Skip to main content

 

ผมเพิ่งจะไปเที่ยววัดพระธาตุดอยสุเทพมาครับ หลังจากไม่ได้ไปมาเป็นเวลาร่วมสิบปี  ครั้งสุดท้ายที่ขึ้นไปคือตอนที่เรียนมหาวิทยาลัย พอย้ายมาอยู่ทางเหนือก็ไม่ได้โอกาสเสียที มาสบโอกาสเอาก็ตอนลมหนาวเริ่มมาเยือนนี่เอง ขับมอเตอร์ไซต์ขึ้นดอยตอนเช้า อากาศเย็นสบาย ใช้เวลาสัก 20-30 นาทีเท่านั้น

วัดพระธาตุดอยสุเทพเป็นสถานที่อันดับแรกที่ใครต่อใครที่มาเชียงใหม่จะต้องมาเยือนมาชม มากราบไหว้ เพื่อเป็นศิริมงคลแก่ตนเอง ที่นี่จึงเต็มไปด้วยผู้คนมากมายตลอดเวลา ยิ่งในช่วงฤดูหนาวซึ่งเป็นฤดูท่องเที่ยว ดูเหมือนว่า ดอยสุเทพคือสถานที่แรกที่ทุกคนต้องมา ก่อนจะไปที่อื่น

ชาวต่างประเทศอาจต้องการชมความงามของสิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่เมืองเชียงใหม่ ชาวไทย ชาวพุทธ ก็คงต้องการมากราบไหว้บูชาพระบรมธาตุ ที่มีจุดประสงค์อื่นก็ไม่น้อย มาทำธุรกิจ มาแจกของ มาขอรับบริจาค ฯลฯ แสดงให้เห็นว่า ไม่ว่าโลกจะเปลี่ยนไปอย่างไร “วัด” ยังคงเป็นสถาบันหลักของสังคมไทยเสมอ

วันที่ผมขึ้นไปนั้นเป็นวันอาทิตย์ ขณะที่ขับรถตามทางขึ้นดอยไปเรื่อยๆ ก็มีรถวิ่งสวนขึ้นสวนลงอยู่ตลอดเวลา ทั้งรถส่วนตัว รถทัวร์ รถตู้ รถมอเตอร์ไซค์ รถจักรยาน แม้แต่คนที่เดินขึ้นก็ยังมี เมื่อขึ้นไปถึงก็พบกับรถจำนวนมากแทบจะเต็มลานจอดรถ กับผู้คนมหาศาลราวกับกำลังมีงานเทศกาล ซึ่งก็คงจะเป็นเรื่องปกติสำหรับที่นี่

ขณะที่พิจารณาจำนวนรถและจำนวนคน ผมก็คิดของผมไปเรื่อยว่า ในสถานะหนึ่ง ที่นี่คือวัด แต่อีกสถานะหนึ่งที่นี่เป็นสถานที่ท่องเที่ยว ถ้าว่ากันตามความน่าจะเป็น สถานที่ศักดิ์สิทธิ์ควรจะเป็นที่ๆ เต็มไปด้วยความสงบเงียบ แต่ด้วยบริบทของสังคมที่เปลี่ยนไป เราก็ต้องยอมรับความต่างนี้ในที่สุด นานๆ ไปเราก็เริ่มชินกับสถานภาพที่แตกต่างแต่มาอยู่รวมกัน ทว่าเมื่อเกิดปัญหาอันเนื่องมาจากความลักลั่นอักเสบ เราก็อาจสูญเสียความสามารถที่จะแยกแยะความเหมาะกับไม่เหมาะไปเสียแล้ว สิ่งเหล่านี้เราไม่ใช่ผู้กำหนดขึ้น เราเพียงแต่อยุ่ในระบบที่เป็นมาและเป็นไปเท่านั้น

เดินขึ้นบันไดพญานาคทดสอบกำลังกายกำลังใจกันแล้วก็ขึ้นไปถึงลานด้านหน้า ซึ่งมีรูปปั้นของ ครูบาศรี วิชัย นักบุญผู้ยิ่งใหญ่แห่งล้านนา ผู้นำในการสร้างถนนขึ้นสู่ดอยสุเทพ เป็นจุดแรกที่คนส่วนใหญ่จะมาจุดธุปเทียนสักการะบูชา

