Skip to main content

       หลายครั้งที่เราสงสัยกันว่าทำไมเรื่องที่เค้าเถียงกันแทบเป็นแทบตายไม่มีคำตอบที่ชัดเจนสักที ตำรวจก็บอกว่าต้องทำตามกฎหมายข้อนี้ นักกฎหมายก็อ้างว่าไม่ได้ต้องดูกฎหมายอีกฉบับด้วย แล้วพอไปออกรายการทีวีเถียงกันก็ยังไม่ค่อยจะรู้เรื่อง เพราะปัญหาเดียวกันไหงมีกฎหมายมาเกี่ยวข้องต้องหลายเรื่องหลายฉบับ

       เอาง่ายๆ ครับ เค้ากำลังเถียงกันอยู่ใช่ไหมครับว่า   “การชุมนุมบนถนนจะทำได้ไหม?” นี่ล่ะครับ ยาวเลย เพราะ ตำรวจจราจรจะบอกว่าไม่ได้มันกีดขวางการสัญจรของรถผิด พรบ.การจราจรทางบกฯ พอไปสั่งให้เลิกชุมนุม ไม่ฟังอีกมีความผิดอาญา   แต่ผู้ชุมนุมก็จะบอกว่าเขาชุมนุมได้นะเพราะเป็นการใช้สิทธิชุมนุมตามรัฐธรรมนูญส่วนจะเกินขอบเขตรึเปล่าไม่ใช่เรื่องของตำรวจ ต้องให้ศาลตัดสิน   ชาวบ้านแถวนั้นก็จะบอกว่า อ้าววว...แล้วใช้เครื่องเสียงดังสนั่นขนาดนั้นไหนจะแสงและกลิ่นขยะอีก โอ้ยยย...การใช้สิทธิในที่อยู่อาศัยโดยสุจริตตามประมวลกฎหมายแพ่งฯ โดนรบกวนนะเนี่ย   ยังไม่ต้องพูดว่าการชุมนุมหลายครั้งจะโดนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนั้นๆ ไม่อนุญาตให้ใช้พื้นที่โดยอาศัยข้อบัญญัติท้องถิ่นอีก ฯลฯ  เฮ่อออ...ตกลงจะเอายังไงกันล่ะเนี่ย

            พ่อแม่พี่น้องไม่ต้องกังวลไปนะครับ ปัญหาแบบนี้มันมีมาตั้งแต่ดึกดำบรรพ์แล้วล่ะครับ เพราะทุกเรื่องมันเถียงกันได้ไม่รู้จบ คนนั้นอ้างหลักนี้ คนนี้อ้างทฤษฎีนั้น จนเมื่อมีการสร้างระบบกฎหมายสมัยใหม่ ผู้มีอำนาจปกครองจึงต้องบอกล่วงหน้าไว้เลยว่า “เมื่อใครอยู่ในเขตอำนาจข้า ต้องฟังจากข้าคนเดียว เพราะข้าคือรัฐ เรื่องนั้นจะว่ายังไงข้านี่แหละเป็นคนบอก”   นั่นล่ะครับเขาบอกว่า ถ้าเรื่องเดียวมีหลายหลัก หลายทฤษฎี หลายกฎ หลายกติกา ขัดกันไปมา  ให้ฟังคำสั่งของเขาแต่เพียงผู้เดียว ถ้าไม่ฟัง เดี๋ยวจะโดนนะ...ฮึ่มมม!!!

