Skip to main content

ในสังคมไทยปัจจุบันการทำงานของคนเน้นไปที่การแข่งขันกันทำงานเพื่อสะสมเงินไว้สร้างทุกสิ่งทุกอย่างเพื่อตัวเอง ตั้งแต่การทำมาหากินเพื่อเลี้ยงปากท้องไปวันๆ การอดออมไว้ใช้ในยามฉุกเฉิน รวมไปถึงเก็บหอมรอมริบไว้ทำทุนในอนาคต  หรือพูดง่ายๆก็คือ ทุกคนต้องสะสมทุกอย่างเพื่อตัวเอง   เพราะสังคมไทยไม่เหลือที่พึ่งให้มากนัก จะไปหยิบยืมจากญาติพี่น้องหรือเพื่อนฝูงก็ยาก ชวนอับอาย   การกู้ยืมนอกระบบมาแก้ปัญหาเฉพาะหน้าก็มีดอกเบี้ยสูง เสี่ยงอันตรายถึงชีวิต   เนื่องจากรัฐมิได้มีมาตรการประกันสังคมและโครงการรองรับคนตกอับมากพอ

คนไทยส่วนใหญ่ทำมาหากินแบบหาเช้ากินค่ำ ไม่มีที่ทำมาหากินเป็นหลักแหล่ง ไม่มีรายได้แน่นอน เช่น คนขับรถรับจ้าง ขายของข้างทาง เกษตรกร คนรับจ้างเหมา แรงงานอพยพไร้หลักแหล่ง หรือที่นักกฎหมาย/นักเศรษฐศาสตร์ เรียกว่า “แรงงานนอกระบบ” คนเหล่านี้ไม่อยู่ในระบบประกันสังคม ชีวิตเต็มไปด้วยความเสี่ยง ถ้าเมื่อไหร่ตกงาน ขาดรายได้ ได้รับผลกระทบจากภัยธรรมชาติ สถานการณ์ฉุกเฉินต่างๆ  จะไม่มีอะไรมารองรับปัญหา ต้องดิ้นรนด้วยตัวเอง เพราะไม่ได้ทำงานในระบบ   บางคนแย้งว่าเขาก็ยังมีบัตรทอง แต่คิวก็ยาวมาก  และต้องไม่ลืมว่าสวัสดิการในระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้านั้น ให้กับคนไทยทุกคนไม่ว่าจะทำงานหรือไม่ทำงา เสมือนว่าคนทำงานไม่ได้รับการดูแลเหนือคนอื่นๆที่ไม่ได้ทำงานแต่อย่างใด

ส่วนแรงงานไทยกว่า 18 ล้านคนทำงานหนักในระบบ เขามีสวัสดิการจากระบบประกันสังคมโดยแบ่งรายได้ส่วนหนึ่งจ่ายเงินสมทบเข้าไปทุกเดือน พูดง่ายๆเข้าแบ่งเงินที่หามาด้วยน้ำพักน้ำแรงตัวเองสร้างสวัสดิการนี้ขึ้นมา แต่กลับต้องมาเจอบริการที่ไม่มีคุณภาพดีพอ ชวนให้สูญเสียกำลังใจในการทำงาน   บางคนทำงานมายี่สิบกว่าปี วันหนึ่งพบว่าเกิดโรคมะเร็งกับร่างกายก็อาจไม่ได้รับการรักษาที่ดี เพราะโรคนั้นอยู่รายชื่อที่ระบบให้ประกัน หนำซ้ำการเข้าคิวยังยาวนานจนอาจทนอาการต่อไปไม่ไหว  

ระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้า และระบบประกันสังคม ล้วนสะท้อนให้เห็นว่ารัฐไทยไม่ได้จัดการความเสี่ยงในชีวิตคนทำงานมากนัก ถึงมีก็อยู่ในลักษณะที่ไม่ทั่วถึง แออัด และตกหล่นอยู่มาก   ดังนั้นคนที่มีรายได้ดีจึงมองหาระบบประกันความเสี่ยงเพิ่มเติม เช่น การซื้อประกันชีวิต ประกันสุขภาพ ประกันรายได้ จนธุรกิจประกันภัยของเอกชนใหญ่โต เจ้าของธุรกิจร่ำรวย และมีทุนข้ามชาติเข้ามาถือหุ้นหากำไรกันสนุกสนาน

ถามว่าคนมีเงินจะสร้างความมั่นคงในชีวิตจัดการความเสี่ยงกันอย่างไร?