ผมเดินวนไปทางซ้ายเที่ยวชมสิ่งต่างๆ ที่อยู่รอบๆ  สังเกตว่า สัดส่วนของนักท่องเที่ยวชาวไทยกับชาวต่างชาติแทบจะครึ่งต่อครึ่ง และไม่ใช่เรื่องแปลกที่ชาวชาติจะให้ความสนใจกับทุกสิ่งทุกอย่างมากกว่าคนไทย แม้แต่ต้นไม้ ดอกไม้ รายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ ทุกอย่าง เขาก็ดูจะตื่นเต้นตื่นตาตื่นใจไปเสียทั้งหมด  เพราะหากว่าเราไปเที่ยวเมืองนอกเราก็คงไม่ต่างจากเขา แต่สิ่งที่ไม่ว่าใครก็ไม่สนใจก็มีอยู่เหมือนกัน ทั้งที่มันเป็นสิ่งที่ผมคิดว่า ผู้ที่เรียกตัวเองว่า ชาวพุทธ น่าจะให้ความสนใจไม่น้อยกว่าสิ่งอื่น

ป้ายพลาสติกสีแดงเป็นภาษาบาลีและมีคำแปลเป็นภาษาไทยที่ติดอยู่ราวเหล็กกั้น คงเป็นสิ่งสุดท้ายที่ใครจะหันมอง จะเป็นเพราะมันไม่สะดุดตา ไม่มีใครมาจุดธูปเทียนกราบไหว้ หรือ จะเป็นเพราะความเคยชินไปที่ไหนก็เจอ หรือจะเป็นเพราะอ่านไปก็ไม่เข้าใจและไม่คิดจะเข้าใจ หรือจะเป็นเพราะเหตุอื่นใด ผมก็ไม่อาจทราบได้ แต่สิ่งที่ผมแน่ใจคือ ข้อความเหล่านี้ คือ “ธรรม” อันสำคัญยิ่ง ที่จะทำให้ผู้ปฏิบัติอยู่เหนือพ้นจากความทุกข์ได้

และการไปให้พ้นจากความทุกข์คือเป้าหมายสูงสุดของชาวพุทธทุกคนมิใช่หรือ ?

ขนตี ปรม ตโป ตีติกขา
ความอดทนคือความอดกลั้นเป็นธรรมเผาบาปอย่างยิ่ง

นิพพาน ปรม วทนติ พุทธา
พุทธบุคคลทั้งหลายย่อมกล่าวถึงพระนิพพานว่า เป็นธรรมชาติอันสูงสุด

ผมยืนอ่านอยู่พักหนึ่ง หวังว่าอาจจะมีใครให้ความสนใจมาหยุดอ่านเช่นเดียวกับผม แต่ก็ไม่มี ผมจึงเดินต่อไป ชมพิพิธภัณฑ์,จุดชมวิวเมืองเชียงใหม่,ตัวมอม และจุดตีฆ้องใหญ่ (ซึ่งมีป้ายระบุว่า อย่าตีแรง และ ห้ามลูบฆ้อง) ก็เข้าไปในบริเวณลานรอบองค์พระธาตุฯ

องค์พระธาตุดอยสุเทพเมื่อสะท้อนแสงแดด เหมือนจะเปล่งแสงสีทองออกมาอาบทั่วบริเวณ หลังจากสักการะบูชาแล้ว หากใครได้ลองหยุดนั่งพิจารณาสักครู่จะรู้สึกได้ถึงความสงบและความอิ่มเอมที่เกิดขึ้นภายใน  รอบองค์พระธาตุ มีพระพุทธรูปตั้งเรียงรายอยู่เป็นจำนวนมาก ทั้งองค์ใหญ่องค์เล็ก ทั้งที่อยู่ในตัวอาคารและที่อยู่นอกตัวอาคาร ความแตกต่างก็คือ พระพุทธรูปที่อยู่ในตัวอาคาร จะมีผู้คนเข้าไปกราบไหว้อยู่ตลอดเวลา ส่วนพระพุทธรูปที่อยู่นอกตัวอาคาร แทบจะไม่มีคนให้ความสนใจเลย

