Skip to main content

ถนอมรัก  เดือนเต็มดวง

 

 

 

 

น่าชื่นใจ

ที่เราเกิดเชียงใหม่ ดินแดนแห่งต้นแม่น้ำปิง แต่จะชื่นใจและภูมิใจยิ่งกว่า หากเราเกิดมาแล้วรักแม่น้ำปิง รักแล้วดูแลรักษาน้ำให้สะอาด ไม่ให้คนอีกกลุ่มรุกล้ำทำลายโดยวิธีการต่างๆ โบราณกาลนั้น เราจะสร้างบ้านแปงเมืองตามแนวริมแม่น้ำ อาศัยแม่น้ำในการดำรงชีพ ไว้อาบไว้ใช้ เดินทางและขนส่งสินค้า อาจเป็นกฎหรือหลักเหตุและผลง่ายๆ คนทำลายน้ำทำลายป่า ทำลายสิ่งแวดล้อม ผลตามมาจะย้อนทำลายคน ลูกหลาน บ้านเรือน นี่คือหลักของอริยสัจ 4 ที่พระพุทธองค์ค้นพบ เป็นหลักของผลย่อมมาจากเหตุ

วันนี้

เราจึงต้องย้อนกาลเวลา เพื่อรับรู้ความเป็นมาของแม่น้ำปิง อันเป็นรากเหง้าส่วนหนึ่งของลูกหลานลูกแม่ระมิงค์รุ่นต่อรุ่น...หลัง พ.ศ.1 หรือมากกว่า 2,500  ปีมาแล้ว มีชนเผ่าพื้นเมืองตั้งมั่นบริเวณน้ำแม่กวง ในที่ราบลุ่มน้ำแม่ปิงเขต จ.ลำพูน ยังไม่มีหลักฐานบอกได้ว่า คนพวกนี้เป็นบรรพชนชาวลุ่มน้ำปิง ที่จะเติบโตเป็นรัฐหริภุญชัย รัฐเชียงใหม่ รัฐล้านนา ต่อไป ตำนานและนิทานที่แต่งขึ้นสมัยหลังๆ เรียกชื่อบรรพชนชาวล้านนาพวกนี้ว่า เมงคบุตร แปลว่า ลูกหลานเชื้อสายของ เมง คือรามัญหรือมอญ และเรียกชื่อดินแดนในยุคนี้ว่า  มิคสังครนคร และสมันตรประเทศ

อาจารย์ศรีศักร วัลลิโภดม อธิบายว่า

“กลุ่มชนที่เจริญพวกแรกในที่ราบลุ่มเชียงใหม่คือ พวกเมงคบุตร ซึ่งตั้งหลักแหล่งอยู่บริเวณที่ราบเชิงดอย

สุเทพ ใกล้กับลำน้ำแม่ขาน อันเป็นสาขาแม่น้ำปิง ลักษณะสังคมของชนพื้นเมืองนี้เป็น แบบเผ่า(Tribal Society) แต่ว่าแบ่งเป็นหลายตระกูล(Totemic Groups)...”

บริเวณที่ราบลุ่มเชียงใหม่

มีประชาชนอาศัยอยู่หลายเผ่า แต่ที่สำคัญได้แก่พวก เมง(มอญหรือรามัญ)และพวก ลัวะ(ลวะหรือละว้า)

เม็งและลัวะเป็นชาติพันธุ์ดั้งเดิมในที่ราบลุ่มน้ำปิง ตำนานจามเทวีวงศ์เรียกชาติพันธุ์เม็งว่า เมงคบุตร

