Skip to main content

 

ผมเพิ่งจะไปเที่ยววัดพระธาตุดอยสุเทพมาครับ หลังจากไม่ได้ไปมาเป็นเวลาร่วมสิบปี  ครั้งสุดท้ายที่ขึ้นไปคือตอนที่เรียนมหาวิทยาลัย พอย้ายมาอยู่ทางเหนือก็ไม่ได้โอกาสเสียที มาสบโอกาสเอาก็ตอนลมหนาวเริ่มมาเยือนนี่เอง ขับมอเตอร์ไซต์ขึ้นดอยตอนเช้า อากาศเย็นสบาย ใช้เวลาสัก 20-30 นาทีเท่านั้น

วัดพระธาตุดอยสุเทพเป็นสถานที่อันดับแรกที่ใครต่อใครที่มาเชียงใหม่จะต้องมาเยือนมาชม มากราบไหว้ เพื่อเป็นศิริมงคลแก่ตนเอง ที่นี่จึงเต็มไปด้วยผู้คนมากมายตลอดเวลา ยิ่งในช่วงฤดูหนาวซึ่งเป็นฤดูท่องเที่ยว ดูเหมือนว่า ดอยสุเทพคือสถานที่แรกที่ทุกคนต้องมา ก่อนจะไปที่อื่น

ชาวต่างประเทศอาจต้องการชมความงามของสิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่เมืองเชียงใหม่ ชาวไทย ชาวพุทธ ก็คงต้องการมากราบไหว้บูชาพระบรมธาตุ ที่มีจุดประสงค์อื่นก็ไม่น้อย มาทำธุรกิจ มาแจกของ มาขอรับบริจาค ฯลฯ แสดงให้เห็นว่า ไม่ว่าโลกจะเปลี่ยนไปอย่างไร “วัด” ยังคงเป็นสถาบันหลักของสังคมไทยเสมอ

วันที่ผมขึ้นไปนั้นเป็นวันอาทิตย์ ขณะที่ขับรถตามทางขึ้นดอยไปเรื่อยๆ ก็มีรถวิ่งสวนขึ้นสวนลงอยู่ตลอดเวลา ทั้งรถส่วนตัว รถทัวร์ รถตู้ รถมอเตอร์ไซค์ รถจักรยาน แม้แต่คนที่เดินขึ้นก็ยังมี เมื่อขึ้นไปถึงก็พบกับรถจำนวนมากแทบจะเต็มลานจอดรถ กับผู้คนมหาศาลราวกับกำลังมีงานเทศกาล ซึ่งก็คงจะเป็นเรื่องปกติสำหรับที่นี่

ขณะที่พิจารณาจำนวนรถและจำนวนคน ผมก็คิดของผมไปเรื่อยว่า ในสถานะหนึ่ง ที่นี่คือวัด แต่อีกสถานะหนึ่งที่นี่เป็นสถานที่ท่องเที่ยว ถ้าว่ากันตามความน่าจะเป็น สถานที่ศักดิ์สิทธิ์ควรจะเป็นที่ๆ เต็มไปด้วยความสงบเงียบ แต่ด้วยบริบทของสังคมที่เปลี่ยนไป เราก็ต้องยอมรับความต่างนี้ในที่สุด นานๆ ไปเราก็เริ่มชินกับสถานภาพที่แตกต่างแต่มาอยู่รวมกัน ทว่าเมื่อเกิดปัญหาอันเนื่องมาจากความลักลั่นอักเสบ เราก็อาจสูญเสียความสามารถที่จะแยกแยะความเหมาะกับไม่เหมาะไปเสียแล้ว สิ่งเหล่านี้เราไม่ใช่ผู้กำหนดขึ้น เราเพียงแต่อยุ่ในระบบที่เป็นมาและเป็นไปเท่านั้น

เดินขึ้นบันไดพญานาคทดสอบกำลังกายกำลังใจกันแล้วก็ขึ้นไปถึงลานด้านหน้า ซึ่งมีรูปปั้นของ ครูบาศรี วิชัย นักบุญผู้ยิ่งใหญ่แห่งล้านนา ผู้นำในการสร้างถนนขึ้นสู่ดอยสุเทพ เป็นจุดแรกที่คนส่วนใหญ่จะมาจุดธุปเทียนสักการะบูชา

