จากผลการแข่งขันฟุตบอลโลกนัดแรกของทีมขวัญใจมหาชนอย่าง อังกฤษ คงสร้างความหงุดหงิดและคลางแคลงใจให้กับคนจำนวนไม่น้อย เหมือนทุกครั้งที่แฟนบอลชาวไทยต้องช้ำใจเพราะอังกฤษ
ทำไม คนไทยจำนวนมากถึงส่งแรงใจเชียร์อังกฤษ ?
ก็เพราะพรีเมียร์ลีกของอังกฤษได้รับความนิยมสูงสุด มีแฟนบอลชาวไทยติดตามสโมสรดังจากอังกฤษ
และดูเหมือนว่า อังกฤษจะเป็นมหาอำนาจลูกหนัง เพราะสโมสรอังกฤษประสบความสำเร็จในศึกสโมสรยุโรปอย่างต่อเนื่อง
แล้วทำไมทีมชาติอังกฤษจึงพลาดท่าในเกมส์ระดับชาติอย่างต่อเนื่อง ?
ใจเย็นครับ แฟนๆอังกฤษ ทีมชาติกับสโมสร มันไม่เหมือนกัน เนื่องจาก
สโมสร = บรรษัทเอกชน
ทีมชาติ = รัฐบาล
สาเหตุที่สโมสรอังกฤษประสบความสำเร็จก็เพราะบริหารแบบบรรษัทข้ามชาติ ใช้ทุนต่างแดนผสมกับแรงงานต่างด้าว โดยมีผู้บริหารมืออาชีพ ตามแนวทางที่เจ้าอาณานิคมอังกฤษใช้ครองโลก แม้ปัจจุบันอำนาจทางการเมืองจะลดลง แต่อำนาจของบรรษัทข้ามชาติ และกลุ่มทุนข้ามชาติมิได้ถดถอยไปด้วย การบริหารจัดการแรงงานต่างด้าวจึงเป็นปัจจัยสำคัญในความสำเร็จนั้น
สโมสร จึงต่างจาก ทีมชาติ ที่ต้องอาศัย “คนชาติ” เพราะไม่อาจดึงตัวต่างสัญชาติได้มากนัก หากจะมีก็เพียงบางตัว จะเล่นยกมาทั้งทีมคงอับอาย และเสียเกียรติภูมิ
เลยไม่ต้องแปลกใจที่ ทีมชาติอังกฤษจะล้มเหลวทั้งที่สโมสรเกรียงไกร เพราะทีมดังมีแต่แรงงานข้ามชาติ ส่วนคนชาติมีแค่สองสามคนต่อหนึ่งทีม เช่น กรณีอาร์เซนอลไม่มีนักเตะสหราชอาณาจักรเลยในบางแมทช์ เว้นหงส์แดง ลิเวอร์พูล ในปีนี้ที่ต้องมาแบกทีมชาติไว้แทบจะทั้งทีม (หากรวม ริกกี้ แลมเบิร์ต ในม้านั่งสำรอง กับ ลัลลาน่า ที่อาจเป็นนักเตะใหม่หงส์แดงด้วย) แต่ก็เป็นที่แน่ชัดว่า ในปีหน้าที่ หงส์แดงต้องไปตะลุยยุโรปอีกคำรบ ก็ต้องซื้อนักเตะต่างด้าวทั้งในทวีปและนอกทวีปมาสมทบอีกหลายคน
ภาพที่เห็นชัดเจน คือ สโมสรอังกฤษที่จะก้าวขึ้นไปแข่งขันในระดับทวีปจะต้องสะสมแรงงานฝีมือชาวต่างด้าวเข้ามามาก
นอกจากนี้ปัญหาผู้จัดการทีมด้อยฝีมือก็เป็นอีกปัญหาเรื้อรังของอังกฤษ เพราะหาผู้จัดการทีมเชื้อสายอังกฤษที่ไปผาดโผนยุทธจักร หรือประสบความสำเร็จทั้งในประเทศและระดับยุโรปไม่มากนัก ทำให้เห็นอีกปัญหา คือ ขาดผู้จัดการที่เชี่ยวชาญในการบริหารแรงงานต่างด้าว
สโมสรชั้นนำของอังกฤษ จึงต้องแสวงหา ผู้จัดการอาชีพที่มีความสามารถบริหารคนต่างด้าว นานๆจึงจะมีกุนซือมากประสบการณ์ต่างแดนอย่าง รอย ฮอดจ์สัน สักคน
