Skip to main content

สมยศ  พฤกษาเกษมสุข

18 พฤษภาคม 2556

 

“เสียงโซ่ตรวน  ครวญดัง  กังวานแว่ว

หมดสิ้นแล้ว  ศักดิ์ศรี  ที่กีดกั้น

เสียงตรวนร้อง  ก้องหู  อยู่ยืนยัน

ต้องเร่งวัน  ต่อสู้  กู้เสรี”

เป็นบันทึกที่ผมเขียนขึ้นเมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม  2554 หลังจากที่ถูกดำเนินคดีในข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ และถูกคุมขังอยู่ที่แดน 1 เรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร ตั้งแต่วันที่ 2 พฤษภาคม 2554 ในช่วงนั้นมีนักโทษถูกล่ามโซ่ ตีตรวนอยู่ราว 30 – 50 คน จากจำนวนราว  600  คนของนักโทษแดน 1 ก่อนเวลาอาบน้ำบ่าย  3 โมง นักโทษที่ถูกล่ามโซ่จะต้องขัดโซ่ไม่ให้เป็นสนิม เสียงดังสนั่นหวั่นไหว เวลานอนตอนพลิกตัวจะมีเสียงโซ่เป็นที่น่าสังเวชใจ ผมเองต้องตกอยู่ในสภาพการถูกล่ามโซ่ เมื่อถูกส่งตัวไปศาล และย้ายที่คุมขังจากเรือนจำหนึ่งไปอีกที่หนึ่ง ซึ่งจะต้องตีตรวนด้วยโซ่ไว้ที่ขาทั้งสองข้าง มีผู้คุม 4 คน พร้อมอาวุธปืน นำใส่รถกรงขังที่มีความแน่นหนาเพื่อป้องกันการหลบหนีระหว่างเดินทาง ผมถูกตีตรวนล่ามโซ่ไว้ก่อนเดินทางหนึ่งวัน เมื่อไปถึงที่หมายยังต้องอยู่กับมันอีกหนึ่งวัน โซ่มีน้ำหนักมากประมาณ 3 – 5 กิโลกรัม ขนาดของโซ่ 10 – 18 มิลลิเมตร เวลาเดินเจ็บข้อเท้า ต้องดึงโซ่ไว้ตลอดเวลา ไม่ให้ลากกับพื้น โซ่เป็นสนิมมักจะเสียดสีกับผิวหนังจนเกิดเป็นแผลถลอก มักจะติดเชื้อลุกลามเป็นแผลเน่าใช้เวลารักษาอยู่หลายเดือน และมักจะเป็นรอยแผลดำจารึกไว้บนข้อเท้าตลอดไป ผมได้เขียนเป็นบันทึกเมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2554 เมื่อถูกส่งตัวจากคุกที่จังหวัดสระแก้ว ไปคุกที่จังหวัดเพชรบูรณ์ไว้ว่า

“โซ่ตรวน  แน่นรัดตึง  ขึงข้อเท้า

แสนปวดร้าว  ทุกก้าวเดิน  ที่เหยียบย่ำ

สนิมโซ่  ซัดกัดผิว  เป็นแผลดำ

จารึกย้ำ  ความทรงจำ  อันร้าวราน”

การตีตรวนล่ามโซ่เป็นการจำกัดการเคลื่อนไหวของร่างกายทั้ง ๆ ที่ถูกคุมขังอยู่ในคุกที่มีกำแพงสูง รั้วลวดหนาม และการเฝ้าระวังถึงสิบชั้นด้วยกัน ไม่มีทางจะหลบหนีไปได้เลย โซ่ตรวนจึงกลายเป็นอวัยวะอีกส่วนหนึ่งที่ติดตัว และต้องอยู่กับมันตลอดเวลา ไม่เพียงแต่จะได้รับความเจ็บปวดทรมานในอีกรูปแบบหนึ่งเท่านั้น ยังหมายถึงความเป็นสัตว์เดรัจฉานดุร้าย มีฐานะต่ำต้อย หมดศักดิ์ศรีความเป็นคน

เป็นที่น่ายินดีที่ พ.ต.อ.สุชาติ  วงศ์ชัยอนันต์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ ได้จัดให้มีพิธี “วันประกาศถอดตรวนผู้ต้องขัง” เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2556 ที่ผ่านมาโดยมีนายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์  ชินวัตร เป็นประธานในพิธี เริ่มต้นที่เรือนจำบางขวาง จังหวัดนนทบุรี รวมจำนวนผู้ได้รับการถอดตรวนทั้งสิ้น 563 ราย และจะขยายแนวนโยบายนี้ไปยังเรือนจำทุกแห่งทั่วประเทศซึ่งมีจำนวนนักโทษที่ยังถูกล่ามโซ่ตีตรวนจำนวนทั้งสิ้น 2,219 คน

