“...ที่สุดแล้ว ปัญหาการเมืองรวมถึงปัญหาส่วนตัวทุกเรื่อง เมื่อสืบเสาะลงไปให้ลึกที่สุดจะพบว่า เป็นปัญหาทางจิตวิญญาณทั้งนั้น ทุกชีวิตเป็นเรื่องของจิตวิญญาณ ฉะนั้นปัญหาทุกอย่างของชีวิตจึงมีต้นตอมาจากจิตวิญญาณและจะแก้ไขได้ด้วยวิธีทางจิตวิญญาณ สงครามเกิดขึ้นเพราะใครบางคนมีสิ่งที่อีกคนอยากได้ นี่คือสิ่งที่ทำให้คนบางคนทำสิ่งที่อีกคนไม่อยากให้ทำ
ความขัดแย้งทุกชนิดเกิดจากการวางความปรารถนาไว้ผิดที่
สินติเดียวที่จะยั่งยืนได้ในโลกหล้าคือศานติภายใน
ให้แต่ละคนค้นพบสันติในใจตน เมื่อนั้นเธอจะพบว่า เธอไม่ต้องพึ่งพาอะไรอีก...”
(สนทนากับพระเจ้าเล่ม 2 หน้า 204)
สำหรับผู้ที่เคยอ่านสนทนากับพระเจ้าเล่ม 1 มาแล้ว การได้อ่านสนทนากับพระเจ้าเล่ม 2 ในรอบแรกๆ เป็นไปได้ที่จะรู้สึกแตกต่าง ไม่คุ้นเคย ด้วยเนื้อหาส่วนใหญ่เน้นหนักไปในเรื่องปัญหาที่มนุษยชาติกำลังประสบร่วมกันอยู่ ทั้งความอดอยากหิวโหย ความเป็นธรรมในด้านเศรษฐกิจ-สังคม, การศึกษา, การจัดการทรัพยากร ฯลฯ อาจกล่าวได้ว่า หากเล่ม 1 คือการทบทวนตนเอง เล่ม 2 ก็คือการทบทวนสังคมโลก และที่ดูเหมือนจะยอกย้อนก็คือ เมื่อพิจารณาถึง สาเหตุสำคัญของทุกปัญหาในโลก เรากลับต้องย้อนมาทบทวนจิตสำนึกของตนเอง
“...เธอไม่อาจแก้ปัญหาที่กระหน่ำมนุษยชาติอยู่นี้ได้ด้วยมาตรการของรัฐบาลหรือกลไกทางการเมืองหรอกนะ เธอพยายามทำอย่างนี้มาเป็นพันๆ ปีแล้ว การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นจะเกิดได้ที่เดียวเท่านั้นคือ ในหัวใจของมวลมนุษย์...” (หน้า 231)
ความจริงที่ตีแสกหน้าเรานั่นคือ ข้อความที่ว่า หลายพันปีแห่งอารยธรรมมนุษย์ จิตสำนึกของเราไม่ได้วิวัฒน์ไปไกลสักเท่าใดเลย เรายังคงปล่อยให้ผู้คนมากมายอดอยากหิวโหย เรายังคงยอมรับระบบใครดีใครได้ให้คงอยู่ต่อไปในสังคม เรายังคงข่มขืนทำลายทรัพยากรธรรมชาติอย่างรุนแรงและต่อเนื่อง เรายังคงก่อสงครามทำลายชีวิตเพื่อนมนุษย์ด้วยความเห็นแก่ตัวอย่างสุดโต่ง และเรายังคงออกกฎหมายกันไม่หยุดหย่อนเพื่อบังคับให้ทุกคนเป็น “คนดี”
“เรา” ที่หมายถึงมนุษย์ทุกคน ย่อมไม่อาจปฏิเสธความรับผิดชอบที่มีต่อโลกที่เราอยู่อาศัย ไม่ว่าจะชาวป่าผู้อยู่อย่างกลมกลืนกับธรรมชาติ หรือชาวเมืองผู้อยู่กับความศิวิไลซ์ก็ตาม, แน่ละ หากมองอย่างปัจเจก ใครก็ย่อมกล่าวได้ว่า ฉันไม่ได้ฆ่าใคร ฉันไม่ได้ตัดไม้ทำลายป่า ฉันไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการปกครองที่ก่อความเดือดร้อนให้กับชนชั้นล่าง แต่ในฐานะปัจเจก มีใครบ้างเล่าที่ดำรงอยู่ได้โดยไม่ต้องพึ่งพาสังคม?
ทุกชีวิตล้วนต้องเกี่ยวพันกับสังคมไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งสังคมเมือง ที่ไม่ยินยอมให้สิทธิการดำรงตนอย่างโดดเดี่ยวแก่ผู้ใด ฉะนั้น ปัญหาที่เกิดกับสังคม ไม่ว่าใกล้หรือไกลตัว มนุษย์ทุกผู้ล้วนเกี่ยวข้องด้วยกันทั้งสิ้น ปัญหาสำคัญก็คือ สำนึกรับผิดชอบต่อสังคมของแต่ละคน ไม่ได้มีมากพอที่จะขับเคลื่อนหรือเปลี่ยนแปลงสิ่งใดๆ ได้เลย
ถามว่า การเปลี่ยนแปลงในระดับจิตสำนึกนั้นควรเริ่มต้นที่ใด? ที่ใคร?
