Skip to main content
 
 
“พี่รีบๆไปดูเถอะ ตอนนี้ยังดีอยู่ ได้ข่าวว่านายทุนเข้าไปซื้อที่ตรงนั้นไปเยอะแล้ว ไม่ช้าก็คงจะเปลี่ยนไปแน่นอน” ผู้จัดการเกสต์เฮาส์แห่งหนึ่งใน อ.ปาย บอก เมื่อถามว่า อำเภอใหม่เป็นไงบ้าง เพราะว่าดูจะไม่ไกลจากปายมากนัก และในอนาคตอาจไม่เห็นความเป็นธรรมชาติของที่นั่นแล้ว
 
อำเภอที่พูดถึงคือ อำเภอใหม่ล่าสุดของไทยเป็นอำเภอที่ 878  ชื่อ “กัลยาณิวัฒนา” ซึ่งชาวบ้านโดยทั่วไปรู้จักกันในนามของ “วัดจันทร์” หรือคนในพื้นที่ที่ส่วนใหญ่เป็นชุมชนชาวกะเหรี่ยงเรียกว่า “มือเจะคี”

ว่าด้วยเรื่องชื่อก็มีเรื่องที่น่าสนใจจะถกเถียงกันอยู่ไม่น้อย แต่ในที่นี้ขอละเอาไว้ก่อน เพราะประเด็นหลักที่จะแลกเปลี่ยนในคราวนี้เป็นคำถามเรื่องการพัฒนาที่จะเกิดขึ้นในอนาคตที่หลายๆ คนเกรงว่าจะเป็นการทำลายเสียมากกว่า

ในเชิงอุดมคติผู้คนมักอยากเห็นสิ่งต่างๆ คงอยู่อย่างที่มันเคยเป็น หลายคนเวลาที่ไปเที่ยวที่ไหนก็ตามก็มักจะชอบให้ที่นั่นคงสภาพไว้เช่นนั้น เช่นเคยเห็นว่าเมื่อ
20 ปีก่อน ที่นี่เป็นอย่างไรก็อยากให้คงไว้เช่นนั้น  ทว่า ไม่เคยมีสักเมืองเดียวเลยที่จะเป็นเช่นนั้นได้ เพราะจริงๆแล้ว การเปลี่ยนแปลงเป็นธรรมดาโลก แต่ที่เราจะทำได้คือต้องการเห็นมันเปลี่ยนไปไหนทิศทางใดมากกว่า

อ.กัลยาณิวัฒนา มีพื้นที่ของ 3 ตำบลคือ ต.บ้านจันทร์ ต.แจ่มหลวง และ ต.แม่แดด เดิมอยู่ภายใต้ อ.แม่แจ่ม จ.เชียงใหม่  สาเหตุที่มีการแยกออกมาเป็นอำเภอใหม่ก็เพราะว่าสภาพภูมิประเทศของพื้นที่นี้เป็นป่าและภูเขาสูงชัน ทุรกันดาร การคมนาคมติดต่อเพื่อขอรับบริการต่าง ๆ จากหน่วยงานของรัฐ ณ ที่ว่าการอำเภอแม่แจ่ม เป็นไปด้วยความยากลำบาก การให้บริการของเจ้าหน้าที่ไม่สามารถให้บริการได้อย่างทั่วถึงครอบคลุมทุกพื้นที่ ประกอบกับพื้นที่ดังกล่าวประสบปัญหาด้านความสงบเรียบร้อย เรื่องยาเสพติด และปัญหาด้านการลักลอบตัดไม้ทำลายป่า ตั้งนั้นจึงมีการเสนอ ครม.ให้แยกพื้นที่ดังกล่าวมาจัดตั้งเป็นอำเภอใหม่ขึ้นมา
 

