นึกไม่ออกแล้วว่าเคยไปร่วมงานวันเด็กครั้งสุดท้ายเมื่อไหร่
พยายามนึก...
ลูกก็ยังไม่มี หลานรึ ก็ไม่เคยได้พาไป เพราะไม่ค่อยได้อยู่บ้าน
งานวันเด็กครั้งสุดท้ายของตัวเองน่าจะเป็นตอนที่ยังเรียนอยู่ชั้น ป.๖ นั่นแหละ เพราะหลังจากนั้น พอขึ้นชั้น ม.๑ ความแก่แดดแก่ลมของฉันก็พลันให้รู้สึกว่าตัวเองเป็นสาววัยรุ่นแล้ว ไม่ใช่เด็ก จึงไม่เคยไปวอแวงานวันเด็กอีก ไม่อย่างนั้น เค้าจะหาว่าเด็ก
จนปีใหม่นี้ฉันมีโอกาสไปนอนมองพระจันทร์กลางทุ่งนา มองฟ้าพร่างดาวเคลื่อนคล้อยข้ามคืนข้ามปีในช่วงปีใหม่ที่อำเภอกุดชุม จังหวัดยโสธร ก็เลยได้อยู่ยาวมาเรื่อยจนถึงงานวันเด็กของหมู่บ้าน
หลานสาวเพียงคนเดียวของครอบครัวที่ฉันมาอาศัยกระท่อมนอนอยู่ กำลังเรียนอยู่ชั้นป.๑ อายุ ๖ ขวบ ต้องไปเต้นในงานวันเด็กด้วย สมาชิกของครอบครัวนี้เห่อกันทั้งบ้านจึงขนกันนั่งท้ายกระบะรถ รวม ๘ คนไปดูหลานสาวเต้นเพลง "คนบ้านเดียวกัน"
หมู่บ้านละแวกนี้ส่วนใหญ่ฐานะยากจน ดังนั้น ชุดเต้นรำของเด็กๆ จึงเป็นชุดที่ใครจะแต่งอย่างไรก็ได้ขอให้ออกมาดูดีดูสวยที่สุดพอ ไม่มีการตัดเย็บใหม่ให้ชุดเสื้อผ้าเหมือนกันอย่างที่เราเห็นตามหัวเมือง
น้องกุ๊กกิ๊ก หลานสาวตัวน้อยถูกจับผูกผมหลายจุกให้ดูเก๋ไก๋ด้วยไหมพรมสีม่วงและชุดสีชมพูตัวเก่ง นี่คือชุดสวยที่สุดของเด็กหญิงแล้ว เมื่อไปรวมกับเพื่อนๆ ที่โรงเรียนที่ต่างคนต่างแต่ง ก็กลายเป็นเหมือนงานปาร์ตี้ ชุดไม่เหมือนกันไม่เป็นไร ขอให้พวกเราเต้นมันเป็นพอ
ฉันสะพายกล้องไปตั้งใจจะถ่ายรูปเด็กหญิงไว้เป็นที่ระลึก เมื่อเข้าไปยังห้องโถงของอาคารเรียนที่เขาจัดงานวันเด็ก ก็ให้รู้สึกแปลกใจว่า ทำไมเด็กมีน้อยจัง อยู่กันแค่กระจุกหนึ่ง หรือว่างานวันเด็กวันนี้มากันเฉพาะเด็กที่ได้เต้นเท่านั้น
อาสาวของเด็กหญิงบอกกับฉันว่า มีเท่านี้แหละ โรงเรียนนี้มีนักเรียนน้อย ประมาณเจ็ดสิบคนเท่านั้นนับตั้งแต่ชั้นอนุบาลจนถึงป.๖
ฉันได้แต่ฉงน โรงเรียนออกจะกว้างใหญ่ อาคารเรียนก็ใหญ่โต ถ้าเทียบกับโรงเรียนประถมเชิงเขาที่ฉันเคยเรียน โรงเรียนแห่งนั้นมีนักเรียนถึงสี่ร้อยกว่าคน ทั้งที่มีขนาดของบริเวณโรงเรียนและอาคารเรียนพอๆ กันกับที่นี่แหละ
น้องสาวคนสวยยิ้ม บอกว่า เดี๋ยวนี้โรงเรียนตามหมู่บ้านเป็นอย่างนี้แหละค่ะพี่ เพราะคนส่วนใหญ่ถ้าเขาพอมีฐานะหน่อย เขาจะพาลูกไปเรียนในเมือง มันเป็นค่านิยมแบบนี้
อ้อ!