อาจารย์ศรีศักร วัลลิโภดม วิเคราะห์ว่า กลุ่มเมงคบุตร เป็นกลุ่มชนพื้นเมืองที่เจริญเป็นพวกแรกในแถบที่ราบเชียงใหม่ มีลักษณะสังคมชนเผ่า แบ่งออกเป็นหลายตระกูล แต่ละตระกูลใช้สัตว์เป็นสัญลักษณ์ของตน ลักษณะการตั้งถิ่นฐานของชาติพันธ์เม็ง มักกระจายตัวอยู่บนที่ราบลุ่มแม่น้ำปิง จึงพบคำเก่าแก่ในภาษาเม็งเรียกแม่น้ำปิงว่า “แม่ระมิง.”(มาจากคำว่า รเมญ ในภาษามอญโบราณและกร่อนมาเหลือ เมญ หรือ เม็ง ในภาษาล้านนา) หรือแม่น้ำเม็ง หมายถึงแม่น้ำที่ชาวเม็งอาศัยอยู่ แต่เม็งมีประชากรน้อยกว่าลัวะ

ต่อมามีชาวต่างถิ่นที่รับวัฒนธรรมอินเดีย คือฤาษีวาสุเทพอพยพเข้ามา ได้แต่งงานกับหญิงพื้นเมืองที่นับถือเนื้อเป็นสัญลักษณ์ ฤาษีวาสุเทพกลายเป็นผู้นำชาวพื้นเมืองเหล่านี้ทั้งหมด ต่อมาจึงได้สร้างบ้านเมืองขึ้นให้ลูกหลานปกครอง(หนังสือ “จังหวัดเชียงใหม่มาจากไหน.” โดย สุจิตต์ วงษ์เทศ)

มีข้อมูลที่น่าสนใจ

“ บริเวณที่ราบลุ่มเชียงใหม่(Chiang Mai Valley)  เป็นที่อุดมสมบูรณ์ เป็นศูนย์กลางของสังคมและวัฒนธรรมแต่อดีต มีชื่อเรียกกันตามความสำคัญของลำน้ำปิงที่ไหลหล่อเลี้ยงพื้นที่ราบนี้ว่า พิงครัฐ...”

 อีกตอนหนึ่งว่า

“...ลงเรือมาตามแม่น้ำพิงค์ 7 เดือน จึงบรรลุถึงเมืองนี้ ท่านวาสุเทพและท่านสุกกทนต์พร้อมด้วยชาวเมืองทั้งปวงได้อัญเชิญพระนางจัมมเทวีนั้นนั่งบนกองทองคำ แล้วอภิเษก อาศัยเหตุที่พระนางนั่งบนกองทองคำอภิเษก นครนั่นจึงชื่อว่า หริปุญชัย สืบมาจนถึงวันนี้.”(หนังสือ  “เชียงใหม่มาจากไหน.” โดยสุจิตต์ วงษ์เทศ)

เชื่อมเรื่องราวต่ออีกว่า

พระเจ้ามังรายพระชนม์ได้ 23 ปี ทรงสร้างเมืองเชียงราย เมื่อ พ.ศ.1806...ต่อจากนั้นทรงสร้างกุสนคร เมื่อ พ.ศ. 1817(เข้าใจว่าคือเมืองฝาง)...พระเจ้าเมืองรายมีพระชนม์มายุ 53 ปี พ.ศ.1836 ได้เข้ายึดหริปุญชัยจากพระเจ้าญีบาได้สำเร็จ จากนั้นพระองค์ทรงสร้างนครเชียงใหม่ปี พ.ศ.1839 ในท้องที่ภูเขาอุจฉุคิรี(ดอยสุเทพ)กับแม่น้ำพิงค์( หนังสือ ชินกาลมาลีปกรณ์ หน้า 93-94)

มีคำว่า “แคว้นพิงค์.”

ปรากฏในสมัยพระเจ้ามังรายครองเมืองเชียงใหม่ และมีคำว่า “นครพิงค์.” ปรากฏในสมัยเจ้าครามซึ่งเป็นพระราชบุตรของพระเจ้ามังรายครองเมืองเชียงใหม่ (หนังสือ ชินกาลมาลีปกรณ์ หน้า 94-95)

มีคำสำคัญคือ พิงค หรือ พิงค์ เป็นชื่อเรียกทั้งเมืองและแม่น้ำ  และคำนี้ยังปรากฏในชื่อเมืองที่พญามังรายมหาราช พ่อขุนรามคำแหงมหาราช และพญางำเมือง ขนานนามเมืองใหม่นี้ว่า “ นพบุรีศรีนครพิงค์เชียงใหม่.”

