ชาวบ้านห้วยสะคามตื่นเต้น ใช้ไฟฟรี ประหยัดกันยกใหญ่!
อยากให้พาดหัวข่าวแบบนี้ในหน้าหนังสือพิมพ์บ้างจัง
แม้ว่ามันจะเป็นเรื่องเล็กมากของประเทศ ท่ามกลางสถานการณ์ที่ขัดแย้งใหญ่หลวงของบ้านเมืองยามนี้ นโยบายอะไรๆ ของรัฐบาลก็ไม่ดีทั้งนั้น
ในฐานะที่ไม่ได้รู้ตื้นลึกหนาบางอะไรมากเกี่ยวกับนโยบายประชานิยม แต่ว่าพอเข้าใจหัวจิตหัวใจของชาวบ้านตาดำๆ ซึ่งเวลาลงคะแนนเลือกตั้งเสียงของเขาก็มีค่าเท่ากับศาสตราจารย์หรือด๊อกเตอร์ในเมืองไทย เขาก็มองเห็นผลดีผลได้เท่าที่จับต้องได้ ไม่ต้องอ้างเอ่ยว่าเขาซื้อเสียงง่ายหรอก แต่เขาเห็นว่าเขาได้อะไรจากรัฐบาลชุดที่แล้ว (ยุคทักษิณ) เขาถึงเลือกและชอบ
ฉันไม่ได้เข้าข้างทักษิณ (สารภาพตามตรง ข้อมูลไม่พอ) แต่ว่าหลายครั้งที่กระแซะถามไทบ้านยามไปหมู่บ้านนั้นหมู่บ้านนี้ละแวกเลียบริมน้ำโขงพวกเขาพูดเหมือนกันว่า สองปีมานี้ซบเซาเหลือเกิน ผ้าฝ้ายขายไม่ได้เลย ไม่เหมือนตอนที่สินค้าโอท็อปเฟื่องฟู (แถวนี้นอกจากทำนาแล้ว ยามหมดหน้านาจะปลูกฝ้าย ทอผ้าฝ้าย)
ฉันไม่รู้ว่าเคยมีใครทำวิจัยถึงผลการสร้างกระแสสินค้าโอท็อปบ้างไหม ยุคแรกๆ เห็นหลายคนออกมาวิพากษ์วิจารณ์ว่าล้มเหลว แต่จวบจนทุกวันนี้ ฉันรู้ได้อย่างหนึ่งว่า ถ้าไปจังหวัดไหนก็ตาม เพื่อนหรือคนในพื้นที่จะพาไปร้านสินค้าโอท็อป เพราะรู้ว่าเป็นสินค้าพื้นเมือง เหมาะแก่การทำเป็นของฝากหรือของที่ระลึก ซึ่งชาวบ้านได้รับผลอันนี้กันเต็มๆ แม้กำไรจะตกอยู่ที่พ่อค้าคนกลางมากกว่าอันเป็นธรรมดาของการระบอบการซื้อขายที่มีมายาวนาน แต่หากไม่คิดมาก วันหน้ามันก็คงมีการเรียนรู้และสร้างระบบการซื้อขายที่ยุติธรรมขึ้นมาเอง
พอเกิดการรัฐประหารและระบบต่างๆ ที่เคยเป็นชะงักลง ชาวบ้านก็ไปกันต่อไม่ถูก โชคยังดีที่มีที่นาป่าเขาแม่น้ำ ให้ทำไร่ไถนา หาของป่า ไม่ต้องจับจ่ายเงินทองมาก เงินไม่มี แต่เงินก็ไม่ต้องใช้ ก็ยังอยู่กันได้
เรื่องเหล่านี้ ฉันว่าอธิบายไปแทบตายอย่างไรก็คงจะทำความเข้าใจยากอยู่สำหรับคนเงินเดือนสามหมื่นขึ้นไป เวลากินอาหารมื้อหนึ่งปกติอยู่ที่ร้อยบาท หรือกินเลี้ยงหลังเลิกงานก็เห็นว่าเงินพันบาทเล็กน้อย คงทำความเข้าใจยากแน่ๆ ว่าทำไมการเอาเงินสองสามบาทไปซื้อใบกระเพรา โหระพา ถึงโดนด่า
ฉันโดนพ่อสนคนสวนแห่งศูนย์ภูมิปัญญาไทบ้านเอ็ดเอามาแล้วว่า เอะอะอะไรก็ซื้อ ไม่เห็นคุณค่าของเงิน ทั้งๆ ที่เงินร้อยบาทที่นี่ซื้ออาหารเลี้ยงคนได้ตั้งหกเจ็ดคน ซื้อขนมให้เด็กกินได้อีกหลายห่อ ฉันไม่รู้สึกอะไรเพราะว่าแต่ก่อนกินข้าวเที่ยงมื้อหนึ่งบวกขนมที่หิ้วกลับสำนักงานก็ประมาณนี้ ร้อยเดียวเอง แต่พอมาอยู่ที่นี่ต้องปรับตัวใหม่ ต้องเริ่มล้างความเคยชินเดิมๆ ออก เพราะไม่อย่างนั้นจะไม่อาจเข้าใจได้เลยว่า ชาวบ้านเขามีวิธีคิดต่อสิ่งต่างๆ อย่างไร
เขาไม่ได้โง่!
