อัจฉรียา เนตรเชย
ต่อจากตอนที่แล้ว
ผู้เขียนกับเพื่อนชาวเวียดนามถกเถียงกันว่า ความจริงแล้วชาวม้งดำที่นี่ “เวรี่แอ็กทีฟ” ในระบบตลาด แต่ทำไมในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว เช่น ที่โรงแรม ร้านอาหาร หรือมัคคุเทศน์ (ซึ่งก็เป็นธุรกิจหนึ่งในระบบตลาด) แทบจะไม่มีชาวม้งดำเข้าไปเป็นลูกจ้างเลย เพื่อนเวียดนามบอกว่าอาจจะเป็นไปได้ว่าเพราะพวกเขามีการศึกษาต่ำ
ผู้เขียนเถียงกลับไปว่า “การศึกษาต่ำ แต่สปี๊กอิงลิชเวรี่เวลนะ” “เหงื่อยเวี่ยต” (คนเวียดนาม) จำนวนมากที่อยู่ในธุรกิจการท่องเที่ยว แม้การศึกษาสูงแต่พูดภาษาอังกฤษแทบไม่ได้เลย ชาวม้งเขาคงไม่ชอบทำงานภายใต้การควบคุมของคนอื่นมั้ง? ต้องลงเวลาเข้างานและกลับตรงเวลา น่าจะไม่ถูกกับ “จริตจะก้าน” อย่างรุนแรง และที่สำคัญคือต้องอาบน้ำมาทำงานทุกวันนี่ซิ!...มันทรมานอย่าบอกใครเลย และถ้าต้องอาบน้ำทุกวัน “ความเป็นม้ง” (being Hmong) ก็จะสูญสลายหายไปทันที กลับเข้ากลุ่มไม่ได้ ต้องกลายไปเป็น “เหงื่อยเวี่ยต” ในที่สุด
การมีรายได้ประจำ น่าจะไม่ใช่สิ่งที่สำคัญเท่ากับความเป็นอิสระของพวกเขา ใช่...พวกเขาทั้ง “จอยและเอ็นจอย” กับระบบตลาด (การท่องเที่ยว) ของที่นี่ แต่สิ่งที่สำคัญคือพวกเขามีอิสระที่จะจัดการและควบคุมมัน (ไม่ใช่ให้ตลาดมาจัดการและควบคุมเราอย่างที่เกษตรกรบ้านเราโดนกระทำ) มีอิสระในการเลือกประเภทสินค้าที่จะขาย สถานที่จะขาย คนที่เราจะขายให้ ตั้งราคาขาย ต่อรองราคา พอใจก็ขาย ไม่พอใจก็ไม่ขาย จะชมหรือจะด่าคนซื้อก็ได้ แถมเดินขายของให้นักท่องเที่ยว 3 ชั่วโมง พร้อมกับ “กลิ่นสาบสาว ที่สะสมมานานนับแรมปี” ก็ไม่มีใครว่าอะไร ได้บรรยากาศแท้ๆ ของหมู่บ้านม้งของเสียอีก นี่แหละ...อัตลักษณ์ของม้ง ถ้ามองในมุมของการ “นิโกชิเอท” (negotiate - เจรจาต่อรอง) เพื่อการขายสินค้า “ความเป็นม้งที่มาพร้อมกับกลิ่นสาบสาว” ก็คือ “มีเดี่ยม” (medium – สื่อกลาง) ของการ “นิโกชิเอท” เพื่อการ “ควบคุมตลาด” (ควบคุมอย่างไร ได้เล่าไปแล้วในตอนที่ 1) ดังนั้น ม้งที่ฉลาด จึงต้อง “รักนวล สงวนตัว(สาบสาว)” อันนี้ไว้ให้แม่นมั่น
กลับมาที่เรื่องหมู่บ้านเย้าแดง ที่ผู้เขียนสัญญาไว้ว่าจะเล่าให้ฟัง
