
เมื่อวันที่ 30 มิ.ย.ที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา[1] หัวหน้ารัฐบาลทหารตอบคำถามผู้สื่อข่าว กรณีดำเนินคดี 14 นักศึกษานักกิจกรรมกลุ่มขบวนการประชาธิปไตยใหม่ โดยย้อนถามผู้สื่อข่าวกลับขณะนั้นว่า
"ตอนนี้รัฐธรรมนูญผมผิดตรงไหนไหม ผมทำอะไรผิดรัฐธรรมนูญยังเนี๊ยะ รู้ไหมรัฐธรรมนูญเขียนว่ายังไง รู้ยัง ไม่รู้อีก" พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว
"ตอนนี้รัฐธรรมนูญผมผิดตรงไหนไหม ผมทำอะไรผิดรัฐธรรมนูญยังเนี๊ยะ รู้ไหมรัฐธรรมนูญเขียนว่ายังไง รู้ยัง ไม่รู้อีก"พล.อ.ประ...
Posted by วิวาทะ V2 on 30 มิถุนายน 2015
เสียดายที่ผมไม่ได้มีโอกาสอยู่ที่นั่น จะได้ทดลองตอบคำถาม พล.อ.ประยุทธ์ สั้นๆเลยครับว่า ผิดครับ ผิด มาตรา 4 ของ รัฐธรรมนูญ ชั่วคราว 57 รัฐธรรมนูญฉบับที่คณะท่านเขียนมาเองนั่นล่ะครับ
ทีนี้มาขยายความ ม.4 ดังกล่าว ระบุว่า
"ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิ เสรีภาพและความเสมอภาค บรรดาที่ชนชาวไทยเคยได้รับการคุ้มครองตามประเพณีการปกครองประเทศไทยในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขและตามพันธกรณีระหว่างประเทศที่ประเทศไทยมีอยู่แล้ว ย่อมได้รับการคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญนี้"[2]
1. ดังนั้นการชุมนุมโดยสงบปราศจากอาวุธที่ถูกดำเนินคดีขณะนี้ ย่อมเป็นสิ่งที่ได้รับการคุ้มครองตามมาตรา 4 เท่ากับการดำเนินคดีเป็นการขัดรัฐธรรมนูญเช่นกัน เนื่องจากเป็นสิทธิในเสรีภาพตามประเพณีการปกครองประเทศไทยดังกล่าว รัฐธรรมนูญก่อนหน้านี้ก็ระบุไว้
2. การนำพลเรือนขึ้นศาลทหาร ย่อมขัดกับ ม.4 โดย "พันธกรณีระหว่างประเทศ" ที่ระบุใน ม.4 นั้น ตามกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ข้อ 14 (5) ก็ระบุว่า “บุคคลทุกคนที่ต้องคำพิพากษาลงโทษในความผิดอาญา ย่อมมีสิทธิที่จะให้คณะตุลาการระดับ เหนือขึ้นไปพิจารณาทบทวนการลงโทษและคำพิพากษาโดยเป็นไปตามกฎหมาย”[3] หรือ สิทธิที่จะอุทธรณ์การลงโทษ นั่นเอง
ไม่เพียง 14 กลุ่มขบวนการประชาธิปไตยใหม่เท่านั้น พลเรือนที่ต้องขึ้นศาลทหารก่อนหน้า อีกหลายนตอนนี้กระบวนการดังกล่าวย่อมขัดกับ ม.4 ของ รัฐธรรมนูญชั่วคราว เนื่องจาก รัฐธรรมนูญมาตราดังกล่าวประชาชนย่อมต้องขึ้นศาลยุติธรรมที่สามารถอุทธรณ์ ฎีกา ได้ ไม่ใช่ "ศาลทหาร" ครับ
แม้รัฐธรรมนูญชั่วคราว ฉบับนี้จะเป็นการออกมาโดยอำนาจที่มีประชาชนจำนวนมากไม่ยอมรับ แต่การดำเนินคดีพลเมืองในศาลทหารที่เป็นการขัดรัฐธรรมนูญนี้ คำถามคือยังเหลือความชอบธรรมอะไร นอกเสียจากการใช้อำนาจตามอำเภอใจหรือไม่?
ก็คงต้องถามกลับไปว่า “รู้ไหมรัฐธรรมนูญเขียนว่ายังไง” นั่นล่ะครับ
อย่างไรก็ตาม อ.เกษียร เตชะพีระ ได้โพสต์ในเฟซบุ๊กส่วนตัว Kasian Tejapira อธิบายเพิ่มเติมกรณีนี้ว่าทรรศนะของนักทฤษฎีตะวันตกอย่าง Carl Schmitt และ Giorgio Agamben นั้น องค์อธิปัตย์ (sovereign) ย่อมทรงไว้ซึ่งอำนาจที่จะบอกว่าอะไรเป็นสภาวะยกเว้น (state of exception) ในบรรดากฎระเบียบตามหลักนิติรัฐ (the rule of law) ทั้งปวงในนามของประโยชน์สุขส่วนรวม (the public good) ค่าที่ตนเป็นองค์อธิปัตย์นี่เอง
[1] matichon tv, เมื่อ พลเอกประยุทธ์ เมินชี้แจง สหภาพยุโรป ถาม 14 นักศึกษา ผมผิดอะไร ? https://www.youtube.com/watch?v=4BsSNRHH9cY
[2] ราชกิจจานุเบกษา 22 กรกฎาคม 2557 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย(ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2557/A/055/1.PDF
[3] กระทรวงต่างประเทศ, กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง(International Covenant on Civil and Political Rights – ICCPR) http://www.mfa.go.th/humanrights/images/stories/iccprt.pdf