โอ้ยยย...กฎหมาย ง่ายๆหน่อยได้ไหมนะ 11: รัฐเผด็จการ กับ การล้วงตับ

หลังจากที่เครือข่ายเฟซบุคล่มในประเทศไทยเป็นเวลาเกือบชั่วโมงจนเพื่อนพ้องน้องพี่เดือดดาลกัน    ตามมาด้วยข่าวลือว่า "คสช. จะตัดสัญญาณอินเตอร์เน็ต และไล่ปิดโซเชียลเน็ตเวิร์ค" นั้น  สามารถอธิบายได้ 2 แนว คือ

1. เป็นวิธีการที่จะเอาชนะทางการเมืองหรือไม่ และ

2. เป็นการกระทำผิดกฎหมายรึเปล่า



ชัยชนะทางการเมือง ?

ผมขอฝันธงว่า ถ้าทำก็ฉลาดน้อยเต็มที เพราะมวลชนผู้สนับสนุนรัฐประหาร มีฐานที่มั่นหลักอยู่ในอินเตอร์เน็ต (มีวิจัยหลายชิ้นชี้ว่า พันธมิตรฯ ปชป. เสื้อเหลือง หลากสี กปปส. ใช้อินเตอร์เน็ตขับเคลื่อนทางการเมืองอย่างได้ผล)

การปิดเคเบิ้ลทีวี วิทยุชุมชน จึงเป็นการจู่โจมที่ตรงเป้าหมายกว่า (มีวิจัยอีกนั่นแหละว่า มวลชน และคนส่วนใหญ่ของประเทศติดตามสองช่องทางนี้)   เพราะนี่คือช่องทางสื่อสารของคนที่กระตือรือล้นทางการเมือง

วิธีการที่ฝ่ายมั่นคงใช้แล้วจะได้ผล คือ เปิดอินเตอร์เน็ตและโซเชียลเน็ตเวิร์คไว้
ให้เสียงสนับสนุนรัฐประหารอื้ออึง เสมือนว่า ทั้งสังคมคิดอย่างนั้น

แล้วค่อยๆ ทำให้คนที่คิดต่างในอินเตอร์เน็ต ทยอยปิดตัว หรือหลบซ่อนอำพราง จนเสียง คัดค้านต่อต้านในอินเตอร์เน็ตเบาลงๆ เพราะเกรงภัยจะมาถึงตัว

ในท้ายที่สุด คนที่รับรู้ข้อมูลผ่านมือถือและคอมพิวเตอร์ก็จะคิดว่า สังคมเห็นด้วยกับการรัฐประหาร

แหม...ก็เชียร์รัฐประหารแล้วเท่ห์ ปลอดภัย ไม่ต้องเผชิญอันตรายนี่ครับ

 กองทัพยังทำได้เนียนและเฉียบขาดกว่านี้อีกเยอะนะครับ  เพราะมีอีกหลาย กลยุทธ์บนโลกไซเบอร์ที่ยังไม่มีการนำมาใช้ เดี๋ยวจะเล่าในตอนท้ายของบทความนี้

เพราะถ้า หน่วยงานรัฐจะปิดหรือควบคุมโซเชียลเน็ตเวิร์คแล้วล่ะก็ ปัญหาที่ตามมาคือ ปัญหาทางกฎหมาย บางคนบอก ...โอ้ยยย ไม่มีทาง รัฐประหารแล้ว กฎหมายอยู่ในมือเขาหมด   ....ไม่จริงครับ!  เรื่องนี้ไม่ใช่แค่กฎหมายไทย แต่เป็นกฎหมายของประเทศต่างๆ ในภูมิภาคอาเซียน และเอเชีย ซึ่ง บรรษัท IT ชั้นนำไปตั้งทำการอยู่   รวมไปถึงกฎหมายระหว่างประเทศ

 

กฎหมาย กับ การคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล

                ปี 2014 นี้มีรายงานของสหประชาชาติเรื่องการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลออกมา ว่า   “การสื่อสารในอินเตอร์เน็ต จะต้องได้รับความคุ้มครองจากรัฐมิให้การสื่อสารถูก แทรกแซง ดัก ปิดกั้น หรือเก็บกักข้อมูล   เพื่อให้ประชาชนสามารถสื่อสารได้อย่างมั่นใจ บนพื้นฐานของความเชื่อมั่นในความลับส่วนตัว ไม่ถูกเปิดเผยตัวตนให้คนที่ตนไม่ต้องการให้ล่วงรู้”   รัฐไทยก็ผูกพันกับกติกาฯสิทธิพลเมืองและการเมือง ที่ว่านี้ด้วย และยังคงมีผลบังคับในฐานะพระราชบัญญัติหนึ่งในสาระบบกฎหมายไทย                         รายงานนี้ออกมา หลังจากข่าวอื้อฉาวที่เอ็ดเวิร์ด สโนวเดนส์ เผยให้ทราบถึง โครงการสอดแนมข้อมูลส่วนบุคคลอย่างกว้างขวางและมหาศาลของสหรัฐอเมริกา