ตอบง่ายๆ คือ คนเก็งกำไร ก็ได้เงินจำนวนมาก เปลี่ยนมาเข้ารักษาในโรงพยาบาลเอกชน หรือซื้อประกันแทน รวมถึงการลงทุนในตราสารต่างๆ ที่มีผลตอบแทนเป็นดอกเบี้ยหรือการปันผล เสมือนว่าเป็นการยิงปืนนัดเดียวได้นกสองตัว

ส่วน คนที่ร่ำรวยมีอำนาจก็อาศัยการผูกขาด นั่งกินนอนกิน มีฐานะมั่งคั่งโดยอาศัยความมั่นคงทางกฎหมายที่พวกตนเข้าไปใช้กำลังภายในให้ได้ผูกขาด ทั้ง ธุรกิจตักตวงทรัพยากร หรือบริการขั้นพื้นฐาน ที่ทุกคนต้องกินต้องใช้ แต่ตัวเองกลับได้หาประโยชน์สบายๆ มีคู่แข่งน้อยรายเท่านั้น   สามารถสะสมทรัพย์สินเงินทองได้มากมายจะซื้อหาสินค้าหรือบริการใดก็ง่ายๆ ไม่ต้องเป็นห่วงอะไร นอกจากพยายามรักษาอำนาจผูกขาดของตนไว้ให้ได้

สรุปได้ว่า ชนชั้นแรงงานต้องอยู่กับบริการคุณภาพต่ำ ความเสี่ยงในชีวิตมีสูง  แต่คนเก็งกำไรและผูกขาด กลับมีรายได้จากกฎหมายภาษีและการส่งเสริมตลาดทุนของรัฐ ทำให้นายทุน ผู้ผูกขาดธุรกิจและนักเก็งกำไร มีความสามารถในการสะสมทุนมาก และเอาผลกำไรที่ได้มาเป็นฐานสร้างความมั่นคงมากขึ้นเรื่อยๆ

จริงอยู่ที่ความร่ำรวยหรือมั่งคั่งเหล่านั้นเกิดจากความขยันและมันสมองกับสองมือของคนเหล่านั้น แต่เมื่อจบชีวิตไป ความมั่งคั่งก็กลายเป็น “ทุน” ที่ส่งต่อให้ลูกหลานรุ่นถัดไปมีมรดกเป็นทุนเหนือคนอื่นๆ มากเหลือเฟือจนบางคนไม่ต้องทำงาน หากทำงานก็สะดวกสบายเพราะมีโอกาสมากกว่าคนอื่นเพราะก็ใช้ทรัพย์สิน การผูกขาด ไปเก็งกำไรต่อ และแน่นอนก็มีการเจียดเงินไปซื้อประกันรูปแบบต่างๆ ซึ่งสร้างความมั่นคงให้กับระบบประกันเอกชน

ระบบของรัฐไทย จึงสอนให้คน “เห็นแก่ตัว” เพราะไม่สร้างระบบสะสมร่วมกัน และมีข้อกังวลเรื่องการเอางบประมาณรวมมาใช้เพื่อประโยชน์คนเพียงบางกลุ่ม รวมถึงการคอรัปชั่น   นี่คือ อุปสรรคต่อการสร้างรัฐสวัสดิการ

กลุ่มที่ถูกมองข้าม หรือคนไทยไม่เห็นหัว ก็คือ คนต่างด้าวที่ทำงานในประเทศไทย แม้แรงงานถูกกฎหมายจะอยู่ในระบบประกันสังคม แต่แรงงานส่วนใหญ่ที่อยู่ในสถานะผิดกฎหมาย เข้ามาทำงานแบบลักลอบ กลับไม่มีความมั่นคงในชีวิต ในเรื่องความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน เขาเสี่ยงที่จะโดนไถหรือรังแกจากคนทั่วไปและเจ้าหน้าที่รัฐเพราะไม่กล้าแจ้งความเนื่องจะถูกคดีเข้าเมืองผิดกฎหมายแทน

