สวัสดีคุณอั้ม เนโกะ ไม่รู้ว่าเรียกชื่อถูกหรือเปล่า ต้องขออภัยหากผิดพลาดไปสักหน่อย
ฉันเป็นนักศึกษาธรรมศาสตร์รหัส 50 คงไม่ถือว่าแก่อะไรมาก จึงขอออกตัวว่าเป็นนักศึกษาร่วมสมัยกับคุณก็แล้วกัน...
จำได้ว่าตอนที่ฉันเข้าเรียนใหม่ๆ ไม่ได้รู้อะไรมากเกี่ยวกับธรรมศาสตร์ นอกจากเป็นมหาวิทยาลัยชื่อดังของประเทศ เป็นสถานที่รองรับเหตุการณ์สำคัญในประวัติศาสตร์ความเคลื่อนไหวทางการเมืองระลอกใหญ่ๆ เป็นมหาวิทยาลัยที่มีบรรยากาศแปลกแยกไปจากมหาวิทยาลัยอื่นๆ ตรงที่มีถ้อยคำ หรือที่เราเข้าใจกันภาษาฝรั่งว่า “สโลแกน” เยอะแยะเต็มไปหมด ว่าด้วยเรื่องของสิทธิ เสรีภาพ ประชาชน ประชาธิปไตย การเมือง อะไรทำนองนั้น
จำได้ว่าฉันเป็นคนหนึ่งที่ใส่ชุดนักศึกษาตลอดในช่วงชั้นปีที่หนึ่ง โดยมีเหตุผลส่วนตัวที่ยอมรับว่ามาจากความบ้าส่วนตัว คือ ต่อต้านทุนนิยมแบบจัดๆ ไม่รู้ว่าเรียกว่าซ้ายหรือเปล่า แต่เป็นพวก(ที่ตอนนั้นทึกทักไปเอง)ต่อต้านทุนนิยม
ฉันเคยมองในมุมที่เปื้อนอคติของตัวเองแบบสุดๆ ว่า การใส่ชุดไพรเวทเป็นการแต่งตัวแข่งกันของพวกกระฎุมพี พวกไฮคลาส พวกดัดจริต เอาเสื้อผ้าแพงๆ มาใส่อวดกัน โชว์แบรนด์เนม โชว์แฟชั่น อะไรทำนองนั้น เป็นการข่มกันอย่างเห็นๆ การใส่ชุดนักศึกษาเท่านั้นที่จะแก้ปัญหาพวกนี้ได้ คือทำให้พวกเขาดูเท่ากัน ภายใต้เครื่องแบบที่มีลักษณะคล้ายๆ กัน ไม่เหลื่อมล้ำต่ำสูงอะไรมาก ด้วยความเป็นวัยรุ่นด้วย ความรู้สึกแข่งขันเหยียดหยันกันจึงน่าจะมีสูง อะไรทำนองนั้น
อีกเหตุผลหนึ่งคือ ฉันมองว่าการใส่ชุดนักศึกษาทำให้พวกเขาไม่ตกเป็นทาสของทุนนิยม คือไม่ต้องไปเสียเงินเสียทองมากในการหาเครื่องแต่งกายแบรนด์เนมมาเป็นเปลือกของตัวเองเพื่อให้เกิดการยอมรับในกลุ่มเพื่อน ซึ่งแน่นอนว่า การแต่งตัวที่ต่างลักษณะมีผลต่อการนิยามอัตลักษณ์และเป็นการแบ่งแยกกลุ่มคนโดยอัตโนมัติ ในแง่นี้ เมื่อเข้าเมืองตาหลิ่วก็ต้องหลิ่วตาตาม นักศึกษาทุกคนไม่ได้แข็งแกร่งหรือมีความคิดความเห็นที่เป็นปัจเจกเสียทุกคน นั่นจึงทำให้บางส่วนต้องพยายามทำให้ตัวเองกลมกลืนกับคนอื่นอย่างเลี่ยงไม่ได้