วันที่สองของการท่องเที่ยว ผู้เขียนไปที่ชุมชน “ตาวัน” (Ta Van) พอไปถึงหมู่บ้านกลับมีชาวเย้าแดงออกมาต้อนรับ (นักท่องเที่ยว) ไม่มาก ประมาณ 5-6 คน (ไม่เหมือนบ้านม้งมากันสิบกว่าคน) แถมไม่ค่อยสนใจพวกเราเท่ากับที่เราไปบ้านม้ง ตอนแรกผู้เขียนก็นึกว่าเป็นเพราะวิธีการมาของผู้เขียน ที่บ้านม้ง ผู้เขียนขึ้นรถตู้ที่ดูหรูหราเหมือนคนรวยมาเที่ยว แต่คราวนี้มาโดย “แซโอม” (มอเตอร์ไซด์รับจ้าง) สงสัยชาวเย้าเขาจะประเมินว่า “เหงื่อย” (คน) พวกนี้ท่าทางจะจน หรือว่า ที่ไม่ค่อยมาต้อนรับเป็นเพราะธรรมชาติของชาวเย้าแดงที่ “ไม่ค่อยแอ๊กทีฟ” ไม่เหมือนชาวม้งดำ
แต่...ยังมิทันจะคิดถึงสมมติฐานข้อต่อไป ทันใดนั้น กลุ่มที่มาก็ “ยิ้มสะแหยะแหย๋” ให้แก่ผู้เขียนและเพื่อนเป็นนัยว่า “เวลคัมทูบ้านตาวัน” ออกมา (ดูภาพแรก...การยิ้มสะแหยะแหย) “โอ้ว้าว! นี่มันฟันเลี่ยมทองนี่นา” ว่าแล้วผู้เขียนก็หันไปจ้องที่ฟันทุกคนที่มาต้อนรับว่าเลี่ยมทองกันหรือเปล่า “แม่เจ้าประคุณเอ๊ย! แม่ใส่ฟันเลี่ยมทองกันแทบทุกคนเลย”
ผู้เขียนคิดต่อว่า “รวยอย่างนี้แล้ว เขาจะตามตื้อขายสินค้า(แบบที่ม้งดำทำ) กับเรามั้ย และถ้าเขาจะขาย นอกจาก “ความเป็นเย้า” แล้ว เขาจะเอาอะไรเป็น “มีเดี่ยม” ในการสร้างความหมายเพื่อการนิโกชิเอท” จากนั้นผู้เขียนก็ใจจดใจจ่อว่าเย้าแดงจะ “เอ็กเซอร์ไซด์พาวเวอร์” เพื่อการให้ความหมายแก่สินค้าอย่างไร พร้อมกับเตรียม “เอ็กเซอร์ไซด์พาวเวอร์” กลับไปเช่นกัน
ป้าๆ และพี่ๆ เย้าแดงดูเหมือนเข้าใจและปรับปรนกับธรรมชาติของนักท่องเที่ยวที่เป็นคนเมืองอย่างเรา ว่าไม่ชอบให้ติดตามตื้อ ชาวบ้านเย้าแดงที่นี่ต่างจากชาวบ้านม้งที่นั่น พวกเขาใช้วัฒนธรรมของคนเมือง โดยเชิญให้ไปนั่งคุยที่ “สมาคมสตรี” ของหมู่บ้าน ซึ่งแน่นอนว่าก็คือร้านขายสินค้าของกลุ่มสตรี (เหมือนบ้านเราเปี๊ยบเลย)
เมื่อเข้าไปถึงร้าน แน่นอนว่าสิ่งแรกที่ “A Shopping Sociologist” อย่างผู้เขียนโถมเข้าหาคือ “ผ้า” ป้าๆ เย้าแดงเขาไม่เดินตามติดผู้เขียนและพูดกดดันให้เราต้องซื้อ เวลาที่เราเดินดูผ้า แต่เขาจะสังเกตการณ์เราอยู่ห่างๆ เพื่อประเมินดีมานด์ว่าเราชอบอะไร และในบรรดา 3 คนที่มาด้วยกันนี้ใคร “เอียว” (รัก) ผ้ามากที่สุด เมื่อเดินดูแล้วผู้เขียนก็ไม่ได้ถามอะไรเลย เพราะผ้าของเย้าแดง (นอกจากผ้าคลุมผมสีแดง ซึ่งไม่มีขายในร้านค้านี้) นั้น ท่าทางจะแพงมาก เพราะโดยส่วนใหญ่ล้วนแล้วแต่เป็นผ้าปัก “แถมปักมากกว่าของม้งเสียด้วย เราก็ไม่ค่อยจะมีตังค์ ขืนไปถามราคาตอนนี้ มีหวัง...ต้องเอ็กเซอร์ไซด์พาวเวอร์อย่างหนัก ยุ่งแน่นอน ข่มใจไว้ก่อน...ข่มใจไว้ก่อน!”