ส่วนความเสี่ยงด้านสุขภาพและเศรษฐกิจก็ไม่มีประกันสังคมรองรับ ซ้ำร้ายเงินที่แรงงานต่างด้าวพยายามเก็บสะสมไว้ก็อาจจะโดนแย่งชิงไปจากการรีดไถไปโดยนายจ้าง เจ้าหน้าที่รัฐ นายหน้า และไม่ใช่แค่ในประเทศไทย แต่หมายถึงเจ้าหน้าที่ในบ้านเกิดตนด้วย   นี่คือ การทำนาบนหลังคนยุคโลกาภิวัฒน์

 

ทางเลือกแบบรัฐสวัสดิการแบบครอบคลุมทุกคนมี ข้อด้อย เรื่องการทำให้คนส่วนหนึ่งไม่หางาน ไม่แข่งขัน ไม่พัฒนาตนเอง รอรับสวัสดิการ

เช่นใน อังกฤษ พบปัญหาใหญ่คือ วัยรุ่นไม่เข้าเรียนหรือฝึกอบรม และไม่หางานทำ แต่กลับพยายามมีความสัมพันธ์ให้ตั้งท้องเพื่อเอาแฟลตและสวัสดิการ   กลายเป็นการสร้างหลักประกันที่ง่ายเกินไปทำให้ชีวิตและสังคมไร้การพัฒนา

ทางออกของอังกฤษจึงเป็นการพึ่งพาการดูดแรงงานต่างด้าวที่กระเสือกกระสนจ่ายเงินแพงๆเข้ามาเรียนและทำงานพิเศษสัปดาห์ละ 20 ชั่วโมง   หรือคัดเลือกคนจากรัฐอาณานิคมเก่าซึ่งขยันขันแข็งและมีความรู้ความสามารถ เข้ามาผลิตรายได้แทน แล้วดูดภาษีทั้งทางตรงและทางอ้อม ย้อนกลับมาสร้างรัฐสวัสดิการตอบสนองต่อประชาชนผู้เป็นเจ้าของคะแนนเสียง   จะเห็นว่ารัฐสวัสดิการจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อผู้เป็นเจ้าของคะแนนโหวตรู้ว่าจะโหวตเพื่อใคร โหวตเพื่อสร้างอะไร   ดังปรากฏนโยบายดูดผลผลิตจากคนอพยพมาป้อนประชาชนเจ้าของสัญชาติอย่างแยบคาย

นอกจากนี้การเมืองแบบชนชั้นที่สะท้อนการต่อสู้ผ่านการเลือกตั้งในยุโรปซึ่งเป็นต้นทางรัฐสวัสดิการสำเร็จ ก็เพราะได้ใช้อำนาจการเมืองปรับโครงสร้างภาษีบีบให้คนรวยจ่ายมากเพื่อเจือจานคนอื่นๆ   เนื่องจากมองว่าเป็นเจ้าของปัจจัยการผลิตและทำกำไรจากการบริโภคของคนทั้งชาติ   คนทำงานก็ต้องเสียภาษีเยอะเช่นกันแต่ก็เสียภาษีเพื่อสร้างความมั่นคงของชีวิตตนและสังคมเพื่อป้องกันปัญหาสังคม

ผู้ที่ผูกขาดปัจจัยการผลิต และสะสมทุนมาก ก็ถูกสกัดการสะสมทุนเพิ่มด้วยการ บังคับเก็บภาษีทรัพย์สิน และมรดก เยอะมาก  จนมีคนจำวนไม่น้อยยอมปล่อยสินทรัพย์เหล่านี้ให้กับรัฐ แทนที่จะต้องหาเงินสดมาจ่ายภาษีเพื่อให้ได้ครอบครองทรัพย์สินเหล่านั้น ทรัพย์สินเหล่านี้ก็กลายเป็นทุนให้รัฐเอาไปหารายได้กลับกลายมาเป็นฐานงบประมาณ  ส่วนปัญหาที่กลัวว่าจะมีการเอาภาษีไปใช้ตามอำเภอใจ และคอรัปชั่น ถูกแก้ไขด้วยเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น ตรวจสอบข้อมูลแบบทะลุทะลวง การทำให้พรรคการเมืองเป็นของมวลชน และการบีบให้พรรครับผิดชอบต่อประชาชน

ส่วนความกังวลที่ว่า คนรวยจะย้ายเงินออกนอกประเทศก็ถูกแก้ด้วยการดึงดูดคนไว้ จากการให้หลักประกันความปลอดภัยชีวิต ทรัพย์สิน แก่นายทุนทั่วโลก รวมถึงเป็นศูนย์กลางศิลปวัฒนธรรม

คำถามคือ ไทยสามารถทำได้หรือ?    ถ้าทำไม่ได้ มีทางเลือกใดอีกบ้าง?