ผมเกิดคำถามขึ้นในใจ
อะไรคือความต่างของพระพุทธรูปเหล่านี้ ที่ทำให้คนเลือกที่จะเคารพบูชา ?  
ขนาด, ที่ตั้ง, มีชื่อ-ไม่มีชื่อ, เสียงเล่าลือถึงความศักดิ์สิทธิ์, พุทธลักษณะ  ฯลฯ
และแท้จริงแล้วเรากราบไหว้อะไรในพระพุทธรูป ? ตัวแทนของพระพุทธเจ้า, ความศักดิ์สิทธิ์ในเชิงปาฏิหาริย์, ความเชื่อว่าจะได้บุญ หรือเพราะเคยทำมาก็ทำต่อไปอย่างที่ไม่ต้องการจะตั้งคำถาม

ผมตั้งคำถามเหล่านี้ ไม่ใช่เพราะจิตใจที่มืดดำหรือต้องการจะหมิ่นศาสนาอย่างที่ใครบางคนอาจกำลังคิดว่าผมกำลังจะทำ ผมเพียงแต่เกิดความสงสัยว่า คำว่า “พุทธะ” ในความหมายที่แท้จริงนั้นคือสิ่งใดกัน  
พุทธะ อาจไม่ได้หมายถึงเพียงแค่ พระพุทธเจ้า หรือ พระพุทธรูป
ธรรมะ อาจไม่ใช่แค่คำบาลีในพระไตรปิฎก
และ สังฆะ(สงฆ์) ก็ไม่อาจใช่แค่นักบวชในศาสนาพุทธ  

หากพิจารณาถึงความหมายที่ว่า พุทธะ คือ ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน ขอบเขตนิยามของคำว่า พุทธะ ธรรมะ และสังฆะ น่าจะกว้างมากกว่านั้น บางที อาจจะเป็นนามธรรมในลักษณะของปัจเจกด้วยซ้ำไป ทว่า ผมเองไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญทางศาสนา ไม่อาจวิเคราะห์อะไรเป็นหลักเป็นเกณฑ์ได้ เพียงแต่ความรู้สึกนั้นบอกว่า ทุกสิ่งทุกอย่าง แท้จริงไม่ใช่อยู่ภายนอก แต่อยู่ภายในตัวเรานี่เอง

คำสอนสำคัญอันหนึ่งของพระพุทธเจ้าคือ คำสอนที่ว่า ให้เราพึ่งตนเอง ไม่ใช่พึ่งสิ่งภายนอก แต่ดูเหมือนทุกวันนี้เราจะไม่เชื่อกันว่า “พุทธ”เกิดจากภายใน แต่กลับจะเชื่อว่าพุทธะนั้นอยู่ภายนอก เราจึงมุ่งแสวงหาคำตอบของโลกและชีวิตจากภายนอก แต่ไม่เคยคิดว่าคำตอบทั้งหมดนั้นอยู่ภายในตัวเรา

ผมกลับลงมาจากดอยสุเทพด้วยคำถามในใจหลายข้อ ทั้งที่เมื่อก่อนไม่เคยมีคำถามอย่างนี้ อาจเป็นเพราะวัยที่เปลี่ยน ความคิดที่เปลี่ยน คำถามของผมไม่ได้มีเจตนาจะลดทอนหรือทำให้คุณค่าของศาสนาด้อยลงแม้แต่น้อย เพียงแต่คิดว่า หากมองด้วยขอบเขตที่กว้างกว่า อาจทำให้เรามองทะลุความซับซ้อนและเปลือกหนาไปจนเห็นแก่นที่เรียบง่ายและยิ่งใหญ่ได้

ศาสดาและบรมครูผู้ยิ่งใหญ่แห่งศาสนาพุทธ ค้นพบหนทางพ้นทุกข์และมุ่งหวังให้ผู้คนได้ข้ามพ้นสังสารวัฏ พ้นการเกิด การดับ สิ่งที่พระพุทธเจ้าทรงค้นพบคือสัจจะ คือความจริงสูงสุดของธรรมชาติ และเมื่อพระองค์นำมาเผยแพร่ พระองค์ก็สื่อด้วยความเรียบง่าย เข้าถึงคนหมู่มาก ทำให้ผู้คนต่างลัทธิ ต่างความเชื่อ ต่างยอมรับในธรรม

