Skip to main content

ในช่วงสองสามเดือนแรกของการมาเรียนที่เบอร์ลิน (กันยายน - พฤศจิกายน ที่ผ่านมา) ที่ผ่านมา ห้องเรียนของผมส่วนมากจะอยู่ในพิพิธภัณฑ์ทางมานุษยวิทยาและศิลปะ (จริงๆแล้ว ไม่ควรเรียกแบบนี้ เพราะที่เบอร์ลินไม่ค่อยมีความคิดเรื่องแยกสาขาวิชา - แต่ไม่รู้จะเรียกว่าอะไรในตอนนี้) ผมตระเวนจดบันทึกพิพิธภัณฑ์ นิทรรศการ และการจัดแสดงจำนวนหลายต่อหลายที่ซึ่งเน้นการแสดงผ่านวัตถุและชิ้นงานศิลปะทั้งในเชิงภาพและเสียง แน่นอน ผมประสบปัญหามากมายทั้งการสื่อสาร (นี่เป็นสาเหตุหนึ่งที่ต้องเรียนเยอรมัน) ความเจ็บป่วยการปรับตัว และคำถามมากมายที่ไม่อาจตอบได้ ส่วนหนึ่งคงเป็นเพราะ ผมเดินทางมาถึงก็เริ่มเรียนเลย ไม่มีเวลาปรับตัว

กระทั่งวันหนึ่ง ผมค้นพบพลังบางอย่างที่เข้ามากระทบใจอย่างจัง โดยบังเอิญ ผมมีโอกาสไปชมนิทรรศการว่าด้วยผลงานของ Pina Bausch นักเต้นและออกแบบท่าเต้นร่วมสมัยชาวเยอรมัน ผู้เสียชีวิตเมื่อปี 2009 นิทรรศการนี้จัดขึ้นที่ Martin-Gropius-Bau Berlin ศูนย์กลางของการแสดงงานศิลปะร่วมสมัยแห่งหนึ่งของเบอร์ลิน และได้รวมผลงานแทบทุกชิ้นของเธอและคณะมานำเสนอทั้งภาพถ่าย ภาพเคลื่อนไหว เอกสาร บทสัมภาษณ์ พร้อมทั้งเปิดพื้นที่เวิร์คชอปให้กับผู้สนใจที่จะเต้น

Pina Baush และนิทรรศว่าด้วยตัวเธอนี้ส่งพลังให้ผมอย่างประหลาด ท่ามกลางการหวัดเหวี่ยงแขนขาอย่างไร้ระเบียบกลับมีสมการของความสมดุลซ่อนอยู่ มันได้กลายเป็นไวยกรณ์ของร่างกายที่ถูกประกอบขึ้นมาจนกลายเป็นภาษา และเป็นดั่งตัวบทปลายเปิดที่พาผู้ชมไปสู่โลกอีกใบหนึ่ง โลกที่เราล้วนมีสิทธิในการตีความไปพร้อมๆ กับการถูกโน้มน้าวไปสู่เป้าหมายบางอย่างที่ศิลปินคาดหวัง

งานศึกษาทางมานุษยวิทยาว่าด้วยการเต้นหรือเริงระบำ มักเชื่อมโยงการเคลื่อนไหวของร่างกายในฐานะพิธีกรรมการสื่อสารกับสิ่งเหนือธรรมชาติ บ้างก็ผนวกเป็นส่วนหนึ่งของการศึกษาความเชื่อและศาสนา การเยื้องย่างหรือเคลื่อนย้ายภาษากายในความคิดเช่นนี้จึงมีความสำคัญต่อการทำความเข้าใจการลำดับชั้นทางสังคมหรือลักษณาการทางอำนาจในสังคมนั้นๆ ในสังคมจารีต และในอีกหลายๆ สังคม การร่ายรำมักมุ่งเน้นการสักการะ บวงสรวง และถวายพร หรือไม่ก็มีการไหว้บูชาครูกันเสียก่อน ในแง่นี้ ภาษากายของนักรำจึงเชื่อมโยงกับโลกทางศาสนาและการเชื่อมโยงกับศาสนากับความเชื่อนี้เองที่ทำให้โลกของการร่ายรำเป็นโลกที่ถูกทำให้ศักดิ์สิทธิ์ ไวยกรณ์ของร่างกายที่เคลื่อนไหวจึงมีไว้เพื่อสื่อสารกับสิ่งที่มีอำนาจเหนือตน และเชื่อมโยงมนุษย์ทั่วไปกับอำนาจที่อยู่นอกตนเอง

