ท่านผู้อ่านจำนวนไม่น้อยคงเคยบนบานศาลกล่าวหรือขอพรจากสิ่งศักดิ์ในยามคับขัน หรือประสงค์ในสิ่งที่อยู่นอกเหนืออำนาจที่ตัวเองจะกำหนดผลกันมาบ้าง ไม่มากก็น้อย ยังมินับรวมกระแสความนิยมการใช้ศาสตร์ทางโหราและความรู้ที่สืบทอดกันมานับพันปีอย่างฮวงจุ้ย โหงวเฮ้งในทางธุรกิจที่ทราบกันดีว่ามีอยู่ในกระบวนการของหลายบรรษัทยักษ์ใหญ่ทั้งในไทยและระดับโลก
อย่างไรก็ดียังมีข้อถกเถียงเรื่อยมาถึงความแม่นยำ ถูกต้องและพิสูจน์ซ้ำให้ได้ผลที่เชื่อถือได้ และยังไม่นับถึงความขัดแย้งกันของกุรูต่างสำนักแม้จะใช้ศาสตร์หลักอันเดียวกัน
สิ่งเหล่านี้แม้ในโลกที่ประกาศว่ามีอารยธรรมสูงส่งก็เคยได้ผ่านพ้นมาแล้ว “ความลี้ลับ” เป็นส่วนหนึ่งของการสงวน “อำนาจ” ไว้ในมือของผู้รู้ศาสตร์เหล่านี้ ในอดีตก็มีการยันกันระหว่าง ฝ่ายปฏิวัติความคิดและกระแสความเปลี่ยนแปลงที่ต้องการนำสังคมออกจาก “ความคลุมเครือ” ไม่แน่นอน เพื่อสร้าง “ความชัดเจน” ให้กับสิ่งต่างๆที่เกิดขึ้น
มนต์ดำหรือคำสาปทั้งหลายได้กลายเป็นสิ่งที่นักปฏิวัติและปฏิรูปมุ่ง “เปิดโปง” เพื่อให้รู้ธาตุแท้ของเหล่า พ่อมด หรือแม้กระทั่งนักบวช ที่อ้างอิงสิ่งลี้ลับ หรือยิ่งใหญ่เหนือมนุษย์คนอื่น โดยการใช้วิธีการทางวิทยาศาสตร์เข้าคลี่คลายปัญหาคาใจที่สั่นคลอนขวัญกำลังใจของผู้คน
พ่อมด หมอผี หรือนักบวช ก็จะกลายสภาพเป็นเพียง “คนลวงโลก” ที่คนทั้งสังคมเข้าใจได้ว่า เขาทำอะไร ด้วยวิธีการใด และหวังผลอะไร จากการสร้างภูตผี ปีศาจ และร่ายมนต์ดำสาปสังคม
ในโลกปัจจุบัน “ผู้ก่อการร้าย” ได้กลายเป็นภูตผี ปีศาจ แบบใหม่ที่พร้อมจะก่อวินาศกรรมให้เป็นดังคำสาป ตามที่เหล่าพ่อมด หมอผี สมัยใหม่ร่ายไว้ หากสังคมไม่อาจเข้าถึง “ความจริง” และ “หลักฐาน” ต่างๆ ด้วยกระบวนการยุติธรรมที่ปราศจากการแทรกแซงด้วยอำนาจและอิทธิพลได้ ก็ยากที่จะเปิดโปงว่า “อาชญากร” หรือ “ผู้ก่อการร้าย” นั้น กระทำการไปได้อย่างไร และหวังผลอะไรกันแน่
สิ่งที่เกิดขึ้นตามมา ก็คือ ความคลางแคลงสงสัย หรืออาจถูกทำให้กลายเป็นเครื่องมือทางการเมืองในการซัดทอดใส่ฟากฝั่งที่อยู่ตรงข้ามอำนาจรัฐหรืออิทธิพลมืด พร้อมทั้งยังกลบ “ความจริง” และที่มาของปัญหามิให้ปรากฏต่อสาธารณชน ว่าทำไมผู้ก่อการจึงเสี่ยงเข้าโจมตีด้วยวิธีการอุกอาจ และอาจต้องโทษถึงขั้นประหารชีวิต
ยิ่งไปกว่านั้น หน่วยงานของรัฐสมัยใหม่ที่ถูกสร้างขึ้นเพื่อแสวงหาความจริงและรักษาความสงบมั่นคง ที่ประกาศต่อสาธารณะว่าจะใช้อำนาจสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ย่อมบั่นทอนขวัญกำลังใจของประชาชนทั่วไปและนักลงทุนที่ต้องการ “ความชัดเจนแน่นอน” ในการตัดสินใจแผนในอนาคตเป็นอย่างมาก
เพราะอย่างที่ทราบกันว่า การรักษาเสถียรภาพถือเป็น ปัจจัยสำคัญในการวางแผนทุกอย่าง และ “ความรุนแรง” ก็มีต้นทุนที่ต้องจ่ายอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยง ทั้งในฝั่งของเอกชนและประชาชนทั่วไป โดยเฉพาะธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการจัดการความเสี่ยง หรือประกันความไม่แน่นอนทั้งหลาย รวมไปถึงตลาดที่ผันผวนตามข่าวและจิตใจของคนในตลาดเสมอ