สนสามใบที่มีความอุดมสมบูรณ์ ในป่าสนบ้านวัดจันทร์ อุทยานที่อยู่ภายใต้โครงการหลวง
 
เมื่อสองสัปดาห์ก่อน เราได้เดินทางจากปากทางเส้น ปาย- เชียงใหม่ เลี้ยวเข้าไปเพื่อจะเดินทางไปยังวัดจันทร์ ผ่านถนนอันคดเคี้ยวระยะทาง 43  กิโลเมตร ระหว่างทางมองเห็นทิวทัศน์ ป่าที่ยังคงสภาพค่อนข้างสมบูรณ์ และ ผืนนาที่เขียวขจียามหน้าฝน รวมทั้งไร่ถั่วเหลืองตามเนินเขาที่ชาวบ้านปลูกไว้ ว่ากันว่า ที่นี้คือไร่ถั่วเหลืองที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของไทย แต่ระหว่างทางนั้นเองเราก็พบเห็นร่อยรองของดินถล่ม และ ทางขาดเป็นช่วงๆ เนื่องจากเป็นช่วงหน้าฝน เราเห็นร่องรอยน้ำที่สูงล้นขึ้นมาท่วมสะพานจนคอสะพานขาดไปหลายแห่ง แต่ขณะเดียวกันเมื่อมองลงไปยังแม่น้ำกลับพบว่ามีน้ำเหลืออยู่ในแม่น้ำค่อนข้างน้อย เป็นเพียงสายน้ำตื้นแต่ไหลเชี่ยวมากเลยทีเดียว ว่ากันว่าการที่ต้องตัดไม้เพื่อเอาพื้นที่มาปลูกถั่วเหลืองเป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ดินถล่มด้วยเช่นกัน
 
ในที่สุดก็เข้ามาถึงตัวอำเภอที่ผู้คนหวาดหวั่นกันเหลือเกินว่า ต่อไปนี้ธรรมชาติของที่นี่จะหลงเหลืออยู่หรือไม่  สิ่งที่เห็นในขณะนี้คือ ยังคงมีสภาพความเป็นธรรมชาติอยู่มาก ป่าสนสามใบที่สวยงามก็อยู่ที่นี่ เป็นแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติที่เรียกได้ว่าสมบูรณ์ยิ่ง ไม่มีตึกรามบ้านช่องมากนัก มีร้านค้าอยู่เล็กน้อย เรียกได้ว่ามีสภาพที่เรียกว่าเป็นชุมชนตาม “บ้านนอก” หรือ หมู่บ้านในชนบทโดยปกติทั่วไปในประเทศไทย  มีสิ่งที่เริ่มเปลี่ยนแปลงคือ มีการก่อสร้างเพิ่มขึ้น มีร้านค้าหรือร้านอาหารเพิ่มขึ้น
 

ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ ( ธกส)  เตรียมพร้อมให้บริการ สังเกตว่าอาคารจะใช้ไม้สัก
 
แม้อาจมีคนจำนวนไม่น้อยที่ไม่ต้องการเห็นความเปลี่ยนแปลง แต่จากสภาพพื้นที่ดังกล่าวผู้คนที่อาศัยอยู่ที่นั่นมานานๆ อาจพบว่าเป็นความจำเจไปแล้วก็ได้ และก็ไม่น่าแปลกใจอะไรที่เจ้าของที่ดินแถวๆ นั้นจะตื่นเต้น ที่อยู่ๆ ก็มีคนมาให้ราคาที่ดินแก่เขาแพงๆ หรือยินดีที่จะมีความเจริญหลั่งไหลเข้ามาในชุมชน เพราะใครต่อใครก็อยากให้พื้นที่ที่ตนอยู่อาศัยมีความสะดวกสบายเหมือนที่อื่นๆ เปรียบเทียบกับตัวเราเองก็ได้ว่าทำไมเรามีสิทธิใช้อินเตอร์เน็ตความเร็วสูง แล้วหากผู้คนที่นั่นจะอยากมีบ้างก็ไม่น่าจะผิดอะไร ใช่หรือไม่
 

โบสถ์ใส่แว่นตาดำ อันเลื่องชื่อของวัดจันทร์วัดเก่าแก่อันเป็นที่มาของชื่อชุมชนแห่งนี้
 
