ภาพถ่ายของแม่

ในการพิจารณาภาพถ่ายของโรล็องด์ บาร์ตส์ ปริศนาที่สำคัญอันหนึ่งคือ พลังของ punctum ที่เหล่า spectator รับรู้และรู้สึกถึง เรื่องพวกนี้เป็นเรื่อง subjective ค่อนข้างมาก บ้างก็ไม่รู้สึกอะไรเลย บ้างก็รู้สึกบ้าง และบ้างก็สั่นไหวในอารมณ์ มันไม่แปลกที่ ระยะห่างระหว่างช่างภาพ (operator) กับผู้ชมภาพ (spectator) จะมีเฉดอันหลากหลาย (spectum) ในแง่การตีความแบบซับเจคทีฟ

 

แม้ว่าบาร์ตส์จะให้ความสำคัญกับ punctum แต่เขาให้น้ำหนักกับแง่มุมแบบการพิเคราะห์แบบ objective เช่นกัน เขาเรียกมันว่า stadium โดยหันกลับไปมองแง่มุมของบริบททางประวัติศาสตร์ สังคมและวัฒนธรรม รวมไปถึงเรื่องราวที่ถูกถ่ายทอดออกมาจากเนื้อกระดาษอัดภาพนั้นๆ กระนั้น ผมยังรู้สึกว่าบาร์ตส์ยังให้ความสำคัญกับ punctum มากกว่า ราวกับมันเป็นมิติอันลี้ลับแบบหนึ่ง

 

ภาพถ่ายโดยตัวมันเองทำหน้าที่สำคัญอย่างหนึ่งคือ การทำให้คนได้มีโอกาสพบหน้าและรู้จักกันโดยมิต้องพบหน้า และเปิดจินตนาการการวาดภาพทางสังคมมากมาย ในส่วนที่บาร์ตส์กล่าวถึง punctum ที่ผมประทับใจมากที่สุดเห็นจะเป็นช่วงที่กล่าวถึงรายละเอียดบางอย่างในภาพมันได้ทิ่มแทงความรู้สึกของเขา สัญลักษณ์และร่องรอยบางอย่างมันเชื่อมโยงกันแม้จะมีความแตกต่างทางวัฒนธรรม แต่ก็วางบนพื้นฐานความเป็นสากลบางประการ อีกประเด็นหนึ่งคือ เวลา ในฐานะที่เป็น punctum ซึ่งในส่วนนี้คงต้องกล่าวถึงกันอีกนาน

 

ย้อนกลับไปมองภาพถ่ายของแม่ซึ่งมีเด็กชายอ้วนจ้ำหม้ำคนหนึ่งถูกอุ้มไว้อยู่ในลักษณะที่ไม่ต่างกันนัก ที่ต่างคือชุดแต่งกายของแม่และสถานที่ซึ่งเป็นฉากหลัง ภาพแรกถ่ายในบ้านของเราที่จ.ศรีษะเกษ ภาพที่สองถ่ายหลังจากนั้นไม่นานแต่เป็นที่โรงเรียนใหม่ที่แม่ย้ายมาสอนและเป็นบ้านเกิดของแม่ คือ อ.หนองฉาง จ.อุทัยธานี

 

แม่ไว้ผมทรงเดิมตั้งแต่ยังสาวจนถึงปัจจุบัน เคยเปลี่ยนครั้งเดียวเป็นผมยาว แต่คนมักจำผิดเสมอระหว่างแม่กับน้องสาวของเธอ แม่จึงเปลี่ยนเป็นผมทรงเดิม ชีวิตแม่เหมือนมีหลายภาคในตัวเอง อยู่บ้านแม่ก็คล้ายกับลูกชาวบ้านคนหนึ่ง เหมือนคนที่เพิ่งสลัดคราบกลิ่นโคลนสาปควายมาเพราะการศึกษาแต่ก็ไม่ใช่ทั้งหมด แม่ยังคงเป็นคนบ้านๆ ทั้งภาษา การแต่งตัว ชีวิตความเป็นอยู่ ขณะที่อีกด้านหนึ่งแม่คือครูที่ต้องไปทำงานที่โรงเรียน สถานที่ซึ่งเป็นเหมือนสมรภูมิของการแข่งขันด้านการแต่งตัวและหน้าตาทางสังคม ในทุกปีแม่ต้องพยายามหาชุดใหม่ใส่ไปโรงเรียนเสมอ สมัยก่อนที่เสื้อผ้าสำเร็จรูปยังไม่บูม แม่ต้องคอยเก็บหอมรอมริบไปตัดเสื้อผ้าโดยเอาแบบไปให้ช่างดู เสื้อชุดชมพูตัวนี้ของแม่ก็เช่นกัน

