Skip to main content

สมยศ พฤกษาเกษมสุข 

 



ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยคำร้องขอแก้ไขรัฐธรรมนูญตามมาตรา 291 เมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม 2555 โดยแบ่งเป็น 2 ส่วนคือ หนึ่งวินิจฉัยว่าศาลรัฐธรรมนูญสามารถรับคำร้องโดยตรงไม่ต้องผ่านอัยการสูงสุด และการร่างแก้ไขมาตรา 291 ไม่ถือว่าเป็นการล้มล้างการปกครอง  สอง เป็นการแนะนำคือการแก้ไขมาตรา 291 เพื่อให้มี สสร. มายกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ถือเป็นการยกร่างทั้งฉบับต้องทำประชามติ

การวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญเป็นการขยายขอบเขตอำนาจแทรกแซงนิติบัญญัติ เป็นการสร้างบรรทัดฐานขึ้นใหม่ที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ และหลักการแบ่งแยกอำนาจ 3 ฝ่ายในระบอบประชาธิปไตย แนวการวินิจฉัยที่คลุมเครือสร้างความปั่นป่วนตามมาคือฝ่ายนิติบัญญัติ ไม่แน่ใจว่าจะทำอย่างไรต่อไป กลายเป็นเครื่องมือยับยั้งการแก้ไขรัฐธรรมนูญ

ทั้งคำวินิจฉัยและคำแนะนำของศาลรัฐธรรมนูญ สะท้อนให้เห็นถึงตรรกะและเหตุผลที่ขัดแย้งกันเองกล่าวคือ การยกร่างใหม่ทั้งฉบับจะเป็นการเปลี่ยนแปลงรายมาตราจากเก่าเป็นใหม่ หรืออาจคงไว้ตามเดิมในความเป็นจริง การยกร่างใหม่โดยสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) ก็ถูกกำหนดไว้ตายตัวแล้วว่า ห้ามแก้ไขหมวด 1 – 2 หมายความว่าไม่ได้แก้ไขทั้งฉบับ ซึ่งก็เป็นการแก้ไขรายมาตราเช่นเดียวกัน จึงไม่ได้แตกต่างกันเลย ส่วนเหตุผลที่ว่าถ้าเป็นการยกร่างใหม่ทั้งฉบับต้องขอประชามติเสียก่อน ทำให้มีคำถามตามมาได้ว่าทำไมการแก้ไขรายมาตราจึงไม่ต้องไปขอประชามติกันเล่า ? นี่เป็นความขัดแย้งในตัวเองของคำวินิจฉัยและข้อแนะนำของศาลรัฐธรรมนูญ

ผู้พิพากษาส่วนหนึ่งได้แบกรับภาระหน้าที่ “ตุลาการภิวัฒน์” ในสถานการณ์การเมืองอันไม่ปกติด้วยการวินิจฉัยให้การเลือกตั้ง 2 เมษายน 2549 เป็นโมฆะ และตัดสินให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง 3 คน ต้องโทษจำคุกจนเกิดวิกฤตการณ์การเมืองนำมาสู่การรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 โดยที่การรัฐประหารเป็นการล้มล้างการปกครอง ฉีกรัฐธรรมนูญ ทำลายนิติรัฐ แต่ศาลไทยก็มิได้ปกป้องรัฐธรรมนูญ และยังสนับสนุนการรัฐประหารด้วยการยอมรับตำแหน่งในรัฐบาลทหาร และทำหน้าที่เป็นตุลาการตามคำสั่งของคณะรัฐประหารอย่างโจ่งแจ้งเสียเอง รวมทั้งทำหน้าที่ยกร่างรัฐธรรมนูญของคณะรัฐประหาร แล้วนำมาทำประชามติแบบยัดเยียดให้คนไทย โดยไม่มีทางเลือกอื่นใดอีก จึงไม่ใช่การลงประชามติในระบอบประชาธิปไตย

