ภาษาภาพหมอนรถไฟ

ผมได้มีโอกาสไปชมสารคดีเรื่อง หมอนรถไฟ หรือ Railway Sleepers ของคุณสมพจน์ ชิตเกสรพงศ์ ในเทศกาล Berlinale และประทับใจกับการใช้ภาษาภาพของเขาเป็นพิเศษ  อย่างที่หลายคนทราบ สารคดีเรื่องนี้ใช้เวลาในการถ่ายทำถึงแปดปี เขาและคนรู้ใจต่างเดินทางขึ้นล่องตามเส้นทางรถไฟสายต่างๆ จนเรียกได้ว่าครบทุกเส้น การตัดต่อและเรียบเรียงขึ้นมาเป็นสารคดีภายใต้ความยาวประมาณชั่วโมงเศษๆ กินความในเนื้อเรื่องสองคืนสองวัน จึงเป็นเรื่องที่ยาก ประกอบกับเป็นสารคดีที่ไม่มีโครงเรื่องหรือบทล่วงหน้า การดำเนินเรื่องจึงอาศัยความช่ำชองในการเล่าเรื่องผ่านภาษาภาพเป็นอย่างมาก

 

คุณสมพจน์นับเป็นผู้มีความสามารถเยี่ยมยอดคนหนึ่งในการใช้กล้องสำรวจและสังเกตการณ์ชีวิตของผู้คน แน่นอน ในทางภาพยนตร์ศึกษาเราอาจเรียกว่าเป็นการใช้กล้องแบบ Observational แนวทางเช่นนี้มีส่วนคล้ายคลึงจนแทบจะเรียกได้ว่าเป็นบทสนทนากับ Ethnographic film แนวทางหนึ่ง นั่นคือ การลดอำนาจของผู้กำกับลงในขณะถ่ายทำ และให้คนในสนามมีส่วนในการกำกับเรื่องราว พูดแบบนี้ไม่ใช่ผู้กำกับจะไร้อำนาจเพราะสุดท้ายแล้วเขาก็เป็นคนตัดต่ออยู่ดี

 

เช่นนี้แล้ว การถ่ายทำแบบนี้มีลักษณะพิเศษอะไร?

 

ความโดดเด่นของงานลักษณะนี้คือ การใช้กล้องเป็นเสมือนเครื่องมือสะท้อนความสัมพันธ์ระหว่างผู้ถ่ายทำกับคนในสนาม การทำให้กล้องหรืออุปกรณ์แปลกถิ่นที่คอยบันทึกและยุ่มยามชีวิตคนกลายเป็นส่วนหนึ่งของพื้นที่นั้น เป็นเสมือนวัตถุธรรมดา แน่นอน การทำเช่นนี้ได้ไม่ได้ขึ้นอยู่กับกล้องและวางบนพื้นฐานความสัมพันธ์ระหว่างช่างภาพกับคนที่นั่น เราต้องมีทัศนะในการมองคนแบบไหนกันจึงจะทำได้แบบนี้?

 

ภาษาภาพของคุณสมพจน์จึงไม่ได้มีลักษณะของการแอบซ่อนกล้องและสามารถเล่าเรื่องชีวิตบนรถไฟได้อย่างน่าสนใจ หากเรากล่าวว่างานศิลปะทุกประเภทคือการสร้างภาพลวงตา (Illusion) เพราะมันคือการสร้างภาพแทนที่เกิดขึ้นจากความจริงกับจินตนาการให้ปรากฏออกมา  สมพจน์สามารถวางสายตาของผู้ชมในเนื้อเรื่องผ่านความรู้สึกเหมือนเป็นผู้โดยสารสลับกับการเป็นบุคคลที่สามซึ่งคอยสังเกตุการณ์อย่างเงียบๆ ผู้ชมสามารถละเลียดสายตาไปสู่รายละเอียดต่างๆ ในรถไฟ ขณะที่สามารถด่ำดิ่งลงไปในอารมณ์รถไฟที่ผู้โดยสารรู้สึกถึงมันได้