ผมเดินวนไปทางซ้ายเที่ยวชมสิ่งต่างๆ ที่อยู่รอบๆ  สังเกตว่า สัดส่วนของนักท่องเที่ยวชาวไทยกับชาวต่างชาติแทบจะครึ่งต่อครึ่ง และไม่ใช่เรื่องแปลกที่ชาวชาติจะให้ความสนใจกับทุกสิ่งทุกอย่างมากกว่าคนไทย แม้แต่ต้นไม้ ดอกไม้ รายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ ทุกอย่าง เขาก็ดูจะตื่นเต้นตื่นตาตื่นใจไปเสียทั้งหมด  เพราะหากว่าเราไปเที่ยวเมืองนอกเราก็คงไม่ต่างจากเขา แต่สิ่งที่ไม่ว่าใครก็ไม่สนใจก็มีอยู่เหมือนกัน ทั้งที่มันเป็นสิ่งที่ผมคิดว่า ผู้ที่เรียกตัวเองว่า ชาวพุทธ น่าจะให้ความสนใจไม่น้อยกว่าสิ่งอื่น

ป้ายพลาสติกสีแดงเป็นภาษาบาลีและมีคำแปลเป็นภาษาไทยที่ติดอยู่ราวเหล็กกั้น คงเป็นสิ่งสุดท้ายที่ใครจะหันมอง จะเป็นเพราะมันไม่สะดุดตา ไม่มีใครมาจุดธูปเทียนกราบไหว้ หรือ จะเป็นเพราะความเคยชินไปที่ไหนก็เจอ หรือจะเป็นเพราะอ่านไปก็ไม่เข้าใจและไม่คิดจะเข้าใจ หรือจะเป็นเพราะเหตุอื่นใด ผมก็ไม่อาจทราบได้ แต่สิ่งที่ผมแน่ใจคือ ข้อความเหล่านี้ คือ “ธรรม” อันสำคัญยิ่ง ที่จะทำให้ผู้ปฏิบัติอยู่เหนือพ้นจากความทุกข์ได้

และการไปให้พ้นจากความทุกข์คือเป้าหมายสูงสุดของชาวพุทธทุกคนมิใช่หรือ ?

ขนตี ปรม ตโป ตีติกขา
ความอดทนคือความอดกลั้นเป็นธรรมเผาบาปอย่างยิ่ง

นิพพาน ปรม วทนติ พุทธา
พุทธบุคคลทั้งหลายย่อมกล่าวถึงพระนิพพานว่า เป็นธรรมชาติอันสูงสุด

ผมยืนอ่านอยู่พักหนึ่ง หวังว่าอาจจะมีใครให้ความสนใจมาหยุดอ่านเช่นเดียวกับผม แต่ก็ไม่มี ผมจึงเดินต่อไป ชมพิพิธภัณฑ์,จุดชมวิวเมืองเชียงใหม่,ตัวมอม และจุดตีฆ้องใหญ่ (ซึ่งมีป้ายระบุว่า อย่าตีแรง และ ห้ามลูบฆ้อง) ก็เข้าไปในบริเวณลานรอบองค์พระธาตุฯ

องค์พระธาตุดอยสุเทพเมื่อสะท้อนแสงแดด เหมือนจะเปล่งแสงสีทองออกมาอาบทั่วบริเวณ หลังจากสักการะบูชาแล้ว หากใครได้ลองหยุดนั่งพิจารณาสักครู่จะรู้สึกได้ถึงความสงบและความอิ่มเอมที่เกิดขึ้นภายใน  รอบองค์พระธาตุ มีพระพุทธรูปตั้งเรียงรายอยู่เป็นจำนวนมาก ทั้งองค์ใหญ่องค์เล็ก ทั้งที่อยู่ในตัวอาคารและที่อยู่นอกตัวอาคาร ความแตกต่างก็คือ พระพุทธรูปที่อยู่ในตัวอาคาร จะมีผู้คนเข้าไปกราบไหว้อยู่ตลอดเวลา ส่วนพระพุทธรูปที่อยู่นอกตัวอาคาร แทบจะไม่มีคนให้ความสนใจเลย

