวง กับ เหล่าสตาร์ต่างแคว้น ที่ทำให้แคมป์เก็บตัวสเปนระอุเสมอ
เคล็ดลับความสำเร็จ
การจัดการความขัดแย้งภายในทีมจึงเป็นสิ่งสำคัญที่ผู้จัดการทีมต้องทำให้สำเร็จ ก่อนที่จะเปลี่ยน พลังของนักเตะ 11 คนให้กลายเป็น กองทัพมหาประลัยที่มีใจเป็นหนึ่งเดียวกัน แต่อย่าเข้าใจผิด มันไม่ใช่การบังคับให้ทุกคนทำอย่างเดียวเป็นหุ่นยนต์ทื่อๆ แต่เป็นการรีดเค้นความสามารถที่แตกต่างหลากหลายของผู้เล่นให้กลายเป็น อาวุธที่มีหลายคม สามารถทิ่มแทงศัตรูได้หลายทิศทางและหลากรูปแบบ
การจัดการความขัดแย้ง แต่คงความหลากหลายไว้ให้ได้ จึงเป็น เคล็ดลับสำคัญนั้น!!!
ผู้จัดการทีมคนสำคัญ หลุยส์ อราโกญเยส ได้ตัดสินใจสิ่งสำคัญมากประการหนึ่ง นั่นคือการสลายขั้วทางการเมืองในทัพทีมชาติสเปน มิให้มีขั้วใดมีอำนาจข่มคนอื่นๆ จนต้องหดหัวสิ้นลาย ต้องกลายเป็นเบี้ยล่างของ นักเตะดังแห่ง รีลมาดริด
การลดอิทธิพลของเหล่าขุนพลทีมเมืองหลวงนี้มีความสำคัญมาก เนื่องจากได้ทำให้ นักเตะที่มาจากแคว้นอื่นๆ ได้มีบทบาทและเล่นตามความถนัดและเล่นเพื่อทีมมากขึ้น มิใช่เล่นเพื่อมาดริด เล่นเพื่อเจ้าอาณานิคมสเปน แต่เล่นในฐานะทีมที่สมัครใจมาเล่นร่วมกัน นั่นคือ การน้อมนำปรัชญา ฟุตบอลติกี้ตาก้า เข้ามาเป็นแนวหลักของทีม แล้วให้ผู้เล่นทุกคนวิ่งเล่นภายใต้ปรัชญานี้ร่วมกัน
สิ่งที่ค้างคา และถือเป็นการตัดสินใจที่แหลมคมมาก คือ การตัดชื่อ ราอูล กอนซาเลส ออกจากทีมชาติสเปน ซึ่งเป็นการปิดฉากอิทธิพลของ ราชันย์ชุดขาวเหนือทีมชาติสเปน
สูงสุดคืนสู่โกลาหล
หลังจากการครองอำนาจอย่างยาวนานของ โค้ชบิเซนเต้ เดล บอสเก้ ที่มีพื้นเพ จากรีลมาดริด ทำให้ผู้เล่นรีลมาดริด ขยับขยายเพิ่มอิทธิพลสูงขึ้นมา สูงขึ้นจนถึงปี 2014 ที่ความสำเร็จในระดับสโมสรทั้งในชาติและยุโรปอยู่ภายใต้อ้อมกอดของเมืองมาดริด นี่คือ การหวนกลับมาของ ลัทธิเผด็จการรวมศูนย์อำนาจและความรุ่งเรื่องไว้ที่กรุงมาดริดอีกคำรบ
หากย้อนอดีตไปเพื่อทำความเข้าใจฝันร้ายและความเจ็บปวดเก่าๆ ที่หลอกหลอนคนสเปนนอกเมืองหลวงมาดริด นั่นคือลัทธิเผด็จการเบ็ดเสร็จ ภายใต้การปกครองของจอมพลฟรังโก ซึ่งปกครองโดยการกดทับความหลากหลายของชาติพันธุ์ต่างๆที่กระจายอยู่ในดินแดนสเปนให้อยู่ภายใต้ท้อปบู้ธของกองทัพ