“ความลี้ลับ” ไม่ชัดเจน จึงกลายเป็นต้นทางแห่งข่าวลือและกระแสผันผวนอย่างมิต้องสงสัย
การพึ่งพาสิ่งศักดิ์สิทธิ์จึงลามไปทั้งสังคม เพราะไม่อาจนิ่งนอนใจได้ว่าภัยอันตรายจะไม่ย่ามกลายมาถึงตัวหรือธุรกิจของตนเอง จึงไม่น่าแปลกใจที่ตลาดกูรูผู้รู้ด้านไสยศาสตร์หรือศาสตร์ลี้ลับทั้งหลายจึงขยายตัวอย่างไม่หยุดยั้งในสังคมทุนนิยมที่อิงกับตลาดเป็นอย่างหนัก เพราะตลาดนั้นยังไม่มั่นคงและเต็มไปด้วยความผันผวน และพร้อมที่จะพังได้หากต้องเผชิญกับภัยคุกคามที่ยากจะเข้าใจ เพราะถูกทำให้ “ลี้ลับ” ไปเสียหมด
ยิ่งไปกว่านั้น สังคมที่ไม่ได้วัดกันที่ผลงาน ฝีมือ หรือการชี้ขาดข้อพิพาทด้วยกฎกติกา แต่กลับเน้นไปที่ “เครือข่าย” และ “ความสัมพันธ์ส่วนตัว” เพื่อใช้อิทธิพลในการสร้างอำนาจตัดสินใจให้เป็นประโยชน์กับตนเองและพวกพ้อง ย่อมดังก้องอยู่ในสำนึกของคนในสังคมว่า “ความสำเร็จได้มาด้วยคอนเน็คชั่น” จึงต้องหมั่นกราบไหว้สารพันเจ้าพ่อเจ้าแม่ใหญ่ที่เป็นเสมือนเจ้าของเครือข่ายใหญ่ปกป้องประโยชน์สุขของตนเสมอ
เมื่อรัฐใดเต็มไปด้วยภัยอันตรายจากความรุนแรง ก็ดูเหมือนว่า “สิ่งลี้ลับ” ที่อยู่คู่กับสังคมที่ความมั่นคงต่ำนั้น ก็คือกองกำลังที่พร้อมจะใช้ความรุนแรง หรืออนุญาตให้เกิดความรุนแรง เนื่องจากทุกครั้งที่เกิดเหตุวินาศกรรม สังคมตกอยู่ในภาวะหวาดกลัว ผู้ที่เชี่ยวชาญด้านการใช้ความรุนแรง หรือกุมความสามารถในด้านการใช้ยุทธวิธีการข่าวและการปะทะด้วยอาวุธ จะกลายเป็น “เสียงดัง” ที่คนอื่นๆต้องรับฟังมากขึ้น โดยฉวยโอกาสจากความตื่นกลัวนั้น
ความสะพรึงกลัวเป็นอาหารอันโอชะของอุตสาหกรรมเทคโนโลยีและเครื่องมือรักษาความมั่นคงปลอดภัย ไม่ว่าจะเป็นอุปกรณ์บันทึกภาพ/เสียง อาวุธ ซอฟท์แวร์ หรือบุคลากร ฯลฯ ล้วนเป็นต้นทุนราคาแพงที่ต้องจ่ายไปเพื่อจัดการความเสี่ยง
กองกำลังนอกกฎหมายที่พร้อมจะ “ข่มขู่ อุ้ม ฆ่า ก่อการ” จึงเป็นต้นทุนใหญ่ที่สังคมทุนนิยมแบบใช้ตลาดเป็นตัวขับเคลื่อนต้องกำจัดทิ้งไป เพราะได้สร้าง “ต้นทุน” ที่มหาศาลในการจัดการขึ้นมานั่นเอง
การตัดสินใจของคนในตลาดเชื่อมโยงกับข้อมูลข่าวสารที่แพร่กระจายกันในเครือข่าย ในโลกปัจจุบันที่เทคโนโลยีสื่อสารเป็นหัวหอกในการสร้าง “ความรู้” ไม่ว่าจะผิด/ถูก จริง/เท็จ แต่ก็สร้างผลกระทบเป็นอย่างสูง ยิ่งสังคมใดไม่เปิดโอกาสให้สังคมหรือสื่อมวลชนได้ติดตามค้นหาข้อเท็จจริงและเปิดเผย วิพากษ์วิจารณ์ได้อย่างเสรีแล้ว ฝ่ายที่กุมอำนาจในการจัดการข้อมูลข่าวสารก็สามารถชี้นำ หรือฉวยใช้สถานการณ์ให้เป็นประโยชน์กับตนเองได้ง่ายดาย
การนำวิธีการทางนิติวิทยาศาสตร์ จึงเป็นหนทางที่สังคมของประชาชนสามัญจำต้องเรียกร้องให้มีการ “คลี่คลาย” ให้หายสงสัย โดยในเบื้องต้นต้องให้กระบวนการแสวงหา “ข้อเท็จจริง” เกิดขึ้นโดยปราศจากการใช้อิทธิพลบิดเบือน ไม่ใช้วิธีการซ้อมทรมานเพื่อเค้นข้อมูลหรือบังคับรับสารภาพ และไม่มีการหายตัวไปของพยานปากสำคัญ
หรือการกราบไหว้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ของเจ้าหน้าที่รัฐเป็นเพียงการเบี่ยงเบนความสนใจไปจาก “ความจริง” ที่ใหญ่กว่า แต่ไม่อยากให้สังคมรับรู้ ก่อนจะขู่ว่าไม่เชื่ออย่าลบหลู่ เพราะอยู่ๆ อาจจะหายตัวไปเฉยๆก็ได้