ตรรกะและเหตุผลของศาลรัฐธรรมนูญที่อ้างถึงประชาชนเป็นผู้สถาปนารัฐธรรมนูญ 2550 จึงไม่ตรงกับความจริงทั้งหมด เป็นเพียงการแอบอ้างประชาชนมาปกปิดวาระทางการเมือง เพราะเนื้อแท้ของรัฐธรรมนูญ 2550 คือ ผลผลิตโดยตรงของเผด็จการทหารและกลุ่มอำมาตย์ ไม่ได้มาจากประชาชนอย่างแท้จริง จึงไม่อายนำคำว่า “ประชาชน” มาใช้เป็นข้ออ้างได้ คนจำพวกนี้อ้าปากออกมาก็เห็นไส้ติ่งที่เป็นอันตรายต่อสังคมไทย

ปรากฎการณ์ศาลรัฐธรรมนูญ เป็นส่วนหนึ่งของขบวนการตุลาการภิวัฒน์ที่รับใช้ระบอบการเมือง อำมาตยาธิปไตย และประเพณีการปกครองจารีตนิยมที่มีแนวคิดอนุรักษ์นิยม ไม่ยอมรับการเปลี่ยนแปลงไปสู่ความเป็นประชาธิปไตย สิทธิ เสรีภาพ และความเจริญก้าวหน้า การให้ตุลาการเป็นผู้แต่งตั้งวุฒิสภา องค์กรอิสระ มีอำนาจควบคุมก้าวก่ายการทำงานของนิติบัญญัติและฝ่ายบริหาร ทำให้ตุลาการสูญเสียความเป็นกลาง และความน่าเชื่อถือในกระบวนการยุติธรรมจนหมดสิ้นไป

การที่พรรคเพื่อไทยสยบยอมเดินตามกรอบที่ถูกกำหนดไว้โดยขบวนการตุลาการภิวัฒน์ เพียงเพื่อที่จะรักษาอำนาจให้ยืนยาวต่อไปโดยยอมสูญเสียหลักการประชาธิปไตย ยอมให้กลไกเผด็จการอำมาตย์มีความชอบธรรมที่จะบ่อนทำลายประชาธิปไตย ดังนั้นอำนาจที่รักษาไว้จึงไม่มีความหมายอันใดเลย นอกจากเป็นการรักษาอำนาจที่เป็นเพียงมายาภาพ หรือไม่ก็เป็นเพียงการดำรงตำแหน่งที่มีความสำคัญเพียงแค่ “เป็นเกียรติแก่วงศ์ตระกูล” เท่านั้น

หากพรรคเพื่อไทยปรารถนาที่จะเป็นพรรคการเมืองของประชาชนในระบอบประชาธิปไตย ต้องมีความกล้าหาญทางจริยธรรม และมีวิสัยทัศน์ยาวไกล จำเป็นต้องใช้ข้อเสนอ 11 ข้อของคณะนิติราษฎร์ในการยกเลิกรัฐธรรมนูญ แทนที่ด้วยคณะตุลาการพิทักษ์ระบอบรัฐธรรมนูญ ซึ่งมาจากสภาผู้แทนราษฎร 3 คน วุฒิสภา 2 คน และคณะรัฐมนตรี 3 คน ทำหน้าที่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ และหลักการนิติรัฐ ทั้งนี้เพื่อเป็นจุดเริ่มต้นแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ประชาชนมีส่วนร่วม (Participatory Democracy) เพื่อการสถาปนารัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตยของประชาชนอย่างแท้จริง

การที่กลุ่มคนเสื้อแดงรวบรวมรายชื่อประชาชนยื่นถอดถอนตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ อาจเป็นการเหนื่อยเปล่า เพราะแทบเป็นไปไม่ได้เลยภายใต้กติกาของรัฐธรรมนูญ 2550 มีแต่จะต้องทำการปฏิรูปยกเครื่องตุลาการกันใหม่ ทั้งในด้านการแก้ไขกฎหมายให้ก้าวหน้ากว่าเดิม และการทำให้ตุลาการมาจากประชาชน สามารถตรวจสอบได้ด้วย ความโปร่งใสทุกขั้นตอน และเป็นประชาธิปไตยทั้งในด้านที่มาของตุลาการต้องเชื่อมโยงกับประชาชนดังเช่น โครงสร้างคณะกรรมการตุลาการให้มีตัวแทนจากภาคประชาสังคม และส่วนที่มาจากศาลหลายหลาย เป็นต้น