นายพลฟรังโก นี่เองที่เป็นผู้สร้าง สโมสรเอสปันญ่อล (ชื่อเรียก สเปน ในภาษาสเปน) มาตรึงความผยองของบาร์เซโลน่า ไว้ถึงถิ่น และการสนับสนุนสโมสร รีลมาดริดของราชวงศ์สเปนอย่างออกหน้าออกตา หลังมีการฟื้นฟูระบอบกษัตริย์ภายหลังยุคนายพลฟรังโก เพื่อสร้างสัญลักษณ์แนวโรแมนติคเพื่อยึดเหนี่ยวจิตใจคนทั้งชาติ แทนภาพลักษณ์โหดร้ายน่ากลัวของ ทหารและกองทัพ นี่คือ การเมืองเชิงวัฒนธรรมที่แนบเนียนของฟุตบอลสโมสรที่มิใช่เพียง ความสนุกสนาน แต่แฝงความหมายของการแข่งขันภายในประเทศเอาไว้ด้วย
เมื่อต้องยกระดับ ฟุตบอลสโมสรมาสู่ ฟุตบอลระดับทีมชาติ ความเผ็ดร้อนของการแข่งขันภายในยังไม่มอดดับดีนัก ผลักให้เกิดการแข่งขันกันเองระหว่างนักเตะในทีม เป็นการแข่งขันแบบไม่ร่วมมือ บวกเข้ากับ อิทธิพลของนักเตะมาดริดในทีมชาติ ทำให้เกิดถาวะ “การครองอำนาจนำของคนส่วนน้อย” จนทำให้เกิด การไม่ให้ความร่วมมือของคนส่วนใหญ่ จึงไม่เกิดการแข่งขันเพื่อพัฒนาตนเองบนพื้นฐานของความร่วมมือในทีม พูดง่ายๆ ไม่มีทีมเวิร์ค มีแต่ความสามารถเฉพาะตัว
การชิงดีชิงเด่น เล่นแบบตัวใครตัวมัน จะแสดงออกมาพอถึงคราววิกฤต คือ การไม่วิ่งเพื่อทีมนั่นเอง รวมไปถึงการประสานงานที่ย่ำแย่ และนี่คือ การทำลายปรัชญา ติกี้ตาก้า อย่างถึงแก่น
วิกฤตเศรษฐกิจ กับ การแบ่งแยกดินแดน
อย่างที่ทราบว่า เศรษฐกิจสเปนกำลังล่ม มีคนว่างงานจำนวนมาก และมีความกังวลว่ารัฐบาลจะตัดงบประมาณด้านสวัสดิการลง ทำให้คนไม่มีความมั่นคงในชีวิต สิ่งที่เกิดขึ้นอย่างแพร่หลาย คือ ทัศนคติในแง่ลบกระจายไปทั่วประเทศ
คนเริ่มมองหาว่า ใครคือต้นเหตุ ความพังทลาย โดยการมองหาคนที่ใช้จ่ายฟุ่มเฟือย คนที่ไร้ประโยชน์ คนที่เป็นตัวถ่วง ฯลฯ
การเมืองระหว่างแคว้น ปรากฏการทะเลาะเรื่องใครพึ่งใคร ใครเป็นภาระใคร ใครรวยกว่าใคร ใครเก่งกว่าใคร จนทำให้แคว้นต่างๆ เริ่มรู้สึกว่า เมืองหลวงมาดริด คือ ตัวการสำคัญของปัญหาที่เกิดขึ้น
แคว้นที่มีความแปลกแยกทางเชื้อชาติอยู่แล้วจึงเรียกร้องให้ปล่อยคาตาโลเนียออกไปเป็นอิสระ และเกิดการประท้วงใหญ่ในแคว้นบาสก์สืบเนื่องจากการจับกุมสมาชิกของขบวนการแบ่งแยกดินแดน
ศูนย์รวมจิตใจอยู่ไหน ?
