บทความวันนี้ ให้ความสนใจกับปัญหาความล้มเหลวของโครงการด้าน ICT ซึ่งเป็นปัญหาสำคัญที่องค์กรต่างๆกำลังเผชิญหน้าอยู่ โดยมีจุดประสงค์เพื่อมุ่งค้นหาส่วนประกอบสำคัญ ซึ่งสามารถช่วยให้องค์กรประสบความสำเร็จ ในการดำเนินโครงการด้าน ICT
ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน องค์กรมากมายมักประสบกับปัญหาความล้มเหลว ในการดำเนินโครงการด้าน ICT ทั้งในแง่ของต้นทุนการดำเนินโครงการที่บานปลาย ในแง่ของการไม่สามารถควบคุมกำหนดเวลาได้ตามแผน และในแง่ของการที่โครงการไม่สามารถให้ผลสัมฤทธิ์ ตามที่ได้กำหนดไว้ตอนเริ่มต้น
ท่ามกลางสภาพปัญหาข้างต้น ผู้ที่เกี่ยวข้องกับโครงการ ไม่ว่าจะเป็นผู้บริหารองค์กร ผู้บริหารโครงการ รวมถึงผู้ปฏิบัติหน้าที่ต่างๆในโครงการ มักยกให้ความซับซ้อนทางเทคโนโลยี เป็นประเด็นสำคัญแห่งความล้มเหลว
ความซับซ้อนทางเทคโนโลยีในที่นี้ หมายถึง สภาพความไม่คุ้นเคย กับเทคโนโลยีที่กำลังนำมาใช้ขององค์กร ซึ่งมีอยู่ทั้งในแง่ของการขาดความรู้ทางเทคโนโลยี และในแง่ของความไม่สามารถบริหารจัดการโครงการทางเทคโนโลยี อย่างเท่าทัน
อย่างไรก็ดี สภาพการขาดความรู้ความสามารถ อันเท่าทันเทคโนโลยี ถือเป็นสาเหตุประการหนึ่ง ซึ่งส่งผลให้องค์กรประสบความล้มเหลว ในการดำเนินโครงการด้าน ICT เพียงเท่านั้น
ยังมีสาเหตุสำคัญอีกประการหนึ่ง ซึ่งส่งผลต่อความล้มเหลว ในการดำเนินโครงการด้าน ICT นั่นคือ การขาดความตระหนักถึง ความเปลี่ยนแปลงทางสังคม ซึ่ง ICT นำมาสู่องค์กร ซึ่งโดยปกติมักอยู่นอกเหนือจากความคาดหมายของผู้บริหารองค์กรและผู้บริหารโครงการ
โดยปกติ เมื่อองค์กรเริ่มต้นดำเนินโครงการด้าน ICT องค์กรส่วนใหญ่มักจะมุ่งไปที่ การวางแผนบริหารโครงการ เพื่อให้ได้ผลสัมฤทธิ์ตามที่คาดหวังไว้ โดยมุ่งให้ความสนใจกับ ตัวแปรทางเทคนิคและข้อจำกัดทางด้านทรัพยากรขององค์กร เป็นสำคัญ และหลงลืมการให้ความสำคัญกับความเปลี่ยนแปลงทางสังคมภายในองค์กร
ตัวอย่างของ ตัวแปรทางเทคนิค ที่องค์กรให้ความสำคัญ เช่น การให้ความสนใจกับอุปกรณ์หรือระบบที่นำมาใช้ ว่าจักต้องมีคุณสมบัติอย่างไร หรือต้องสามารถทำงานร่วมกับระบบเก่าอะไรบ้าง และอย่างไร
ข้อจำกัดทางด้านทรัพยากรขององค์กร ที่ขอยกตัวอย่างให้เห็น เช่น งบประมาณและทรัพยากรบุคคล ที่องค์กรสามารถอุทิศให้ รวมถึงระยะเวลาดำเนินโครงการ ที่ต้องกำหนดในช่วงเริ่มต้นโครงการ
แน่นอนว่า ในมุมมองของผู้บริหารองค์กรและผู้บริหารโครงการ ซึ่งมุ่งเน้นไปที่การได้รับผลสัมฤทธิ์ที่วัดผลได้ ทางการบริหาร นั่นคือ โครงการเสร็จทันเวลา ในงบประมาณที่กำหนด และระบบที่ดำเนินการแล้วเสร็จมีความสามารถทำงานได้ตามที่วางแผนไว้ การให้ความสำคัญกับปัจจัยทั้งสองข้างต้น มีความสำคัญกับการดำเนินโครงการ เนื่องจากผู้บริหารเชื่อว่า หากให้ความสนใจและสามารถควบคุมปัจจัยทั้งสองข้างต้นแล้ว องค์กรสมควรได้รับผลสัมฤทธิ์ที่คาดหวัง
แต่กระนั้นก็ดี การให้ความสำคัญแค่เพียงปัจจัยทั้งสองข้างต้น ไม่อาจทำให้องค์กร ได้ผลสัมฤทธิ์ตามที่คาดไว้ เนื่องจากสุดท้ายแล้ว ความเปลี่ยนแปลงทางสังคมภายในองค์กร ที่เกิดขึ้นเนื่องจากการดำเนินโครงการ ICT จักผลักดันให้องค์กรไม่สามารถดำเนินโครงการ ได้ตามเป้าหมายที่วางไว้