ผมเกิดคำถามขึ้นในใจ
อะไรคือความต่างของพระพุทธรูปเหล่านี้ ที่ทำให้คนเลือกที่จะเคารพบูชา ?  
ขนาด, ที่ตั้ง, มีชื่อ-ไม่มีชื่อ, เสียงเล่าลือถึงความศักดิ์สิทธิ์, พุทธลักษณะ  ฯลฯ
และแท้จริงแล้วเรากราบไหว้อะไรในพระพุทธรูป ? ตัวแทนของพระพุทธเจ้า, ความศักดิ์สิทธิ์ในเชิงปาฏิหาริย์, ความเชื่อว่าจะได้บุญ หรือเพราะเคยทำมาก็ทำต่อไปอย่างที่ไม่ต้องการจะตั้งคำถาม

ผมตั้งคำถามเหล่านี้ ไม่ใช่เพราะจิตใจที่มืดดำหรือต้องการจะหมิ่นศาสนาอย่างที่ใครบางคนอาจกำลังคิดว่าผมกำลังจะทำ ผมเพียงแต่เกิดความสงสัยว่า คำว่า “พุทธะ” ในความหมายที่แท้จริงนั้นคือสิ่งใดกัน  
พุทธะ อาจไม่ได้หมายถึงเพียงแค่ พระพุทธเจ้า หรือ พระพุทธรูป
ธรรมะ อาจไม่ใช่แค่คำบาลีในพระไตรปิฎก
และ สังฆะ(สงฆ์) ก็ไม่อาจใช่แค่นักบวชในศาสนาพุทธ  

หากพิจารณาถึงความหมายที่ว่า พุทธะ คือ ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน ขอบเขตนิยามของคำว่า พุทธะ ธรรมะ และสังฆะ น่าจะกว้างมากกว่านั้น บางที อาจจะเป็นนามธรรมในลักษณะของปัจเจกด้วยซ้ำไป ทว่า ผมเองไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญทางศาสนา ไม่อาจวิเคราะห์อะไรเป็นหลักเป็นเกณฑ์ได้ เพียงแต่ความรู้สึกนั้นบอกว่า ทุกสิ่งทุกอย่าง แท้จริงไม่ใช่อยู่ภายนอก แต่อยู่ภายในตัวเรานี่เอง

คำสอนสำคัญอันหนึ่งของพระพุทธเจ้าคือ คำสอนที่ว่า ให้เราพึ่งตนเอง ไม่ใช่พึ่งสิ่งภายนอก แต่ดูเหมือนทุกวันนี้เราจะไม่เชื่อกันว่า “พุทธ”เกิดจากภายใน แต่กลับจะเชื่อว่าพุทธะนั้นอยู่ภายนอก เราจึงมุ่งแสวงหาคำตอบของโลกและชีวิตจากภายนอก แต่ไม่เคยคิดว่าคำตอบทั้งหมดนั้นอยู่ภายในตัวเรา

ผมกลับลงมาจากดอยสุเทพด้วยคำถามในใจหลายข้อ ทั้งที่เมื่อก่อนไม่เคยมีคำถามอย่างนี้ อาจเป็นเพราะวัยที่เปลี่ยน ความคิดที่เปลี่ยน คำถามของผมไม่ได้มีเจตนาจะลดทอนหรือทำให้คุณค่าของศาสนาด้อยลงแม้แต่น้อย เพียงแต่คิดว่า หากมองด้วยขอบเขตที่กว้างกว่า อาจทำให้เรามองทะลุความซับซ้อนและเปลือกหนาไปจนเห็นแก่นที่เรียบง่ายและยิ่งใหญ่ได้

ศาสดาและบรมครูผู้ยิ่งใหญ่แห่งศาสนาพุทธ ค้นพบหนทางพ้นทุกข์และมุ่งหวังให้ผู้คนได้ข้ามพ้นสังสารวัฏ พ้นการเกิด การดับ สิ่งที่พระพุทธเจ้าทรงค้นพบคือสัจจะ คือความจริงสูงสุดของธรรมชาติ และเมื่อพระองค์นำมาเผยแพร่ พระองค์ก็สื่อด้วยความเรียบง่าย เข้าถึงคนหมู่มาก ทำให้ผู้คนต่างลัทธิ ต่างความเชื่อ ต่างยอมรับในธรรม

