Skip to main content

วัยเยาว์ของเธอ

ขณะที่หัวใจครึ่งหนึ่งเปี่ยมด้วยความฝันและความหวัง ทะเยอทะยานปรารถนา แต่หัวใจอีกครึ่งกลับอ่อนไหว บอบช้ำง่าย ทั้งยังอ่อนด้อยต่อโลกแห่งเหตุผล

อนาคตเลือนลางอยู่ในความฝันยามหลับ และวนเวียนอยู่ในความคิดยามตื่น


เธอร่ำร้องหาบางสิ่งบางอย่างที่เธอไม่อาจบอกได้ มองไม่เห็น ไม่รู้จุดเริ่มต้น ไม่รู้จุดสิ้นสุด พลังสร้างสรรค์ของเธอฟุ้งกระจาย ไร้ทิศทาง

เมื่อคำว่า ความพร้อม อยู่ห่างจากความเข้าใจ เธอจึงได้แต่ก่นโทษตนเองอยู่เป็นนิจ


เธอร่อนเร่ไปในเมืองของผู้อื่น จากเมืองสู่เมือง แลกความเพียรกับเงินเลี้ยงชีพ ยิ้มแย้มให้คำดูหมิ่นเพื่อจะได้เห็นเกียรติของตนเสื่อมค่าลง


เธอค่อยๆ เรียนรู้ว่า การงานคือความภาคภูมิของชีวิต หากการงานนั้นขาดความภาคภูมิ เธอก็คล้ายสิ่งไร้ชีวิตเข้าไปทุกขณะ

หากไม่ให้ค่ากับหัวใจตนเอง ชีวิตของเธอจะไม่ได้เป็นของเธอ


วัยหนุ่มสาวหมดไปกับการแสวงหา ยอมตนลงเพื่อรับใช้ผู้อื่น เพื่อจะได้ประทับความรู้สึกเหนื่อยหน่ายของความว่างเปล่า

เธอจำเป็นต้องเห็นสิ่งที่เธอปรารถนาจะหลีกพ้นให้กระจ่างชัด เพื่อจะได้เห็นจุดหมายที่ควรมุ่งไปให้ชัดยิ่งกว่าเดิม


และแล้ว...

เมื่อเธอเติบโตขึ้น ล่วงเข้าสู่วัยหนึ่ง ความระอุอ้าวในดวงวิญญาณได้สงบระงับลง สิ่งที่เธอเคยปรารถนาไว้แต่ไม่อาจกระทำได้ ก็กลายมาเป็นร่มเงาให้แก่ช่วงวันอันยาวนาน เธอมองหาความสุขในสิ่งเล็กน้อย รอยยิ้ม คำขอบคุณ และเสียงหัวเราะ นั้นเป็นสิ่งชุบชูใจ


ความจริงได้ตอกตรึงเธอไว้กับชีวิต เหลือพื้นที่ให้ฟุ้งฝันเพียงเล็กน้อย แต่เธอได้ดวงตาที่เปิดกว้าง และดวงใจที่เติมเต็มมาแทนที่

แม้จะไร้คำประกาศและมาลัย แต่นี่มิใช่ดอกผลที่คุ้มค่าหรอกหรือ ?


การอดทนและการรอคอยคือบทเรียนที่สำคัญ

เธอไม่อาจปลูกต้นไม้ในผืนดินที่แห้งแล้ง ไม่อาจเก็บผลผลิตหากมันยังไม่สุกงอม เธอได้เรียนรู้ว่า ธรรมชาติจะมอบช่วงเวลาที่เหมาะสมให้โดยไม่ขึ้นกับคำร้องขอ


สิ่งที่ท้าทายคือสิ่งที่ไม่อาจล่วงรู้ เพราะนาฬิกาชีวิตไร้หน้าปัด แต่ละคน แต่ละเรือน รู้เมื่อพร้อม เมื่อยังไม่รู้ จึงต้องใช้ชีวิตในวันนี้อย่างที่ควรใช้


เหมือนการยืนรอคอยยามรุ่งสาง เธอไม่อาจเห็นเงาตน จนกระทั่งแสงแรกของดวงตะวันพ้นขอบฟ้า เมื่อนั้นเธอจึงเห็นอีกด้านของชีวิต