อันนี้แน่นอน ยืนยันได้
และไม่ได้งก ไม่ได้เห็นแก่เงิน
เห็นพวกเขามีเงินน้อย แต่คุณเชื่อเถอะว่า หากคุณไปเยือนบ้านเขา เขาจะฆ่าไก่เป็นอาหารเลี้ยงคุณ แม้จะจน แต่สิ่งที่ดีที่สุดเท่าที่มี เขาให้คุณ ดังนั้น หากจะประเมินไก่หนึ่งตัวของเขา คุณก็ลองคิดถึงเบนซ์งามๆ สักคันในโรงรถที่คุณจอดเรียงรายนั่นแหละ คุณให้เขาได้หรือเปล่า
เงินซื้อเขาไม่ได้ อย่าคิดว่าชาวบ้านซื้อกันได้ง่ายๆ ถ้าคุณให้เงินเขาไปพันบาทและแสดงกิริยาไม่ดีใส่ ไม่ให้เกียรติ เหมือนอย่างที่คุณนั่งแท็กซี่ในกรุงเทพฯ หรือปฏิบัติหยาบๆ ต่อเด็กในร้านอาหารตามเมืองใหญ่ เชื่อว่าอย่างไรเงินก็มีอำนาจจะแสดงกิริยาหยาบคาย พูดจากระโชกโฮกฮาก อย่างไรเขาก็ต้องยอมคุณ เพราะเขามีอาชีพให้บริการและคุณก็เงินหนาเพียงพอต่อความมั่นใจ คุณอาจจะทำเช่นนั้นได้สำหรับเมือง
แต่ที่นี่ คุณจะไร้สัมมาคารวะไม่ได้ หากคุณกระโชกโฮกฮากเหมือนที่คุณทำกับแท็กซี่หรือเด็กเสิร์ฟในเมือง คุณอาจจะถูกคนที่นี่ไม่พูดด้วยและบอยคอตโดยธรรมชาติของสังคมชาวบ้าน และอย่าแปลกใจหากชาวบ้านเข้ากรุง เขาจะนอบน้อมตั้งแต่กระเป๋ารถเมล์ไปจนถึงยามอพาร์ทเมนท์
ฉะนั้น เรื่องที่สำคัญที่สุดของชาวบ้านคือการให้เกียรติ ไม่ใช่เงิน
แต่ที่เขาถูกมองว่าซื้อเสียงเพราะเขาเลือกตามบุคคลที่เขานับถือ และเราก็เรียกคนเหล่านั้นว่า หัวคะแนน และเผอิญหัวคะแนนมีเงินมาให้ ต่อให้หัวคะแนนไม่มีเงินมาให้ ก็เป็นไปได้ว่าด้วยความเชื่อมั่นที่มีต่อกัน ก็ยังจะเลือกตามหัวคะแนนเหล่านั้นอยู่ สายสัมพันธ์ตรงนี้ลึกซึ้งแน่นเหนียว ถ้าหัวคะแนนไม่แปรเป็นอื่น ร้อยทั้งร้อยอย่างไรไทบ้านก็เลือกพรรคเดิม
ชาวบ้านมองว่าเงินมีค่าที่สุด รู้เห็นคุณค่าของเงินที่สุด จึงใช้จ่ายแต่น้อยและอดออม เพราะเชื่อว่านั่นคือเงินที่บริสุทธิ์ เขาโกงกินไม่เป็น หลอกใครไม่เป็น คิดผลกำไรสูงๆ ไม่เป็น ประเมินค่าแรงตัวเองต่ำเสมอ ดังนั้น เมื่อนโยบายใช้ไฟฟ้าฟรีลงมาถึง อันปกติชาวบ้านก็ใช้ไฟกันอย่างประหยัดอยู่แล้ว (ไม่ประหยัดได้ไง เงินทองเป็นของหายาก) ถ้ามองในสายตาเราก็ไม่กี่บาท แต่ไม่กี่บาทนี่แหละมีความหมายอย่างยิ่ง โกงใครไม่เป็น แต่ว่าได้ประหยัดไปตั้งหลายบาท ไม่ว่าใครก็ต้องดีใจทั้งนั้น