       แต่ปัจจุบันมันไม่ง่ายขนาดนั้นสิครับ เพราะตอนที่เขาบอกว่าถ้ามีปัญหาขึ้นมาทุกอย่างต้องอยู่ภายใต้อุ้งมือของตนนั้น มันยุคที่มีประชากรน้อย ปัญหากระทบกระทั่งกันน้อย พื้นที่ในการปกครองไม่ละเอียดยิบย่อย แถมเรื่องที่กระทบกระทั่งกันก็ไม่ละเอียดยิบย่อยแบบสมัยนี้   ไหนจะต้องดูประวัติศาสตร์อีกว่าตอนที่ ผู้ปกครองบอกว่า “รัฐคือข้า ข้าคือรัฐ” มันแค่เป็นการรวบอำนาจของเจ้าที่ดินและผู้มีอำนาจในท้องถิ่นให้มาสยบใต้เท้าตัวเอง แต่ก็รู้ๆกันว่า เวลาเกิดปัญหาส่วนใหญ่ก็ยังใช้กฎหมายท้องถิ่น หรืออำนาจของเจ้าที่ดิน เจ้าเมืองเหล่านั้นจัดการกันเอาเอง มีเพียงเรื่องใหญ่ๆ สำคัญๆ หรือคนที่เป็นปัญหากันใหญ่โตเท่านั้นจึงจะมาถึงผู้ปกครองสูงสุดของรัฐ

            ในสังคมสมัยใหม่ที่กิจกรรมต่างๆมีความหลากหลาย คนเพิ่มขึ้นมากมาย จึงต้องออกแบบไว้ล่วงหน้าเลยล่ะครับ ว่าถ้าเกิดปัญหาแบบต่างๆขึ้นมาจะใช้กฎหมายจัดการความขัดแย้งยังไง เพราะถ้าปล่อยไปเดี๋ยวจะทะเลาะกันจนกระทบต่อความสงบสุขของคนอื่นๆ   แต่เรื่องมันยุ่งยากก็เพราะบางทีเรื่องเดียวกันมันมองได้จากหลายแง่มุม แต่ละมุมนก็ดูมีเหตุผลของมันก็ฟังเข้าท่า จนชวนปวดหัวว่าจะเอากฎหมายตัวไหนมาปรับใช้กันแน่   นักกฎหมายจึงคิดเรื่อง “ศักดิ์ของกฎหมาย” ขึ้นมาแก้ไขปัญหากันเลยครับ   ฟังดูกว้างๆ ใหญ่ๆ ไม่ชัดเจนว่ามันคืออะไรใช่ไหมครับ

            ศักดิ์ของกฎหมาย คือ การบอกว่ากฎหมายฉบับไหนจะมีศักดิ์ศรีเหนือกว่า หากมีเกิดเหตุการณ์หนึ่งขึ้นมาแล้วมีกฎหมายปรับใช้ได้มากกว่า 1 ฉบับ จะต้องปรับใช้กฎหมายที่มีศักดิ์สูงกว่า   ซึ่งกฎนี้ถือเป็นการยืนยันความศักดิ์สิทธิแห่งรัฐกันเลย   ดังที่หลายๆท่านคงเคยได้ยินคำว่า “ความศักดิ์สิทธิ์ของรัฐธรรมนูญ” หรือ “กฎหมายรัฐธรรมนูญคือกฎหมายสูงสุด” กันบ่อยๆใช่ไหมครับ  

            มาถึงตอนสำคัญแล้วครับ นั่นคือ เวลามีปัญหาอะไรขึ้นมาต้องดูก่อนเลยครับว่า กฎหมายสูงสุดไว้ว่าอย่างไร แม้จะมีกฎหมายอื่นขัดหรือแย้งอยู่ก็ไม่ต้องสนใจอะไรมากครับ   ดังที่เราได้พูดกันไปในตอนที่แล้วนะครับว่า หากใช้สิทธิตาม ”ขอบเขตของรัฐธรรมนูญ” จะได้รับคุ้มครองจากกฎหมาย ใครก็มาทำอะไรไม่ได้ เพราะจะมีศาลตัดสินให้เป็นไปตามสิทธิ หากใครมาละเมิดสิทธิก็เรียกร้องให้หยุดทำ หรือชดเชยความเสียหายได้ด้วย    รัฐธรรมนูญ จึงเป็นกฎหมายสำคัญที่ทุกคนควรอ่านกันนะครับ เพราะถ้ารู้ว่ารัฐธรรมนูญบอกไว้ว่าอย่างไรแล้วเราทำตาม ก็อาจไม่ต้องเสียเวลาไปดูอีกสารพัดกฎหมายที่มีรวมกันเป็นหมื่นแสนมาตราเลยก็ว่าได้