ด้วยความจริงเช่นนี้ ผมจึงเชื่อว่า แท้จริงแล้ว เราทุกคนสามารถเข้าถึงความรู้ในการพ้นทุกข์ได้ตามระดับความเข้าใจและการปฏิบัติของแต่ละคน ในเมื่อ “ธรรม” นั้นมีอยู่ตามธรรมชาติ ดังนั้น หากเราแสวงหา เราย่อมจะมองเห็นหนทาง แต่หากเราไม่แสวงหาเราก็ไม่อาจมองเห็น

คนที่มาเที่ยววัดพระธาตุดอยสุเทพ แม้ดูเหมือนจะมีจุดประสงค์เดียวกัน คือมาเที่ยว แต่ผมคิดว่า ประสบการณ์ที่แต่ละคนได้รับอาจแตกต่างกันมาก บางคนผ่านมาแล้วก็ผ่านไป เป็นเพียงสถานที่หนึ่งที่เคยไปเยือน แต่บางคนอาจซึบซับบางสิ่งบางอย่างที่ทำให้ภายในเปลี่ยนแปลง

อย่างน้อยที่สุด หากศรัทธาจากการสักการะบูชา จะทำให้เราได้หวนคืนสู่หนทางแห่ง “พุทธะ” ได้บ้าง แรงและเวลาก็คงไม่เสียเปล่า แน่นอน ศรัทธาเป็นสิ่งจำเป็น แต่หากไม่เป็นไปเพื่อสร้างปัญญา หนทางแห่งความพ้นทุกข์จะมีประโยชน์ต่อเราหรือ ?