อาจมีการเข้าใจผิดว่า ศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาธอลิก คือ สิ่งยึกเหนี่ยวสูงสุด แต่ในความเป็นจริง สเปนก็อยุ่ในส่วนหนึ่งของการปฏิวัติทางความคิด และแคว้นคาตาร์โลเนีย เมืองบาร์เซโลน่าก็เป็นเมืองหัวหอกของยุคแสวงสว่างทางปัญญา ด้วยเหตุที่เป็นเมืองท่า ที่มีชนชั้นกลางกระฎุมพี พ่อค้า และนักวิทยาศาสตร์ ช่างฝีมือ รวมถึงศิลปินดังอยู่มากมาย เช่น ปิกัสโซ่ จนถึง อันโตนี เกาดี้
สอดคล้องกับสิ่งที่ เฟเดอริก นิชเช่ กล่าวไว้ คือ พระเจ้าตายไปนานแล้ว สำหรับคนจำนวนมาก และยิ่งมากในหมู่คนคาตาร์ลัน สิ่งที่เป็นสิ่งยึดเหนี่ยวจิตใจมากกว่า คือ ชาติพันธุ์ความเป็นคนชาติคาตาร์ลัน ซึ่งมีภารกิจแห่งชีวิต คือ การประกาศเอกราช
นอกจากนี้ ศูนย์รวมจิตใจในลักษณะของสถาบันกษัตริย์ ก็ไม่มีผลมากนักกับคนในหลายพื้นที่ เมื่อบวกรวมการเปลี่ยนผ่านของราชวงศ์ ที่ต้องเผชิญกับสถานการณ์ความนิยมต่อราชวงศ์เสื่อมถอย กษัตริย์ฮวน คาร์ลอส จึงตัดสินพระทัยสละราชบัลลังก์ จนเกิดกระแสขอให้มีการทำประชามติเพื่อนำระบอบสาธารณรัฐกลับคืนมา
ซ้ำด้วยคดีอื้อฉาวของการล่าสัตว์และฟุ่มเฟือยของราชวงศ์ จนมาถึงเจ้าชายที่ถูกมองว่าเป็นลูกคนรวยที่ประชาชนต้องปันภาษีมาหล่อเลี้ยง เรื่อยมาถึงราชบุตรเขยที่พัวพันกับคดีหลบเลี่ยงภาษีและการทำธุรกิจสีเทา จนเจ้าหญิงต้องกลายเป็นสมาชิกราชวงศ์คนแรกที่ต้องขึ้นให้การในศาล แสดงให้เห็นว่า สถาบันกษัตริย์มิใช่ศูนย์รวมจิตใจอีกต่อไป
สังคม "อณู" ที่ทุกคนเป็นปัจเจก มีเป้าหมายเป็นของตัวเอง มีการใช้ชีวิตไม่เกี่ยวข้องกับคนอื่นนัก จึงเกิดขึ้นอย่างแพร่หลาย โดยเฉพาะวิถีชีวิตของคนรุ่นใหม่ที่ต้องการผจญภัยในต่างแดน เพื่อหลีกหนีจาก การว่างงานที่ลุกลามใหญ่โตมากเรื่อยๆ
สโมสรฟุตบอลจึงกลายเป็นศูนย์รวมจิตใจที่สำคัญมาก เนื่องจากฟุตบอลในสเปนมิใช่กีฬาของชนชั้นแรงงาน แต่เป็นสิ่งที่อยู่ควบคู่กับชีวิตของคนหลายชนชั้น และลักษณะสำคัญของสโมสรฟุตบอล คือ สัญลักษณ์ทางการเมืองวัฒนธรรมของชาติพันธุ์ ในโลกที่ คนไร้จุดเกาะเกี่ยว ไม่มีสถาบันใดให้ยึดเหนี่ยว สโมสรฟุตบอลจึงสำคัญมาก
สองสามปีหลัง ลัทธิสโมสรนิยม ท้องถิ่นนิยม จึงมาแรง และเริ่มแซงลัทธิชาตินิยม หรือทีมชาตินิยมไปอีกครั้ง หลังจากเข้ายุคทองมาไม่ถึง ทศวรรษ
ความพยายามในการรักษาความรุ่งเรือง