            ประเทศไทยยังไม่มี กฎหมายเฉพาะในการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล   ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่ง ที่บริษัทผู้ให้บริการโซเชียลเน็ตเวิร์ค ทั้ง Facebook, Google, Twitter, Line มีฐานอยู่ในประเทศที่มีกฎหมายเรื่องนี้ชัดเจน   ในภูมิภาคอาเซียนก็ คือ ประเทศสิงคโปร์   ในทวีปเอเชียก็ คือ ฮ่องกง    สองประเทศนี้มีหลักกฎหมายใกล้เคียงกัน เพราะได้รับอิทธิพลจากกฎหมายอังกฤษ ซึ่งมีหลักการใกล้เคียงกับ กฎของสหภาพยุโรป คือ

 

หลัก 6 ประการเกี่ยวกับ การคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ซึ่งมีเนื้อหา ดังนี้

1)                    รัฐจะต้องให้เหตุผลว่าการเก็บข้อมูลส่วนบุคคลนั้นทำไปด้วยวัตถุประสงค์ใด เก็บในรูปแบบใด

2)                   รัฐจะต้องตรวจความถูกต้องของข้อมูลส่วนบุคคล โดยต้องระบุระยะเวลาที่เก็บข้อมูลก่อนลบทิ้ง

3)                   รัฐจะนำข้อมูลไปใช้ได้เมื่อบุคคลยินยอมแล้ว หรือต้องมีเงื่อนไขตามที่กฎหมายกำหนด หรือมีคำพิพากษาตามกฎหมายรองรับ

4)                   รัฐต้องมีมาตรการปกป้องข้อมูลส่วนบุคคลมิให้รั่วไหลออกไป หากหลุดออกไปรัฐต้องรับผิด

5)                   รัฐต้องกำหนดให้ องค์กรต่างๆที่เก็บข้อมูลส่วนบุคคล ประกาศ “นโยบายส่วนบุคคล” แก่ผู้ใช้บริการ

6)                   เจ้าของข้อมูลมีสิทธิเข้าถึงข้อมูล และตรวจสอบความถูกต้อง ทันสมัย และจัดการกับประเด็นอ่อนไหวได้   โดยอาจมีการกำหนดขั้นตอนยื่นคำร้องขอลบ หรือปรับปรุงข้อมูลด้วย

ทั้งนี้ รัฐ หรือองค์การระหว่างประเทศที่ออก กฎระเบียบเรื่องนี้ออกมา อาจตั้งสถาบันคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลขึ้นมา หรือระบุองค์กรที่เป็นเจ้าภาพหลักของเรื่องนี้ เพื่อให้ประชาชนรู้ว่าจะเรียกร้องสิทธิได้ที่ใคร

 

 

หน่วยงานรัฐไทยจะทำอย่างไร หากยังอยากล้วงตับต่อไป

การปิดแบบเหมารวมได้ผลแย่ อย่างที่บอกไป คือ ดันไปทำให้กองเชียร์รัฐประหารเดือดร้อน รวมไปถึงคนที่เฮฮาปาจิงโกะ ก็ได้รับผลกระทบ จนเสียงไหลมาตามสายพุ่งตรงสู่ คณะรับประหารและกระทรวงไอซีที   วีการปิดเหมารวมในประเทศไทย จึงไม่เหมาะ และล้มเลิกไปในเวลาไม่ถึงชั่วโมง

การขอความร่วมมือกับผู้ให้บริการอินเตอร์เน็ต (ISP) ให้สอดส่อง รายงาน และปิด บัญชีผู้ใช้   แม้จะมีปัญหาความก้ำกึ่งและคลุมเครือว่าจะทำได้ไหมตาม พรบ.ความผิดคอมพิวเตอร์ฯ แต่ตอนนี้ใช้กฎอัยการศึก ผู้ให้บริการจึงต้องให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี   แต่ปัญหาคือ มันเยอะ และเป็นปลายทางของปัญหา นั่งดูกันไม่หวาดไม่ไหว ไม่เป็นอันทำมาหากินอย่างอื่น