ทว่า สิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้นนี้เองก็ทำให้เกิดเสียงสะท้อนว่า “สงสัยอีกหน่อยจะเหมือนปาย” โดยที่ให้ความหมายว่า “ปายน่ะเละไปแล้ว มีแต่ใครต่อใครเข้ามาเยอะไปหมด คนจากที่อื่นเข้าไปทำมาหากิน และไม่สงบเหมือนเมื่อก่อนแล้ว”
 
เราลองย้อนกลับมาดูที่ปายกันสักเล็กน้อยว่า จริงๆ แล้วปายแย่ขนาดนั้นเลยหรือ
 
เสียงสะท้อนที่ว่านั้นก็ทำเอาคนทำธุรกิจอยู่ที่ปายจำนวนหนึ่งสะเทือนใจอยู่ไม่น้อยว่า “เป็นอย่างไรหรือ เหมือนปายแล้วเสียหายตรงไหน”
 
คุณวลัยพร เรืองนิติกุล ประธานชมรมท่องเที่ยวปาย บอกว่า จริงๆ แล้ว ไม่ว่มีอะไรเปลี่ยน ปายก็มีเสน่ห์ของมันอยู่ ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับคนชอบ “พูดง่ายๆ ว่า ใครอยากมาเที่ยวก็มา ใครชอบที่นี่ก็มา ถ้ามาแล้วไม่ชอบก็ไม่ต้องมาอีกก็ได้ แต่ถ้ามาแล้วชอบก็อยากให้มาอีกและช่วยกันทำให้น่าอยู่ ปายก็จะน่าอยู่เหมือนเดิม”
 
หลังจากที่เข้าไปที่ปายและพูดคุยกับทั้งผู้คนที่เป็นคนในพื้นที่ และได้เที่ยวชมด้วยตัวเองแล้วก็ให้คิดได้ว่า ความจริงแล้ว  “ปาย” ยังคงเป็นที่ท่องเที่ยวที่ให้ทางเลือกแก่นักเดินทางได้หลายแบบ แต่ตัวนักท่องเที่ยวนั้นต้องตั้งคำถามกับตัวเองก่อนว่าจะไปปายทำไม จะมาเที่ยวชม มาใช้ชีวิต หรือมาปลีกวิเวก
 
ถ้าจะมาเที่ยวชม เพื่อว่าตัวเองจะได้กลับไปบอกกับคนอื่นได้ว่า เคยไปปายมาแล้ว ไม่ตกเทรนด์ ก็คงไปได้ไม่ต้องคิดอะไรมาก ไปเที่ยวแล้วก็ค่อยตัดสินใจเองว่า ชอบหรือไม่ชอบ ซึ่งตรงนี้คงขึ้นอยู่กับรสนิยมของคนๆนั้นเอง แต่ถ้าจะมาใช้ชีวิตก็ต้องเลือกดูว่าจะเอาชีวิต “แบบมันๆ เมามาย” หรือเต็มที่กับชีวิตในทางโลก ถ้าเลือกแบบนี้ ในกลางเมืองปายเต็มไปด้วยผับ บาร์ และอาหารการกิน รวมทั้งสินค้านานามาจำหน่าย คนที่ไปเที่ยวเพื่อจะสร้างความบันเทิงให้กับตัวเองก็คงชอบที่ปายมีสิ่งเหล่านี้ไว้ให้ และเมื่อกลับไปแล้วก็น่าจะบอกได้ว่าชอบปาย หรือหากจะใช้ชีวิตแบบบ้านๆ ก็ลองออกไปอยู่ในชุมชนที่เขาอยู่กันจริงๆ ที่ไม่ใช่ชุมชนนักท่องเที่ยวก็ได้ แต่หากตั้งใจว่าจะไปปลีกวิเวก หรือหาที่อยู่สงบๆ ที่นั่นในช่วงที่อากาศดีๆ ก็แน่นอนก็ออกไปนอกเมือง ที่ติดภูเขาอีกมากมายที่สามารถจะให้บริการได้
 