เมื่อเสียงจากภายในร่ำร้อง เธอจึงกลับสู่ผืนดินที่ฝังรกเธอไว้

ผืนดินที่เธอรู้มาตลอดชีวิตว่าเธอไม่อาจเป็นสุขได้ หากไม่ได้กลับมา แม้ว่าผู้คนรอบข้างจะเป็นดังวัชพืช แต่เธอก็เข้มแข็งขึ้นมาก แกร่งพอจะปฏิเสธหนามไหน่และการเกาะเกี่ยวของพวกมัน เธอรู้ว่าคนเหล่านี้ พร้อมจะกัดกินคนขลาด แต่กลับหวาดคนกล้า


พวกมันก็รู้ จึงไม่เข้าใกล้เธอ

แรกนั้น เธอหวังใช้ต้นทุนจากประสบการณ์ชีวิตเพื่อการค้า แต่แล้วเมื่อต้นไม้ใบหญ้า ปลุกเธอขึ้นด้วยกลิ่นหอมและรสอันดิบบริสุทธิ์ของมัน เธอกลับเห็นหนทางกระจ่างชัด


ผืนดิน

ผืนดินบ้านเกิดของเธอ คืออุทรอันยิ่งใหญ่ของแม่ธรณี สร้างชีวิตนับเอนกอนันต์ มอบชีวิต สู่ชีวิต ทั้งยังเป็นที่จบสิ้นของทุกชีวิต มารดาของโลก

ดินดำที่พร้อมแก่การเพาะปลูก กระซิบบอกเธอถึงสิ่งที่ต้องทำ เธอฟัง และตามเสียงนั้นไป การงานยิ่งเป็นรูปเป็นร่างเมื่อลงมือไถหว่าน


วันแล้ววันเล่า เธอเปี่ยมสุขจากการได้กลับมาดูแลมารดาผู้ชรา รอยยิ้มและเสียงหัวเราะที่หายไปกลับคืนมาอีกครั้ง เธอได้รับการถ่ายทอดภูมิปัญญาของบรรพบุรุษ ได้เก็บเกี่ยวอาหารจากผืนดินที่เลี้ยงเธอมาตั้งแต่เกิด เก็บเพื่อกินเอง มีมากก็ขาย


รายได้จากการขายผลผลิตไม่อาจเทียบได้กับค่าจ้างที่เธอเคยได้รับ แต่เธอกลับเป็นสุขยิ่งกว่า ภาคภูมิยิ่งกว่า

อาหารจากพืชผักรอบบ้าน ก็มิใช่อาหารรสเลิศ แต่ข้าวทุกเม็ด ผักทุกใบ ปราศจากสารทำลายชีวิต และความสดเป็นรสชาติที่ทรงพลังในตัวของมันเอง พริก น้ำตาล น้ำปลา มะนาว ล้วนของใกล้มือ

ทุกวัตถุดิบ เสมือนเส้นสีที่เธอใช้ปรุงแต่งอาหารตามแต่จินตนาการจะพาไป

อาหารรสมือเธอนั่นเอง ที่สร้างเรี่ยวแรงให้ขันแข็งต่อการงานตลอดวัน


เมื่อครั้งยังต้องรับใช้ผู้อื่น ทุกอรุณรุ่ง เธอตื่นด้วยความเหนื่อยหน่ายเพื่อจะดำเนินชีวิตเป็นวงกลมที่มืดมน ทุกราตรี เธอเข้านอนด้วยความเหนื่อยอ่อน และปรารถนาจะตื่นมาแล้วพบกับชีวิตใหม่


แต่ที่บ้านเกิด เธอตื่นก่อนตะวันขึ้น หุงข้าว ทำกับข้าว รอใส่บาตรพระ ทำความสะอาดบ้าน เข้าไร่ เก็บผัก อย่างไม่รู้เหน็ดเหนื่อย