 

การสลับกันไปมาระหว่างสายตาจากบุคคลที่สามมาสู่สายตาของคนในนั้น  สมพจน์ทำได้อย่างน่าสนใจ ผมคิดว่าเขาเฟรมภาพขึ้นมาจากวิธีคิดการทำงานแบบภาพนิ่งหรือ Still Photography ทำให้แต่ละภาพมี Conceptual Framing ที่น่าสนใจ มันจึงกลายเป็นภาพนิ่งที่เคลื่อนไหวได้ ภาษาภาพของเขาจึงมีลักษณะของความเหนือจริงซ่อนอยู่บางประการ

 

แน่นอนหล่ะวิธีคิดแบบนี้อาจล้าสมัยไปในโลกที่ดิจิทัลเข้ามาควบคุมวิธีการคิดและการทำงานทางภาพยนตร์ โลกของการถ่ายภาพยนตร์ไม่จำเป็นต้องวางบนพื้นฐานของของภาพนิ่งอีกต่อไป ทั้งนี้ยังไม่นับรวมวิธีการทำงานในรูปแบบที่ให้ความสำคัญกับ Post-production ที่มีบทสำคัญอย่างยิ่งในโลกดิจิทัล

 

กระนั้น ทำไมการทำงานบนพื้นฐานของภาพนิ่งจึงสำคัญ? โดยเจตคติส่วนตัว ผมเชื่อมั่นว่าภาพนิ่งสามารถสร้างลักษณาการของความสั่นไหวทางอารมณ์ซึ่งเชื่อมโยงระหว่างบุคคลกับวัตถุได้ดีกว่าภาพเคลื่อนไหว  ผมเข้าใจว่าการวิเคราะห์ภาพของ Barthes มีหลายโหมดที่สำคัญๆ โดยเฉพาะการพิจารณาภาพในลักษณะของ Studium ซึ่งนักประวัติศาสตร์หรือนักสังคมศาสตร์จำนวนมากใช้วิเคราะห์กันก็คือมองภาพผ่านบริบททางสังคม ขณะที่ Punctum ก็คือพลังเขย่าความรู้สึกของภาพที่เกิดจากประสบการณ์และsubjectivity ของผู้ชม ในแง่นี้เอง ภาพจึงมีพลังเหนือบริบทของเวลาและเหตุการณ์แต่มันข้ามสิ่งเหล่านั้นมาจัดการกับผู้ชมไม่ว่าจะเป็นการหลอกหลอน, หยอกเย้า และกระตุ้นเร้าหัวใจให้เต้นแรงหรือห่อเหี่ยว...

 

ภาษาภาพของสมพจน์ในหมอนรถไฟก็คือ Punctum ในทัศนะเช่นนี้ แต่มันก็เป็น Punctum ที่เคลื่อนไหวได้ ซึ่งกลับเพิ่มพลังมากกว่าการลดทอนและกักขังมันไว้ในภาพนิ่งทั่วๆไป ในสารคดีเราจึงพบเห็นภาษาภาพหลากหลายชุดที่บรรจุเรื่องราวและความใฝ่ฝันของผู้คน การพบพานเพียงครู่บนรถไฟ การลาจากของรถไฟสองสายที่ถูกกำหนดโดยรางรถไฟ, ภาพลวงตาของแสงสะท้อนในกระจก ฯลฯ

 