ด้วยความจริงเช่นนี้ ผมจึงเชื่อว่า แท้จริงแล้ว เราทุกคนสามารถเข้าถึงความรู้ในการพ้นทุกข์ได้ตามระดับความเข้าใจและการปฏิบัติของแต่ละคน ในเมื่อ “ธรรม” นั้นมีอยู่ตามธรรมชาติ ดังนั้น หากเราแสวงหา เราย่อมจะมองเห็นหนทาง แต่หากเราไม่แสวงหาเราก็ไม่อาจมองเห็น

คนที่มาเที่ยววัดพระธาตุดอยสุเทพ แม้ดูเหมือนจะมีจุดประสงค์เดียวกัน คือมาเที่ยว แต่ผมคิดว่า ประสบการณ์ที่แต่ละคนได้รับอาจแตกต่างกันมาก บางคนผ่านมาแล้วก็ผ่านไป เป็นเพียงสถานที่หนึ่งที่เคยไปเยือน แต่บางคนอาจซึบซับบางสิ่งบางอย่างที่ทำให้ภายในเปลี่ยนแปลง

อย่างน้อยที่สุด หากศรัทธาจากการสักการะบูชา จะทำให้เราได้หวนคืนสู่หนทางแห่ง “พุทธะ” ได้บ้าง แรงและเวลาก็คงไม่เสียเปล่า แน่นอน ศรัทธาเป็นสิ่งจำเป็น แต่หากไม่เป็นไปเพื่อสร้างปัญญา หนทางแห่งความพ้นทุกข์จะมีประโยชน์ต่อเราหรือ ?