 

ผมเลือกภาพสองภาพนี้ขึ้นมา เพราะสภาวะแบบ duality เช่นนี้เหมาะสมกับครอบครัวของแม่มากนัก ชีวิตที่เย้ยหยันฝันสลายด้วยความไม่ลงตัวและขัดแย้งกันอย่างสิ้นเชิง มันเป็นสภาวะที่เกิดขึ้นท่ามกลางการเลี้ยงผมกับน้องอีกสองคนให้เติบโต

 

ผมมีปัญหากับการตีความภาพถ่ายของบาร์ตส์ค่อนข้างมาก โดยเฉพาะในแง่มุมของ punctum ผมคิดว่าเขาละเลยการครอบงำทางอุดมการณ์ โดยเฉพาะจากรัฐที่เข้ามา "เล่น" กับผู้คน ในแง่มุมของความรู้สึก บางครั้งมันทำให้ผมอดคิดไม่ได้ว่า ไอ้ความสั่นไหวทางอารมณ์ที่เรามีทั้งกับคนที่เรารัก รวมไปถึงเรื่องที่อาจเชื่อมโยงกับระบบคุณธรรมความดีทั้งหลายมันเป็นสิ่งที่รัฐสร้างขึ้นมากน้อยเพียงไร มนุษย์แม่งกระจอกถึงขั้นที่ไม่สามารถสร้างระบอบความรู้สึกของตนเองอย่างเป็นอิสระจากรัฐได้เลยหรือ

 

ทุกครั้งที่ถึงวันแม่ ผมจะรู้สึกแบบนี้ทุกปี

 

วันนี้เขียนถึงรูปถ่ายของแม่ใน "วันแม่" ด้วยเพราะเหตุผลทางความรู้สึกหลายด้าน แต่ด้านที่สำคัญที่สุดก็คือ เราต้องรักษาแม่ของเราไว้ ไม่ให้วันแม่เข้ามาจัดการกับระบอบความรู้สึกของเรา อย่างน้อยที่สุดคือคือการพยายามรักษา spectum ที่เรามีวันแม่ที่ปรากฏผ่านภาพต่างๆ หรืออีกด้านคือ spectum ระหว่างเรากับวันแม่ ยามที่มองภาพถ่ายของแม่เราเอง

 

ระหว่างแม่กับประเทศชาติ ผมเลือกแม่

แด่อาจารย์ฉลาดชาย

สมัยเรียนปริญญาตรีรหัส 41 ที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่  ผมเริ่มต้นทำกิจกรรมนักศึกษาและถูกรุ่นพี่ชักชวนให้เข้าวงถกเถียงและอ่านหนังสือ  บางทีก็เรียกวงเหล่านี้ว่าโรงเรียนการเมือง  วงประเภทนี้จัดในมหาวิทยาลัยบ้างแต่ส่วนมากจะดำเนินการแถวซอยวัดอุโมงค์เป็นหลัก  บางครั้งวงคุยมีอดีตคนออกจากป่ามานั่งถก บางครั้ง

ความทรงจำเดือนเมษา: การมองอันล่วงละเมิดมิได้

ความทรงจำเดือนเมษายน 2553 ของผมมิได้เกิดขึ้นจากประสบการณ์ตรงเฉกเช่นเพื่อนๆ หลายคน ทว่าเหตุการณ์ในครั้งนั้นมีส่วนสำคัญในการเปลี่ยนแปลงโลกทัศน์ของผมเป็นอย่างมา

ประจักษ์พยานของร่างกาย

ความสัมพันธ์ระหว่างร่างกายกับอำนาจรัฐนั้นเปี่ยมด้วยปริศนาที่ชวนให้พิจารณาในเรื่องความไม่เป็นธรรมที่ผู้คนในสังคมนั้นๆ ต้องเผชิญและอยู่ร่วมกับความรุนแรงที่มาจากรัฐ

กรณีของชัยภูมิ ป่าแส เมื่อเรามองภาพนี้แล้วเราเห็นอะไร?