ผู้เขียนจึงกลับไปนั่งล้อมวงคุยกับกลุ่มเย้าแดง ซึ่งพวกเขาเตรียมเก้าอี้ไว้รอเราแล้ว ชัดเจนว่าเขาใช้วัฒนธรรมของคนพื้นราบอย่างเราเริ่มต้นเปิดการ “อินเตอร์แอ๊กชั่น” หรือถ้ามองในมุมการซื้อ-ขาย คือการเปิดการ “นิโกชิเอชั่น” แล้ว โดยมีเพื่อนชาวเวียดนามเป็นล่ามให้ เราคุยกันนานมาก คุยตั้งแต่เรื่องเมืองไทย เชียงใหม่ เย้าที่เชียงใหม่ (ป้าๆเคยไปเชียงใหม่ในนามชนเผ่าซึ่งทางการเวียดนามจัดไป) ประวัติศาสตร์เย้าแดง เย้าแดงมาจากไหน เกี่ยวอะไรกับม้งดำ เป็นญาติอะไรกับ “เหงื่อยเวี่ยต” รู้สึกอย่างไรกับ “เหงื่อยไถเวียดนาม” (ผู้ไทดำ-ผู้ไทขาวที่เวียดนาม)
ระหว่างที่คุยจนเพลิน...ป้าเย้าแดงคนหนึ่งก็มาจับแขนผู้เขียนเบาๆ แล้วเอาเสื้อเย้ามาโชว์ให้ดู โอ้...สวยมากๆ เป็นเสื้อที่ไม่ได้ห้อยขายในร้านค้า ลายปักไม่มาก แสดงว่าราคาไม่น่าแพง เราน่าจะซื้อได้ นี่แสดงว่าพวกป้าๆ “ออฟเสิฟ ดีมานด์” ของตลาด (ตอนที่เราเดินดูเสื้อ) ประเมินได้ถูกต้องว่าใครคือลูกค้า (ต้องเป็นผู้เขียน ไม่ใช่เพื่อนผู้เขียนอย่างแน่นอน) และลูกค้าต้องการ “อะไร” ที่แตกต่างจากผ้าในร้านที่ห้อยขาย จากนั้นก็เข้าไปหลังร้านเพื่อไปคุ้ยเสื้อที่ว่านี้มาเสนอขายให้ผู้เขียน “ผู้เขียนเห็นปุ๊ป! เป็นต้องจับมาลองใส่ ทั้งๆที่เสื้อตัวนี้เขรอะมาก” (แต่เราดันใส่ได้สวยเสียด้วยสิ)
โดยวิธีนี้ แม่ค้าเย้าต่างจากแม่ค้าม้งมาก พวกเขาไม่ได้พยายามใช้มีเดี่ยมต่างๆ เพื่อมาคอนโทลความหมายของผ้าทอแก่ผู้เขียน (โดยเฉพาะไม่ได้พลีกายเดินร่วมกัน 3 ชั่วโมงเหมือนแม่ค้าม้ง) แต่ภายหลังจากการ “ออฟเสิฟ” ป้าเย้าแดงเชื่อว่า “ลูกค้าคนนี้ในจิตใจลึกๆ ต้องชอบผ้าของชนเผ่าแน่นอน” จากนั้นเมื่อวัฒนธรรมคนพื้นราบที่เราคุ้นเคย และความรู้สึกสบายๆ (เมื่อนั่งล้อมวงคุย) ถูกใช้ (จะโดยการวางแผนของป้าๆเย้าหรือไม่ก็ตาม) เหตุผลและพาวเวอร์ (ความระมัดระวังในการซื้อของ/ต่อรอง) ของผู้เขียนจึงถูก “ปลดปล่อย” ออกไป ที่เหลืออยู่คือจิตใจลึกๆ (underlying structure of meaning) ที่ “รัก” ผ้าชนเผ่า ซึ่งพร้อมจะ “ถูกตีความซ้ำ” (reinterpreted) อย่างอัตโนมัติ (generating itself)
ดังนั้น แค่เอามือมามือสัมผัสเบาๆ ที่แขน เพื่อให้ผู้เขียนหันไปดูผ้า(ผืนที่ป้าเย้าประเมินแล้วว่าต้องโดนใจเรา) “A Shopping Sociologist” ผู้ซึ่งกำลังคุยเรื่องประวัติศาสตร์เย้าอย่างเมามัน และยังไม่ทันจะ “บู๊ทพาวเวอร์” เพื่อมา “นิโกชิเอท” ในการซื้อผ้าอยู่นั้น โดยมิทันตั้งใจ (unintended action) จึงถามกลับไปด้วยแววตาอันกระหายใคร่ได้ ว่า “อ๋าวไน่ บาวเงียวเตี่ยน” (เสื้อนี้ราคาเท่าไร)
ในสัปดาห์หน้า โปรดตามตอนที่ 3 กับ “A Shopping Sociologist” ที่บ้านอีกหลังของเย้าแดง อีกหมู่บ้านหนึ่งของม้งดำ และตลาดผ้าที่เมืองซาปา ดูว่าชีวิตและจิตใจเธอจะเป็นอย่างไรในการเอ็กเซอร์ไซด์พาวเวอร์และความรักกับตลาดผ้าที่เมืองนี้