 

สวัสดิการสำหรับคนทำงาน (Workfare) ที่ไม่คำนึงถึงสัญชาติ อาจเป็นทางเลือกที่น่าสนใจสำหรับประเทศไทยที่เป็นศูนย์กลางของแรงงานพลัดถิ่นจากทั่วดินแดนสุวรรณภูมิ และต้องการแก้ปัญหาคนที่ร่ำรวยโดยไม่ทำงาน และความเกียจคร้านได้อีกด้วย   เนื่องจากมุ่งสร้างสวัสดิการให้กับคนทำงานเพื่อสร้างแรงจูงใจให้คนในสังคมพัฒนาตนเอง และขยันขันแข็งในการงาน   โดยรัฐอาจต้องปรับกฎหมายเกี่ยวกับสวัสดิการให้รองรับคนทำงานนอกระบบ/แรงงานต่างด้าว มากขึ้นด้วย

สวัสดิการแรงงานที่เป็นคนต่างด้าว จะเป็นเครื่องดึงดูดและรักษาแรงงานที่มีความสามารถในการผลิตเอาไว้ในประเทศไทย ไม่ให้ย้ายไปทำงานในประเทศอื่นในอนาคตอันใกล้ที่ฐานการผลิตย้ายไปตามกระแสโลกาภิวัฒน์    โดยช่างฝีมือ หรือแรงงานฝีมือมักไหลออก จนทำให้ประเทศเหลือแต่วัยพึ่งพิง

ภาษีทรัพย์สิน และภาษีเก็งกำไร จะสามารถขจัดนักเก็งกำไร แล้วนำไปสู่การนำเงินและทรัพย์สินไปผลิต และลงทุนในภาคการผลิตที่แท้จริงมากขึ้น   มิใช่เต็มไปด้วยคนเล่นหวย เล่นหุ้น แต่ไร้ผู้ประกอบการ   โดยโอกาสในการแข่งขันของผู้ประกอบการรายใหม่เกิดขึ้นได้ด้วยการขจัดการผูกขาดตลาดของรายใหญ่

เราสามารถเก็บภาษีกับผู้ผูกขาด และการกำกับตลาดมิให้บรรษัทหรือนายทุนผูกขาดเศรษฐกิจ   มิใช่การปล่อยให้บรรษัทจำนวนน้อยครอบครองกิจการทั้งลายไว้ใต้ร่มของไม่กี่บรรษัท  จนรวบเอาการหากำไรในกิจกรรมต่างๆในชีวิตคนทั้งสังคมไว้ในอุ้งมือตนจนมีอำนาจกำหนดชีวิต ตั้งแต่ การกิน สุขภาพ ความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ การพักผ่อน การสื่อสาร บันเทิง   จนคนรุ่นใหม่ไม่มีช่องแทรกขึ้นมาทำมาหากินอย่างอิสระ แต่กลับต้องมาอยู่ใต้ร่มของบรรษัทอย่างเลี่ยงมิได้

การขจัดการผูกขาดเบ็ดเสร็จของบรรษัท จะส่งเสริมการแข่งขันเพื่อสร้างสรรค์สินค้าและบริการให้หลากหลายและเติบโตนอกกระถางบอนไซของบรรษัทและนายทุนผูกขาด

การแข่งขันอย่างอิสระของผู้ผลิตรายย่อย ผู้ประกอบการขนาดเล็ก ช่างฝีมือ นักวิจัยพัฒนา และนักคิด นักสร้างสรรค์ จะเพิ่มประสิทธิผลทางการผลิตในแง่ สิ่งสร้างสรรค์ใหม่ๆ และการผลิตมวลรวมไม่สูญเสียไปแช่แข็งเทคโนโลยีของบรรษัทที่ต้องการผูกขาดตลาดด้วยสินค้ารุ่นเก่าของตน   เช่น   บรรษัทธุรกิจบันเทิงขนาดใหญ่รายเก่าไม่ยอมให้ศิลปินทางเลือกเติบโต เพราะจะทำให้บรรษัทใหญ่เสียประโยชน์ไป