ต่างจาก ประเทศในภาคพื้นยุโรป ที่ชนชั้นนำ และผู้บริหาร ล้วนมีทักษะในการบริหารข้ามวัฒนธรรม เพราะลักษณะทางภูมิศาสตร์และประวัติศาสตร์ที่ต้องติดต่อกับคนชาติพันธุ์อื่นมาอย่างต่อเนื่อง เช่น โชเซ่ มูริญโญ่ ที่พูดได้กว่า 4 ภาษา และคุมทีมใหญ่ใน 4 ประเทศ
เปรียบเทียบกับประเทศอื่นในยุโรป
ลองเปรียบเทียบกับ ทีมชาติอิตาลี สเปน ฮอลแลนด์ ทีมชาติเหล่านี้เล่นดี เพราะสโมสรใช้คนชาติเล่น
พอมาทีมชาติก็คัดเอาคนชาติซึ่งเป็นตัวหลักสโมสรและซุปเปอร์สตาร์ของลีกมาใช้ทั้งนั้น จะด้วยข้อจำกัดเรื่องเงินทุนที่ใช้ตัวต่างแดนไม่ได้มาก หรือด้วยวัฒนธรรมที่นิยมการพัฒนาเยาวชนก็แล้วแต่ แต่สิ่งที่ได้ คือ นักเตะรุนใหม่ ผุดขึ้นมาเหมือนดอกเห็ด แทบไม่ขาดตัวตายตัวแทน
แฟนบอลอังกฤษ คงเข้าใจแล้วว่า บรรษัทข้ามชาติมีผลร้ายต่อแรงงานท้องถิ่นอย่างไร
สโมสรที่ประสบความสำเร็จมาจากการมีทุนข้ามชาติ แรงงานต่างด้าว และการบริหารจัดการมืออาชีพ ผลก็คือ สตาร์ประจำทีม ซูปตาร์ประจำลีกเป็น "ต่างด้าว" ทั้งนั้น
คนชาติ เด็กท้องถิ่น ด้อยพัฒนา ไร้โอกาส เลยเห็นอัจฉริยะ แบบ รอส บาร์คลี่ย์ ราฮีม สเตอริ่ง น้อยไปหน่อย
ต่างจาก อิตาลี สเปน(บาร์เซโลน่า) ฮอลแลนด์ ทีมสโมสรใช้คนชาติเป็นแกนหลัก ทำให้แรงงานท้องถิ่นได้รับการพัฒนาฝีมือต่อเนื่อง
แต่ก็อย่างว่า การเป็นบรรษัทข้ามชาติของสโมสรดัง มันนำมาซึ่ง เม็ดเงินมหาศาลนี่นา
หากต้องเลือกระหว่างพัฒนา ทีมชาติให้ยิ่งใหญ่เพื่อความภาคภูมิใจ กับการสร้างสโมสรดังที่นำมาซึ่งเงินทองและความนิยมชมชอบไปทั่วโลกแล้ว ทางเลือกของอังกฤษก็ชัดเจน ว่า เลือกพัฒนาสโมสร เพราะฟุตบอล ถือเป็น ธุรกิจบันเทิงมากกว่า กีฬา
ธุรกิจถ่ายทอดกีฬา และการขายลิขสิทธิ์ คือสิ่งสำคัญเป็นอันดับแรก ถึงขนาดว่าเอาทักษะด้านการละครและเล่าเรื่อง มาดัดแปลงใช้เล่าฟุตบอลพรีเมียร์ลีก ให้มีเร้าอารมณ์ สนุกสนานแบบ เมโลดราม่า จนคนติดกันงอมแงมทั่วโลก
เมื่อดูตัวทีมชาติปัจจุบันและย้อนไปอดีต ก็มาจากเมืองแมนเชสเตอร์กับลิเวอร์พูล เสียเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งเป็นที่ทราบดีว่า เป็น คนจากเมืองชนชั้นแรงงานเกือบทั้งทีม พรรคแรงงานอังกฤษมีฐานที่มั่นอยู่ในภูมิภาคนี้