บิลไฟฟ้าออกมาแล้ว
“อีสร้อย บ้านเจ้าเสียจั๊กบาท” เสียงพี่สาวข้างบ้านตะโกนถาม
เดือนที่ผ่านมาฉันไม่ค่อยอยู่บ้าน (เช่า) บิลออกมายี่สิบบาท พอตอบไป แม่เฒ่าที่จับกลุ่มฟังอยู่ก็เฮ “อีสร้อยมันก็ได้ใซ้ไฟฟ้าฟรีคือกัน”
ยกเว้นพี่คนถามเพราะทำร้านค้า มีตู้เย็น ตู้แช่ไอติม และเปิดไฟหน้าบ้านอีก แกทำหน้ามุ่ย เพราะต้องออกเองครึ่งหนึ่ง มีบางบ้านเหมือนกันที่ใช้ไฟเกินกำหนดใช้ฟรี ต่างตั้งปณิธานกันใหญ่ว่าเดือนหน้าจะลดการใช้ไฟเพื่อให้ได้ใช้ไฟฟ้าฟรีด้วยคน
ส่วนฉันน่ะหรือ เดือนนี้หอบหม้อหุงข้าว กระทะไฟฟ้า วิทยุเทป มาอีก ก็หวั่นเกรงอยู่ว่าเดือนหน้าค่าไฟจะเพิ่มไหม แต่ไม่ว่าอย่างไร ฉันจะประหยัดให้มากที่สุด เพราะรายได้นักเขียนก็ไม่ได้ดีไปกว่าชาวนาเท่าไหร่ อย่างไรจะยันที่ต่ำกว่าแปดสิบหน่วยให้จงได้
คิดแล้วก็ขำ อารมณ์อยากใช้ของฟรีก็ทำให้เราได้กลับมาทำอะไรที่ถูกที่ควรเหมือนกันนะ แถวนี้มีเขื่อนปากมูนที่แลกมาด้วยความล้มเหลวในวิถีไทบ้านหลายร้อยครัวเรือน แลกมาด้วยความสูญเสียทางทรัพยากรธรรมชาติอย่างไม่อาจประเมินค่าได้ เงินกี่ร้อยกี่พันล้านก็ชดเชยไม่ได้
และเมื่อลองย้อนมองกลับไปอีกมุมของเมืองไทย คนบางคนที่คิดว่าตัวเองฉลาดรู้เท่าทันเกมการเมือง มานั่งดูถูกว่าเป็นนโยบายหาเสียงแล้วตัวเองก็ไม่สนใจปล่อยให้วิถีชีวิตพึ่งแต่ไฟฟ้า ต้องเสียค่าไฟกันเดือนละสองสามพันบาท (เพราะคุณไม่เคยเห็นคุณค่าของเงิน) เปิดแอร์กันเข้าไป เปิดโทรทัศน์ทิ้งไว้เข้าไป เปิดไฟเพราะกลัวหัวขโมยกันไม่รู้กี่ดวง แต่ทุกการกระทำล้วนเป็นการทำร้ายคนชายขอบทั้งสิ้น
บัดนี้ เขื่อนแห่งใหม่ในละแวกใกล้เคียงจากสายน้ำแม่โขงก็กำลังส่อเค้ามาอีก ทั้งที่ใช้ไฟฟ้ากันคนละติ๊ดดดดด เท่านั้น ก็ไม่รู้ทำไมต้องซวยถูกสร้างเขื่อนแห่งแล้วแห่งเล่าด้วยหนอ?