ผมไม่รู้
แสงสีทองจากองค์พระธาตุจะส่องเข้าไปถึงใจใครได้บ้าง

บล็อกของ ฐาปนา

ฐาปนา
พี่หวี จอดรถเครื่องที่ใต้ร่มมะขาม แกเดินหน้าเซ็งมานั่งที่เปล คุยเรื่องนู้นเรื่องนี้อยู่พักหนึ่ง นอนแกว่งเปลถอนหายใจสามเฮือกใหญ่ ก่อนจะระบายความในใจออกมาด้วยประโยคเดิมๆ ว่า "...เบื่อว่ะ...ไอ้เปี๊ยกกับเมียมันทะเลาะกันอีกแล้ว..."เจ้าบุญ น้าเปีย เจ้าปุ๊ก ที่กำลังนั่งแกะมะขามสุกเอาไว้ทำมะขามเปียก ก็หันมาพยักหน้ารับรู้ แล้วก็ปล่อยให้พี่หวีได้พูดระบายความเครียดไป ถามบ้างเป็นบางครั้ง แต่ส่วนใหญ่ทุกคนจะนั่งฟังอย่างเห็นอกเห็นใจ
ฐาปนา
  ปลายสัปดาห์นั้น หมู่บ้านคึกคักเป็นพิเศษ เพราะผู้ใหญ่บ้านประกาศล่วงหน้ามานานหลายวันแล้วว่า วันศุกร์สุดท้ายของเดือน ผู้ว่าราชการจังหวัดจะลงพื้นที่มาตรวจเยี่ยมชาวบ้าน มารับฟังปัญหา จึงขอเชิญชาวบ้านมาร่วมพูดคุยแลกเปลี่ยนสารทุกข์สุขดิบกันซึ่งอันที่จริง การขอเชิญ นั้น ก็มีการขอร้อง กึ่งๆ ขอแรง ปะปนอยู่ด้วย เพราะช่วงเวลาดังกล่าว ชาวบ้านส่วนใหญ่กำลังวุ่นกับงานในไร่ เตรียมจะปลูกแตงกวา มะเขือเทศ ถั่วฝักยาวกันนานๆ จะมีเจ้าใหญ่นายโตมาเยี่ยมหมู่บ้าน ใครต่อใครก็เลยต้องทำความสะอาด ปัดกวาดบ้านกันใหญ่ เพราะเดี๋ยวถ้าเกิดแจ๊กพ็อต ผู้ว่าฯ เดินเข้ามาหาถึงบ้าน แล้วบ้านรกยังกับรังนก เป็นได้อายเขาตายเลย…
ฐาปนา
ชาวนาชาวไร่ ฟังวิทยุ มากกว่าดูโทรทัศน์ มากกว่าดูหนัง มากกว่าอ่านหนังสือ เพราะการงานในไร่ตั้งแต่เช้าจรดค่ำ ไม่เอื้ออำนวยให้เอาสายตาและเวลาไปใช้อย่างอื่น เสียงเพลงและ เสียงข่าว จึงดังแว่วมาตามลมตั้งแต่ริมคลองส่งน้ำด้านทิศเหนือไปจนจรดทุ่งนาติดชายป่า ด้านทิศใต้ สมัยนี้วิทยุเครื่องเล็กๆ ใช้ถ่านก้อนเดียว เครื่องละแค่ไม่กี่ร้อย ใครๆ ก็ซื้อได้ ขนาดเจ้าโหน่ง เด็กเลี้ยงวัว ยังห้อยโทรศัพท์มือถือฟังวิทยุได้ ... น่าน! เท่ห์ซะไม่มี ฟังกันมากที่สุด ก็ต้องเป็นเพลงลูกทุ่งทั้งเก่าทั้งใหม่ รองลงมาก็สตริง ส่วนคนมีอายุก็ชอบฟังข่าว ฟังเทศน์ฟังธรรม
ฐาปนา
สองเดือนผ่านไป คณะลิเก กลายเป็นส่วนหนึ่งของหมู่บ้าน กลายเป็นมหรสพประจำหมู่บ้าน ซึ่งไม่เพียงแค่คนในหมู่ แต่คนต่างหมู่ ต่างตำบลยังพากันมาดู แต่ละคืน ที่ศาลาประจำหมู่บ้านซึ่งกลายสภาพเป็นโรงลิเก จะมีเก้าอี้พลาสติกสะอาดสะอ้านจำนวนสิบกว่าตัววางไว้อย่างมีระเบียบ รอผู้ชมขาประจำมานั่ง
ฐาปนา