ดังนั้น คนที่บอกว่าไม่ชอบปายอาจต้องตั้งคำถามกับตัวเองว่าจะมาปายทำไม และควรเข้าใจความจริงที่ว่า ปายเป็นแค่เมืองเล็กๆ ไม่เหมาะกับการรับนักท่องเที่ยวขนาดใหญ่ ไม่เหมาะสำหรับรถทัวร์ขนาด 80 ที่นั่ง  บทเรียนที่ปายได้รับคือ การที่บ้านเมืองขยายไปอย่างรวดเร็ว มีผู้คนหลั่งไหลเข้ามาท่องเที่ยวอย่างมากมาย สิ่งที่ตามมาคือ ขยะ น้ำเสีย หรือตึกรามอาคารที่สร้างกันอย่างตามใจ ทำให้เป็นการเติบโตอย่างไร้ทิศทาง ปัญหาเร่งด่วนของปายนั้นไม่เพียงแค่การควบคุมการก่อสร้าง แต่จะต้องวางผังเมืองให้ชัดเจนว่า การเติบโตของเมืองนั้นจะไปทางไหน แค่ไหน ต้องมีการวางแปลนสิ่งก่อสร้าง การรองรับ เช่น ระบบบำบัดน้ำเสีย ระบบกำจัดขยะที่ดีเพียงพอ เพื่อรับมือสถานการณ์ทั้งในปัจจุบันและอนาคต
 
กลับมาดู อำเภอใหม่ “กัลยาณิวัฒนา” ที่ผู้คนกำลังหวั่นวิตกว่า จะเป็นปาย 2 หรือไม่ แน่นอนว่าไม่ใช่เรื่องที่วิตกกันไปจนเกินจริงหากมองจากประสบการณ์ที่ผ่านมาในเรื่องการพัฒนาของไทย ที่มักจะเป็นไปแบบไร้ทิศทาง แต่คำถามคือ วัดจันทร์ ซึ่งกลายเป็นอำเภอใหม่ ยังจะต้องประสบกับปัญหาเช่นเดียวกันนี้ด้วยหรือ ในเมื่อบทเรียนเราก็มีให้เห็นแล้ว เราไม่คิดจะแก้ไขความผิดพลาดกันบ้างเลยหรือ
 
อันที่จริง เราอาจต้องมาพิจารณาเรื่องนี้กันอย่างเป็นรูปธรรมและแบบที่เป็นจริงอย่างที่ไม่ใช่เป็นอุดมคติว่า แม้เราอยากอนุรักษ์ทุกสิ่งให้คงเดิมไว้แค่ไหนก็ตาม แต่การเปลี่ยนแปลงย่อมต้องเกิดขึ้นแน่นอน ดังนั้น การเพียงแค่มานั่งหวาดหวั่นว่าจะมีอะไรมาเปลี่ยนแปลงหรือการพัฒนาที่เข้ามาอาจจะทำลายธรรมชาติอันงดงามของ มือเจะคี หรือวัดจันทร์ เพียงอย่างเดียวนั้นคงไม่ช่วยอะไร  สิ่งที่ควรทำในขณะนี้คือ ทั้งทางการและคนในชุมชนหรือประชาชนที่อาศัยอยู่ที่นั่นควรจะมาร่วมกันคิดว่า อยากจะเห็นชุมชนพัฒนาไปในทิศทางไหน  ทั้งนี้ ความเห็นแบบเร็วๆที่ต้องการจะนำเสนอในที่นี้ก็คือ อาจแบ่งการพัฒนาออกเป็นสองประเด็นคือในเชิงกายภาพและในเชิงจิตใจหรือนามธรรม  ทั้งนี้ วิสัยทัศน์ของทางการและคนในชุมชนที่จะมองการพัฒนานี้เป็นเรื่องสำคัญยิ่ง
 