ราวกับการเสียดสีถึงปัญหาของความไม่เปลี่ยนแปลงของสังคมไทย จากสัญลักษณ์ของความทันสมัยเมื่อร้อยกว่าปีที่แล้วกลายเป็นสิ่งล้าหลังของปัจจุบัน "เวลาของรถไฟ" ดูจะเป็นสิ่งที่หยุดนิ่งและเคลื่อนไหวช้าสวนทางกับโลกดิจิทัลและการคมนาคมอื่นๆ ไปเสียแล้ว เวลาของของผู้โดยสารไฟก็เช่นกัน  สมพจน์เน้นถึงชีวิตผู้โดยสารจำนวนมากที่มาจากชนชั้นล่าง ประหนึ่งว่าเวลาของคนกลุ่มนี้ถูกแยกส่วนออกจากชีวิตของชนชั้นอื่น แม้รถไฟจะฟรีและราคาถูกแต่พวกเขาก็ประหนึ่งถูกกีดกันจากการมีส่วนร่วมอื่นๆ ด้วยข้อจำกัดทางเศรษฐกิจและสถานภาพทางสังคม  การมีชีวิตแบบ slow life จึงกลายเป็นปัญหาทางการเมืองและไม่อาจมีส่วนร่วมทางการเมืองสำคัญๆ ไปได้

 

ผมอดนึกรถไฟความเร็วสูงไม่ได้เช่นกัน การสร้างให้คนทุกกลุ่มมีความเร็วในการเข้าถึงเวลาอย่างเท่าเทียมกัน นี่คือจุดเริ่มต้นของการสร้างประชาธิปไตยหรือไม่?

 

ภาษาภาพของหมอนรถไฟเป็นเสมือนตัวบทปลายเปิดและปล่อยให้ผู้คนจินตนาการและตีความไปกับมัน ความหมายตรงตัวของหมอนรถไฟคือท่อนไม้ที่รองรางเหล็ก และเป็นฐานให้รถไฟเคลื่อนที่ไปข้างหน้าได้ ปัจจุบันไม้หมอนรถไฟถูกนำมาประดับสวนหย่อมในบ้านและโรงแรมจำนวนมาก  สมพจน์ได้นำหมอนรถไฟนั้นกลับมาในความหมายของหมอนหนุนฝันของคนยากและคนอีกจำนวนมากที่อาศัยรถไฟเป็นพาหนะ

 

แม้จะด้วยวัตถุประสงค์ในการเดินทางที่แตกต่างกัน ก็คงมีแต่หมอนรถไฟที่สามารถรองรับแรงกดทับมหาศาลกระมัง ที่จะเป็นหมอนให้พวกเขาและเธอหนุนเพื่อข่มตานอนและตื่นขึ้นมาในเช้าวันใหม่

แด่อาจารย์ฉลาดชาย

สมัยเรียนปริญญาตรีรหัส 41 ที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่  ผมเริ่มต้นทำกิจกรรมนักศึกษาและถูกรุ่นพี่ชักชวนให้เข้าวงถกเถียงและอ่านหนังสือ  บางทีก็เรียกวงเหล่านี้ว่าโรงเรียนการเมือง  วงประเภทนี้จัดในมหาวิทยาลัยบ้างแต่ส่วนมากจะดำเนินการแถวซอยวัดอุโมงค์เป็นหลัก  บางครั้งวงคุยมีอดีตคนออกจากป่ามานั่งถก บางครั้ง

ความทรงจำเดือนเมษา: การมองอันล่วงละเมิดมิได้

ความทรงจำเดือนเมษายน 2553 ของผมมิได้เกิดขึ้นจากประสบการณ์ตรงเฉกเช่นเพื่อนๆ หลายคน ทว่าเหตุการณ์ในครั้งนั้นมีส่วนสำคัญในการเปลี่ยนแปลงโลกทัศน์ของผมเป็นอย่างมา

ประจักษ์พยานของร่างกาย

ความสัมพันธ์ระหว่างร่างกายกับอำนาจรัฐนั้นเปี่ยมด้วยปริศนาที่ชวนให้พิจารณาในเรื่องความไม่เป็นธรรมที่ผู้คนในสังคมนั้นๆ ต้องเผชิญและอยู่ร่วมกับความรุนแรงที่มาจากรัฐ

กรณีของชัยภูมิ ป่าแส เมื่อเรามองภาพนี้แล้วเราเห็นอะไร?