ฉันจึงเป็นหัวหอกในการรณรงค์ไม่ให้มีการใส่ชุดไพรเวท โดยตัวเองเป็นตัวตั้ง ใส่ชุดนักศึกษาไปเรียนทุกวัน แถมด้วยการเขียนบทความ บทกวี แสดงความเห็นของตัวเองในวารสารชุดหนึ่งของมหาลัย โดยมีนักศึกษารุ่นพี่จากวารสารศาสตร์เป็นบรรณาธิการ
ในบทความและบทกวีนั้น ฉันด่าทอการยึดโยงอยู่กับแฟชั่น การทำตัวอินเทรนด์ การเป็นพวกวัตถุนิยม ของพวกนักศึกษาที่ใส่ชุดไพรเวท โดยฉันได้เชื่อมโยงกับความย่ำแย่ของระบบทุนนิยม และกล่าวหาว่ามันได้ครอบงำนักศึกษาร่วมสมัยของตัวเองไปจนหมดสิ้นแล้ว
เพียงเพราะเข้าใจว่าการใส่ชุดไพรเวทของพวกเขาเป็นการอวดร่ำอวดรวย ข่มเหงอัตลักษณ์ของกันและกันจนกลายเป็นการลดคุณค่าที่เท่าเทียมกันของความเป็นมนุษย์ ฉันมองว่า การใส่ชุดไพรเวททำให้เกิดการแบ่งแยกเหยียดหยันที่น่ากลัวมาก
อย่างไรก็ตาม เมื่อฉันเริ่มโตขึ้น ฉันเริ่มเรียนรู้ว่า ระบบทุนนิยมเป็นสิ่งที่เลี่ยงไม่ได้เสียแล้วในสังคม เพราะมันเป็นพลวัตระดับโลกเรี่ยวแรงมหาศาล และที่สำคัญคือ ลึกๆ แล้วฉันเองก็ดำรงอยู่ในมันอย่างไม่ขัดขืน ฉันจึงปรับมุมมองที่มีต่อมันเสียใหม่ เริ่มขยับตัวออกจากความเป็นซ้ายทีละนิด (หากสิ่งที่ฉันเคยเป็นนั้นเรียกว่าซ้าย)
ฉันเริ่มเข้าใจว่า จริงๆ แล้วทุนนิยมนั่นแหละที่เอื้อประโยชน์ให้ฉัน เช่นการเข้าถึงข่าวสารเพื่อการเรียนรู้ เป็นต้น ฉันพบว่าจริงๆ แล้วตัวเองใช้ชีวิตอยู่ในความโอบอุ้มของการเติบโตของทุนนิยม ฉันเริ่มเป็นกลางมากขึ้น หาจุดสมดุลในตัวเอง และพร้อมกันนั้น ฉันโชคดีตรงที่ว่ามีเพื่อนๆ รัฐศาสตร์แสดงให้เห็นว่า การใส่ชุดไพรเวทของพวกเขานั้นต่างโดยสิ้นเชิงกับการใส่ชุดไพรเวทของเด็กบางกลุ่ม
ฉันเริ่มทำความเข้าใจกับรายละเอียดปลีกย่อยมากขึ้น ฉันเริ่มเห็นความงามของการใส่ชุดไพรเวท และละความสนใจจากการต่อต้านพวกที่อวดร่ำอวดรวยไปพร้อมๆ กัน เนื่องจากฉันเริ่มเปิดพื้นที่ให้กับความเห็นต่าง เริ่มเคารพเสียงที่ขัดกับตัวเอง ฉันเริ่มทำความเข้าใจกับเสรีภาพมากขึ้น และฉันเริ่มมองเห็นความกระหายเสรีภาพ ทั้งในตัวเอง และคนอื่นๆ
การมองโลกแบบเหมารวมเป็นความผิดพลาดในครั้งนั้น ตั้งแต่ขึ้นชั้นปีที่สอง ฉันเริ่มเปลี่ยนมาใส่ชุดไพรเวท โดยมียีนส์เก่าๆ เสื้อยืดถูกๆ และรองเท้าแตะเป็นเครื่องแบบใหม่ของตัวเอง กระทั่งชั้นปีสุดท้ายฉันแทบจะไม่ใส่ชุดนักศึกษาเลย นอกจากเข้าสอบ