ส่วนลอนดอนที่มีสโมสรระดับโลกกลับมีตัวจริงในทีมชาติปัจจุบันแค่คนเดียว เพราะสโมสรในลอนดอนเป็น บรรษัทข้ามชาติ ไงล่ะครับ เด็กในลอนดอนจึงกระจายไปเล่นกับทีมนอกลอนดอนไปเสียเยอะ
ส่วนสโมสรยักษ์ใหญ่ระดับโลกอย่าง บาร์เซโลน่า กลับมีที่มาแตกต่างไป เนื่องจากเขาสร้างขึ้นมาบนพื้นฐานท้องถิ่นนิยม ต้องการสร้างความเกรียงไกรให้แคว้นคาตาโลเนีย ทีมจึงสร้างทีมจากคนท้องถิ่น ใครย้ายมาก็ต้องปรับเข้ากับวัฒนธรรมแบบคาตาโลเนี่ยนให้ได้ นั่นคือ สวยงาม สร้างสรรค์ และชนะอย่างมีระดับ
เช่นเดียวกับสโมสรในอิตาลี ที่มีความภาคภูมิใจในวัฒนธรรมท้องถิ่น เกียรติภูมิอันยิ่งใหญ่ของกองทัพโรมัน ซึ่งตั้งมั่นและรุกกลับอย่างมีชั้นเชิง ได้ถ่ายทอดออกมาเป็น อิตาเลียนสไตลส์ ใครย้ายมาก็ต้องเล่มเกมส์รับเป็นและมีวินัย
การแข่งขันในสหภาพยุโรป
แต่ความต่างของ อิตาลี ฮอลแลนด์ เมื่อเทียบกับสเปน คือ สโมสรสเปนดันเข้ารอบลึกๆ ลึกจน ผู้เล่นกรอบไปหมดเมื่อมาถึงเกมส์ ทีมชาติ สเปน เล่นไม่ดีในนัดแรกๆ ของ ทัวร์นาเม้นต์ระดับฟุตบอลยุโรป หรือ ฟุตบอลโลก แล้วแรงขึ้นมาจนกลายเป็นแชมป์โลกในบั้นปลาย
สาเหตุที่ ศึกสโมสรยุโรป สำคัญนอกจากเม็ดเงินมหาศาลแล้ว มันยังสะท้อนศักยภาพของประเทศหรือเมืองเหล่านั้นในภูมิภาคยุโรป เนื่องจากสงครามในภูมิภาคยุโรป(ตะวันตก)จบลงอย่างนิ่งสนิท แต่การแข่งขันยังคงมีทั้งทางเศรษฐกิจ และกีฬา เพื่อเสริมสร้างการพัฒนาอย่างไม่หยุดนิ่ง
ศึกสโมสรระดับยุโรปจึงมีความสำคัญมาก ในฐานะการสร้าง “ตัวตน” ของเมืองนั้นให้ปรากฏในสำนึกของตน และคนอื่น
ทีมที่ได้แชมป์ก็มักจะทำให้เมืองนั้นคึกคักไปด้วย หรือในทางกลับกันความร้อนแรงทางเศรษฐกิจของเมืองนั้น ก็ทำให้สโมสรอู้ฟู่เช่นเดียวกัน
การขึ้นลงของสโมสรฟุตบอลจึงสัมพันธ์กับเศรษฐกิจอย่างแนบแน่น
สโมสรดังจึงเป็น Glory of the City
กลับกันความสำเร็จระดับชาติอาจไม่เป็นอย่างนั้น เพราะทีมชาติ คือ ความภาคภูมิใจของชาติ Pride of Nations
หลายทีมชาติจึงเล่นอย่างมีจิตวิญญาณอันแรงกล้าในสถานการณ์ที่ตกต่ำพ่ายแพ้มาจากการเมืองและเศรษฐกิจ เช่น อาร์เจนติน่า ที่ยิ่งใหญ่ในยุคพ่ายสงครามฟอล์คแลนด์ และยุคเศรษฐกิจล้มละลาย ไม่ต่างจากความสำเร็จของสเปน อิตาลี ในยามที่เศรษฐกิจตกต่ำถึงขีดสุด เพราะนี่อาจเป็นความสุขหนึ่งเดียวที่เหลือของใครหลายๆคน
จะทำให้ความสำเร็จของสโมสรส่งเสริมความสำเร็จของทีมชาติได้อย่างไร ?