สรุปได้ว่า

แม่น้ำที่ราบลุ่มนี้เดิมชื่อ แม่น้ำระมิงค์ ต่อมาเปลี่ยนเป็น แม่น้ำพิงค์ แล้วแปรเปลี่ยนเป็นแม่น้ำปิงในปัจจุบัน จะมีลำดับการเปลี่ยนแปลงอย่างไรนั้น ยังค้นหาหลักฐานเชื่อมต่อที่น่าเชื่อถือไม่ได้ คงต้องค้นคว้าแสวงหาจากหลักฐาน ปราชญ์  ผู้รู้ ต่อไป.

 

                                                ....................................................................

บล็อกของ ถนอมรัก เดือนเต็มดวง

ถนอมรัก เดือนเต็มดวง
  เสียงร้องเพลงดังขึ้นพร้อมกับอิเล็กโทน แต่ยังไม่ปรากฏตัวผู้ร้อง เร้าใจผู้ชมให้อยากเห็นหน้ายิ่งนัก ครู่เดียว   บนเวทีปรากฏร่างผู้ชาย 2 คน หญิง 2 คน เดินออกมาจากหลังเวที คนแรกเดินถือไมค์ร้องนำออกมา แนวเพลง “พรศักดิ์ ส่องแสง” กล่อมผู้ชมด้วยเพลงยอดฮิตในอดีต “เมียเด็ก” เสียงดีพอใช้ได้ทีเดียว เพ่งดูชัดๆเป็นหัวหน้าคณะช่างซอ สิงห์คำนั่นเอง ยังคงสวมชุดเดิม ช่างซออีก 3 คนเต้นเป็นหางเครื่อง สะบัดแข้งขาหมุนตัวพอใช้ได้ ช่างซอหญิงทั้ง 2 คน เปลี่ยนนุ่งกางเกงขาสั้นสีขาว เสื้อแขนกุดสีสดใส …
ถนอมรัก เดือนเต็มดวง
    ผู้ใหญ่บ้านเดินมาหน้าเวที   ยื่นใบแดงให้ฝ่ายชาย 1 ใบ   ฝ่ายหญิงอีก 1 ใบ   ผู้รับก้มไหว้ในท่าที่คิดว่าสวยที่สุด   ยังไม่พอ   ผู้ขับซอทั้ง 4 คน ประกอบด้วย   สิงห์คำ   แจ่มจันทร์   ก้าน   ผ่องพรรณ   คนหลังนี่เนาวรัตน์จ้องดูเธอมากกว่าใคร   เธอสวยทันสมัยถูกใจมาก   ทุกคนช่วยกันขับซออ้อนรายต่อไป   มีรายชื่อในสมองมากมาย   รวมทั้งในกระดาษและที่มีคนกระซิบบอกอีกหลายชื่อ   เป็นช่วงเวลาเป็นเงินเป็นทองของพวกเขา  …
ถนอมรัก เดือนเต็มดวง