โครงการด้าน ICT โดยส่วนใหญ่ ไม่ว่าจะในลักษณะของการนำ ICT เข้ามาเสริมสมรรถนะการทำงาน หรือเข้ามาทดแทนระบบการทำงานเดิม มักส่งผลให้ลักษณะหรือรูปแบบการทำงาน ของระบบเดิมดังกล่าวเปลี่ยนแปลงไป ซึ่งแน่นอนว่าต้องมีผลกระทบโดยตรง กับการปรับตัวของพนักงานผู้ปฏิบัติหน้าที่ในระบบดังกล่าว ที่จะต้องกลายมาเป็นผู้ใช้งานระบบที่เปลี่ยนแปลงไป ที่ซึ่ง ICT เข้ามามีส่วนร่วมมากขึ้น
นี่เองที่ถือได้ว่า เป็นความเปลี่ยนแปลงทางสังคมในองค์กรรูปแบบหนึ่ง ที่องค์กรจำเป็นอย่างยิ่งที่จักต้องมีมาตรการรองรับความเปลี่ยนแปลงนี้ เพื่อทำให้ผู้ใช้งานระบบทุกคน มีความสามารถ และความพร้อมทำงานกับระบบใหม่นี้ พร้อมกับให้การยอมรับและให้การสนับสนุน การดำเนินโครงการด้าน ICT เพื่อลดจำนวนปัญหา ที่อาจเกิดขึ้นในระยะเริ่มต้นของการเปลี่ยนถ่ายระบบ ให้มีน้อยที่สุด และเพื่อทำให้ระบบใหม่นี้ได้รับการยอมรับ และถูกใช้งานในระยะยาว
ตัวอย่างความเปลี่ยนแปลงทางสัมคมภายในองค์กร อีกหนึ่งตัวอย่างที่ข้าพเจ้าขอพูดถึงในที่นี้ คือ ความเปลี่ยนแปลงทางด้านอำนาจภายในองค์กร เนื่องจากความสามารถในการทำงานของ ICT สามารถลดบทบาทความสำคัญ หรือสามารถเข้ามาทดแทนการทำงาน ของกลุ่มพนักงานบางกลุ่ม ทำให้กลุ่มดังกล่าว สูญเสียอำนาจต่อรองในการทำงาน และอาจนำมาซึ่งการต่อต้านการดำเนินโครงการได้
ตัวอย่างของการเปลี่ยนแปลงจากสองแง่มุมข้างต้น สะท้อนให้เห็นอิทธิพลของการเปลี่ยนแปลงทางสังคมภายในองค์กร อันมีมนุษย์เป็นส่วนประกอบสำคัญ ซึ่งยากต่อการคาดเดาและควบคุมความคิดและการตอบสนอง ซึ่งข้าพเจ้าเห็นว่า การเปลี่ยนแปลงในลักษณะนี้ เป็นอุปสรรคต่อการดำเนินโครงการด้าน ICT ให้ได้ผลสัมฤทธิ์ที่ต้องการ ซึ่งอยู่นอกเหนือจาก ตัวแปรทางเทคนิคและข้อจำกัดทางด้านทรัพยากรขององค์กร ซึ่งองค์กรส่วนใหญ่ให้ความสำคัญ และจำเป็นอย่างยิ่งที่องค์กรจักต้องตระหนักและให้ความสำคัญ
ข้าพเจ้าขอสรุปส่งท้ายว่า
ไม่ว่าโครงการด้าน ICT ที่ซึ่งองค์กรต่างๆคิดและวางแผนนำมาใช้งาน จะสมบูรณ์แบบหรือทรงพลังเพียงใด และไม่ว่าโครงการด้าน ICT ดังกล่าวจะถูกตั้งเป้าประสิทธิภาพการทำงานหรือถูกคาดหวังผลสัมฤทธิ์ที่สูงเพียงใด สุดท้ายแล้วก็ขึ้นอยู่กับมนุษย์ ผู้ซึ่งมีส่วนร่วมในโครงการทุกคน ไม่ว่าจะเป็นผู้ทำงานกับระบบ ผู้ได้ประโยชน์จากระบบ ผู้สูญเสียประโยชน์จากระบบ ผู้บริหารโครงการ และผู้บริหารองค์กร ที่เล่นเป็นตัวเอก ที่จะนำพาโครงการด้าน ICT ต่างๆ ให้สามารถสร้างผลสัมฤทธิ์ที่ต้องการได้
ดังนั้นการให้ความสำคัญหรือการตระหนักถึง การเปลี่ยนแปลงทางสังคมภายในองค์กร อันเป็นผลจากการดำเนินโครงการด้าน ICT ควบคู่ไปกับการให้ความสำคัญกับ ตัวแปรทางเทคนิคและข้อจำกัดทางด้านทรัพยากรขององค์กร ตั้งแต่เริ่มต้นและตลอดการดำเนินโครงการ ย่อมทำให้ผู้บริหารองค์กรและผู้บริหารโครงการ มองเห็นปัญหาและอุปสรรคอย่างรอบด้าน ซึ่งจักส่งผลให้การดำเนินโครงการด้าน ICT มีแนวโน้มที่จะประสบความสำเร็จ อย่างเป็นรูปธรรมมากขึ้น และเพิ่มความเป็นไปได้ที่องค์กรจักได้รับผลสัมฤทธิ์ที่คาดหวังไว้ ในท้ายที่สุด