ความหลากหลายของสินค้า บริการ และสิ่งสร้างสรรค์ จะนำไปสู่การบริโภคที่ขยายตัว เพราะนอกจากจะกระตุ้นการบริโภคภายในประเทศแล้ว ยังอาจขยายไปดึงดูดการบริโภคของคนในวัฒนธรรมอื่นด้วย เพราะการสื่อสารและเทคโนโลยีสารสนเทศปัจจุบันเอื้อให้   ซึ่งจะทำให้รัฐที่ผู้ผลิตเหล่านั้นสังกัดจัดเก็บภาษีได้มากขึ้นอย่างแน่นอน

การเพิ่มรายได้เป็นเงื่อนไขสำคัญที่จะสร้างระบบสวัสดิการรองรับคนที่ไม่สามารถทำงานได้เป็นเรื่องที่รัฐที่อยู่กับคะแนนเสียงเลือกตั้งแบบประชาธิปไตยหลีกเลี่ยงไม่ได้ และเหตุผลทางสิทธิมนุษยชน/มนุษยธรรม   แต่วิธีการทำให้สำเร็จต้องทำให้คนขยันและทำงานเพราะมี “รางวัล” ตอบแทนการทำงานและการยอมจ่ายสมทบทุน

การสร้างสวัสดิการคนทำงานจึงเป็น “รางวัล” ที่ต้องสร้างขึ้นเพื่อ “จูงใจ” ให้คนขยันทำงานมากขึ้น โดยไม่ตัดโอกาสการพัฒนาด้วยสิ่งเล็กๆ ที่เรียกว่า “สัญชาติ”