ผมไม่รู้
แสงสีทองจากองค์พระธาตุจะส่องเข้าไปถึงใจใครได้บ้าง

บล็อกของ ฐาปนา

ฐาปนา
เมื่อแรกแรกที่มีข่าวว่าโรคนี้เกิดขึ้นในโลก ใครใครก็พากันเรียกชื่อมันว่าไข้หวัดหมู เพราะว่ากันว่ามันเป็นโรคของหมูที่ดันมาติดคน(ถ้าหากมีโรคของคนไปติดหมูไม่รู้จะเรียกว่าไข้หวัดคนด้วยหรือเปล่า) แต่ต่อมาเขาไม่อยากให้เรียกไข้หวัดหมู เพราะเกรงว่าจะเป็นการใส่ร้ายหมูซึ่งไม่มีความผิด และจะทำให้หมูทั่วโลกพลอยถูกรังเกียจ แต่คงไม่ใช่ความกลัวว่าหมูจะประท้วง เพราะถึงอย่างไรหมูก็มีสิทธิ์อันชอบเพียงอย่างเดียวคือสิทธิ์ในการเป็นอาหารของมนุษย์ ไม่สามารถชูป้ายประท้วงหรือเขวี้ยงก้อนอิฐใส่ตำรวจปราบจลาจลได้แต่ประการใด
ฐาปนา
ไม่เคยมีใครถามถึงความยินยอมพร้อมใจของทั้งคู่เลยว่าอยากจะย้ายจากบ้านเกิดเมืองนอนที่หนาวเย็นและเต็มไปด้วยพวกพ้อง มาอยู่ในเมืองร้อนที่ห่างไกลหลายพันกิโลเมตร หรือไม่ ถึงจะมีคนถาม แต่พวกเขาก็ไม่สามารถตอบได้ หรือแม้พวกเขาจะตอบว่า "ไม่อยากไป" แต่พวกเขามีสิทธิ์ปฏิเสธละหรือ ? ...
ฐาปนา
10 คำถามตั้งต้น เพื่อทำความเข้าใจมนุษย์ที่ถูกเรียกว่า "นักลงทุน"1. จากคำพูดของนักธุรกิจการเมืองที่มักจะอ้างถึง"ความเชื่อมั่นของนักลงทุน" อยู่เสมอ น่าสงสัยว่านักลงทุนจะเป็นมนุษย์ประเภทขาดความเชื่อมั่น มากกว่ามนุษย์ปกติทั่วไป หรือไม่?ตอบ ไม่มีใครทราบ แต่ถ้าสันนิษฐานอย่างไม่มีฐานอ้างอิง การลงทุนก็จำเป็นต้องใช้ความเชื่อมั่นไม่น้อยไปกว่าการพนัน ทว่าในแง่ของเหตุผลน่าจะมากกว่า เพราะการพนันจะใช้ปัจจัยด้านอารมณ์ความรู้สึกเข้ามาเป็นตัวกำหนดการตัดสินใจ ขณะที่การลงทุนจะต้องใช้เหตุผล ตัวเลข ตัวแปร เอกสารต่างๆ มากมายก่อนการตัดสินใจที่เต็มไปด้วยขั้นตอนซับซ้อน…
ฐาปนา
ลุงอู๋ ผู้ใหญ่บ้านประกาศเรียกประชุมชาวบ้านหมู่สิบสองตั้งแต่เช้าตรู่ เสียงประกาศนั้นเน้นย้ำนักหนาว่า หนึ่งทุ่มตรงวันนี้ทุกคนต้องไปร่วมประชุมให้ได้ เพราะนี่คือเรื่องความเจริญก้าวหน้าของหมู่บ้าน และีทุกคนจะได้ประโยชน์ โชคดีที่วันนั้น เป็นช่วงว่างจากการทำไร่ ทำนา ที่สำคัญ ละครสุดฮิตที่ชาวบ้านติดกันก็เพิ่งจะจบลงไป พอตอนค่ำ ชาวหมู่บ้านจึงมาประชุมที่ศาลาอย่างหนาตา
ฐาปนา
ลุงเหมือน อดีตทหารผ่านศึก คนปลูกแตงโมมือวางท้อปไฟว์ประจำหมู่บ้าน นั่งมองไร่แตงโมอย่างสบายอารมณ์ปีนี้แตงโมราคาดีไม่น้อย พ่อค้ามารับซื้อหน้าไร่กิโลกรัมละสิบห้าถึงยี่สิบห้าบาท ยิ่งลูกใหญ่ยิ่งได้ราคา มดแมลงก็ไม่ค่อยจะกวนเท่าไร ลุงเหมือนกะว่าปีนี้คงได้เงินจากแตงโมสักห้าหกหมื่น แล้วจากนั้นจะได้ปลูกกะเพรา โหระพา ใบแมงลัก แบบ "พอเพียง-เพียงพอ" บ้าง
ฐาปนา
ยายช้อย คนเคยรวย ชีวิตเปลี่ยนไปมาก หลังจากเป็นหนี้สหกรณ์ฯ หลายแสน ก็ใครจะไปคิดเล่า อยู่ๆ เคยเลี้ยงหมูได้กำไรทีละเป็นแสน จู่ๆ หมูราคาตก กำไรที่คาดหวังเลยเข้าเนื้อแทน เมื่อทนทำต่อไป ยิ่งทำก็ยิ่งขาดทุน ทุนหายกำไรหด จนกลายเป็นหนี้ ถึงที่สุดก็ต้องหยุดเลี้ยง ยายช้อยผู้เคยเดินชูคอสั้นๆ ป้อมๆ ของแกไปทั่วหมู่บ้าน ในฐานะเมียอดีตกำนันหลายสมัย มาบัดนี้ กลับไม่สง่าผ่าเผยเป็นคุณนายกำนันเหมือนเดิมอีกแล้ว