การติดต่อบริษัทเจ้าของบริการดัง   เจ้าของ Application เหล่านั้น มีข้ออ้างที่ง่ายดายว่า บริษัทที่ตั้งสาขาอยู่ในประเทศไทย ไม่มีอำนาจบริหารจัดการเรื่องนี้   เพราะมีแต่เรื่องการตลาดกับประชาสัมพันธ์   ส่วนเรื่องดูแลระบบต้องติดต่อบริษัทใน สิงคโปร์ และ ฮ่องกง   ซึ่งบริษัทก็มีกรอบกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลของประเทศเหล่านั้นกำกับอยู่

กรณีหน่วยงานไทยต้องการจะปิด และจะไปขอคุย เพื่อให้ปิดบริการเฉพาะในไทย หรือใช้นโยบายพิเศษในรัฐไทยนั้นไม่ง่าย เนื่องจากบริษัทเหล่านั้นจะอ้างว่าแอพอยู่ในประเทศที่คุ้มครองสิทธิข้อมูลส่วนบุคคล บริษัทจะเปิดเผยหรือให้หน่วยงานรัฐเข้าไปยุ่งย่ามไม่ได้

แต่ที่จริงนั้นมากจาก วิธีการที่รัฐไทยไปเจรจา มันเป็นข่าวอื้อฉาวไปทั้งโลก ผู้ใช้บริการ FB, Google, Twitter, Line ทั่วโลกเขาจับตาดูว่า บริษัทจะสู้เพื่อผู้บริโภคไหม เช่นเดียวกับ ตอนที่สโนวเดนส์แฉว่าบริษัทเหล่านี้โดนรัฐบาลสหรัฐแอบดักข้อมูล ก็ทำให้ยอดผู้ใช้ตกฮวบเพราะกลัวว่าจะโดนสืบข้อมูลในชีวิต

แน่นอนว่า เขาไม่คุย เขากลัวคนเลิกเล่น การปล่อยให้รัฐหนึ่งละเมิดความเป็นส่วนตัวได้ย่อมกระทบความเชื่อมั่นของผู้ใช้ทั่วโลก  และผู้ใช้ในประเทศไทยก็มีหลายสิบล้านคนเช่นกัน  บริษัทจึงมีข้ออ้างที่มั่นคงว่าหากร่วมมือกับรัฐไทยจะเป็นความผิดตามกฎหมายรัฐที่บริษัทตั้งอยู่

เมื่อวิธีการเข้าไปล้วงข้อมูลส่วนบุคคลผิดกฎหมาย   ข้อมูลที่ฉกฉวยมาได้ก็กลายเป็น “หลักฐานที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย” นำไปปรักปรำในชั้นศาลมิได้เช่นกัน

ดูเหมือนว่า กฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลจะเป็นอุปสรรคต่อการล้วงตับประชาชน! 

 

ประเทศไทยจะไม่ออกกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลตลอดไปเลยดีไหม ?  

หากประเทศไทยอยากเป็นผู้นำในเศรษฐกิจ การเป็นผู้นำด้านเทคโนโลยีสารสนเทศต้องมาพร้อมกับวางระบบกฎหมายที่บรรษัทด้าน ICT ทั่วโลกให้การยอมรับ และสอดคล้องกับ มาตรฐานสากล   เพราะถ้าไทยไม่ทำ ผู้ให้บริการก็ไม่สามรถมาตั้งเพราะจะผิดกฎการให้บริการ เมื่อเชื่อมระบบ ส่งถ่ายข้อมูล ข้ามไปยังเครือข่ายในภูมิภาคยุโรป อเมริกา โอเชียเนีย รวมไปถึงประเทศที่มีกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล

การขึ้นเป็นเจ้าเรื่องนี้ จึง ต้องมีการออกกฎหมายให้ผู้ประกอบการ (ISP)  และคนใช้ มั่นใจ   การให้น้ำหนักระหว่างการใช้อำนาจรัฐเพื่อความมั่นคงและสงบเรียบร้อย กับ  การดึงดูดบรรษัทและผู้ใช้อินเตอร์เน็ต  จึงต้องทำอย่างแยบคาย มิใช่โฉ่งฉ่างดังที่รัฐไทยทำอยู่ในขณะนี้   

เอาง่ายๆ สหรัฐอเมริกา ก็ต้องประกาศตลอดเวลาว่าคุ้มครองสิทธิประชาชน แต่แอบลักลอบดักข้อมูลในทางลับ   นี่เป็นสาเหตุว่า ทำไม เอ็ดเวิร์ด สโนวเด้นส์ และ จูเลี่ยน แอสสาจน์ จึงกลายเป็นศัตรูของชาติคนสำคัญ   เพราะพวกเขาได้ฉีกหน้ากาก “ผู้ดี” ให้เห็นว่าแท้จริงแล้วก็เป็น “ทรราช”

