การนำพลเมืองขึ้นศาลทหาร ขัดกับรัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 ของ คสช. เอง ก่อให้เกิดความซ้ำซ้อน เหลือศาลเดียวไม่เปิดโอกาสให้แก้มือ และที่สำคัญเป็นการนำคู่กรณีมาเป็นคนตัดสิน ขาดความเป็นอิสระ ทำลายหลักประกันความยุติธรรม
วันก่อนรองเจ้ากรมพระธรรมนูญ หัวหน้าสำนักตุลาการทหาร ออกมาบอกว่า "กระบวนการยุติธรรมของศาลทหารกับศาลพลเรือน ไม่มีความแตกต่างกัน"
1. ซ้ำซ้อน
นี่ถ้าเถียงแบบคอมมอนเซนส์ ก็คงตอบว่า ถ้ามันไม่ต่างกันแล้วจะเอาไปขึ้นไปศาลทหารทำไม ไม่เท่ากับว่ามันซ้ำซ้อนกันหรอ? ต่อไปก็ยุบศาลทหาร เหลือแต่ศาลยุติธรรมเท่านั้นก็ได้ เพราะมัน “ไม่มีความแตกต่างกัน”
และในความเป็นจริงแล้วมีความแตกต่างสำคัญที่ไม่สามารถสร้างความยุติธรรมได้ ดังนี้
2. เป็นการนำคู่กรณีมาเป็นคนตัดสิน ขาดความเป็นอิสระ
ตุลาการศาลทหารขึ้นต่อกองทัพโดยตรง ตาม พ.ร.บ.ธรรมนูญศาลทหาร พ.ศ. 2498 มาตรา 5 ระบุศาลทหารให้สังกัดอยู่ในกระทรวงกลาโหม ม.30 ระบุด้วยว่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นผู้มีอํานาจแต่งตั้งตุลาการศาลทหารกรุงเทพ
หากดูผู้บังคับบัญชาของตุลาการศาลทหารก็คือกองทัพและฝ่ายบริหาร ซึ่งขณะนี้คือฝ่ายรัฐประหารโดยทั้งหมด ดังนั้นเมื่อมีการดำเนินคดีกับผู้ออกมาคัดค้านการรัฐประหารในศาลทหารจึงเป็น การดำเนินคดีโดยคู่ขัดแย้ง และการพิพากษาโดยคู่ขัดแย้งโดยตรง ขาดความเป็นอิสระ
ถ้าเรายอมรับความยุติธรรมในการดำเนินคดีแบบนี้ได้ ต่อไปเราก็ต้องยอมรับว่าสามารถนำคนของพรรครัฐบาลมาเป็นผู้พิพากษาตัดสินความผิดของฝ่ายค้านได้ด้วยเช่นกัน
3. เหลือศาลเดียวไม่เปิดโอกาสให้แก้มือ
ตามประกาศของ คสช. ขณะนี้ เท่ากับเป็นศาลทหารในภาวะไม่ปกติทำให้เหลือศาลเดียว ไม่สามารถอุทธรณ์และฏีกาได้ ทำให้คู่กรณีไม่สามารถแก้มือได้
4. ขัดกับรัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 ของ คสช. เอง
มาตรา 4 ของ รธน.ชั่วคราว 57 ก็ระบุว่า "ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิ เสรีภาพและความเสมอภาค บรรดาที่ชนชาวไทยเคยได้รับการคุ้มครองตามประเพณีการปกครองประเทศไทยในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขและตามพันธกรณีระหว่างประเทศที่ประเทศไทยมีอยู่แล้ว ย่อมได้รับการคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญนี้"
ดังนั้นการชุมนุมโดยสงบปราศจากอาวุธที่ถูกดำเนินคดีขณะนี้ ย่อมเป็นสิ่งที่ได้รับการคุ้มครองตามมาตรา 4 เท่ากับการดำเนินคดีเป็นการขัดรัฐธรรมนูญเช่นกัน
รวมทั้ง กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ข้อ 14 (5) ซึ่งระบุว่า “บุคคลทุกคนที่ถูกลงโทษในความผิดอาญา ย่อมมีสิทธิที่จะอุทธรณ์การลงโทษ และคำพิพากษาต่อศาลสูงให้พิจารณาทบทวนอีกครั้งตามกฎหมาย” ดังนั้นตาม ม.4 ของ รธน.ชั่วคราว ประชาชนก็ต้องขึ้นศาลยุติธรรมที่สามารถอุทธรณ์ ฎีกา ได้
แม้รัฐธรรมนูญชั่คราว ฉบับนี้จะเป็นการออกมาโดยอำนาจที่มีประชาชนจำนวนมากไม่ยอมรับ แต่การดำเนินคดีพลเมืองในศาลทหารที่เป็นการขัดรัฐธรรมนูญนี้ คำถามคือยังเหลือความชอบธรรมอะไร นอกเสียจากการใช้อำนาจตามอำเภอใจหรือไม่?