เธอเข้านอนหลังมหรสพในจอสี่เหลี่ยมจบลง ใช้ชีวิตเรียบง่ายทุกวันคืน

เป็นวงกลมเช่นเดิม แต่สว่างไสวราวเดือนเพ็ญ


วันหนึ่ง เมื่อหมู่เมฆฤดูหนาวมาเยือน เธอมองพืชพันธุ์ที่เธอปลูกเติบโตเต็มผืนดินด้วยความภาคภูมิ พริก กะเพรา โหระพา ผักหวานบ้าน บวบ แมงลัก และอีกหลายอย่าง ผสมผสานกันไป เก็บขายได้ทุกวัน ไม่มากมาย แต่เกินพอสำหรับรายจ่ายประจำวันอันน้อยนิด


เธอหวนคิดถึงอดีต วันวัยที่ถูกเหวี่ยงไปตามยุคสมัย เคว้งคว้างล่องลอย พร่องอยู่ตลอดเวลา เพราะแสวงหาแต่ภายนอก

ก้มมองดินดำชุ่มชื้น ไส้เดือนโผล่ออกมาทักทาย

เงยหน้ารับแสงแดดสีทอง, สิ่งศักสิทธิ์อันสามัญ

ลำคลองหลังบ้านยังเปี่ยมน้ำ เหมือนหัวใจเธอที่เต็มเปี่ยมด้วยความรู้สึก


เธอคุกเข่าลง ก้มกราบแม่พระธรณี ท้นด้วยสำนึกในพระคุณที่ไม่อาจทดแทนได้


ผืนดินบ้านเกิด

 

 