                พอข่าวออกมา  บรรษัทเหล่านี้จึงต้องออกมาปัดข่าวเป็นพัลวัน  และเหล่าบรรษัทก็รวมตัวกันแสดงพลังกดดันรัฐบาลสหรัฐให้ยุติการแทรกแซง   และออกข่าวไปทั่วโลกว่า ผู้ใช้จ๋า เราสู้เพื่อพวกคุณ(เสมอและตลอดไป) นะจ๊ะ   กลับมาเถอะ สนุกสนานอย่างปลอดภัยไปกับเรา  เทียบเคียงกับประเทศไทยดูสิ หลังรัฐประหาร เซเลปโซเชียลหายไปกี่คน แฟนๆเซ็งไปตามๆกัน เพราะไม่มีอะไรให้เสพมันส์ๆเบยยยย

ดังนั้นบรรษัทจึงต้องออกข่าวต่อต้านการร่วมมือกับรัฐไทย เพราะใครจะไปยอมเสียชื่อเสียง (http://online.wsj.com/articles/social-media-companies-skip-meeting-with-thai-junta-1401373919 — ที่ Google.Com)

เนื่องจากฐานลูกค้า คือ ฐานข้อมูล จำนวนผู้ใช้และข้อมูลที่ใส่ลงไปในหน้าต่างๆ คือ ผู้สร้างมูลค่าให้กับ Facebook และ Google นะครับ   ธุรกิจเหล่านี้ อยู่ได้ เพราะมีคนมาใช้ มาใส่ข้อมูลลงในโปรแกรมเขาเยอะๆ แล้วบรรษัทก็เอาข้อมูลไปวิเคราะห์ขายต่อให้บริษัทโฆษณาอีกต่อครับ                เอาเป็นว่าวิจัยการตลาดกับคนยุคใหม่แทบจะเลิกวิจัยการตลาดแบบไล่สัมภาษณ์ และตอบแบบสอบถาม ไปเลยละครับ       ถ้าคนกลัวก็จะโพสต์น้อยลง แชร์น้อยลง มาใช้เวลาในพื้นที่อินเตอร์เน็ตน้อยลง   บริษัทก็สูบข้อมูลผู้ใช้ไปขายได้น้อยด้วย

ยิ่งไปคุยกับ สาขาที่ สิงคโปร์ ก็ยากเลยครับ เพราะสิงคโปร์มีกฎหมายปกป้องข้อมูลส่วนบุคคลออกมาสดๆร้อนๆ เพื่อสร้างภาพเป็นดินแดนปกป้อง สิทธิของผู้ใช้อินเตอร์เน็ต จริงไม่จริงไม่รู้ แต่นี่ คือ โอกาสดีที่ สิงคโปร์จะสร้างภาพดึงดูด บรรษัทระดับโลกมาตั้งสาขา                                ก็กลายเป็นว่าคณะรัฐประหารและกระทรวง ICT ไปทำให้สิงคโปร์ดังขึ้น และประเทศเราแย่ลงนั่นเอง (http://bangkok.coconuts.co/.../military-hopes-facebook...)

เช่นเดียวกับฮ่องกง ซึ่งมีกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลดีมาก ทั้งสองประเทศนี้ แทบจะลอก กฎหมายอังกฤษเรื่อง Principle6 มาเลยครับ   ก็ต้องปฏิเสธความร่วมมือกับรัฐไทยในทางแจ้งเช่นกัน (http://www.bangkokpost.com/.../line-fb-google-urged-to...)

อีกประเทศที่มีกฎหมายคุ้มครองสิทธิส่วนบุคคลดีในเอเชีย คือ ญี่ปุ่น ซึ่งเป็นที่ตั้งของ เซิร์ฟเวอร์ไลน์ รอบหลังจึงปฏิเสธให้ความร่วมมือ แม้เมื่อปีก่อนจะโดนแฉจนผู้ใช้เสียวสันหลัง   แต่พอมาปีนี้เรื่องใหญ่โต บริษัทจึงต้องรีบออกมาปฏิเสธ   (http://bangkok.coconuts.co/.../line-secretly-cooperating...)  สาเหตุที่กฎหมายเรื่องนี้ ญี่ปุ่นดี เพราะวัฒนธรรมคนญี่ปุ่น ไม่ไขเรื่องลับในที่แจ้งนะครับ ญี่ปุ่นเคยสู้กับ Google จนทำให้ Google Map เอาแผนที่ทางประวัติศาสตร์เกี่ยวกับเรื่องสุสานและชุมชนสัปเหร่อออกจากระบบเลย