            แต่ในความเป็นจริงไม่เป็นอย่างนั้นสินะครับ เพราะใครๆก็รู้ว่า ภาษากฎหมายมันไม่ง่ายใช่ไหมล่ะ ไหนจะเขียนกันยืดยาวกว่า 300 มาตรา แถมแต่ละมาตราก็ยาวเชียะ   ตอนจะทำประชามติก็ส่งมาให้อ่านกันฟรีๆทุกคน แต่ได้ยินแต่คนบ่นอุบว่าอ่านไม่จบ! สุดท้ายก็มีคนจำนวนไม่น้อยลงประชามติรับไปก่อน เพราะเขาบอกว่ามาแก้ทีหลังได้ ใช่ไหมล่ะฮะ   ว่าแต่ทำไมมันแก้ยากจังนะ ไม่เป็นไรประเด็นนี้เก็บไว้ก่อนค่อยมาพูดกัน   กลับมาที่ประเด็นเดิม  รัฐธรรมนูญอ่านยากและยาว ทำให้น้อยคนนักจะอ่านแล้วเข้าใจ หรือแทบไม่มีใคร “รู้ล่วงก่อนจะเกิดปัญหา” แม้กระทั่งคนที่มีชีวิตเกี่ยวกับกฎหมาย

            นี่ล่ะครับ ที่มาของ “ดงกฎหมาย” เลยทีเดียว   เพราะเมื่อเกิดปัญหาอะไร เราก็มัวอินไปกับสถานการณ์แถมมีอารมณ์ความรู้สึกอย่างแรงกล้าผสมเข้าไปอีก  ทำให้จะดึงตัวปลีกออกมาจากปัญหาแล้วมองมากว้างๆ ให้เห็นว่าเรื่องนี้ มีประเด็นถกเถียงกันอย่างไร แต่ละประเด็นน่าจะเกี่ยวกับกฎหมายฉบับไหน เรื่องอะไร  ก็งุนงงไปหมด   ซึ่งไอ้ความไม่รู้นี่คือ “ความเสียเปรียบ” ทันทีเลยครับ เพราะจะทำให้คนที่รู้จริงบ้างไม่จริงบ้าง แต่มีธงอยู่ในใจไว้แล้ว   งัดข้อกฎหมายที่เป็นคุณกับตัวเองมาบอกว่าต้องปรับใช้กับมาตรานี้ให้ได้ผลออกมาอย่างนี้อย่างนั้น   เราฟังก็รู้สึกถลำตามไปไกลแล้วก็กว่าจะรู้ตัวก็อาจเสียประโยชน์ไปโดยไม่ทันตั้งตัว   ทั้งที่เราอาจมีสิทธิดีกว่าเพราะมีกฎหมายศักดิ์สูงกว่ารับรองอยู่ ในบางครั้งคนที่มีส่วนได้เสียจึงพ่ายแพ้ไปเพราะไม่รู้จะนำกฎหมายใดมาปรับใช้ให้ทันสถานการณ์

ในหลายครั้งชาวบ้านที่อยู่ในละแวกป่าเชิงเขาซึ่งมักจะเข้าไปเก็บเห็ดเก็บหน่อไม้ป่าใกล้ชุมชน พอเดินออกมาเจอกับเจ้าหน้าที่ป่าไม้จับเข้าไป อ้างว่าละเมิด พรบ.ป่าสงวนฯ พรบ.อุทยานฯ ต้องรับโทษทางอาญา บางรายก็พยายามใช้เส้นสายและสินบนคลายปัญหาไป แต่บางรายไม่มีทุนจะทำเช่นว่าก็ต้องนอนน้ำตาตกในเพราะตกใจกลัวไม่รู้ว่าจะทำยังไง จนเรื่องไปถึงศาลตัดสินว่าผิดจริงก็แก้ไขไม่ทันการณ์เสียแล้ว เราจึงได้ฟังเหตุการณ์ชาวบ้านเก็บหน่อไม้แล้วต้องติดคุกกันมาแล้วใช่ไหมครับ   กรณีนี้จริงๆ ชาวบ้านอาจอ้างสิทธิชุมชนในการใช้สอยทรัพยากรตามวิถีประชาแห่งชุมชนท้องถิ่นที่อยู่กันมาตั้งแต่ดั้งเดิม ณ บริเวณนั้น   เพราะการสร้างมาตราเหล่านี้ขึ้นมาในรัฐธรรมนูญก็เพื่อแก้ปัญหา รัฐออกกฎหมายเอาป่ามารุกคน ทั้งที่คนอยู่กับป่าและรักษาป่ามาช้านาน