แต่การเคลื่อนย้ายนักโทษ และการส่งตัวนักโทษไปไต่สวนที่ศาล ยังต้องมีการตีตรวนล่ามโซ่กันต่อไป การเคลื่อนย้ายนักโทษจากเรือนจำหนึ่ง ไปอีกเรือนจำหนึ่ง มีความจำเป็นต้องตีตรวนล่ามโซ่ ป้องกันการหลบหนี ซึ่งในความเป็นจริงแทบเป็นไปไม่ได้เลย เพราะนักโทษถูกขังไว้ในรถที่แน่นหนาอยู่แล้ว แต่ทว่าการส่งตัวไปศาลเพื่อการไต่สวนไม่มีความจำเป็นใด ๆ ทั้งสิ้นเพราะถูกขังอยู่กับรถพร้อมผู้คุมติดอาวุธ เมื่อลงจากรถก็ตรงสู่ห้องขังทันที ไม่มีโอกาสหลบหนีได้เลย การตีตรวนล่ามโซ่ส่งตัวไปไต่สวนที่ศาลจึงเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน และศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์อย่างรุนแรง เป็นการละเมิดต่อมาตรา 39 รัฐธรรมนูญ 2550 ที่ระบุไว้ว่า “ในคดีอาญาต้องสันนิษฐานไว้ก่อนว่า ผู้ต้องหา หรือจำเลยไม่มีความผิด ก่อนมีคำพิพากษาอันถึงที่สุด แสดงว่าบุคคลใดกระทำความผิด จะปฏิบัติต่อบุคคลนั้นเสมือนเป็นผู้กระทำความผิดไม่ได้”

การคุมขังและการล่ามโซ่ตีตรวนผู้ถูกกล่าวหาในคดีอาญาซึ่งคดีอยู่ในระหว่างการไต่สวนของศาล เมื่อคดียังไม่ถึงที่สุดจึงเป็นการกระทำที่ป่าเถื่อน ในความเป็นจริงศาลต้องให้สิทธิการประกันตัว เป็นไปตามหลักสิทธิมนุษยชนโดยเคร่งครัด แต่ในหลายกรณีด้วยกัน ศาลใช้ดุลพินิจอันกว้างขวางไร้ขอบเขตในการให้ หรือไม่ให้สิทธิประกันตัว หรือการปล่อยตัวชั่วคราว โดยเฉพาะเหตุผลที่ว่า “คดีมีโทษร้ายแรง ไม่เชื่อว่าจะไม่หลบหนี” เป็นเพียงการคาดคะเนของศาล กลายเป็นข้ออ้างไม่ให้ประกันตัว ซึ่งทำให้เกิดการวิ่งเต้นของผู้ถูกกล่าวหาในการจ่ายเงินใต้โต๊ะ เพื่อให้ศาลอนุญาตให้สิทธิประกันตัว เป็นการคอรัปชั่น สร้างความร่ำรวยให้ผู้พิพากษาโดยไม่มีการตรวจสอบมาเป็นเวลานานแล้ว

การส่งตัวไปที่ศาลระหว่างการไต่สวน นัดสืบพยาน ฟังคำพิพากษา ด้วยการล่ามโซ่ตีตรวนขาทั้งสองข้างไม่ให้ใส่กางเกงใน ไม่ให้ใส่รองเท้า เหตุผลไม่ใช่กลัวว่านักโทษจะหลบหนี แต่เป็นการสร้างบรรยากาศ และความสัมพันธ์ทางอำนาจกล่าวคือ ศาลอยู่บนบัลลังก์ ทุกคนต้องทำความเคารพ ทนายความต้องมีความนอบน้อม ผู้ถูกกล่าวหา หรือจำเลยตกอยู่ในสภาพถูกจองจำ ถูกตัดสินความผิดกันล่วงหน้า ผู้ที่ถูกจองจำด้วยโซ่ตรวนมีสภาพเหมือนสัตว์ มีความรู้สึกต่ำต้อย ท้อถอย รู้สึกตัวเองว่าเป็นผู้กระทำความผิด ทั้ง ๆ ที่อาจไม่ใช่ผู้กระทำความผิด