หากจะผสานความสำเร็จของสโมสรเข้ากับการพัฒนาท้องถิ่นและชาติ กฎสัดส่วนคนชาติในบรรษัท กับ การถ่ายทอด/ดูดซับ เทคโนโลยี จึงสำคัญมาก ซึ่งทำให้ความรู้ ความเชี่ยวชาญ และเทคโนโลยีต่างๆถ่ายทอดไปยัง แรงงานท้องถิ่น รวมไปถึงสร้างความสามารถในการจัดตั้งบรรษัทหรือองค์กรที่มีความสามารถแข่งขันในระดับโลก และสามารถส่งออกแรงงานฝีมือและผู้บริหารออกไปทำงานในต่างแดนในอนาคต
ฟุตบอลกับสภาพแวดล้อม
สภาพแวดล้อมที่เอื้อให้กีฬาฟุตบอลได้รับความนิยม ประเทศร้อนหรืออบอุ่น มีแนวโน้มจะประสบความสำเร็จมากกว่า เพราะสภาพสนามและอากาศเอื้ออำนวย แถมคนดูก็เข้าชมได้โดยไม่ต้องทรมานตัวเองมากนัก
ยิ่งมาเจออากาศร้อนชื้นแบบบราซิล ก็ตายกันพอดีครับ ยิ่งอังกฤษหนาวตลอดปี ย่อมเร่งไม่ขึ้นในช่วงท้ายเกมส์ครับ
จึงเห็นได้ว่า ชาติมหาอำนาจลูกหนัง และสโมสรยักษ์ใหญ่ มาจากพื้นที่อบอุ่น คัมป์นูจุได้นับแสนคน มาราคาน่าจุได้เกือบสองแสนคนมาแล้ว
ฟุตบอล กับการเพิ่มสวัสดิการสังคม
หากรัฐหรือเมืองนั้น มีสโมรสรยิ่งใหญ่ตั้งอยู่ ใครได้ประโยชน์
รายได้เข้านักเตะ ทีมงาน เจ้าของ และผู้ถือหุ้น
แต่รัฐบาลแห่งชาติ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นก็มีรายได้จากการเก็บภาษีเพื่อนำไปสร้างสวัสดิการให้คนชาติ
นี่จึงเป็นเหตุผลหลักของการสนับสนุนกีฬาอาชีพ ให้กลายเป็นสินค้าบันเทิงมูลค่ามหาศาลโดยอังกฤษ
ใครได้ประโยชน์จาก มหกรรมฟุตบอลบอลโลกที่เป็นมหรสพยิ่งใหญ่สุด
รายได้เข้าฟีฟ่า สมาคมฟุตบอลแต่ละชาติ บรรษัทผู้สนับสนุน ธุรกิจบันเทิงทั่วโลก
เจ้าของธุรกิจในประเทศเจ้าภาพได้มากกว่าเดิมไหม ไม่มีตัวเลขที่แน่ชัดในการจัดหลายครั้งหลัง
โครงสร้างพื้นฐานนำมาใช้ประโยชน์ได้อีกไหม บางสนามสร้างแล้วไม่ได้ใช้อีกต่อไป
คนทำมาหากินทั่วไป และประชาชนอาจไม่ได้อะไรเพิ่ม ความสุขก็ไม่พุ่งหากทีมเจ้าภาพไม่ได้แชมป์
การจัดฟุตบอลโลกจึงเป็นการลงทุนมหาศาลที่อาจได้มากไม่คุ้มค่า และที่แน่นอนคือ รายได้ไม่กระจายไปทั่วทุกกลุ่ม ทุกคน แต่กลับใช้ภาษีของ “คนทั้งชาติ”
จึงไม่ต้องแปลกใจ หากจะมีผู้ชุมนุมคัดค้านการจัดมหกรรมใหญ่ในบราซิล ทั้งที่ใครหลายคนใฝ่ฝันให้จัดในประเทศ แม้ยังไม่รู้ว่าจะได้อะไร มากไปกว่า “ความสุข” ที่ชนชั้นนำพยายามยัดเยียดให้เพื่อบดบัง ปัญหาคาราซังอีกมากมายภายในประเทศ
การมอบความสุขผ่านกีฬาและความบันเทิง ก็เป็นเพียง ประชานิยมที่ใช้เงินของคนทั้งชาติมาคืนความสุขให้คนบางกลุ่มเท่านั้น หากไม่นำมาสู่การพัฒนา