  ใครบ้างไม่ชอบ ความสวยงาม คนสวยคนหล่อ ดวงอาทิตย์ขึ้น ทะเลหมอกยอดดอย อาหารอร่อย กาแฟรสเข้ม ทะเลกับหาดทราย สวนดอกไม้นานาพันธุ์   เสียงนกร้อง น้ำตกสาดซัดหินผา    สายลมต้องใบไม้ผะแผ่ว ระฆังชายคาโบสถ์วะแว่ว และเสียงมนุษย์ที่ขับขานเป็นท่วงทำนองเสียงเพลง ผมชอบฟังเพลงตั้งแต่เด็ก ร้องเพลงเมื่อเรียนชั้นประถมศึกษา พอโตก็ร้อง เคยร้องกับวงดนตรีครูดอย ชื่อวง “สนเกี๊ยะ” คนร้องกับดนตรีไปคนละทาง เรียกว่าร้องไม่เป็นสรรพรส ทำให้นักดนตรีวุ่นวายทั้งวง เขาคงกลัวจะเสียชื่อ …
ถนอมรัก เดือนเต็มดวง
ความหนาวเย็นแห่งฤดูหนาว จากไปโดยไม่ล่ำลา ลมร้อนพัดเข้ามาแทน แม้ไม่เชื้อเชิญ ระหว่างรอยต่อปลายกุมภาพันธ์ ได้ยินเสียงนก “ปิ้ดจะลิว”(นกกรงหัวจุก) ส่งเสียง “ปิ้ดจะลิวๆ” ตอนเช้าตรู่ ยังไม่เห็นตัวเสียงมาก่อน นกจี๋เจี๊ยบ(นกกางเขน)ส่งเสียงแหลมสูงเจื้อยแจ้วประชัน จักจั่นเป็นฝูงส่งเสียงแซ่สนั่นที่ต้นสักข้างบ้าน ไม่เห็นตัวอีกเช่นกัน เหมือนนักร้องลูกทุ่งดัง ระดับหัวหน้าวง ต้องร้องอยู่หลังม่านเวทีสักท่อนหนึ่งก่อน แล้วจึงค่อยเดินตัวตรงมาดเท่ในชุดสากล ปรากฏตัวต่อมิตรรักแฟนเพลง น้ำแม่ขานที่คั่นระหว่างบ้านทุ่งแป้ง(อำเภอสันป่าตอง) …
ถนอมรัก เดือนเต็มดวง
พอทราบข่าว ผลการประกวดภาพยนตร์แห่งชาติ สุพรรณหงส์ ครั้งที่ 20 ประจำปี 2553 ณ ศูนย์การค้า เซ็นทรัลเฟสติวัล พัทยา บิช เมื่อค่ำวันที่ 6 มีนาคม 2554 ว่า ผู้ได้รับรางวัล ผู้แสดงนำหญิงยอดเยี่ยม เป็นสาวน้อยวัย 18 ปี หน้าตาใสๆ น่ารัก ชื่อ “หนูนา” หนึ่งธิดา โสภณ(160 ซ.ม./44 กก.) จากหนังเรื่อง “กวน มึน โฮ” เธอสามารถทำคะแนนนำสาวพลอย เฌอมาลย์ สาวสวยเข้มฝีมือจัดจ้าน ที่แสดงเรื่อง “ ชั่วฟ้าดินสลาย” จากบทประพันธ์ของ “เรียมเอง” หรือ มาลัย …
ถนอมรัก เดือนเต็มดวง
 