 

สายลับ กับ กฎหมาย

ผู้บังคับการกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี หรือผบก.ปอท.  ให้ข้อมูลว่าจะ “เข้าไปขอเป็นเพื่อน” หรือเตรียมตรวจสอบข้อความที่ส่งผ่านแอพพลิเคชัน Line ของบริษัท Naver Japan นั้น ถือเป็นการละเมิดสิทธิความเป็นส่วนตัวอย่างชัดเจน เนื่องจากแอพพลิเคชัน Line เป็นการสื่อสารและส่งข้อความระหว่างบุคคล ซึ่งถือเป็นสิทธิส่วนตัว ไม่ใช่เป็นการโพสต์ให้สาธารณะได้เห็น หากปอท.จะเข้าไปตรวจสอบ ก็ถือว่าเป็นการใช้อำนาจรัฐละเมิดสิทธิส่วนบุคคลชัดเจน

ทั้งนี้ ไม่ว่าจะใช้พรบ.คอมพิวเตอร์ หรือใช้ กฎหมายอาญา ก็จำเป็นจะต้องขออำนาจทางกฎหมาย โดยการขอหมายศาลเพื่อตรวจสอบ เนื่องจากกฎหมายระบุว่าการกระทำต้องเกิดขึ้นก่อน จึงจะสามารถตรวจสอบได้   เวลานี้ถ้าจะตรวจสอบโดยอาศัยกฎอัยการศึกก็อาจต้องขออำนาจจากศาลทหารก่อน  และแม้ได้หมายแล้วก็จะติดปัญหาเดิมที่บอกไปแล้ว คือ ต้องไปขอที่ สิงคโปร์ ฮ่องกง อีก

หากปอท.จะเข้าไปตรวจสอบโดยตรงจากเจ้าของแอพพลิเคชันต่างๆ เชื่อว่าเจ้าของแอพพลิเคชันจะไม่สามารถให้ได้ เนื่องจากเมื่อผู้ใช้แอพพลิเคชัน จะมีการทำข้อตกลง ตอนที่ผู้บริโภค “สมัครใช้” แล้วกดรับ “เงื่อนไขและข้อบังคับ”  เกี่ยวกับ “นโยบายความเป็นส่วนตัว”   ซึ่งผู้ใช้อาจจะต้องมีการยอมรับในข้อตกลงการใช้งานทั่วไป  

แต่บริษัทก็มีจะมีสิทธิเฉพาะการยอมรับในการให้นำฐานข้อมูลลูกค้า ไปใช้ในการปรับปรุงแอพพลิเคชัน หรือขายให้กับบริษัทโฆษณา เพื่อทำการวิจัยเท่านั้น ไม่ได้มีเงื่อนไขในการละเมิดความเป็นส่วนตัวไม่ว่ากรณีใด โดยบริษัทผู้ผลิตแอพพลิเคชันเองก็มีหน้าที่ไม่ยุ่งย่ามหรือเปิดเผยข้อมูลส่วนตัวของผู้ใช้ ว่า สนทนาอะไรกันบ้าง เพราะไม่ได้มีการตกลงกับกลุ่มผู้ใช้งานไว้ ซึ่งหลักการนี้เป็นหลักการเดียวกันทั่วโลก ว่าสิทธิความเป็นส่วนตัวจะต้องได้รับความคุ้มครอง   ยิ่งการตั้ง “กลุ่มลับ” บริษัทยิ่งต้องคุ้มครองอย่างหนาแน่น

การที่กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) ปอท. จะเดินทางไปยังต่างประเทศ เพื่อประสานขอตรวจสอบข้อความที่ส่งผ่านแอพพลิเคชัน ของบริษัท นั้นจะไม่ได้ผล เนื่องจากแอพพลิเคชัน มีนโยบายเคร่งครัดว่า เป็นการทำธุรกิจในลักษณะให้การคุ้มครองความลับและอาศัยความไว้เนื้อเชื่อใจระหว่างกัน    การสื่อสารและส่งข้อความระหว่างบุคคล รวมถึงก่อนลงทะเบียน ก็ได้ให้ผู้ใช้งาน ยอมรับในข้อตกลงการใช้งาน ซึ่งจะยอมรับฐานข้อมูลลูกค้าสำหรับนำไปใช้ในการปรับปรุงแอพพลิเคชัน หรือขายให้บริษัทโฆษณาเท่านั้น ไม่ได้มีการยอมรับให้ละเมิดสิทธิของลูกค้าในกรณีอื่น แม้จะเป็นเรื่องเกี่ยวข้องกับความมั่นคงก็ตาม

