Skip to main content

สมัยเรียนปริญญาตรีรหัส 41 ที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่  ผมเริ่มต้นทำกิจกรรมนักศึกษาและถูกรุ่นพี่ชักชวนให้เข้าวงถกเถียงและอ่านหนังสือ  บางทีก็เรียกวงเหล่านี้ว่าโรงเรียนการเมือง  วงประเภทนี้จัดในมหาวิทยาลัยบ้างแต่ส่วนมากจะดำเนินการแถวซอยวัดอุโมงค์เป็นหลัก  บางครั้งวงคุยมีอดีตคนออกจากป่ามานั่งถก บางครั้งเป็นเอ็นจีโอ, นักเขียน, รวมไปถึงอาจารย์มหาวิทยาลัย ครานั้น ผมไม่ค่อยเข้าใจหรอกว่ามันเป็นการเชื้อชวนให้ผมเป็นมาร์กซิสต์  หนังสือที่อ่านตอนนั้น มีทั้งวรรณกรรมและงานเขียนทางการเมือง ด้านวิชาการก็มีแนวคิดของทรอสกี้ (Leon Trotsky), อัลธูแซร์ (Louis Althusser) และ กรัมชี่ (Antonio Gramci) เป็นสำคัญ  กล่าวตามตรงผมงงและอ่านไม่ค่อยรู้เรื่องเท่าไหร่นัก แต่ก็พยายามติดตามการสนทนาอย่างต่อเนื่อง  มีครั้งหนึ่ง ในกลุ่มเขาให้เลือกหนังสือคนละเล่มไปอภิปราย  ผมไม่รู้จะหยิบอะไร เลยเลือกหนังสือของอาจารย์ฉลาดชายเล่มหนึ่งคือเรื่องผีเจ้านาย (2527) เนื่องจากไปพบในแผงหนังสือมือสองราคาย่อยเยา  ตอนนั้น ผมหยิบพ่วงไปอีกสองเล่ม คือเรื่องวัฒนธรรมการกินของคนเมือง ว่าด้วยน้ำพริกและผักพื้นบ้าน (2543) กับงานเขียนเกี่ยวกับอัตลักษณ์ในหนังสือเรื่อง “ไท” (2541) ทั้งสองเล่มนี้เขียนโดยอาจารย์ฉลาดชายอีกเช่นกัน

ประเด็นในการอภิปรายครั้งนั้นของผมคือ อาจารย์ฉลาดชายผู้แปลหนังสือเรื่องพัฒนาการศาสตร์มาร์กซิสม์ว่าด้วยสังคมวิทยา (2529) ซึ่งมักเป็นที่กล่าวถึงในสมัยนั้น เมื่อเขาลงมือเขียนงานและทำงานวิจัยของตนเองจริงๆ เขาได้สร้างแง่มุมที่ทำให้เราเข้าใจในความละเอียดอ่อนของมาร์กซิสม์ ในเรื่องผีเจ้านาย อาจารย์อภิปรายความเชื่อเรื่องผีในจุดยืนของมาร์กซิสต์ที่ไม่ประนามว่าสิ่งเหล่านี้เป็นสำนึกอันผิดพลาดที่คอยครอบงำคน  แต่ยังย้ำให้เห็นถึงความสำคัญของระบบความเชื่อในมิติของโครงสร้างทางความคิด  เมื่อเทียบกับปีที่อาจารย์เขียนหนังสือเล่มนี้ ผมอายุสี่ขวบเท่านั้นเอง  ครั้นพอผมอายุ 18 ก็ได้อ่านหนังสือว่าด้วยอาหารและแนวคิดอัตลักษณ์ดังกล่าว แน่นอน สองเล่มหลังมีกลิ่นอายของมาร์กซิสม์อยู่ แม้จะไม่เด่นชัดมากในเชิงแนวคิดและการอ้างอิงแต่ที่คงเดิมคือการเชื่อมโยงสู่ปัญหาความเหลื่อมล้ำ

ผมเคยถือวิสาสะ เดินถือหนังสือน้ำพริกไปดักรอที่หน้าศูนย์สตรีเพื่อขอคุยด้วยว่าทำไมมาร์กซิสต์ถึงแต่งตำราอาหาร  อาจารย์ท่านก็เมตตาเล่าให้ฟังถึงประวัติศาสตร์การกินและความหลากหลายของอาหารที่มีพร้อมกับความดกอุดมทางชีวภาพและระบบนิเวศน์  ผมฟังไปก็หิวไป ลืมวัตถุประสงค์ของการมาจนหมดสิ้น