ฉันถึงได้พยักหน้า เข้าใจ นี่ ไม่ใช่ค่านิยมเฉพาะคนแถวนี้หรอก ดูแล้วก็น่าจะเป็นทั้งประเทศ เพราะเชื่อว่าโรงเรียนในเมืองย่อมดีกว่า แต่ไหนแต่ไรมา ไม่ว่ากรุงเทพฯ หรือต่างจังหวัด มาตรฐานการเรียนการสอนของแต่ละโรงเรียนไม่เท่าเทียมกันนั้นเป็นมานานแล้ว ดังนั้น เราจึงมักจะเห็นช่วงก่อนเปิดเทอม พ่อแม่ของเด็กมักต้องหาเงินวิ่งเต้นเพื่อให้ลูกเข้าโรงเรียนดังๆ เสมอ
โรงเรียนบ้านนอกก็เลยกลายเป็นโรงเรียนของคนบ้านนอกระดับปลายแถว ซึ่งใช่แน่เสมอไปว่าโรงเรียนบ้านนอกจะไร้คุณภาพเสมอไป แถมใช่ว่าจะไม่สนุกเสมอไป
วันเด็กของโรงเรียนบ้านกุดแดงที่มีเด็กๆ กระจึ๋งหนึ่ง จึงเกิดความน่ารักไปอีกแบบ นับตั้งแต่การแต่งเวทีที่ไม่มีเวที ลานเล็กๆ ที่ให้เด็กๆ ได้ออกมาเต้นและผู้ใหญ่มอบรางวัล ซึ่งรางวัลที่เด็กๆ ได้รับก็หาใช่ได้มาจากที่ไหนอื่น แต่หากเป็นการร่วมมือร่วมใจกันของผู้ปกครองที่ต่างซื้อขนมมาสมทบคนละเล็กละน้อย จนเกิดเป็นขนมกองโตมีเพียงพอแบ่งปันให้เด็กๆ ได้อิ่มหนำทุกคน
ส่วนผู้ใหญ่ก็พากันยืนดูอยู่รอบๆ บ้างก็ลากเก้าอี้ออกไปผิงแดด ทักทายกันเพราะเป็นคนบ้านเดียวกัน
เมื่อถึงคราวลูกหลานของตนออกมาเต้นก็พากันอมยิ้ม บ้างก็ขบขัน หัวเราะเฮฮา เด็กแต่ละคนไม่ได้เก่งอย่างแดนซ์เซอร์เด็กในทีวีที่เต้นพร้อมเพรียงกันเด๊ะ แต่เด็กที่นี่นอกจากแต่งตัวตามแต่เสื้อผ้าที่มีจะอำนวยแล้ว ท่าเต้นก็ยังหลุดไปกันคนละแบบ ซึ่งไม่เป็นไร ผู้ใหญ่ที่นี่ไม่ได้จริงจัง ขอเพียงแค่ได้เห็นลูกหลานกล้าแสดงออกบ้างเท่านั้นแหละ เพราะอยู่บ้านก็เอาแต่อายๆ ให้ลองเต้นให้ดูก็ก้มหน้าอาย เต้นได้เท่านี้ก็ดีถมแล้ว
พักเที่ยงมีไอติมถังและข้าวผัดเลี้ยง ซึ่งทางโรงเรียนผัดไว้เยอะมาก จึงอิ่มหนำไปกันทั้งเด็กและผู้ปกครอง ก่อนที่จะแยกย้ายกันกลับบ้านช่วงบ่าย
จบละ วันเด็กปีนี้ของที่นี่ กลับบ้านเมื่อเปิดโทรทัศน์ดู เห็นวันเด็กในกรุงเทพฯ หรือจังหวัดอื่นๆ ซึ่งยังจัดกันอย่างสนุกสนาน อดคิดไม่ได้ว่า เด็กๆ บ้านนอกจะนึกอิจฉาเด็กในเมืองหรือเปล่าหนอที่งานวันเด็กในเมืองดูน่าสนุกกว่าเยอะเลย
ครั้นมองออกไปนอกบ้านเห็นเด็กหญิงกุ๊กกิ๊กกำลังหิ้วขนมถุงใหญ่วิ่งไล่จับลูกหมูที่ได้มาใหม่ห้าตัว ก็เลิกคิดได้ว่าเธอจะเกิดความอิจฉาเด็กในเมืองอย่างนั้น
โชคดีที่พื้นที่ของเด็กบ้านนอกที่ไกลเมืองมากๆ ทำให้พวกเขาไม่ต้องติดโทรทัศน์ ไม่ติดเกม (เพราะถ้าบ้านนอกแบบไม่ไกลเมืองมากก็มักจะรับเอาวัฒนธรรมเด็กเมืองอย่างพวกเกมต่างๆ มาเหมือนกัน) ฉันถามกุ๊กกิ๊กว่า วันเด็กสนุกไหม เธอรีบพยักหน้า
"อยากให้มีวันเด็กทุกวันไหม"
เธอรีบพยักหน้าหลายที และพูดว่า "หนูอยากกินขนมเยอะๆ อย่างนี้"
ฉันยิ้ม นึกคำถามอะไรไม่ออก
โลกของเด็กยังสดใสบริสุทธิ์ เธอยังไม่รู้หรอกว่า งานวันเด็กที่ไหนสนุกกว่าที่ไหน ไม่เคยคิดเปรียบเทียบ เพราะยังไม่เคยเห็นความแตกต่าง คนที่เห็นความแตกต่างเท่านั้นจึงคิดเปรียบเทียบ ซึ่งคงจะดี ถ้าผู้ใหญ่อย่างเราจะสังวรตนแต่เนิ่นๆ ว่าบางทีสิ่งที่เราเห็นว่าดีที่สุด อาจไม่ใช่ก็ได้
เด็กบางคนอาจไม่ได้ชอบงานวันเด็กที่หรูหราใหญ่โต หากสนใจแค่ขนมในมือเท่านั้น
บางทีเราคงไม่ต้องไปสอนให้เขารู้จักพอ หรือรู้จักมีความสุขในสิ่งที่ตนมีหรอก ถ้าเราไม่ไปสร้างสิ่งแวดล้อมที่เต็มไปด้วยความเหลื่อมล้ำและแก่งแย่งแข่งขันให้พวกเขา เพียงแค่สอนให้พวกเขาเชื่อมั่นในตนเอง ภาคภูมิใจในตนเอง ส่วนความสุขพวกเขาหาได้ไม่ยากอยู่แล้ว
แต่ผู้ใหญ่เราต่างหากที่ต้องเตือนตัวเองให้รู้จักพอ - มีความสุขกับสิ่งที่มี มากกว่าที่จะดิ้นรนขวนขวายจนเหนื่อยล้า กระทั่งสะกดคำว่า "ความสุข" ไม่เป็น