 

ยิ่งไปกว่านั้น การใช้อำนาจของหน่วยงานรัฐแบบ เหวี่ยงแห ทำลิสต์รายชื่อ โดยไม่มีหมายศาล หรือไม่ได้ประกาศในคำสั่งอย่างชัดแจ้ง อาจเข้าข่ายผิดกติกาสิทธิพลเมืองและการเมือง ในเรื่องการสันนิษฐานไว้ก่อนว่าจำเลยเป็นผู้บริสุทธิ์ เพราะเป็นการสุ่มตรวจล่วงหน้าแบบ “เหมารวม”  ก็ที่มาว่าบริษัทต่างๆ จะไม่อนุญาตให้ปอท.เข้าไปตรวจสอบ   ต่างจากการพิจารณารายบุคคลว่ามีข้อความ/การกระทำผิดกฎหมาย ซึ่งอาจขออำนาจศาลไปปิดหรือตรวจสอบเฉพาะบุคคลที่มีการกระทำผิด

 

วิธีการ “ล้วงตับ” หรือ “ควบคุม” โลกออนไลน์แบนเนียนๆ มีอะไรบ้าง

-          ใส่ตัวคัดกรอง (Filter) แต่เรายังไม่รู้แน่ชัดว่า โปรแกรมที่นำมาใช้ในประเทศไทยก้าวหน้าขนาดไหน
ถ้าแบบเบาะๆ ก็ หาคำ เช่น ทหาร รัฐประหาร แล้วนำไปสู่การค้นหาบุคคลที่โพสต์คำเหล่านี้ แล้วบล็อค หรือรวบตัว

-          ถ้าเหนือชั้นกว่า คือ เสาะหาเครือข่ายของคนนั้น แล้วเอาไปไขว้กับเครือข่ายของคนอื่นๆ หารูปแบบการสื่อสารและสร้างเครือข่าย แล้วนำไปสู่การขยายผลรวบยก "ขบวนการ" หรือแบนทั้งเครือข่าย

-          ขั้นรุนแรง รัฐอาจส่งหนอน (Worm) หรือ ม้าไม้เมืองทรอย (Trojan) ไปฝังตัวไว้ในหน้าเว็บดังทั้งหลาย เพื่อดึงข้อมูลคนคนนั้นในเครื่อง หรือ ทำให้คอมฯของคนนั้นกลายเป็นหุ่นยนต์ (Bot) ทำตามคำสั่งทางไกล เช่น ส่งข้อมูลจากเครื่องเราไปเข้าเพื่อนๆคนอื่นๆ เป็นต้น

-          แต่สิ่งหนึ่ง รัฐมักสร้างก่อนเสมอ คือ หลุมพรางที่ดึงดูดกลุ่มคนที่มีความคิด รสนิยมทางการเมือง แบบที่รัฐจับตา   จึงไม่ต้องแปลกใจว่า เว็บไซต์ หรือหน้าเฟซบุคดังๆ ที่ดูแรง ดูเสี่ยง จะไม่โดนปิด หรือไม่โดนรบกวนเลย   เพราะมันได้กลายเป็น “กับดัก” (Honey Pot)  ที่รัฐเข้ามาส่องดู “ตัวแสบ”  แล้วสาวต่อไปที่หน้าส่วนตัว หรือติดตามไปรวบตัวถึงบ้านดังที่ได้ข่าวกันอยู่เนืองๆ  

ก็อยู่ที่ว่ารัฐไทยจะลงทุนขนาดไหน   เพราะประวัติศาสตร์โลกก็ชี้ให้เห็นว่า บรรษัทจำนวนมากได้ประโยชน์เมื่อมีสงคราม หรือหากินกับรัฐเผด็จการทรราชได้อย่างเป็นกอบเป็นกำ   เพราะรัฐต้องเพิ่มอาวุธและเครื่องมือในการสอดส่องควบคุมประชาชน   งบประมาณด้านความมั่นคงจึงต้องโปร่งใส

 

ทางเลือกทางของรัฐไทย

หากไทยจะใช้วิธีครอบกะลาคนไทย โดยไล่ปิดอินเตอร์เน็ตหรือโซเชียลเน็ตเวิร์คในไทยก็เห็นจะทำไม่ได้ เพราะจะปิดช่องทางในการ  “โฆษณาชวนเชื่อ” ไปด้วย   เนื่องจากช่องทางนี้เหมาะกับ การสื่อสารสั้นๆ ปลุกเร้าอารมณ์ หาที่มาที่ไปไม่ได้ แต่แพร่กระจายรวดเร็ว ได้ผลรุนแรงและกว้างขวางเสียด้วย