บล็อกของ ฐาปนา

ฐาปนา
พี่หวี จอดรถเครื่องที่ใต้ร่มมะขาม แกเดินหน้าเซ็งมานั่งที่เปล คุยเรื่องนู้นเรื่องนี้อยู่พักหนึ่ง นอนแกว่งเปลถอนหายใจสามเฮือกใหญ่ ก่อนจะระบายความในใจออกมาด้วยประโยคเดิมๆ ว่า "...เบื่อว่ะ...ไอ้เปี๊ยกกับเมียมันทะเลาะกันอีกแล้ว..."เจ้าบุญ น้าเปีย เจ้าปุ๊ก ที่กำลังนั่งแกะมะขามสุกเอาไว้ทำมะขามเปียก ก็หันมาพยักหน้ารับรู้ แล้วก็ปล่อยให้พี่หวีได้พูดระบายความเครียดไป ถามบ้างเป็นบางครั้ง แต่ส่วนใหญ่ทุกคนจะนั่งฟังอย่างเห็นอกเห็นใจ
ฐาปนา
  ปลายสัปดาห์นั้น หมู่บ้านคึกคักเป็นพิเศษ เพราะผู้ใหญ่บ้านประกาศล่วงหน้ามานานหลายวันแล้วว่า วันศุกร์สุดท้ายของเดือน ผู้ว่าราชการจังหวัดจะลงพื้นที่มาตรวจเยี่ยมชาวบ้าน มารับฟังปัญหา จึงขอเชิญชาวบ้านมาร่วมพูดคุยแลกเปลี่ยนสารทุกข์สุขดิบกันซึ่งอันที่จริง การขอเชิญ นั้น ก็มีการขอร้อง กึ่งๆ ขอแรง ปะปนอยู่ด้วย เพราะช่วงเวลาดังกล่าว ชาวบ้านส่วนใหญ่กำลังวุ่นกับงานในไร่ เตรียมจะปลูกแตงกวา มะเขือเทศ ถั่วฝักยาวกันนานๆ จะมีเจ้าใหญ่นายโตมาเยี่ยมหมู่บ้าน ใครต่อใครก็เลยต้องทำความสะอาด ปัดกวาดบ้านกันใหญ่ เพราะเดี๋ยวถ้าเกิดแจ๊กพ็อต ผู้ว่าฯ เดินเข้ามาหาถึงบ้าน แล้วบ้านรกยังกับรังนก เป็นได้อายเขาตายเลย…
ฐาปนา
ชาวนาชาวไร่ ฟังวิทยุ มากกว่าดูโทรทัศน์ มากกว่าดูหนัง มากกว่าอ่านหนังสือ เพราะการงานในไร่ตั้งแต่เช้าจรดค่ำ ไม่เอื้ออำนวยให้เอาสายตาและเวลาไปใช้อย่างอื่น เสียงเพลงและ เสียงข่าว จึงดังแว่วมาตามลมตั้งแต่ริมคลองส่งน้ำด้านทิศเหนือไปจนจรดทุ่งนาติดชายป่า ด้านทิศใต้ สมัยนี้วิทยุเครื่องเล็กๆ ใช้ถ่านก้อนเดียว เครื่องละแค่ไม่กี่ร้อย ใครๆ ก็ซื้อได้ ขนาดเจ้าโหน่ง เด็กเลี้ยงวัว ยังห้อยโทรศัพท์มือถือฟังวิทยุได้ ... น่าน! เท่ห์ซะไม่มี ฟังกันมากที่สุด ก็ต้องเป็นเพลงลูกทุ่งทั้งเก่าทั้งใหม่ รองลงมาก็สตริง ส่วนคนมีอายุก็ชอบฟังข่าว ฟังเทศน์ฟังธรรม
ฐาปนา
สองเดือนผ่านไป คณะลิเก กลายเป็นส่วนหนึ่งของหมู่บ้าน กลายเป็นมหรสพประจำหมู่บ้าน ซึ่งไม่เพียงแค่คนในหมู่ แต่คนต่างหมู่ ต่างตำบลยังพากันมาดู แต่ละคืน ที่ศาลาประจำหมู่บ้านซึ่งกลายสภาพเป็นโรงลิเก จะมีเก้าอี้พลาสติกสะอาดสะอ้านจำนวนสิบกว่าตัววางไว้อย่างมีระเบียบ รอผู้ชมขาประจำมานั่ง
ฐาปนา
