ทำไมคนต้องทำงาน?
ยังมีคนถามเรื่องนี้อยู่อีกหรือไม่?
แต่คำตอบที่ได้ ย่อมสะท้อนตัวตน ชนชั้น และความจำเป็นในชีวิตแต่ละคนอย่างแน่นอน
คนมีมรดกตกทอด อาจไม่ต้องดิ้นรนทำมาหากินมากนัก แต่มีกินมีใช้จากดอกเบี้ย และค่าเช่าที่ได้จากทรัพย์สิน ซึ่งบรรพบุรุษส่งมอบไว้ให้
แต่คนที่ไม่มีต้นทุนชีวิตมากนัก อาจได้รับเพียงชีวิตเนื้อตัวร่างกาย หรือได้เรียนหนังสือมาบ้าง ก็ต้องขวนขวายแสวงหาปัจจัยดำรงชีวิตไปให้รอดพ้นแต่ละวัน
ความเหนื่อยล้าสะสมที่เกิดจากการทำงานซ้ำๆ ทุกวี่วัน ผลักดันให้ไขว่คว้าหา “ความสุข” เพื่อจะได้มีแรงทำงานในวันรุ่งขึ้น
แต่ถามว่า “ความสุข” แบบไหนที่แพร่หลายในหมู่ผู้ใช้แรงงาน?
เหล้ายา ปลาปิ้ง สิ่งบันเทิงใจเล็กๆน้อยๆ ที่ทยอยส่งเข้าสู่กระเพาะ ก็ถูกสังคมประณามหยามเหยียดว่า เป็นต้นเหตุแห่งความจน แต่ที่กินก็เพราะเครียดจากการทำงาน เหล้า บุหรี่ ที่มีรัฐเป็นผู้ได้ประโยชน์อยู่เบื้องหลัง จึงผันตัวเป็นผู้จัดหาความสุขมาหยิบยื่นให้แทบทุกหัวถนน
ช่างย้อนแย้งกับหน่วยงานด้านสาธารณสุขที่ยัดเยียดศีลธรรมกระฎุมพี ว่า “คนดี” ต้องไม่กินเหล้า สูบบุหรี่ แต่เงินที่มีมาทำโฆษณาด่าเหล่าขี้ยา นั้นหาใช่เงินจากเหล้ายาอันเป็นเนื้อหาของความสุขเล็กๆน้อยๆในชีวิตประจำวันของแรงงานหรือ
สังคมทุนนิยมเคร่งศีลธรรม จึงดูเหมือนจะทำทุกอย่างให้ “ขัดแย้ง” กันเองตลอดเวลา ปากพร่ำบอกว่า บ้า โง่ เลว แต่ก้หาประโยชน์จาก สินค้าบาป เหล่านี้
แต่ปัญหาที่ร้ายแรงกว่า และดูเหมือนว่าจะเถียงไม่รู้จักจบสิ้น คือ ความสุขที่เกิดจาก เซ็กส์ ครอบครัว และลูก เพราะเดิมรัฐเคยบอกว่า “มีลูกมากจะยากนาน” ซ้ำยังโหมกระพือศีลธรรมรักนวลสงวนตัว ไม่ส่ำส่อนไปทั่ว จะให้ชัวร์ต้องมีลูกเมื่อพร้อม
แล้วไอ้ที่ว่า “พร้อม” น่ะมันเมื่อไหร่ ถ้าดูจากค่าจ้าง หรือสวัสดิการที่แรงงานในประเทศไทยได้รับ อาจต้องบอกว่า เก็บเงินจนตาย ก็ยังไม่พร้อม
เออ แล้วแรงงานที่มีลูกเขาทำยังไง ก็ง่ายๆเลย ส่งลูกหลานไปอยู่กับผู้เฒ่าผู้แก่ ญาติสนิทในต่างจังหวัดให้ช่วยเลี้ยงดู
แล้วจะได้อยู่กับพ่อแม่หรือไม่ ไม่น่าแปลกใจที่เกิดปัญหาสังคมมากมายที่ ใครๆต่อใครตอบอย่างมักง่ายว่า เพราะ พ่อแม่ไม่(มีเวลา)สั่งสอน
คงเข้าใจแล้วใช่ไหมว่า ความสุข และสิ่งสำคัญที่สุดซึ่งแรกงานถูกพรากไปจากอก คือ “เวลาในการอยู่กับคนในครอบครัว”
ที่รัฐและนักศีลธรรมพร่ำเทศนาว่า สังคมจะเข้มแข็งก็ด้วย บ้าน วัด โรงเรียน ชุมชน ดีและอบอุ่น จึงดูเป็นการพูดลอยๆ ที่ทำไม่ได้ ถ้ายังไม่ยอมรับความจริงว่า ประเทศไทยเป็น “สังคมทุนนิยม” เต็มตัวไปแล้ว
หากยอมรับว่าเป็นสังคมทุนนิยมแล้ว สิ่งที่กฎหมายแรงงาน และนโยบายพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ต้องให้ความสำคัญมากขึ้น คือ การสร้างเวลาว่างให้กับแรงงาน