ปลายเดือนตุลาคม ผมกลับไปเยี่ยมบ้านเกิดครั้งแรกในรอบหลายปี ทั้งที่จริง ผมไม่มีความจำเป็นจะต้องไปแต่อย่างใด เพราะครอบครัวของผม บ้านของผม ไม่ได้อยู่ที่นี่แล้ว สิ่งที่ยังเหลืออยู่ มีเพียงความทรงจำตลอดสิบแปดปีที่ผมได้เติบโตมา โรงเรียน บ้านพักอาจารย์ สนามเด็กเล่น หอนาฬิกา ศูนย์การศึกษานอกโรงเรียน สถาบันราชภัฎซึ่งเมื่อก่อนคือวิทยาลัยครู ทุกๆ สถานที่ที่คุ้นเคย ยังปรากฎภาพชัดเจนทุกครั้งที่ระลึกถึง แต่กับสิ่งที่เห็นตรงหน้าในวันนี้ เหลือเพียงแค่ร่องรอยบางส่วนจากอดีต เพราะวันนี้ เมืองเติบโตขึ้นมาก อาคารเก่าๆ ถูกรื้อถอนกลายเป็นห้างสรรพสินค้า พื้นที่รกร้างว่างเปล่าที่เห็นมาตั้งแต่เล็ก…
ฐาปนา
คณะลิเกมาสู่หมู่บ้านด้วยเหตุบังเอิญวันหนึ่ง ยายนุ้ยทำบุญที่บ้านตอนเช้า พอตกบ่าย ก็นิมนต์พระหลานชายที่บวชมาได้สามพรรษาสอบได้นักธรรมโท มาเทศน์ พอตกค่ำ แกก็จ้างลิเกมาเล่นที่ศาลากลางหมู่บ้านวันนั้น ที่บ้านยายนุ้ยจึงมีคนหนาตา โดยเฉพาะช่วงที่มีลิเก เพราะนานนักหนาแล้วที่ไม่มีลิเกมาเล่นในหมู่บ้าน สมัยนี้เวลามีงาน ถ้าไม่ใช่วงดนตรี(อิเลกโทน)นุ่งน้อยห่มน้อย ก็เป็นหนังกลางแปลง ทั้งเด็ก ทั้งผู้ใหญ่ ใครต่อใครก็อยากดู พระเอกรูปหล่อ นางเอกนัยตาคม ตัวโกงหน้าโหด ตัวตลกน่าเตะ เครื่องเพชรแวววับทิ่มทะแยงตา เสียงระนาด ตะโพน รัวเร้าใจ “แหม...ถ้าเป็นไชยา มิตรชัย ละก้อ...เหมาะเลยนิ..…
ฐาปนา
เรื่องมันเริ่มจากคำบอกเล่าของทิดช่วง ในงานศพงานหนึ่ง แกเล่าให้เพื่อนบ้านฟังว่า กลางดึกคืนก่อน แกลุกจากที่นอนมายืนฉี่ที่ริมรั้ว อากาศเย็น น้ำค้างกำลังลง ขณะที่แกกำลังระบายน้ำทิ้งอย่างสบายอารมณ์ สายตาของแกก็เหลือบไปเห็น ดวงไฟดวงใหญ่ ลอยขึ้นๆ ลงๆ อยู่ในความมืดที่ปลายรั้วอีกด้านหนึ่ง ห่างจากตัวแกไปสักสี่ห้าสิบเมตร พอแกเสร็จภารกิจ ชะรอยจะคิดว่าเป็นตัวอะไรสักอย่างมาหากิน แกเลยออกปากไล่ว่า “ชิ้วๆ” เท่านั้นเอง ดวงไฟนั้นก็พุ่งตรงเข้ามาหาแก ทำเอาแกสะดุ้งโหยงจนต้องเผ่นเข้าไปใต้ถุนบ้าน แกกดสวิทช์เปิดไฟใต้ถุน สว่างพรึบ มองซ้าย...มองขวา...มองหน้า...มองหลัง มันคืออะไรกันวะ...? หรือว่า...…
ฐาปนา
บ้านนอก แม้จะไม่สะดวกแต่ก็สบาย ถึงจะร้อนแดดแต่พอเข้าร่มก็เย็น ผิดกับเมืองใหญ่ ที่ร้อนอบอ้าวตลอดปี ฝนจะตกแดดจะออก ความร้อนก็ยังคงสถิตย์อยู่เสมือนเป็นอุณหภูมิประจำเมือง ใครเลยจะคิดว่า ความร้อนจากในเมืองจะแผ่ลามเข้ามาถึงหมู่บ้านที่ปราศจากกลิ่นฟาสต์ฟู้ด ข้อมูลข่าวสารปรากฎทั้งรูปและเรื่องบนหนังสือพิมพ์ในร้านกาแฟ เสียงรายงานข่าวลอยมาจากวิทยุที่แขวนอยู่ข้างตัวเด็กเลี้ยงวัว ทั้งภาพเคลื่อนไหวทั้งเสียงส่งตรงมาเข้าจานดาวเทียมสีเหลืองสดใสเหนือหลังคาร้านค้าของป้านุ้ย ที่ๆ ใครต่อใครก็มาชุมนุมกันตั้งแต่เช้า บ้างซื้อยาสูบ ซื้อขนมเป็นเสบียงก่อนไปนาน บ้างตั้งวงกาแฟกระป๋อง เขียวบ้าง เหลืองบ้าง แดงบ้าง…
ฐาปนา