ปลายเดือนตุลาคม ผมกลับไปเยี่ยมบ้านเกิดครั้งแรกในรอบหลายปี ทั้งที่จริง ผมไม่มีความจำเป็นจะต้องไปแต่อย่างใด เพราะครอบครัวของผม บ้านของผม ไม่ได้อยู่ที่นี่แล้ว สิ่งที่ยังเหลืออยู่ มีเพียงความทรงจำตลอดสิบแปดปีที่ผมได้เติบโตมา โรงเรียน บ้านพักอาจารย์ สนามเด็กเล่น หอนาฬิกา ศูนย์การศึกษานอกโรงเรียน สถาบันราชภัฎซึ่งเมื่อก่อนคือวิทยาลัยครู ทุกๆ สถานที่ที่คุ้นเคย ยังปรากฎภาพชัดเจนทุกครั้งที่ระลึกถึง แต่กับสิ่งที่เห็นตรงหน้าในวันนี้ เหลือเพียงแค่ร่องรอยบางส่วนจากอดีต เพราะวันนี้ เมืองเติบโตขึ้นมาก อาคารเก่าๆ ถูกรื้อถอนกลายเป็นห้างสรรพสินค้า พื้นที่รกร้างว่างเปล่าที่เห็นมาตั้งแต่เล็ก…
ฐาปนา
คณะลิเกมาสู่หมู่บ้านด้วยเหตุบังเอิญวันหนึ่ง ยายนุ้ยทำบุญที่บ้านตอนเช้า พอตกบ่าย ก็นิมนต์พระหลานชายที่บวชมาได้สามพรรษาสอบได้นักธรรมโท มาเทศน์ พอตกค่ำ แกก็จ้างลิเกมาเล่นที่ศาลากลางหมู่บ้านวันนั้น ที่บ้านยายนุ้ยจึงมีคนหนาตา โดยเฉพาะช่วงที่มีลิเก เพราะนานนักหนาแล้วที่ไม่มีลิเกมาเล่นในหมู่บ้าน สมัยนี้เวลามีงาน ถ้าไม่ใช่วงดนตรี(อิเลกโทน)นุ่งน้อยห่มน้อย ก็เป็นหนังกลางแปลง ทั้งเด็ก ทั้งผู้ใหญ่ ใครต่อใครก็อยากดู พระเอกรูปหล่อ นางเอกนัยตาคม ตัวโกงหน้าโหด ตัวตลกน่าเตะ เครื่องเพชรแวววับทิ่มทะแยงตา เสียงระนาด ตะโพน รัวเร้าใจ “แหม...ถ้าเป็นไชยา มิตรชัย ละก้อ...เหมาะเลยนิ..…
ฐาปนา
เรื่องมันเริ่มจากคำบอกเล่าของทิดช่วง ในงานศพงานหนึ่ง แกเล่าให้เพื่อนบ้านฟังว่า กลางดึกคืนก่อน แกลุกจากที่นอนมายืนฉี่ที่ริมรั้ว อากาศเย็น น้ำค้างกำลังลง ขณะที่แกกำลังระบายน้ำทิ้งอย่างสบายอารมณ์ สายตาของแกก็เหลือบไปเห็น ดวงไฟดวงใหญ่ ลอยขึ้นๆ ลงๆ อยู่ในความมืดที่ปลายรั้วอีกด้านหนึ่ง ห่างจากตัวแกไปสักสี่ห้าสิบเมตร พอแกเสร็จภารกิจ ชะรอยจะคิดว่าเป็นตัวอะไรสักอย่างมาหากิน แกเลยออกปากไล่ว่า “ชิ้วๆ” เท่านั้นเอง ดวงไฟนั้นก็พุ่งตรงเข้ามาหาแก ทำเอาแกสะดุ้งโหยงจนต้องเผ่นเข้าไปใต้ถุนบ้าน แกกดสวิทช์เปิดไฟใต้ถุน สว่างพรึบ มองซ้าย...มองขวา...มองหน้า...มองหลัง มันคืออะไรกันวะ...? หรือว่า...…
ฐาปนา
บ้านนอก แม้จะไม่สะดวกแต่ก็สบาย ถึงจะร้อนแดดแต่พอเข้าร่มก็เย็น ผิดกับเมืองใหญ่ ที่ร้อนอบอ้าวตลอดปี ฝนจะตกแดดจะออก ความร้อนก็ยังคงสถิตย์อยู่เสมือนเป็นอุณหภูมิประจำเมือง ใครเลยจะคิดว่า ความร้อนจากในเมืองจะแผ่ลามเข้ามาถึงหมู่บ้านที่ปราศจากกลิ่นฟาสต์ฟู้ด ข้อมูลข่าวสารปรากฎทั้งรูปและเรื่องบนหนังสือพิมพ์ในร้านกาแฟ เสียงรายงานข่าวลอยมาจากวิทยุที่แขวนอยู่ข้างตัวเด็กเลี้ยงวัว ทั้งภาพเคลื่อนไหวทั้งเสียงส่งตรงมาเข้าจานดาวเทียมสีเหลืองสดใสเหนือหลังคาร้านค้าของป้านุ้ย ที่ๆ ใครต่อใครก็มาชุมนุมกันตั้งแต่เช้า บ้างซื้อยาสูบ ซื้อขนมเป็นเสบียงก่อนไปนาน บ้างตั้งวงกาแฟกระป๋อง เขียวบ้าง เหลืองบ้าง แดงบ้าง…
ฐาปนา