“เวลาว่าง” นอกเหนือจากเวลาทำงาน มีความสำคัญในแง่ของการพัฒนาจิตใจ อารมณ์ บุคลิกภาพ รวมไปถึงการสร้างทักษะในการอยู่ร่วมกัน ของคนในสังคมทุนนิยม ที่แตกกระสานซ่านกระเซ็นมาจากหลายภูมิลำเนา
ก็เพราะแรงงานเหล่านี้มิได้มีบ้านเกิดหรือเครือญาติร่วมกันอีกต่อไป ค่านิยมหรือกฎกติกาในการอยู่ร่วมกันชุดเก่าแบบที่ รัฐและนักศีลธรรมอนุรักษ์นิยมพูดไว้จึงไร้พลัง
แล้วค่านิยม หรือความคิดชุดใดล่ะที่แล่นอยู่ในหัวของ แรงงานอพยพที่ย้ายเข้ามาในเมืองใหญ่
ก็หาดูได้จากสิ่งที่แรงงานเสพในเวลาว่าง เพราะเวลางานเขาก็ทำงาน อยู่กับงานและสถานประกอบการ เป๊ะๆ
การเสพสุขตามกำลังทรัพย์น้อยนิด จึงเป็นข่าวสารและสื่อบันเทิงราคาถูก
หากเป็นชายหญิงวัยกำหนัดก็อาจจะพลัดหลงเข้าสู่หนทางแห่งสื่อลามกอนาจารที่รัฐว่า ขัดต่อศีลธรรมอันดี
แต่ลืมคิดไปหรือว่า การหาความสุขด้วยตนเองโดยการปลดเปลื้องพันธการส่วนตนด้วยสื่อลามกราคาถูก อาจจะดีกว่าลงสู่สนามรักด้วยความช่ำชอง ลองของแปลกใหม่ จนอาจได้เชื้อโรคหรือลูกน้อยโดยไม่ได้ตั้งใจก็เป็นได้
สังคมทุนนิยมเคร่งศีลธรรม จึงทำสิ่งที่ขัดแย้งกันเองอีกครั้ง อย่างไม่น่าให้อภัย เพราะทำให้คนไม่มีทางออก เหลือเพียงการนับถอยหลังระเบิดเวลาให้เกิดประทุออกมาไม่ช้าก็เร็ว
ความปรารถนาทางกาย บวกกับ จิตใจอันเปลี่ยวเหงา ที่ต้องเข้ามาทำงานลำพัง อาจทำให้มนุษย์พลาดพลั้งเลือกทางมืดไม่ทันชั่งใจ ...ก็เป็นได้
แต่สำหรับแรงงานที่ความกำหนัดไม่ใช่เรื่องใหญ่ ความบันเทิงเริงรมย์สำคัญกว่า ก็จะเห็นว่า พาณิชย์ศิลป์ กับ การขายโฆษณาสินค้าของบรรษัท ได้ยึดครองชีวิตจิตใจและอารมณ์ไปเสียมาก
การกระตุ้นให้กล้าคิดกล้าฝัน วิ่งไล่ไขว่คว้าความสำเร็จส่วนตน แต่กลับมีการให้ตระหนักว่าตนเองมีอะไรไม่ควรโลภทะเยอทะยานไป ท่องคำว่า พอเพียงไว้ในใจ ก็ดูขัดกันไป เมื่อศิลปินใหญ่บอกให้ไล่ฝันวันหนึ่ง อีกวันหนึ่งบอกว่าให้พอใจในสิ่งที่ตนเองมี
ดังนั้นสิ่งที่แพร่หลายอยู่ในบ้านเมืองนี้ คือ การขายฝันและปลูกฝังวินัยทุนนิยม ควบคู่ ศีลธรรมดัดจริต ซึ่ง “ย้อนแย้ง” กันเอง!
แท้ที่จริงแล้ว นี่คือ ความสำเร็จของ ชนชั้นนำ ผู้ปกครอง นักเทศนาศีลธรรม และศิลปินขายฝัน ที่ทำการยึดครองชีวิตของผู้ใช้แรงงานทั้งในเวลาทำงาน และเวลาพักผ่อน แล้วควบคุมมิให้มีเวลาว่างไปทำกิจกรรมร่วมกับเพื่อนผู้ใช้แรงงาน
ไม่อาจรวมกลุ่มปรึกษาปัญหาชีวิตกัน ใช้เวลา/เงินน้อยนิดที่พอมีไปกับการบันเทิงเริงรมย์ ที่เป็นสินค้าบริการของนายทุน และรับอุดมการณ์บริโภคนิยม และความฝันลมๆแล้งของสังคมทุนนิยมอุดมคติต่อไป
ไหนล่ะ ความฝันของคนทำงาน ที่จะได้รับค่าจ้างที่เป็นธรรม มีสวัสดิการที่มั่นคง และสร้างฝันให้ลูกหลานตัวเองได้
คงต้องเริ่มที่การสู้ให้มี “เวลาว่าง” มากขึ้นก่อนนะ เพื่อนผู้ใช้แรงงานทั้งหลาย