หนังสือของอาจารย์ฉลาดชายไม่ได้ช่วยให้ผมสนใจมาร์กซิสม์หรืออยากเป็นมาร์กซิสต์ แต่อ่านงานของอาจารย์ทำให้เราซึมซับถึงปัญหาความไม่เป็นธรรมในสังคม งานเขียนที่ผมจำได้อีกเล่มหนึ่งก็คือ ชื่อ ป่าไม้สังคมกับการพัฒนาชนบท (2528) หนังสือเล่มนี้นับเป็นปฐมบทและงานบุกเบิกที่ทรงอิทธิพลต่อการศึกษาป่าชุมชนในสังคมไทย

หนังสือเหล่านี้ เป็นเสมือนคู่มือของนักกิจกรรมในมหาลัยสมัยนั้น การได้อ่านหนังสือเหล่านี้ทำให้บุคลิกของนักกิจกรรมที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ต่างออกไปจาก “ส่วนกลาง” ค่อนข้างมาก  ตอนนั้นกลุ่มกิจกรรมนักศึกษาที่กรุงเทพฯ เริ่มมีการรวมตัวทำกิจกรรมอย่างเข้มข้น ตลอดจนวงอ่านและถกเถียงของพวกเขาค่อนข้างดุดัน พวกเรามักจะถูกมองว่าเป็นพวกโรแมนติก  ทุกครั้งที่เจอกันผมก็มักเอาเรื่องการศึกษาผีและพืชผักอาหารจากจุดยืนของมาร์กซิสต์แบบอาจารย์ฉลาดชายไปเล่าให้พวกเขาฟัง  ก็นับว่าสร้างความมึนงงให้แก่พวกส่วนกลางได้ในระดับนึง

ตลอดช่วงเวลาที่เรียนในระดับปริญญาตรี ชีวิตนักศึกษาผมค่อนข้างลุ่มๆ ดอนๆ มีหลายครั้งที่อยากลาออกจากมหาวิทยาลัยทั้งด้วยความหมดหวังและเบื่อหน่าย ควบคู่ไปกับความทระนงตนว่าอ่านหนังสือได้ก้าวหน้ากว่าอาจารย์  เนื่องจากที่ผ่านมาเจอแต่อาจารย์ที่ไม่อ่านหนังสือและมัก "ปิ้งแผ่นใส" หน้าห้องเรียน  บางครั้ง ผมสะบัดตูดเดินออกจากห้องเพื่อไปดรอปและเลิกเรียนไปเสียอย่างงั้น ชีวิตแบบนี้ไม่ดีนัก  เปรียบไปก็คล้ายกับสามเณรแก่นและกร่างในวัดเล็กๆ สมควรที่ต้องมีหลวงตาสักคนมาสอน 

อาจารย์ฉลาดชายคือหลวงตาคนนั้น  เขาเห็นผมนั่งซึมหน้าศูนย์สตรี อาจารย์จึงแนะว่าให้ผมไปเรียนมานุษยวิทยา  ผมเลยทดลองเรียนไปสองวิชาแล้วพบว่าตัวเองน่าจะไปได้กับสาขานี้  ในช่วงจะขึ้นชั้นปีที่สาม ผมจึงตัดสินใจย้ายไปเสียอย่างงั้น แม้จะใช้เวลาเรียนใหม่สิริรวมเกือบหกปีก็ตาม  หากไม่มีหลวงตา ผมคงเรียนไม่จบและไม่รู้ว่าตอนนี้กำลังทำอะไรอยู่  ผมไม่เคยเรียนกับอาจารย์ ขนาดย้ายสาขาไปแล้วก็ได้เรียนด้วย  ทว่า ผมเจออาจารย์ฉลาดชายบ่อยครั้งมาก เพราะกิจกรรมนักศึกษาในช่วงนั้น มักใช้พื้นที่ของศูนย์สตรีศึกษาสำหรับจัดเสวนาและนัดประชุม ผมจำได้ว่าในช่วงประมาณปี 2541-2542 มีกลุ่มผู้ไม่หวังดีมาประนามอาจารย์ที่เข้าไปช่วยเหลือเรื่องป่าชุมชนและสิทธิของกลุ่มชาติพันธุ์ ถึงขนาดทำหุ่นมาเผาแถวหน้าคณะสังคมศาสตร์ จากนั้นก็ตามด้วยการชุมชนอันยึดเยื้อของพี่น้องกลุ่มชาติพันธุ์ที่หน้าศาลากลางเชียงใหม่  พวกเรานักศึกษาสมัยนั้นก็จัดเวทีพูดถึงบทบาทของนักสังคมวิทยาและมานุษยวิทยาต่อปัญหาในสังคม โดยได้อาจารย์ฉลาดชายและอาจารย์อานันท์มาเป็นผู้อภิปรายหลัก  ก่อนวันงานพวกเราแทบไม่ได้นอนเพราะต้องขับรถเครื่องสลับไปมาระหว่างการชุมนุมที่ศาลากลางกับศูนย์สตรีศึกษาโดยเฉพาะผมกับพี่ปุ้ย (สุรารักษ์ ใจวุฒิ) งานเริ่มเก้าโมงเช้า แต่เกือบแปดโมงแล้วผมยังนั่งเขียนป้ายผ้าที่ใช้เป็นฉากหลังของเวทีอยู่เลย นั่งเขียนตรงหน้าห้องประชุมชั้นสองของศูนย์สตรีนั่นแหละ  เขียนไปง่วงไป สักพักอาจารย์ฉลาดชายเดินมาข้างหลังพร้อมบอกว่า เขียนสวยดีนะ กินอะไรหรือยัง หิวไหม ทำไมตัวหนังสือมันค่อยๆ เล็กลง ว่าแล้วอาจารย์ก็หัวเราะแล้วเดินไปหยิบขนมมาให้กิน 