ณ วงกาแฟ (กระป๋อง) ยามเช้า ตาผวน ลุงใบ และ ตาสุข สามเฒ่านั่งเสวนาเปรียบเทียบเรื่องข้าวกับเรื่องการเมือง “ข้าว่า เรื่องข้าวมันก็เหมือนเรื่องการเมืองนั่นแหละ” ตาสุข เปิดประเด็น “อธิบายที?” ลุงใบถาม “เวลาปลูกข้าว เราก็ต้องเลือกพันธุ์ดีๆ ใช่มั้ยล่ะ ถ้าข้าวพันธุ์ดีก็ไม่ต้องใส่ปุ๋ยใส่ยามาก ทดน้ำเข้านาอย่างเดียว มันก็งอกงาม แต่ข้าวพันธุ์แย่ๆ มันก็ต้องใส่ปุ๋ยหลายกระสอบ ฉีดยาหนักๆ แต่พอโตก็ดันเม็ดลีบ ทำให้ข้าวเสียราคาป่นปี้หมด การเมืองมันก็อย่างเดียวกันละว้า... ถ้าได้คนดีๆ ไปมันก็ไม่โกงกินมาก มันก็ทำงานของมันไป ดีๆ ชั่วๆ อย่างน้อยมันก็บริหารของมันได้ แต่ถ้าได้ไอ้พวกเลวๆ ไป มันก็โกงมันก็กิน…
ฐาปนา
แต่ไหนแต่ไรมา ราคาข้าวแต่ละปีไม่เคยห่างไปจากระดับเกวียนละสี่พัน ห้าพัน อย่างดีที่สุดคือหกพัน เขยิบขึ้นๆ ลงๆ อยู่แค่ สองร้อยบ้าง สามร้อยบ้าง ชาวนาได้ข้าวพอกิน เหลือก็ขาย แต่พอหักค่าปุ๋ยค่ายา ค่าไถ ค่าเกี่ยว ก็ไม่พอกิน สุดท้ายก็ต้องเข้าเมืองไปหางานทำอยู่ดี หน้านาก็ทำนา หมดหน้านาก็เข้ากรุง เป็นวัฎจักรชีวิตสืบทอดจาก ชาวนาเจเนอเรชั่นปู่ จนถึง รุ่นหลาน ก็ยังไม่เปลี่ยนแปลง มาปีนี้ ข้าวเกวียนละหมื่นต้นๆ พอหายใจหายคอได้บ้าง กระนั้นหนี้สินก้อนโตก็ยังยืนค้ำหัวให้กลุ้มใจทุกครั้งที่คิดถึง ตาจิ้มเกี่ยวข้าวได้แปดเกวียน หักนู่นหักนี่ไปแล้วเหลือเข้ากระเป๋าสามหมื่นกว่า บางคนว่า…
ฐาปนา
ยุคข้าวยากหมากแพง สินค้าเกษตรจำพวกพืชผักเวลานี้ ราคาดีแทบทุกอย่าง ตั้งแต่ข้าวซี่งแม้จะราคาตกมาหน่อย แต่ก็ดีกว่าปีก่อนๆ มากอื่นๆ ก็อาทิเช่นกะเพรา-ผักใบ ขาดไม่ได้สำหรับร้านอาหารตามสั่ง แม่ค้าขายที่หน้าแผงกำละ 5-7 บาท แต่แม่ค้าคนกลางมารับซื้อที่หน้าไร่กิโลกรัมละ 5-10 บาทบวบ-ผักธรรมดาแต่ราคาไม่เคยตก ราคาจากสวนกิโลกรัมละ 7-10 บาทกล้วยน้ำว้า-ผลไม้บ้านๆ ธรรมดาสุดๆ แต่ขอโทษที-นาทีนี้ พ่อค้ามารับซื้อถึงสวนกล้วย หวีละ 8 บาทเป็นอย่างน้อย(ลูกเล็ก) เครือหนึ่งมีสักสิบหวี ก็เกือบร้อยบาทแล้ว
ฐาปนา
สังคมชาวบ้าน แม้จะอยู่คนละหมู่บ้าน คนละตำบล คนละอำเภอ หรือแม้แต่คนละจังหวัด ถ้าได้ชื่อว่าเป็น “คนมีตังค์” ต่อให้ไกลแค่ไหน เมื่อมีใครสักคนพูดถึง ก็จะมีคนจดจำไว้ ถ้าอยู่ใกล้หน่อยก็มีคนรู้จัก เผลอๆ รู้ไปถึงวงศ์วานว่านเครือนู่น เหมือนที่เขาว่า มีเงินก็นับเป็นญาติ ใส่ผ้าขาดถึงเป็นญาติก็ไม่นับ อย่าง ตาผล คนตำบลใกล้เคียงไปได้เมียที่สมุทรสาคร ทำบ่อเลี้ยงปลา จนกระทั่งมีรถกระบะ 2-3 คัน เปิดร้านคอมพิวเตอร์ให้น้องเมียดูแล ลุงเปลี่ยน อยู่ท้ายหมู่บ้าน ใครก็รู้ว่ามีหนี้เยอะ แต่พอไปเป็นพ่อค้าคนกลางตระเวนซื้อของจากแถวบ้านไปขายที่กรุงเทพฯ ก็เริ่มมีตังค์ ปลดหนี้สินไปจนหมด แถมกำลังจะปลูกบ้านใหม่…