หากการเริงระบำคือการสื่อสารและเล่าเรื่องราว มองในแง่นี้ เรื่องราวดังกล่าวก็มักถูกกำหนดไว้แล้ว การท้าทายมากที่สุดของนักระบำใจขบถก็คือการปีนป่ายไปในเส้นขอบของความหมิ่นเหม่ดังกล่าว ประหนึ่งเหมือนละเมิดกฎการสื่อสารแต่ก็ยังคงรักษาเค้ารางของกรอบเกณฑ์

งานของ Pina Baush บอกผมในทิศทางที่กลับกัน เธอดึงเอาความศักดิ์สิทธิ์จากสิ่งที่เหนือธรรมชาติหรือเหนืออำนาจของมนุษย์มาสู่ชีวิตของมนุษย์อีกครั้ง งานของบอกเล่าถึงปัญหาของผู้คนในโลกสาธารณ์หรือ secular world โลกที่เจตจำนงค์ของพระผู้เป็นเจ้ากลายเป็นสุญตา มนุษย์จำเป็นเป็นต้องเกาะเกี่ยวกันและสร้างสายสัมพันธ์อันแปลกประหลาดขึ้นระหว่างกันเพื่อทดเทิดและชดเชยภาวะอันว่างเปล่านั้น นี่คือภาพสะท้อนสำคัญของสภาวะความทันสมัยที่เกิดขึ้นในภาคพื้นทวีปของยุโรปในเชิง ontology ก็เป็นได้

ภาวะความทันสมัยที่เกิดจากการที่ถูกพระเจ้าทอดทิ้งและปฏิเสธพระเจ้าไปพร้อมๆกัน ความอิหลักอิเหลื่อนี้เกิดขึ้นควบคู่กับสังคมสมัยใหม่ ผู้คนซึ่งลอยเคว้งจึงเสพรับความเป็นอื่นทั้งวัฒนธรรมอื่นและสิ่งที่ไม่ใช่มนุษย์มาสร้างความเป็นมนุษย์ให้กับสังคมและตนเอง เพื่อการตอบคำถามสำคัญว่าด้วย being

ใช่ ผมคิดว่า Pina Bausch เน้นคำถามสำคัญว่าด้วย "เป็น - อยู่ - คือ" มากกว่า "การกลายเป็น" กล่าวในอีกแบบ เธอได้สะท้อนปัญหาของ being ผ่านทุกห้วงจังหวะของ becoming ท่ามกลางสายตาของผู้ชมที่มิอาจคาดเดาได้ว่าท่วงท่าต่อไปจะกลายเป็นอะไร ภาษาร่างของนักเต้นก็สะกดสายตาของเราให้อยู่ในนั้นเสียแล้ว

งานของเธอบอกกับเราว่าเมื่อมนุษย์ไร้ศาสนาในความหมายของการไร้ปลายทางของโลกหน้า ปัญหาของมนุษย์คือการอยู่อย่างไรในโลกนี้ โลกที่พรมแดนของวัฒนธรรมและสัญชาตญาณถูกปั่นป่วนให้พร่าเลือน โลกที่ความรักมิได้เป็นเพียงความรักแต่เป็นพลังสำคัญของการทำลายล้าง โลกที่ร่างกายและความคิดพยายามขัดขืนต่อการผลิตซ้ำความเป็นจักรกล และโลกที่เสรีชนทะนงตนในกรงขังและโซ่ตรวนล่องหน

การดิ้นทุรนทุรายจึงเป็นส่วนหนึ่งของสภาวะความทันสมัย เรื่องราวเหล่านี้คงมิอาจบรรยายความได้ผ่านภาษาเขียนหรือภาษาพูด Pina Bausch สามารถบอกเรื่องราวเหล่านี้ได้อย่างสมบูรณ์และทิ้งร่องรอยของคำถามไว้มากมายแก่ผู้ชมในฐานะมนุษย์ ผู้เป็นผลิตผลแห่งยุคสมัย