ตลอดระยะเวลา 4 ทศวรรษ หลังการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันในปี ค.ศ.1978 ยอมรับตัวตนที่หลากหลายของคนมากมายในดินแดนสเปน โดยสลายการผูกขาดอำนาจไว้ที่ศูนย์กลางมาดริดลง แล้วส่งเสริมความร่วมมือบนความเสมอภาคมากขึ้น สิ่งที่เห็นได้ชัดเจน คือ การปกครองส่วนท้องถิ่น
การเมืองการปกครองแบบปกครองตนเองในแต่ละแคว้น ซึ่งมีการปล่อยให้ 17 แคว้น 2 เขตปกครอง มีอำนาจในการปกครองตนเอง มีอำนาจในการตัดสินอนาคตหลายๆเรื่องได้ด้วยตนเอง มีความสามารถในการจัดเก็บภาษีท้องถิ่นและจัดสรรทรัพยากรได้เอง มีเพียงนโยบายสำคัญๆที่ต้องใช้ร่วมกัน เช่น การต่างประเทศ การทหาร และการคลังสาธารณะระดับชาติ ภายใต้รัฐธรรมนูญ
จุดเปลี่ยนนี้แสดงให้เห็น การย้ายความสำคัญจากการผูกขาดอำนาจไว้ที่จอมพลเผด็จการ และเมืองหลวง ไปสู่การออกแบบเลือกระบบ ก่อน บุคคลสำคัญ การปกครองภายใต้ปรัชญาในการอยู่ร่วมกันอย่างสันติและยอมรับความหลากหลายภายใต้กติกา รัฐธรรมนูญ จึงเป็นสิ่งสำคัญที่นำสเปน ออกจากความขัดแย้งแบบสงครามกลางเมืองที่มีมาอย่างยาวนาน
เมื่อเทียบกับการทำฟุตบอลทีมชาติ การยอมให้ ระบบติกี้ตาก้าของบาร์เซโลน่า เป็นแนวทางหลัก และให้นักเตะบาร์เซโลน่ามีตัวตนในทีมชาติ สามารถปลดปล่อยความสามารถในเชิงลูกหนังได้อย่างเต็มที่ จึงเป็นการปลดปล่อยศักยภาพของมนุษย์ให้พัฒนาไปสู่จุดสูงสุด นั่นเอง
การลดภาวะนำของมาดริด จึงเป็น การยอมรับบทบาทของผู้เล่นจากแคว้นต่างๆ อย่างกว้างขวาง ทั้ง บาสก์ บาเลนเซีย อัลดาลูเชีย ฯลฯ ส่วน ผู้เล่นจากมาดริด ก็กลายเป็นส่วนผสม มิใช่เจ้าอาณานิคมที่กดขี่ผู้อื่นในชาติอีกต่อไป
สโมสรบาร์เซโลน่า แก่งกลางของความเปลี่ยนแปลง
ทีมสโมสรบาร์เซโลน่าประสบกับภาวะถดถอยหลังจากการพ่ายแพ้ให้แก่ อินเตอร์มิลาน และเชลซี ทำให้มีการปรับเปลี่ยนรูปแบบการเล่น และตัวผู้จัดการทีม แต่บุคลิกลักษณะเดิม แบบคนรักอิสระแบบเมืองชายหาดก็ยังมี คือ การให้อิสระผู้เล่นร่ายลีลาดุจศิลปินเช่นเคย
แต่สิ่งที่ปรากฏชัด คือ ความถดถอยของตัวท้องถิ่นที่เริ่มกลายเป็นตัวรอง
แนวรับที่สะบักสะบอม - ปิเก้ อัลบ้า และเกษียณอายุ บัลเดส ปูโยล
แดนกลางที่ถดถอย - อิเนียสต้า ชาบี เอร์นานเดส เชส ฟาเบรกาส
ดาวรุ่งที่ขาดแรงกระตุ้น - บุสเก็ตส์ เปโดร
ดาวเตะคาร์ตาโลเนี่ยน จึงเป็นได้เพียงผู้แพ้ที่ต้องเจียมเนื้อเจียมตัวในระดับทีมชาติ
ส่วนดาวดังต่างชาติผู้ล้มเหลวในระดับสโมสร เกิดแรงผลักดันสู่เกมส์ระดับชาติ เพื่อพิสูจน์เองในเวทีโลก
หลักฐานความสำเร็จของตัวซุปเปอร์สตาร์ต่างชาติ
อเล็กซิส ซานเชส ที่นำชิลีผ่านเข้าสู่รอบสอง และสกัดฝันของสเปน