แต่ก็มีเรื่องที่น่าประหลาดใจอยู่ไม่น้อย เพราะในบางครั้งที่ประชาชนมีปัญหาก็ได้อ้างสิทธิตามรัฐธรรมนูญแล้วกลับพบว่า เจ้าหน้าที่ของรัฐหรือคู่กรณีอีกฝ่ายไม่สนใจจะรับฟัง   ซ้ำยังบอกว่า “รัฐธรรมนูญไม่ใช่กฎหมาย” ถ้าจะดูว่ากฎหมายใช้กับกรณีต่างๆอย่างไร “ให้ไปดู พรบ. เรื่องนั้นๆ”   อ้าววว...แล้วจะมีรัฐธรรมนูญไปทำไมกันครับ   หรือ รัฐธรรมนูญมีไว้เพื่อทำเท่ห์ ให้ดูดีในสายตาชาวโลก หรืออุปโลกน์ ว่าไทยเป็นรัฐประชาธิปไตย แต่ในเนื้อแท้เป็นรัฐเผด็จการอำนาจนิยม ให้องค์กรต่างๆ ออกกฎหมายมาบังคับกับประชาชนได้ โดยไม่ต้องสนใจกติกาใหญ่ที่ตกลงร่วมกันไว้ว่าจะอยู่ร่วมกันอย่างไร   แล้วที่มันเป็นเรื่องใหญ่ก็เพราะ คนที่ไม่ยึดหลักความศักดิ์สิทธิ์ของรัฐธรรมนูญหรือไม่เข้าใจเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญอาจเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ หรือแม้กระทั่งศาลก็ได้ ดังปรากฏในกรณีการบังคับตามกฎหมายความมั่นคงทั้งหลายที่ลิดรอนสิทธิตามรัฐธรรมนูญอย่างกว้างขวางและชัดเจน

เรื่องนี้เป็นวาระใหญ่ของการปฏิรูปกฎหมายกันเลยทีเดียว เพราะได้มีการตั้งคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมายขึ้นมาแก้ไขกฎหมายลำดับศักดิ์ต่ำกว่ารัฐธรรมนูญให้สอดคล้อง และไม่ลิดรอนสิทธิที่รับรองไว้ในรัฐธรรมนูญ   เพราะหากมองย้อนกลับไปในอดีตจนมาถึงปัจจุบัน ประเทศไทยมีกฎหมายที่ออกโดยคำสั่งคณะรัฐประหารหลายฉบับ และกฎหมายเหล่านี้ก็มาจำกัดสิทธิตามรัฐธรรมนูญ ทั้งที่คณะรัฐประหารก็มิได้เป็นตัวแทนของประชาชนแต่อย่างไร   ไหนจะพระราชบัญญัติ พระราชกำหนด ประกาศ คำสั่ง อะไรอีกมากมายที่ออกมาใช้ก่อนหน้า รัฐไทยจะตระหนักถึงคำว่า “ความสูงสุดของกฎหมายรัฐธรรมนูญ”   ตอนนี้ก็เลยต้องมาปรับให้กฎหมายทั้งหลายไม่ย้อนแย้งกับรัฐธรรมนูญนะครับ