องค์การนิรโทษกรรมสากล (Amnesty International) ประเทศไทย โดย น.ส.ปริญญา  บุญฤทธิ์ฤทัยกุล ได้กล่าวชื่นชมการปลดโซ่ตรวนให้กับผู้ถูกคุมขังเป็นสถานการณ์ที่ดีขั้นของประเทศไทย นับได้ว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีของกรมราชทัณฑ์ในรอบศตวรรษที่ผ่านมา แต่ทว่าในด้านสิทธิผู้ถูกกล่าวหา หรือผู้ที่ตกเป็นจำเลยในกระบวนการยุติธรรมยังล้าหลัง ป่าเถื่อนเป็นอย่างมาก กล่าวคือ ผู้ถูกกล่าวหาซึ่งถือว่ายังเป็นผู้บริสุทธิ์ ไม่ได้รับสิทธิการประกันตัว ถูกคุมขัง ตีตรวน ล่ามโซ่ เป็นเหมือนสัตว์เดรัจฉาน

มีผู้ถูกกล่าวหาหรือจำเลยถูกคุมขังและถูกล่ามโซ่ส่งตัวไปศาล ถูกกระทำเสมือนเป็นผู้กระทำความผิดไปแล้ว มีถึง 40 เปอร์เซ็นต์ หรือ 80,000 คนทั่วประเทศ จากจำนวนนักโทษทั้งหมด 260,000 คนทั่วประเทศ ส่วนใหญ่มักเป็นคนยากจน จำนวนมากที่ต้องรับสารภาพ เนื่องจากถูกบีบบังคับ และไม่ได้รับสิทธิประกันตัวตามกฎหมายโดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ถูกกล่าวหาในคดีการเมืองตามมาตรา 112 เป็นต้น

หวังเป็นอย่างยิ่งว่าก้าวต่อไปของกระทรวงยุติธรรมคือ การแก้ไขประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 107 – 108 เกี่ยวกับสิทธิประกันตัว หรือการปล่อยตัวชั่วคราว เป็นการลดทอนการใช้ดุลพินิจของศาล ซึ่งก่อให้เกิดการทุจริตคอรัปชั่น และการเลือกปฏิบัติของศาลที่มีต่อผู้ถูกกล่าวหา อันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน และศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ รวมทั้งยกเลิกการตีตรวน ล่ามโซ่ผู้ต้องขังทุกคนที่คดียังไม่ถึงที่สุด หรืออยู่ระหว่างการไต่สวนของศาล เพราะถึงอย่างไรเสียแม้ว่าคดีถึงที่สุดแกล้วกลายเป็นผู้กระทำความผิด แต่พวกเขาก็ยังมีความเป็นมนุษย์ “ไม่ใช่”สัตว์เดรัจฉาน

 

 

 

บล็อกของ สมยศ พฤกษาเกษมสุข

สมยศ พฤกษาเกษมสุข
สมยศ  พฤกษาเกษมสุข  
สมยศ พฤกษาเกษมสุข
สมยศ พฤกษาเกษมสุข  
สมยศ พฤกษาเกษมสุข
สมยศ  พฤกษาเกษมสุข แปลบทความในThe  Economist  เรื่องของ ลักษมี  ซีกัล  (ร้อยเอกลักษมี) หมอ และนักต่อสู้เพื่อเอกราชของชาวอินเดีย ที่ได้ มรณกรรมเมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม  (อายุ  97  ปี) 
สมยศ พฤกษาเกษมสุข
  "บรรดาคนเป็น  ที่มีชีวิตอยู่ได้แต่อาศัยเหตุการณ์ดังกล่าวสร้างชื่อเสียงให้กับตนเอง ไต่เต้าสู่ตำแหน่ง ยศถาบรรดาศักดิ์  ในที่สุดพวกเขาเป็นได้แค่ลิ่วล้อสถุลของระบบการเมืองแบบเก่าเท่านั้น"
สมยศ พฤกษาเกษมสุข
บทกวีที่หลุดรอดจากลูกกรงแดนตารางถึงเหยื่อมาตรา112ผู้จากไป
สมยศ พฤกษาเกษมสุข
บี.เจ.ลี (B.J.LEE) ถอดความภาษาไทยโดย สมยศ พฤกษาเกษมสุข แปลจากนิตยสาร Newsweek 6 สิงหาคม, 2012   
สมยศ พฤกษาเกษมสุข
สมยศ พฤกษาเกษมสุข    
สมยศ พฤกษาเกษมสุข
เมื่อแกนนำคนเสื้อแดง บรรณาธิการนิตยสาร Red Powerและนักโทษการเมือง ม.112 มองทิศทางเศรษฐกิจประเทศไทยผ่านลูกกรงของเรือนจำพิเศษกรุงเทพ
สมยศ พฤกษาเกษมสุข
สมยศ พฤกษาเกษมสุข เล่าถึงชีวิตในเรือนจำของเพื่อนร่วมชะตากรรม สุชาติ นาคบางไซ  แกนนำ นปช.รุ่น 2 นักโทษการเมืองคดี ม.112 กำลังรออิสรภาพที่ดูเหมือนว่ามันกำลังใกล้ที่จะมาถึง