การพัฒนาในเชิงกายภาพนั้น ควรต้องมามองว่า ในส่วนของผังเมืองเตรียมไว้หรือยังว่า จะให้บ้านเมืองมีรูปลักษณ์แบบไหน สิ่งก่อสร้างที่จะเกิดขึ้นต้องมีลักษณะอย่างไร และเตรียมการสำหรับการขยายตัว การเติบโตที่จะตามมาในอนาคตของเมืองหรือยัง เช่น มีระบบสาธารณูปโภคพื้นฐานต่างๆ อย่างเพียงพอ มีการจัดวางตำแหน่งให้ไม่ขัดขวางต่อความงามทางธรรมชาติและความเป็นอยู่ของผู้คนดั้งเดิม การกำจัดขยะหรือการกำจัดน้ำเสีย การรักษาความสะอาดในชุมชนควรเป็นอย่างไร การฝึกจิตสำนึกเรื่องการรักชุมชนอย่างถูกทาง หวงแหนทรัพย์สินและร่วมกันดูแลรักษาทำชุมชนให้น่าอยู่ด้วยกัน เหล่านี้ล้วนเป็นภาระและวิสัยทัศน์ที่ทางการควรจะวางไว้โดยให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการเตรียมการรับมือกับสิ่งใหม่ที่จะเกิดขึ้นนี้
 
ส่วนในทางจิตใจหรือนามธรรม อาจต้องมีการปลูกฝังจิตสำนักในเรื่องของวินัย ความซื่อสัตย์ ไม่เห็นแก่ประโยชน์ส่วนตน และการถือเอาประโยชน์ส่วนรวมเป็นที่ตั้ง การเสียสละต่อชุมชน หรือไม่คิดแต่จะเอาเปรียบนักท่องเที่ยวหากจะมีเข้ามาในอนาคต และเนื่องจากการเกิดเป็นอำเภอขึ้นมาใหม่ ก็คงไม่แปลกอะไรที่จะมีคนจากท้องถิ่นอื่นย้ายเข้ามาอาศัยอยู่ หรือเข้ามาทำมาหากินในพื้นที่แห่งนี้ อันเป็นลักษณะปกติทั่วไปของบ้านเมืองที่มีเสรีภาพในการย้ายถิ่น ทว่า ประเด็นที่สำคัญก็คือ ทำอย่างไรถึงจะให้คนในพื้นที่เดิมและคนที่เข้ามาอยู่ใหม่สามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างมีความสุข และพร้อมที่จะร่วมมือกันสร้างสรรค์เมืองที่มาอยู่ร่วมกันให้เป็นเมืองที่น่าอยู่ทั้งกับคนในพื้นที่และผู้มาเยือน
 
หากได้นำประเด็นเหล่านี้มาพิจารณานับเป็นเรื่องสำคัญที่จะบอกว่า ที่สุดแล้ว อำเภอใหม่ล่าสุดลำดับที่ 878 นั้นจะเดินไปทางปาย หรือ ทางไหน

 