ผมเริ่มเข้าใจแล้วว่าทำไมตนเองจึงรู้สึกยากบรรยายแต่เปี่ยมพลังที่ผลักให้ไปข้างหน้า เริ่มเห็นปมบางปมในใจตนเอง และปมบางปมในใจของคนใจคนในเมืองเบอร์ลินซึ่งมีประวัติศาสตร์อันทึมเทา น่าเสียดายที่ผมไร้ซึ่งความเข้าใจในเรื่องพวกนี้ดีพอ จนไม่สามารถบรรจุนิทรรศการนี้ลงในการวิเคราะห์ในรายงานที่กำลังทำอยู่ได้

ในเมืองไทยคนที่จะเขียนเรื่องนี้ได้ดีคงเป็นอาจารย์ปริตตา เฉลิมเผ่า กออนันตกูล และคนที่จะก้าวขึ้นมาเป็นนักเต้นระดับนี้คงเป็นพิเชษฐ์ กลั่นชื่น

ทว่า ปัญหาว่าด้วย "เป็น อยู่ คือ" ในเมืองไทยคงต่างไปจากนี้มากนัก ลำพังแค่การเคลื่อนไหวร่างกายให้เห็นต่างออกไปจากรัฐยังกระทำได้อย่างยากเย็น ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะความศักดิ์สิทธิ์ในรัฐไทยไม่ได้มีอยู่ในมนุษย์ธรรมดาสามัญ

เราจึงมิอาจเคลื่อนไหวร่างเพื่อปลดปล่อยจิตวิญญาณเสรีของเราได้

บล็อกของ Sonne

Sonne
สมัยเรียนปริญญาตรีรหัส 41 ที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่  ผมเริ่มต้นทำกิจกรรมนักศึกษาและถูกรุ่นพี่ชักชวนให้เข้าวงถกเถียงและอ่านหนังสือ  บางทีก็เรียกวงเหล่านี้ว่าโรงเรียนการเมือง  วงประเภทนี้จัดในมหาวิทยาลัยบ้างแต่ส่วนมากจะดำเนินการแถวซอยวัดอุโมงค์เป็นหลัก  บางครั้งวงคุยมีอดีตคนออกจาก
Sonne
วันนี้วันเกิดลูกสาว คิดถึงลูกสาวมากมายอย่างหาที่สุดไม่ได้ โ
Sonne
ความทรงจำเดือนเมษายน 2553 ของผมมิได้เกิดขึ้นจากประสบการณ์ตรงเฉกเช่นเพื่อนๆ หลายคน ทว่าเหตุการณ์ในครั้งนั้นมีส่วนสำคัญในการเปลี่ยนแปลงโลกทัศน์ของผมเป็นอย่างมา
Sonne
ความสัมพันธ์ระหว่างร่างกายกับอำนาจรัฐนั้นเปี่ยมด้วยปริศนาที่ชวนให้พิจารณาในเรื่องความไม่เป็นธรรมที่ผู้คนในสังคมนั้นๆ ต้องเผชิญและอยู่ร่วมกับความรุนแรงที่มาจากรัฐกรณีของชัยภูมิ ป่าแส เมื่อเรามองภาพนี้แล้วเราเห็นอะไร?
Sonne
ในช่วงสองสามเดือนแรกของการมาเรียนที่เบอร์ลิน (กันยายน - พฤศจิกายน ที่ผ่านมา) ที่ผ่านมา ห้องเรียนของผมส่วนมากจะอยู่ในพิพิธภัณฑ์ทางมานุษยวิทยาและศิลปะ (จริงๆแล
Sonne
ผมได้มีโอกาสไปชมสารคดีเรื่อง หมอนรถไฟ หรือ Railway Sleepers ของคุณสมพจน์ ชิตเกสรพงศ์ ในเทศกาล Berlinale และประทับใจกับการใช้ภาษาภาพของเขาเป็นพิเศษ  อย่างที่หลายคนทราบ สารคดีเรื่องนี้ใช้เวลาในการถ่ายทำถึงแปดปี เขาและคนรู้ใจต่างเดินทางขึ้นล่องตามเส้นทางรถไฟสายต่างๆ จนเรียกได้ว่าครบทุกเส้น การต