เนย์มาร์ อัลเวส ผู้แบกความหวังของคนทั้งชาติ ที่จะต้องนำชาติเจ้าภาพบราซิลกลับมาเป็นแชมป์โลกบนแผ่นดินเกิด จนระเบิดฟอร์มกลายเป็นตัวสำคัญสูงสุดของทีม
เมสซี่ มาสเคราโน่ คือแก่นของทีมชาติอาร์เจนติน่าทั้งในเกมส์รุกและเกมส์รับ
หัวเลี้ยวหัวต่อของราชอาณาจักรสเปน โฉมหน้าของทีมชาติสเปนหลังยุคทอง
อย่างที่ทราบกันในวงกาลฟุตบอลว่า ทางบอลของ ฮอลแลนด์ กับ บาร์เซโลน่า นั้นเกื้อกูลกันมาตั้งแต่ไหนแต่ไร สาเหตุสำคัญก็เพราะเป็นเมืองท่า แหล่งรวมพ่อค้า และอาร์ติสท์ เหมือนกัน
โยฮัน คลัฟฟ์ วีรบุรุษของฮอลแลนด์และบาร์เซโลน่า คือ นักเตะคนแรกที่เจรจากับสโมสรโดยมีนายหน้า นี่คือ หลักฐานยืนยันลัทธิเสรีนิยมใหม่ ของเมืองท่าที่ใช้ความสัมพันธ์ทางกฎหมายเป็นเครื่องมือยืนยัน ความมั่นคงทางเศรษฐกิจ จนสโมสรบาร์เซโลน่าเป็นตัวแทนความเฟื่องฟูของสโมสรกีฬาอาชีพแห่งทวีปยุโรป
บุคลิกของเมืองท่าพาณิชย์สำคัญนั้นสะท้อนออกมาเป็น ความกล้าเสี่ยงรุก ลงทุนแบบเจ้าบุญทุ่ม และพลิ้วไหวสร้างสรรค์ การชนะอย่างมีสไตลส์จึงกลายเป็นปรัชญาหลักของทั้งสองทีม
เนื่องจาก อัมสเตอร์ดัม/ฮอลแลนด์ กับ บาร์เซโลน่า/คาตาร์โลเนีย คือ สองเมืองท่าสำคัญของยุโรปที่ติดต่อระหว่างยุโรป เหนือ-ใต้
อย่างไรก็ดี ความสำเร็จของสเปนที่มีบาร์เซโลน่า ได้ทำให้ ฮอลแลนด์ละทิ้งปรัชญาเดิมไปแล้ว นับแต่ ฟุตบอลโลกครั้งก่อนนี่เน้นความแน่นอน และพยายามเอาความดิบเถื่อนมาสกัดความร้อนแรงของสเปน แต่ก็โดนดับฝันโดย อิเนียสต้า แห่งบาร์เซโลน่า
อย่างไรก็ดี ฮอลแลนด์ที่เก็บความแค้นมา 4 ปี พร้อมด้วยกุนซือที่ครั้งหนึ่งเคยกุมบังเหียนบาร์เซโลน่า ได้ก้าวเข้ามาสกัดจุดสเปนอย่างได้ผล หลุยส์ ฟานฮัล พาทริค ไคลเวิร์ต แห่งบาร์ซ่า และ รอบเบนกับสไนเดอร์ แห่งรีลมาดริด คือส่วนผสม ที่นำมาล้มสเปนได้สำเร็จ เช่นเดียวกับ ชิลี ที่มี อเล็กซิส ซานเชส เป็นตัวความหวังสูงสุดอยู่ในทีม
การมาบอลโลกด้วยความสำเร็จของทีมเมืองหลวง
เจ้าอาณานิคมในดินแดนสเปนที่ชื่อ กรุงมาดริด ประสบความสำเร็จอย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาดในปีนี้ รีลมาดริดเป็นสโมสรอันเกรียงไกร ยิ่งใหญ่สไตลส์เจ้าอาณานิคม ไม่ต่างอะไรจากสโมสรใหญ่ในอังกฤษ
การรวมสุดยอดนักเตะโลกในหนึ่งทีม เสมือนการเอามนุษย์ต่างดาวมารวมกันทั้งกาแล็คซี่ คือสิ่งที่เป็นปัจจัยความสำเร็จ แต่ความสำเร็จที่พึ่งพาแรงงานต่างด้าว ได้เหยียบซ่อนปัญหาต่างๆไว้