บล็อกของ สุทธิดา มะลิแก้ว

สุทธิดา มะลิแก้ว
1 ทั้งๆที่มีทะเบียนบ้านและอาศัยอยู่ที่นนทบุรีมามากกว่า 10 ปี แล้ว และก่อนหน้านั้นก็อยู่ กรุงเทพฯ ขอนแก่น อุบลฯ ชลบุรี และอื่นๆอีกหลายแห่ง แต่เวลาที่มีใครก็ตามมาถามว่าเป็นคนที่ไหน (ไม่ได้ต้องการคำตอบแบบมุขตลกว่า ที่ไหนๆ ก็เป็นคนนะ) ผู้เขียนก็ตอบว่า “เป็นคนปัตตานี” แม้ว่าจริงๆ แล้วไปปัตตานีไม่เคยเกิน 7 วันต่อปีเลยสักครั้ง และบางปีก็ไม่ได้ไปเลยด้วยซ้ำ เรียกได้ว่าการใช้ชีวิตอยู่ปัตตานีค่อนข้างน้อย มาถึงวันนี้ที่แม้มีบ้านเป็นของตัวเอง แต่ในยามที่เดินทางไปปัตตานี ก็จะเรียกว่า “กลับบ้าน” อีกเช่นกัน เรื่องการบอกว่าเป็นคนที่ไหนของไทยนั้น เชื่อว่าคนอื่นๆ…
สุทธิดา มะลิแก้ว
ก่อนอื่นต้องขอออกตัวก่อนว่า โดยส่วนตัวแล้ว เห็นด้วยกับเรื่อง การไม่ขับรถหลังจากได้ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์หรือที่ที่มีการรณรงค์ที่เรียกว่า “เมาไม่ขับ” และเห็นด้วยกับการรณรงค์ไม่ให้ดื่มเหล้าในวัด หรือศาสนสถานต่างๆ และยังเห็นด้วยอีกกับการรณรงค์ให้คนลด ละ เลิกการดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ลงบ้าง เพื่อเห็นแก่สุขภาพและเพื่อเป็นการประหยัดงบประมาณในการรักษาพยาบาล อันเนื่องมาจากโรคหรือความเจ็บป่วยที่เกิดขึ้นเนื่องจากการดื่มสุรา รวมทั้ง การเชิญชวนให้งดดื่มเหล้าในช่วงเข้าพรรษา สำหรับประชาชนที่เป็นพุทธศาสนิกชน เพื่อเป็นการถือศีลถือเป็นการสร้างมงคลให้กับชีวิตก็เป็นเรื่องที่เห็นด้วยเช่นกัน ทว่า…
สุทธิดา มะลิแก้ว
นับเป็นความสะเทือนใจอย่างยิ่งของคนทั่วโลกกับภาพความสูญเสียทั้งชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนชาวพม่า อันเนื่องมาจากพายุไซโคลนนาร์กิส ที่ตัวเลขของผู้เสียชีวิตนั้นหลังจากเกิดพายุนั้นแม้ผ่านมาแล้วหลายวันก็ยังไม่นิ่ง องค์กรกาชาดสากลคาดว่าอยู่ระหว่าง 60,000 – 120,000 คน และมีผู้ได้รับผลกระทบสูงถึง 1.6-2.5 ล้านคน โดยคนเหล่านี้จะต้องเผชิญกับภาวการณ์ขาดแคลนอาหาร น้ำดื่ม ที่อยู่อาศัย และตลอดจนปัญหาสุขภาพที่จะตามมาอย่างเลี่ยงไม่ได้  ท่ามกลางภาพสะเทือนใจเหล่านั้น นานาประเทศได้พยายามที่จะเข้าไปให้ความช่วยเหลือประชาชนผู้ประสบภัยมาตั้งแต่เริ่มต้นจนกระทั่งวันนี้ก็ยังมีบรรดาหน่วยบรรเทาทุกข์ทั้งหลาย…
สุทธิดา มะลิแก้ว
     1ผู้ที่ติดตามสถานการณ์ข่าว คงจะรับรู้กันแล้วถึงสถานการณ์ในพม่าที่บานปลายมากขึ้นเรื่อยๆ  รัฐบาล ทหารพม่าออกมาปราบปรามผู้ชุมนุมประท้วงซึ่งส่วนใหญ่เป็นพระสงฆ์ ที่ปกติแล้วเป็นที่เคารพยิ่งของ ประชาชนชาวพม่าซึ่งหมายรวมถึงบรรดาผู้คนในรัฐบาลด้วย  แต่การปราบปรามผู้ชุมนุมในครั้งนี้นั้นไม่ได้ทำให้ผู้คนหวาดกลัวไม่กล้าชุมนุมกันต่อ กลับยิ่งทำให้เหตุการณ์ในพม่าทวีความเลวร้าย และรุนแรงหนักขึ้นไปอีกเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนี้มีประเด็นให้ขบคิดต่อได้หลายประการทีเดียว เริ่มตั้งแต่ว่าทำไมชาวพม่านับตั้งแต่ เดือนสิงหาคม ปี 1988 เป็นต้นมา หรือที่ เรียกกันว่า เหตุการณ์ 8888…