ถนอมรัก เดือนเต็มดวง
    ผมสูดปากเบาๆ มันแสบตาแทบลืมไม่ขึ้น น้ำตาเริ่มไหล “ลุงขยับหน้าเข้ามาใกล้อีกนิด ให้คางวางบนแผ่นพลาสติก หน้าผากชิด นั่งนิ่งๆนะครับ.” หมอหนุ่มเริ่มหมุนกล้องที่ติดกับส่วนที่ผมวางคาง ปรับกล้องจนผมรู้สึกว่าผิวเลนซ์กล้องมันแทบติดดวงตา แสงไฟสว่างจ้าเข้มลำเล็กพุ่งเข้าดวงตา หมอตรวจทั้งสองข้าง ปากก็พูดพึมพำ “ความดันตาปรกติ” หมอปรับระยะกล้องตรวจใหม่ บอกผมให้วางคางบนแผ่นพลาสติก ส่วนหน้าผากชิดติดกับแผ่นเหล็กข้างหน้า ฝ่ามือผมทั้งคู่วางบนโต๊ะเพื่อทรงตัว หมอส่องกล้องตรวจตาทีละข้างอีกรอบ ให้ผมกลอกตามองข้างบน แล้วมองล่าง…
ถนอมรัก เดือนเต็มดวง
  ฟลอเรนซ์ ไนติงเกล   รอหมอนานๆน่าเบื่อ ส่วนใหญ่นั่งเงียบที่แถวเก้าอี้ หูคอยฟังนางพยาบาลเรียกพบหมอ ส่วนตานั้นจับจ้องดูความเคลื่อนไหวของนางพยาบาล บางคนฆ่าเวลาด้วยการพูดคุยกับคนข้างเคียง ได้ยินนางพยาบาลที่ประจำห้องตรวจรียกชื่อคนไข้เป็นระยะๆ แล้วผายมือให้นั่งรอคิวที่เก้าอี้ข้างประตูห้องตรวจ นั่งรอหมอนานๆไม่รู้ทำอะไร ผมฆ่าเวลาโดยมองดูสิ่งรอบๆตัวให้สบายตา ดูพยาบาลชุดขาวสะอาด ผิวขาวสะอาดสะอ้าน คนนี้หน้าสวย คนนั้นตาสวย คนนี้พูดเพราะ ทุกคนเคลื่อนไหวตลอด บ้างก้มหน้าพิมพ์ข้อมูลที่โต๊ะคอมพิวเตอร์ …
ถนอมรัก เดือนเต็มดวง
  วันนี้ขับรถยนต์ จากบ้านทุ่งแป้ง อำเภอสันป่าตอง เวลา 7.32 น หมอนัดตรวจตา ที่โรงพยาบาลสวนดอก(มหาราช) เชียงใหม่ เป็นช่วงเวลาเร่งรีบของทุกคน บ้างรีบไปทำงาน บ้างรีบไปเรียนหนังสือ ถนนจึงมากมายด้วยรถรา พอวิ่งเข้าเขตตัวอำเภอสันป่าตอง รถเริ่มติด และติดหนาแน่นขึ้นเมื่อวิ่งเข้าเขตอำเภอหางดง เริ่มเข้าสู่ตัวเมืองเชียงใหม่ รถจักรยานยนต์วิ่งกันหวาดเสียว วิ่งเร็ว แซงซิกแซกซ้ายขวา รถวิ่งเลียบตามคูเมืองด้านนอก ไปช้าๆ ผ่านหน้าโรงพยาบาลสวนดอกแล้ว เคลื่อนตัวช้ามาก ถนนมีเท่าเดิม รถมากขึ้นทุกๆวัน…
ถนอมรัก เดือนเต็มดวง
ผมขับรถออกจากบ้าน คุณแม่จันทร์สม สายธารา เลี้ยวซ้ายปากซอย มุ่งตรงกลับบ้าน อดนึกถึงคำพูดของ พ่อครูคำผาย นุปิง ศิลปินแห่งชาติ ประเภทเพลงพื้นบ้าน-ขับซอ ปี พ.ศ. 2538 ที่ปรากฏในอินเตอร์เน็ต หัวข้อ “ ซอพื้นบ้านล้านนา คุณค่าแห่งดนตรีที่ถูกเมิน” “ ยุคนี้ไม่ใช่ยุคของซออีกต่อไป ในอดีตซอได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก ในหมู่บ้านล้านนาไปที่ไหนๆก็มีซอ ซอสมัยก่อนได้เงินหลักร้อย ซึ่งถือว่าสูงมากในเวลานั้น แตกต่างจากตอนนี้ที่มีเด็กรุ่นใหม่เพียงไม่กี่คนเท่านั้น ที่สนใจจะเรียนซอกันอย่างจริงจัง กลุ่มคนฟังในปัจจุบัน …
ถนอมรัก เดือนเต็มดวง
  ลองอ่านความหมาย คำว่า “รัก” ของนักเขียนเอเชียชาวญี่ปุ่น เจ้าของรางวัลโนเบลปี ค.ศ.1968 เขาคือ ยาสึนาริ คาวาบาตะ กล่าวในงานเขียนของเขาชื่อ “เสียงแห่งขุนเขา”