ฐาปนา
เกษตรทางเลือก เกษตรอินทรีย์ เกษตรธรรมชาติ เกษตรผสมผสาน เกษตรแนวใหม่ ฯลฯ ล้วนแต่น่าสนใจ และกำลังเป็นทางเลือกสำหรับการทำการเกษตรในอนาคตทว่า ชาวบ้านจำนวนมากก็ยังคงรู้จักอยู่แค่อย่างเดียวคือ เกษตรเคมี ฟังดูอาจจะขัดกับความรู้สึกของคนชั้นกลางจำนวนหนึ่ง ที่กำลังอินกับกระแสรักสุขภาพ แต่ก็โปรดรับรู้เถิดว่า ผักที่ท่านซื้อจากตลาด(ไม่ว่าจะติดแอร์หรือไม่ก็ตาม) เกือบจะร้อยเปอร์เซนต์ ล้วนมีสารเคมีทั้งสิ้น  มากบ้างน้อยบ้างตามประเภทของผัก และตามปริมาณการใช้ของผู้ปลูก
ฐาปนา
ผมยังจำได้ดี ภาพของชายวัยเจ็ดสิบนั่งอยู่บนโต๊ะไม้ตัวเล็กๆ คร่ำเคร่งอยู่กับการจิ้มนิ้วไปบนแป้นพิมพ์ดีด ขณะที่ข้างกายมีถังอ๊อกซิเจนขนาดใหญ่ต่อสายยางยาวมาสู่จมูกเป็นภาพที่ชวนให้ครั่นคร้าม ไม่น้อยไปกว่าชื่อเสียงเรียงนามในฐานะตำนานที่ยังมีชีวิตเจ้าของบ้านหันมาบอกให้รอประเดี๋ยว เดี๋ยวจะไปนั่งคุยด้วย ผู้นำทางจึงกระซิบให้ลงไปนั่งรอที่ห้องรับแขก
ฐาปนา
ชีวิตชาวนาชาวไร่ สินค้าที่ใช้ ร้อยละเก้าสิบเก้าหนีไม่พ้นซื้อจากร้านค้าในหมู่บ้าน นานๆ จะได้เข้าตลาดในอำเภอ หรือ ห้างใหญ่ในตัวจังหวัดเสียที ก็ของใช้จำเป็นอย่าง สบู่ ยาสีฟัน ผงซักฟอก ยาสระผม ฯลฯ มันเป็นของประเภท ที่ไหนก็มี ซื้อที่ไหนก็ไม่ต่างกัน ราคาอาจถูกแพงกว่ากันบ้างไม่กี่บาท น้อยรายที่สนใจรักสวยรักงามถึงขนาดต้องใช้เครื่องสำอางค์ราคาเป็นร้อยเป็นพัน หรือ สินค้าเกรดเอ คุณภาพเกินร้อยอย่างที่เขาชอบโฆษณา
ฐาปนา
หลายปีที่ผ่านมา พื้นที่การเกษตรขยายตัวอย่างช้าๆ จากพื้นที่ดินเค็มหรือพื้นที่ดอนอันแห้งแล้งก็แปรเปลี่ยนเป็นที่สวน ที่ไร่ ที่นา เมื่อพื้นที่ขยายตัวไปมาก คลองส่งน้ำก็ถูกขุดต่อไปจนถึงพื้นที่ บางแห่งคลองไปไม่ถึงก็ขุดหาแหล่งน้ำใต้ดิน เพื่อจะพลิกฟื้นผืนดินไร้ชีวิตให้กลับมามีชีวิตให้ได้อัตราเร่งเพิ่มขึ้น เมื่อราคาสินค้าเกษตร โดยเฉพาะอย่างยิ่ง "ข้าว" มีราคาสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ที่ดินรกร้าง ที่ป่ารกเรื้อ ถูกรถไถจัดการเสียเรียบเตียน ไม่กี่วันก็พร้อมสำหรับการเพาะปลูก คลองส่งน้ำสายใหม่(เทคอนกรีต) ที่จะถูกต่อมาจากลำคลองสายหลักอยู่ระหว่างการก่อสร้าง เสียงรถเกรดดิน รถบรรทุก รถบด…
ฐาปนา
กลางเดือนกุมภาพันธ์ ดูเหมือนแดดจะแผดแสงก่อนที่ดวงตะวันจะขึ้นเสียอีก ความร้อนแห่งวันเริ่มต้นพร้อมกับเสียงไก่ขัน เด็กๆ ไปโรงเรียน ผู้ใหญ่ก็จับจอบจับเสียมเตรียมตัวไปไร่  หลังจากฤดูหนาว(กว่าปกติ)ผ่านพ้นไปอย่างรวดเร็ว หน้าร้อนปีนี้ ก็เข้าแทนที่อย่างแทบไม่ทันตั้งตัว แต่ชีวิตคนใต้ท้องฟ้า จะร้อนจะหนาวแค่ไหนก็ได้แค่บ่น แล้วก็ทนๆ กันไป กระนั้น ความร้อนตามทุ่งนา ป่า เขา ก็ยังพอมีร่มให้หลบ มีลมเย็นพัดโชยให้คลายได้บ้าง
ฐาปนา
แสงสีแดงพาดผ่านท้องฟ้าสีดำ เหนือดินแดนปาเลสไตน์เหนือหมู่ตึกอันแออัดและทรุดโทรม ลูกเหล็กบรรทุกดินระเบิดพุ่งปะทะคอนกรีตหนึ่งลูก สองลูก สิบลูก ร้อยลูก พันลูก หมื่นลูก แสนลูก ล้านลูก