“...จิตสำนึกที่แผ่ขยายไปทั่วโลก คือสิ่งจำเป็นสำหรับตอนนี้ ทว่ามันจะเกิดขึ้นอย่างไรใช่ไหม...ต้องมีใครสักคนเริ่มไง โอกาสรอเธออยู่ตรงหน้าแล้ว เธอเป็นบ่อเกิดของจิตสำนึกใหม่ได้ เธอสามารถเป็นแรงบันดาลใจ จริงๆ แล้วเธอนั่นละที่ต้องเป็น...” (หน้า 232)
ในส่วนของความเห็นของ “พระเจ้า” ต่อคำถามในเรื่องสังคม ข้อแนะนำให้ยกเลิกรูปแบบเดิมๆ ขององค์กรในโครงสร้างของสังคม อาจดูเหมือนแนวคิดแบบอนาธิปไตย แต่เหตุผลที่ว่า แท้จริงแล้ว การวิวัฒน์สู่จิตสำนึกใหม่ของมนุษยชาติ มีปัญหาอยู่ที่ใครบางคนไม่ยอมให้มีการแบ่งปัน หรือเปลี่ยนแปลงเพราะมันคือผลประโยชน์มหาศาล รวมทั้งการเปิดเผยระบบการเงินที่จะทำให้ “ผู้คนไม่สามารถทำในสิ่งที่ตนไม่อยากให้คนอื่นรู้ได้อีกต่อไป” เป็นข้อสังเกตที่น่าพิจารณามาก
โดยเฉพาะประเด็นที่ว่าหากใช้ “การเปิดเผย” (visibility) ซึ่งเป็นความจริงที่เรียบง่ายตรงไปตรงมา เป็นรากฐานของทุกอย่างของสังคม ความคดโกง ความไม่เป็น ความไม่เสมอภาคต่างๆ ในสังคมจะหมดสิ้นไปทันที ซึ่งแน่ละ ผู้มีอำนาจและผู้มีเงินตราในสังคมย่อมต่อต้านเรื่องเหล่านี้อย่างถึงที่สุด และหากเป็นเช่นนั้นจริง ก็ชวนให้คิดเหลือเกินว่า หรือแท้จริงแล้ว ชนชั้นนำเหล่านี้นี่เอง เป็นตัวขัดขวางการวิวัฒน์ของจิตสำนึกใหม่ของสังคม?
การคาดหวังให้การเปลี่ยนแปลงเริ่มต้นที่จุดบนสุดของสังคมแล้วแผ่ขยายลงมาสู่เบื้องล่าง คืออุดมคติที่เป็นเพียงภาพลวงแห่งความฝันของการปกครองทุกระบอบในโลก ไม่ว่าจะเป็นประชาธิปไตย, เผด็จการ,สังคมนิยม, ราชาธิปไตย หรือแบบใดก็ตามแต่ ผู้คาดหวังถึงสิ่งดีงามจากผู้ปกครองมักจะต้องพบกับผลลัพธ์เดียวกันทั้งสิ้นนั่นคือ ความผิดหวัง
เราไม่อาจหวังให้ผุ้มีอำนาจทำให้สังคมดีขึ้น เช่นเดียวกับเราก็ไม่อาจหวังได้ว่า สักวันหนึ่งหากเรามีอำนาจเราจะเปลี่ยนสังคมให้ดีอย่างที่เราต้องการ เพราะนอกจากจะเป็นจริงได้ยากแล้ว ยังไม่มีใคร(แม้แต่ตัวเรา)ที่จะกล้ารับประกันว่า หากวันใดเรามีเงิน มีอำนาจ เรายังคงเป็นเราคนเดิมอยู่หรือไม่ มีตัวอย่างของคนมากมายที่เปลี่ยนแปลงไปเมื่อได้ขึ้นเถลิงอำนาจ จากที่เคยมีความสามารถมีความดีพอเป็นความหวังอยู่ได้บ้าง ก็กลับกลายเป็นมัวเมาเสพติดในอำนาจ และเป็นอันตรายถึงขั้นทำให้สังคมแตกแยก
เราไม่อาจหวังให้ใครดีได้ ชีวิตและชะตากรรมของผู้อื่นคือสิทธิ์ของผู้นั้น ไม่ใช่ของเรา
สิ่งเดียวที่เราหวังได้ คือตัวเราเอง
จิตสำนึกใหม่ ท่ามกลางสังคมที่กำลังล่มสลาย อยู่ภายในตัวเราทุกคน
โลกอารยะหรือโลกพระศรีอาริย์ที่ทุกคนใฝ่ฝัน อาจอยู่เพียงแค่ “ปลายจมูก” ดังที่ท่านพุทธทาสเคยกล่าวไว้ แต่เราคาดหวังไปไกล จนมองข้ามความเป็น “ผู้สร้าง” หรือศักยภาพของตัวเราเอง
หากความหวังใดๆ ไม่ได้ก่อเกิดขึ้นจากตัวเราแล้ว เรายังจะหวังได้ที่ใคร ?
** ขอขอบคุณ คุณอัฐพงศ์ เพลินพฤกษา สำหรับหนังสือสนทนากับพระเจ้าเล่ม 2 และความปรารถนาดีเสมอมา