ณ วงกาแฟ (กระป๋อง) ยามเช้า ตาผวน ลุงใบ และ ตาสุข สามเฒ่านั่งเสวนาเปรียบเทียบเรื่องข้าวกับเรื่องการเมือง “ข้าว่า เรื่องข้าวมันก็เหมือนเรื่องการเมืองนั่นแหละ” ตาสุข เปิดประเด็น “อธิบายที?” ลุงใบถาม “เวลาปลูกข้าว เราก็ต้องเลือกพันธุ์ดีๆ ใช่มั้ยล่ะ ถ้าข้าวพันธุ์ดีก็ไม่ต้องใส่ปุ๋ยใส่ยามาก ทดน้ำเข้านาอย่างเดียว มันก็งอกงาม แต่ข้าวพันธุ์แย่ๆ มันก็ต้องใส่ปุ๋ยหลายกระสอบ ฉีดยาหนักๆ แต่พอโตก็ดันเม็ดลีบ ทำให้ข้าวเสียราคาป่นปี้หมด การเมืองมันก็อย่างเดียวกันละว้า... ถ้าได้คนดีๆ ไปมันก็ไม่โกงกินมาก มันก็ทำงานของมันไป ดีๆ ชั่วๆ อย่างน้อยมันก็บริหารของมันได้ แต่ถ้าได้ไอ้พวกเลวๆ ไป มันก็โกงมันก็กิน…
ฐาปนา
แต่ไหนแต่ไรมา ราคาข้าวแต่ละปีไม่เคยห่างไปจากระดับเกวียนละสี่พัน ห้าพัน อย่างดีที่สุดคือหกพัน เขยิบขึ้นๆ ลงๆ อยู่แค่ สองร้อยบ้าง สามร้อยบ้าง ชาวนาได้ข้าวพอกิน เหลือก็ขาย แต่พอหักค่าปุ๋ยค่ายา ค่าไถ ค่าเกี่ยว ก็ไม่พอกิน สุดท้ายก็ต้องเข้าเมืองไปหางานทำอยู่ดี หน้านาก็ทำนา หมดหน้านาก็เข้ากรุง เป็นวัฎจักรชีวิตสืบทอดจาก ชาวนาเจเนอเรชั่นปู่ จนถึง รุ่นหลาน ก็ยังไม่เปลี่ยนแปลง มาปีนี้ ข้าวเกวียนละหมื่นต้นๆ พอหายใจหายคอได้บ้าง กระนั้นหนี้สินก้อนโตก็ยังยืนค้ำหัวให้กลุ้มใจทุกครั้งที่คิดถึง ตาจิ้มเกี่ยวข้าวได้แปดเกวียน หักนู่นหักนี่ไปแล้วเหลือเข้ากระเป๋าสามหมื่นกว่า บางคนว่า…
ฐาปนา
ยุคข้าวยากหมากแพง สินค้าเกษตรจำพวกพืชผักเวลานี้ ราคาดีแทบทุกอย่าง ตั้งแต่ข้าวซี่งแม้จะราคาตกมาหน่อย แต่ก็ดีกว่าปีก่อนๆ มากอื่นๆ ก็อาทิเช่นกะเพรา-ผักใบ ขาดไม่ได้สำหรับร้านอาหารตามสั่ง แม่ค้าขายที่หน้าแผงกำละ 5-7 บาท แต่แม่ค้าคนกลางมารับซื้อที่หน้าไร่กิโลกรัมละ 5-10 บาทบวบ-ผักธรรมดาแต่ราคาไม่เคยตก ราคาจากสวนกิโลกรัมละ 7-10 บาทกล้วยน้ำว้า-ผลไม้บ้านๆ ธรรมดาสุดๆ แต่ขอโทษที-นาทีนี้ พ่อค้ามารับซื้อถึงสวนกล้วย หวีละ 8 บาทเป็นอย่างน้อย(ลูกเล็ก) เครือหนึ่งมีสักสิบหวี ก็เกือบร้อยบาทแล้ว
ฐาปนา
สังคมชาวบ้าน แม้จะอยู่คนละหมู่บ้าน คนละตำบล คนละอำเภอ หรือแม้แต่คนละจังหวัด ถ้าได้ชื่อว่าเป็น “คนมีตังค์” ต่อให้ไกลแค่ไหน เมื่อมีใครสักคนพูดถึง ก็จะมีคนจดจำไว้ ถ้าอยู่ใกล้หน่อยก็มีคนรู้จัก เผลอๆ รู้ไปถึงวงศ์วานว่านเครือนู่น เหมือนที่เขาว่า มีเงินก็นับเป็นญาติ ใส่ผ้าขาดถึงเป็นญาติก็ไม่นับ อย่าง ตาผล คนตำบลใกล้เคียงไปได้เมียที่สมุทรสาคร ทำบ่อเลี้ยงปลา จนกระทั่งมีรถกระบะ 2-3 คัน เปิดร้านคอมพิวเตอร์ให้น้องเมียดูแล ลุงเปลี่ยน อยู่ท้ายหมู่บ้าน ใครก็รู้ว่ามีหนี้เยอะ แต่พอไปเป็นพ่อค้าคนกลางตระเวนซื้อของจากแถวบ้านไปขายที่กรุงเทพฯ ก็เริ่มมีตังค์ ปลดหนี้สินไปจนหมด แถมกำลังจะปลูกบ้านใหม่…