ในด้านกระบวนการยุติธรรมจะต้องมีการปรับกระบวนทัศน์ใหม่ (New paradigm) ในการบริหารงานยุติธรรมจากความเป็นเจ้าขุนมูลนายที่คอยแต่อำนวยความสะดวกให้กับอำนาจเส้นสาย และเงินตราให้มาเป็นการอำนวยความยุติธรรม ปกป้องสิทธิเสรีภาพของปัจเจกชนอย่างเต็มที่ มีความจำเป็นที่จะต้องแก้ไขกฎหมายลดทอนการใช้ดุลพินิจที่ขาดมาตรฐาน และขาดระบบตรวจสอบที่เพียงพอ ดังตัวอย่างเช่น การใช้ดุลพินิจของศาลไม่อนุมัติปล่อยตัวชั่วคราว หรือการไม่ให้สิทธิการประกันตัว มักเป็นการเลือกปฏิบัติ และเป็นช่องทางเรียกผลประโยชน์ หรือเงินใต้โต๊ะจนทำให้ผู้พิพากษาร่ำรวยกันอย่างรวดเร็วโดยไม่ต้องถูกตรวจสอบจากสาธารณะ

หากไม่คิดอะไรก้าวหน้าไปกว่าเดิม ไม่มีความกล้าหาญที่จะเปลี่ยนแปลงโครงสร้างใหม่ก็ไม่สามารถหยุดวงจรอุบาทว์ ไม่ว่าจะเป็นรัฐประหารโดยทหาร หรือตุลาการลงไปได้

พรรคเพื่อไทยก็จะเป็นเพียงพรรคการเมือง “ไม้ประดับ” ในกระถางของระบอบการเมืองแบบเก่าที่ไร้คุณค่าความหมายโดยสิ้นเชิง

 

25  กรกฎาคม  2555

 

 

 

 

บล็อกของ สมยศ พฤกษาเกษมสุข

สมยศ พฤกษาเกษมสุข
สมยศ  พฤกษาเกษมสุข  
สมยศ พฤกษาเกษมสุข
สมยศ พฤกษาเกษมสุข  
สมยศ พฤกษาเกษมสุข
สมยศ  พฤกษาเกษมสุข แปลบทความในThe  Economist  เรื่องของ ลักษมี  ซีกัล  (ร้อยเอกลักษมี) หมอ และนักต่อสู้เพื่อเอกราชของชาวอินเดีย ที่ได้ มรณกรรมเมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม  (อายุ  97  ปี) 
สมยศ พฤกษาเกษมสุข
  "บรรดาคนเป็น  ที่มีชีวิตอยู่ได้แต่อาศัยเหตุการณ์ดังกล่าวสร้างชื่อเสียงให้กับตนเอง ไต่เต้าสู่ตำแหน่ง ยศถาบรรดาศักดิ์  ในที่สุดพวกเขาเป็นได้แค่ลิ่วล้อสถุลของระบบการเมืองแบบเก่าเท่านั้น"
สมยศ พฤกษาเกษมสุข
บทกวีที่หลุดรอดจากลูกกรงแดนตารางถึงเหยื่อมาตรา112ผู้จากไป
สมยศ พฤกษาเกษมสุข
บี.เจ.ลี (B.J.LEE) ถอดความภาษาไทยโดย สมยศ พฤกษาเกษมสุข แปลจากนิตยสาร Newsweek 6 สิงหาคม, 2012   
สมยศ พฤกษาเกษมสุข
สมยศ พฤกษาเกษมสุข    
สมยศ พฤกษาเกษมสุข
เมื่อแกนนำคนเสื้อแดง บรรณาธิการนิตยสาร Red Powerและนักโทษการเมือง ม.112 มองทิศทางเศรษฐกิจประเทศไทยผ่านลูกกรงของเรือนจำพิเศษกรุงเทพ
สมยศ พฤกษาเกษมสุข
สมยศ พฤกษาเกษมสุข เล่าถึงชีวิตในเรือนจำของเพื่อนร่วมชะตากรรม สุชาติ นาคบางไซ  แกนนำ นปช.รุ่น 2 นักโทษการเมืองคดี ม.112 กำลังรออิสรภาพที่ดูเหมือนว่ามันกำลังใกล้ที่จะมาถึง