บางคนก็บอกว่า โอ้ยยย...กว่ากฎหมายเรื่องที่ตนมีปัญหาจะแก้ไขต้องไปผ่านด่านการออกกฎหมายในรัฐสภาอีกตั้งนาน และไม่รู้ว่าจะถูกหยิบขึ้นมาพิจารณาเมื่อไหร่   ไอ้กฎหมายเหล่านี้ก็ถูกบังคับใช้ขัดกับสิทธิตามรัฐธรรมนูญอยู่นั่น ซ้ำคนบังคับตามกฎหมายเหล่านั้นดันเป็นเจ้าหน้าที่รัฐและศาล ประชาชนตาดำๆจะทำอย่างไร   ง่ายๆ เลยครับ ประชาชนต้องฟ้องศาลรัฐธรรมนูญให้ยกเลิกเพิกถอนกฎหมายเหล่านั้นเสียทั้งฉบับหรือบางมาตราครับ   ส่วนจะสำเร็จหรือไม่ก็ว่ากันไปรายกรณีครับ

บล็อกของ ทศพล ทรรศนพรรณ

ทศพล ทรรศนพรรณ
6. ต่อสู้กับอาชญากรรม
ทศพล ทรรศนพรรณ
3.การกำกับดูแล
ทศพล ทรรศนพรรณ
บทนำ            การมีชีวิตอยู่อย่างสนุกสนานเพลิดเพลิน โดยหลีกเลี่ยงความเจ็บปวดและการทนทุกข์ทรมานให้ถึงที่สุด ย่อมเป็นความปรารถนาอันแรงกล้าอย่างหนึ่งของชีวิตมนุษย์ทุกคน มนุษย์จึงสร้างสิ่งที่เรียกว่า “เกม” (Ga
ทศพล ทรรศนพรรณ
เกษตรพันธสัญญาที่ดี มีการสร้างความร่ำรวยให้กับเกษตรกรจำนวนมาก ลดความไม่แน่นอนในการผลิตและประกันว่ามีตลาดขายสินค้าแน่นอน หากมีปัญหาระหว่างการเพาะปลูก/เลี้ยงสัตว์จะมีการแบ่งรับความเสียหายกับบรรษัท นั้นมีจริง
ทศพล ทรรศนพรรณ
7.          เสรีภาพในการแสดงออก และการควบคุมเนื้อหาของ Social Media
ทศพล ทรรศนพรรณ
5. ความหละหลวมทางความมั่นคงทางไซเบอร์นำไปสู่ชัยชนะของทรัมป์        
ทศพล ทรรศนพรรณ
 1.         บทนำเข้าสู่กฎหมายไซเบอร์กับสังคมดิจิทัล    
ทศพล ทรรศนพรรณ
ตัวเลขในงานวิจัยทั้งหลายแหล่ บอกว่าคนแห่มาอยู่ “โสด” ทั้งที่โสดมาตลอด หย่าร้างแล้วกลับมาโสด หรือคบหากันแต่จงใจแยกกันไป “โสด”  
ทศพล ทรรศนพรรณ
ในช่วงเศรษฐกิจเฟื่องฟูมักมีการบ่นจากนายจ้างว่าหาแรงงานไม่ค่อยได้ ในทางตรงข้ามก็มีการโอดครวญจากคนทำงานว่าถูกตัดสวัสดิการ ไปจนถึงลดงาน หรือให้ออก  สลับกันไป   แต่สิ่งหนึ่งที่ไทยหรือแม้แต่ตลาดแรงงานในประเทศกำลังพัฒนากำลังเผชิญก็คือ สังคมไร้เสถียรภาพ อันมีสาเหตุจากคนในสังคมรู้สึกว่าชีว
ทศพล ทรรศนพรรณ
อินเตอร์เน็ตและผลสะเทือนต่อปริมณฑลทางกฎหมาย
ทศพล ทรรศนพรรณ
กฎหมายไซเบอร์กับสังคมดิจิทัล
ทศพล ทรรศนพรรณ
            สถานการณ์เขม็งเกลียวทางการเมืองและสังคมที่เกิดจากการพยายามผลักดัน พรบ.นิรโทษกรรม ฉบับสุดซอย(ตัน) ของพรรคเพื่อไทยและพรรคร่วมรัฐบาลโดยมีคะแนนเสียงในสภาล่างถึง 310 เสียงนั้น   ได้ผลักให้ญาติผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์สลายการชุมนุม 2553 และประชาชนผู้รัก