ไม่น่าแปลกใจที่รัฐไทยจะใช้ประโยชน์จากความคลั่งชาติ และพยายามสร้างชื่อของคนตัวเล็กๆ ทั้งหลายที่อยากได้ชื่อเสียงและการยอมรับจากสังคมคนรักชาติ   โดยรับสมัครลูกเสือออนไลน์ให้เป็นแมวมอง (Scout) เพื่อช่วยสอดส่อง คนใกล้ตัว คนข้างบ้าน ไปจนถึงญาติพี่น้องแล้วแจ้งเบาะแสให้รัฐ    เรื่อยไปจนเกิดลัทธิล่าแม่มด ด้วยการกระตุ้นเร้าให้รักชาติแบบไร้สติ แต่เต็มไปด้วยความมุ่งมั่นที่จะเสาะหาภัยคุกคาม ในนามของ “ผู้รักชาติยิ่งชีพ”   แต่อาจจะลืม “รักเพื่อนมนุษย์” ไป        ซึ่งได้ผลมากในสังคมไทย

หรือรัฐไทยจะสร้างระบบปฏิบัติการอินเตอร์เน็ต และควบคุมช่องทางไหลเวียนข้อมูล นั่นหมายถึงรัฐไทยต้องลงทุนมหาศาล และเสี่ยงอันตรายมาก เพราะการรวมศูนย์ก็คือ การรวมปัญหามาอยู่ที่เดียวด้วย   ขัดกับหลักการเบื้องต้นในการสร้างอินเตอร์เน็ต ที่ต้องการสร้างความมั่นคงมิให้ข้อมูลสลายหรือถูกทำลายไปแม้เกิดสงครามนิวเคลียร์   โดยใช้หลักการ “กระจายข้อมูล” และช่องทางในการสื่อสารและเก็บข้อมูลออกไปให้มากที่สุด   ประเทศไทยก็จะอยู่ในภาวะเสี่ยงที่จะถูกโจมตีได้ง่ายหากเกิดสงครามไซเบอร์

 ดูเหมือนโครงการควบคุมโลกไซเบอร์ในไทยจะถอยหลังจนสุดทาง เมื่อคิดการสร้าง แอพลิเคชั่นใหม่ๆ แล้วรณรงค์ให้คนไทยหันมาใช้ แอพของรัฐไทยเอง แบบ Weibo และ Baidu ของจีน   ก็ไม่น่าจะสำเร็จเพราะคนทั้งโลกรู้ว่า โปรแกรมทั้งสองเป็นเครื่องมือล้วงความลับประชาชนนั่นเอง    เพราะแอพลิเคชันใดจะสำเร็จต้องให้มากกว่า “ความสะดวกสบาย”   “ความปลอดภัย” ก็เป็นอีกเรื่องที่สำคัญมาก

 

ภัยมืด สายลับสองหน้า และมหามิตร

แต่ที่น่ากลัวที่สุดเห็นจะเป็น “ความร่วมมือระหว่างฝ่ายความมั่นคงไทย-สหรัฐอเมริกา”  ที่อาจนำไปสู่การแบ่งปันข้อมูลระหว่าง NSA กับ สมช. ในทางลับเสียมากกว่า   เพราะอย่างที่เรารู้ว่า  สหรัฐอเมริการวมรวมข้อมูลจากผู้ใช้อินเตอร์เน็ตได้ทั่วโลก ก็เพราะผู้เป็นเจ้าของเทคโนโลยีสารสนเทศ มีต้นกำเนิดจากสหรัฐ และมีหลายบริษัทเคยรับงบอุดหนุนเมื่อตอนตั้งต้นธุรกิจ   ได้รับทุนวิจัยพัฒนาเทคโนโลยี  รวมไปถึงได้รับรางวัลเหรียญกล้าหาญจากกระทรวงกลาโหมและ CIA เลยทีเดียว

แม้สหรัฐอเมริกามีกฎหมายภายในที่บีบให้สหรัฐยุติความร่วมมือกับรัฐบาลรัฐประหาร แต่ความร่วมมือทางการทหารเพื่อสกัดกั้นการขยายอิทธิพลของจีนในภูมิภาคนี้   ก็เป็นสิ่งที่ประชาชนไว้ใจท่านผู้นำของสองประเทศมิได้

 