ฉันกลับไปอ่านบทกวีและบทความที่ตัวเองเคยเขียน ฉันหัวเราะให้กับความคิดที่สุดโต่งของตัวเอง และพบว่า นั่นไม่ได้ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอะไรตามวัตถุประสงค์ที่เคยวาดเอาไว้เลยแม้แต่น้อย
เมื่อมองหาเหตุผล เป็นไปได้ว่าฉันเคยใส่ความสุดโต่งเข้าไปในนั้น หนำซ้ำยังมองโลกแบบเหมารวมโดยสิ้นเชิง จึงทำให้ไม่ประสบความสำเร็จในการเรียกร้องสิ่งที่ตัวเองปรารถนา
ฉันจึงอยากแสดงความเห็นต่อการรณรงค์ของคุณสักหน่อย กล่าวก็คือ ฉันไม่ได้รู้สึกว่า การออกแคมเปญนั้นรุนแรงเกินไป และไม่ได้รู้สึกว่ามันเป็นการหมิ่นเกียรติของสถาบันอะไร แต่แค่รู้สึกว่า มันไปกดทับเจตจำนงเสรีของคนที่เลือกที่จะใส่ชุดนักศึกษา
เสรีภาพในแง่นี้จึงกลายเป็นการเหมารวมกดทับทางเลือกของคนอื่น การเรียกร้องเสรีภาพแบบตัดสินชี้ขาดคนอื่นอย่างเหมารวม ก็ไม่ต่างอะไรไปจากการกระหายอยากอภิสิทธิ์ส่วนตนในการผูกขาดอำนาจการตัดสินใจ เท่าที่สัมผัสจากอารมณ์ของถ้อยคำในภาพ ฉันรู้สึกได้ถึงการกระหายอำนาจที่เหนือกว่าผู้อื่น มากกว่าการเรียกร้องเพื่อความเสมอภาคกับผู้อื่น
นั่นจึงทำให้การรณรงค์เช่นนี้เป็นเพียงการตีหัวสังคมแบบแรงๆ แล้วสังคมก็เจ็บปวดและทำได้อย่างเดียวคือต้องตีหัวเรากลับ ตีกันไปตีกันมา แค้นเคืองและต่อต้าน แน่นอนว่าการถกกันอย่างสร้างสรรค์เพื่อหาทางออกที่ดีขึ้นอาจไม่เกิดขึ้น หรืออาจจะเกิดขึ้นก็อยู่ภายใต้สงครามทางความคิด ทัศนคติ ซึ่งจะว่าไปแล้วรุนแรงไม่น้อยไปกว่าสงครามทางกายภาพในความเห็นของฉัน
และท้ายสุดแล้วมันจะกลายเป็นการสร้างวัฒนธรรมทางการเมืองที่หาทางออกด้วยความรุนแรง
เมื่อนึกย้อนไปถึงผลงานเก่าครั้งเยาว์นั้น ฉันพบว่า มันเป็นเพียงการสำเร็จความใคร่ทางอารมณ์ของตัวเอง ที่ได้แต่จินตนาการถึงเป้าหมายและมีความสุขกับการสำเร็จความใคร่ ครั้งแล้วครั้งเล่า แต่แล้วก็ไม่ได้ร่วมเพศกับเป้าหมายจริงๆ คือไปไม่ถึงดวงดาว เอื้อมไม่ถึงความจริง
หนำซ้ำการสำเร็จความใคร่เช่นนี้ ยังถูกสังคมตราหน้าด้วยว่า เป็นพวกโรคจิต