คนชาติที่ตกเป็นตัวสำรอง และฟอร์มตก เช่น ผู้รักษาประตู อิเคร์ กาซิยาส ผู้มากบารมี ส่วนหัวใจของทีมอย่าง ชาบี อลองโซ ก็กรำศึกหนัก และบาดเจ็บเรื้อรัง จากปริมาณศึกถี่ยิบต่อเนื่องหลายปี แต่ที่เป็นปัญหาสูงสุด ก็คือ เซร์คิโอ รามอส กัปตันทีมจอมอหังการ์ ที่สูญเสียวินัยเกมส์รับ และทำลายทีมสปิริตด้วยแนวทาง ผู้นำสูงสุดแห่งกองทัพเจ้าอาณานิคม ที่ค่อยๆเพิ่มอิทธิพล จนข่มคนอื่นมิดในทีมชาติ
ส่วนแอตเลติโก มาดริด เจ้าของแชมป์ลีกปีนี้ ทำได้ดีที่สุด คือ ส่งกองหน้าเชื้อสายบราซิลที่เรียกเสียงโห่ และเล่นไม่เข้ากับระบบติกี้ตาก้า เอาเสียเลย โกเก้ ฆวนฟราน ก็มีส่วนไม่มากนักในทีมชาติทั้งที่ฟอร์มพรวดพราดในระดับสโมสร
อนาคตของทีมชาติสเปน
สเปนล้มเหลว ก็เพราะการเพิ่มอิทธิพลของผู้เล่นจากทีมเมืองหลวง ทำให้รอยร้าวในทีมกลับมาอีกหน
สิ่งที่ หลุยส์ อราโกญเยส ทำให้สเปนขึ้นเป็นแชมป์ยุโรปสมัยแรกได้ คือ การตัด ราอูล กอนซาเลส ออกจากทีม
ทำให้การปะทะระหว่างพวกมาดริดกับแคว้นอื่นจบลง จนทำให้ผู้เล่นทุกคนรวมเป็นหนึ่งเดียว
เพราะ เมื่อไหร่ให้คนส่วนน้อยมีอิทธิพลเหนือคนส่วนใหญ่ เมื่อนั้นเกิดการไม่ให้ความร่วมมือ เพราะจะแตกสามัคคี และมีคนเมินเฉยเยอะ คนกระตือรือร้นน้อย
เรื่องการจัดการความหลากหลายด้วยเสียงข้างมาก มันก็สำคัญอย่างนี้ล่ะนะ เพราะทีมบอลมันแค่ 11 คนแล้วแยกกันอยู่แยกกันเล่นไม่ได้ ต่างจากการปกครองประเทศ ที่สามารถแยกกันอยู่ แต่ละพื้นที่ปกครองตนเองได้เป็นแคว้นๆ กันไป ไม่ต้องมาสุงสิงกันมากนัก
ดังนั้นการสลายความขัดแย้ง ยืนยันการเคารพต่อความหลากหลาย ด้วยการประสานงานกันจึงสำคัญ ไม่งั้นก็ทะเลาะกันเองไปเรื่อยๆ
อนาคตของสังคมอื่น
โลกได้ผ่านพ้นยุคอาณานิคมทางการทหารมานานแล้ว การกดหัวให้คนยอมรับอำนาจเผด็จการเบ็ดเสร็จ เป็นการกดทับ ปิดกั้นความสามารถที่แตกต่างหลากหลายของผู้คนที่มีความสามารถต่างกัน การบริหารจัดการมนุษย์จึงต้องให้การยอมรับศักดิ์ศรีความเป็นคนบนพื้นฐานความเสมอภาค แม้จะมีความแตกต่างกันมากเพียงไร เพราะการให้โอกาสแสดงความสามารถอย่างเสรีจะกระตุ้นให้มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ผู้นำจึงต้องสร้างความปรองดองให้คนในทีมทำงานร่วมกันได้ด้วยการจัดมาตรการต่างๆเพื่อสร้างภราดรภาพระหว่างกลุ่มคนที่แตกต่างหลากหลายและอาจเคยมีความขัดแย้งกันมาก่อน เพื่อสลายเงื่อนไขความเจ็บแค้นที่ดักถ่วงการประสานงานระหว่างคนในชาติ
(รูป CC BY-SA 3.0 - Football.ua)