รัฐที่ฉลาด คือ รัฐที่ยอมให้เกิด ความร่วมมือระหว่างผู้ใช้อินเตอร์เน็ต บริษัทผู้ให้บริการ และภาคประชาสังคม เพื่อสร้างกติกาในการคุ้มครองสิทธิส่วนบุคคลบนโลกอินเตอร์เน็ตทั้งกฎหมายระดับรัฐ และกฎหมายระหว่างประเทศ  เพราะมันเป็นเรื่องสำคัญในการส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์ และการพัฒนา   มิใช่ สร้างหวาดกลัวให้คนกลับไปใช้ ปากกา กระดาษ หรือ ปากต่อปาก ซึ่งยากแก่การตรวจสอบป้องกันภัยเช่นใน อดีต

(รูปจากลิ้งค์ http://www.itespresso.fr/wp-content/uploads/2013/12/cncis-loi-programmat...)

การเมืองของกฎหมาย 100: พัฒนาชีวิตแรงงานอิสระด้วยการประกันรายได้พื้นฐาน

การพัฒนาสิทธิแรงงานรับจ้างอิสระ (Freelancer) ต้องยึดโยงกับหลักกฎหมายสำคัญเรื่องการประกันสิทธิของแรงงานอันมีสิทธิมนุษยชนเป็นพื้นฐาน (Human Rights-Based Approach – HRBA) ไว้ เพื่อเป็นรากฐานทางกฎหมายในการอ้างสิทธิและเสนอให้ภาครัฐสร้างมาตรการบังคับตามสิทธิอย่างเป็นรูปธรรม ตั้งแต่การประกันรายได้รูปแบบ

กฎหมายกับเทคโนโลยี 26: มาตรการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลจากการเก็บและประมวลผลของบรรษัทเอกชนโดยมิชอบ

การคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลของปัจเจกชนจากการเก็บข้อมูลและประมวลผลโดยบรรษัทเอกชนจำต้องปกป้องคุ้มครองสิทธิของเจ้าของข้อมูลตามมาตรฐานที่กำหนดหน้าที่ของผู้ควบคุมระบบตามกฎหมายด้วย เนื่องจากบุคคลหรือกลุ่มองค์กรเหล่านี้ทำหน้าที่ในการคุ้มครองสิทธิเจ้าของข้อมูลในหลายรูปแบบ อาทิ การให้ความรู้เกี่ยวกับสภาพปั

การเมืองของกฎหมาย 99: ความเสี่ยงจากวิถีชีวิตของผู้คนที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจด้านอาหารและสุขภาพ

บุคคลแต่ละคนย่อมมีทุนที่แตกต่างกันไปทั้ง ทุนความรู้ ทุนทางเศรษฐกิจ ทำให้การตัดสินใจนั้นตั้งอยู่บนข้อจำกัดของแต่ละคนไม่ว่าจะเป็นการไม่รู้เท่าทันเทคโนโลยี ขาดความรู้ทางการเงิน ไปจนถึงขาดการตระหนักรู้ถึงผลกระทบต่อสุขภาพตนเองและผู้อื่นในระยะยาว ยิ่งไปกว่านั้นรัฐไทยยังมีนโยบายที่มิได้วางอยู่บนพื้นฐานข

การเมืองของกฎหมาย 98: พลเมืองเน็ตกับการพัฒนาอย่างยั่งยืน

บทบัญญัติกฎหมายที่ใช้เป็นรากฐานในการอ้างสิทธิในการมีส่วนร่วมของประชาชนเพื่อผลักดันให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืนนั้น จะพบว่ารัฐไทยได้วางบรรทัดฐานทางกฎหมายที่รับสิทธิของประชาชนในการรวมกลุ่มกันเพื่อแสดงออกในประเด็นทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยเริ่มต้นจากหลักการพื้นฐานสำคัญที่เชื่อมโยงเรื่องสิทธิม

กฎหมายกับเทคโนโลยี 25: รู้ทันพิศวาสอาชญากรรม

เทคโนโลยีด้านการสื่อสารที่เข้ามามีอิทธิพลแทบจะทุกมิติของชีวิต ส่งผลให้พฤติกรรมด้านการปฏิสัมพันธ์ของประชาชนเปลี่ยนแปลงไปตามความก้าวหน้าของเทคโนโลยี มีประชาชนจำนวนมากที่ใช้เทคโนโลยีในการหา “คู่” หรือแสวง “รัก” ซึ่งเพิ่มความเสี่ยงให้เกิดการกระทำความผิดที่เรียกว่า Romance Scam หรือ “พิศวาสอาชญากรรม”