บล็อกของ ยาจกเร่ร่อน

ยาจกเร่ร่อน
ท่านผู้อ่านจำนวนไม่น้อยคงเคยบนบานศาลกล่าวหรือขอพรจากสิ่งศักดิ์ในยามคับขัน หรือประสงค์ในสิ่งที่อยู่นอกเหนืออำนาจที่ตัวเองจะกำหนดผลกันมาบ้าง ไม่มากก็น้อย   ยังมินับรวมกระแสความนิยมการใช้ศาสตร์ทางโหราและความรู้ที่สืบทอดกันมานับพันปีอย่างฮวงจุ้ย โหงวเฮ้งในทางธุรกิจที่ทราบกันดีว่ามีอยู่ในกระ
ยาจกเร่ร่อน
หากสิทธิสตรีและเสรีภาพระหว่างเพศ มีอุปสรรคขัดขวางคือ "สังคมชายเป็นใหญ่" มีชายครองอำนาจการเมืองกุมการปกครอง ควบคุมเทคโนโลยี เป็นใหญ่ในครอบครัวบังคับให้คนในบ้านรับบทบาทโน่นนี่   หรือมีความบริสุทธิ์กว่าตามความเชื่อของศาสนา  
ยาจกเร่ร่อน
หาก “เวลา” คือ สิ่งสำคัญอย่างแท้จริงในชีวิต มนุษย์จะเลือกเติมอะไรลงไปในเวลาที่ตนมีอย่างจำกัด
ยาจกเร่ร่อน
เราซึมเศร้า เพราะเราเข้าใจและใส่ใจเพื่อนมนุษย์ผู้หงอยเหงา (Sympathy)เราเห็นใจคนเศร้า เพราะเราก็สิ้นหวังในวันที่พ่ายแพ้เราลุกขึ้นจากความพ่ายแพ้ เพราะเห็นทางแก้อยู่ตรงหน้าเราจะไปให้ถึงขอบฟ้า เพราะรู้ว่ามีคนรุ่นใหม่มุ่งหน้าไปเช่นกัน
ยาจกเร่ร่อน
ในคืนอันเฉอะแฉะของปลายฤดูร้อน มีคนเข้ามาคืนความสุขให้คนไทยพักผ่อนกันถ้วนหน้า หลังจากล้าเพราะสงครามมากึ่งปีแต่ทว่าความสุขที่ได้มาพร้อมเงื่อนไข ไม่เปิดโอกาสให้แสดงออกเต็มที่หลบไปแสวงหาความสุขด้วยมหกรรมกีฬาระดับโลกแล้วก็หายไป ต้องกลับมาอยู่กับวันใหม่ที่ไม่เหมือนเดิม
ยาจกเร่ร่อน
คนไทยกับคนอิตาลี มีลักษณะร่วมกันหลายอย่าง คือ เกิด เติบโต และอาศัยอยู่ในดินแดนที่อากาศดี อาหารอร่อย มีทรัพยากรให้ใช้สอยมากมาย ทั้งเกษตร และท่องเที่ยว เรียกว่าไม่ต้องออกไปนอกประเทศเลยก็มีความสุขได้   แต่ก็กลายเป็นดาบสองคมเพราะมันคือสังคมที่คนอาจคิดไปว่า “เราคือศูนย์กลางจักรวาล”
ยาจกเร่ร่อน
หลังจากความล้มเหลวของทีมชาติเปน ทำให้เกิดคำถามอย่างกว้างขวางในหมู่ชาวไทยว่าเกิดอะไรขึ้น   แต่ความถดถอยนี้มีเค้าลางมาตั้งแต่ศึกฟีฟ่าคอนเฟดเดอเรชั่นคัฟ   เมื่อปี 2013   ซึ่งเป็นปีที่โลกรับรู้ว่า สถานะทางเศรษฐกิจของสเปนอยู่ในภาวะล้มละลาย   คนในยุโรปทราบดีว่าสิ
ยาจกเร่ร่อน
จากผลการแข่งขันฟุตบอลโลกนัดแรกของทีมขวัญใจมหาชนอย่าง อังกฤษ คงสร้างความหงุดหงิดและคลางแคลงใจให้กับคนจำนวนไม่น้อย  เหมือนทุกครั้งที่แฟนบอลชาวไทยต้องช้ำใจเพราะอังกฤษ  ทำไม คนไทยจำนวนมากถึงส่งแรงใจเชียร์อังกฤษ ?
ยาจกเร่ร่อน
เถียงกันไป เถียงกันมา เรามัวแต่ทำงานจนลืมเวลา พอหันกลับมาก็รัฐประหารเสียแล้วแรงงานในประเทศไทยหลายสิบล้านคนทั้งที่เป็นคนไทย และที่ขยับขยายมาจากต่างชาติ ก็คงสงสัยไม่ต่างกันว่า เปลี่ยนแล้วชีวิตเราดีขึ้นไหม
ยาจกเร่ร่อน
ทำไมคนต้องทำงาน?  ยังมีคนถามเรื่องนี้อยู่อีกหรือไม่?แต่คำตอบที่ได้ ย่อมสะท้อนตัวตน ชนชั้น และความจำเป็นในชีวิตแต่ละคนอย่างแน่นอนคนมีมรดกตกทอด อาจไม่ต้องดิ้นรนทำมาหากินมากนัก แต่มีกินมีใช้จากดอกเบี้ย และค่าเช่าที่ได้จากทรัพย์สิน ซึ่งบรรพบุรุษส่งมอบไว้ให้
ยาจกเร่ร่อน
วันแรงงาน จัดขึ้นเพื่อ ให้แรงงานหยุดงานมารวมตัวกันเพื่อเรียกร้องสิทธิต่อนายจ้าง และรัฐแต่สิ่งที่เห็น คือ มีคนต้องทำงานในวันนี้เต็มไปหมดคนที่ไม่ได้ทำงาน ก็ถือเอาเวลานี้ไปโรงพยาบาลเพื่อซ่อมแซมร่างกายที่สึกหรอจากการทำงาน หรือพาครอบครัว/ตัวเองไปพักผ่อน
ยาจกเร่ร่อน
มีเสียงบ่นเข้ามาหนาหู จากเหล่าครูบาอาจารย์ และนักวิจัยในมหาวิทยาลัย ที่ควรเป็นชนชั้นนำทางปัญญา ใช้สติปัญญาและเวลามาแก้ปัญหาสังคม ว่า เขากำลังอยู่ในภาวะเตี้ยอุ้มค่อม หากต้องออกมาช่วยเหลือสังคมหรือเคลื่อนไหวทางการเมือง   เพราะการจ้างงานของตนในมหาวิทยาลัย เข้าสู่ยุคมหาวิทยาลัยนอกระบบที่จะต