อันที่จริงไม่ใช่แค่เรื่องกิจกรรมการเมืองหรอก ในเรื่องส่วนตัวก็เช่นกัน ช่วงหนึ่งผมติดบุหรี่หนักมาก เขียนป้ายผ้าไปก็สูบไป มีครั้งหนึ่ง กำลังเขียนป้ายผ้าแถวศูนย์สตรี อาจารย์ฉลาดชายก็เดินมาหาผมอย่างรีบเร่งพร้อมเอ่ยปากชวนให้ไปสูบบุหรี่ตรงโน้นแล้วคุยกัน  พอไปถึงอาจารย์ปล่อยให้ผมสูบคนเดียว สักพักผมจึงรู้ว่าอาจารย์ชวนผมมาลี้ภัย เนื่องจากอาจารย์วิระดาไม่ชอบให้คนมาสูบบุหรี่ตรงบริเวณหน้าห้องประชุมชั้นสองของศูนย์สตรี จำได้ว่าอาจารย์มนุษย์ผู้ชายหลายท่านในสังกัดมหาลัยเที่ยงคืนตอนนั้น โดนกันไปไม่ใช่น้อย

ในปี 2543 มีการชุมนุมใหญ่เพื่อคัดค้านการประชุมของเอดีบีที่เชียงใหม่ องค์กรนักศึกษาและเครือข่ายภาคประชาชนทั่วประเทศมารวมตัวเยอะมาก  กลุ่มนักศึกษาที่สนใจกิจกรรมทางการเมืองได้มาขอใช้พื้นที่อาคารกิจกรรมนักศึกษาเป็นเสมือนที่พักและเตรียมงาน  พวกเราจัดคอนเสิร์ตเล็กๆ ควบคู่กับการอภิปรายเนื้อหาสาระของการชุมนุมค้านคัด โดยใช้พื้นที่ของตึกอมช. จำได้ว่าวงดนตรีที่มาเล่นให้ก็คือชุมชนดนตรีสากล งานนั้นสนุกมาก  แต่ก่อนวันงาน ต้องมีการประชาสัมพันธ์ ผมจำได้แม่นว่า คัตไม้ (ขนาดกว้างหนึ่งเมตรและสูงราวๆ สองเมตร) จำนวน 15 แผ่นต้องออกให้เสร็จพรุ่งนี้เช้า แต่พวกเรามีกันสามคน คือ ผม, เหมียว (อาจารย์วราภรณ์ เรืองศรี) และคุณชิน (ผมจำชื่อจริงไม่ได้ แต่คุณชินเรียนที่คณะวิจิตรศิลป์ นิสัยน่ารัก จริงจัง และสร้างสรรค์มาก) พวกเราไม่มีคนช่วยเลย ไม่รู้และจำไม่ได้ว่าทำไม  พวกเราได้แต่ทาสีไป น้ำตาไหลไป เพราะเหนื่อยและไม่ได้นอน  ช่วงนึงสีหมดและลูกกลิ้งเสีย  ผมขับรถไปเอาของเพิ่มที่ศูนย์สตรี พบว่าอาจารย์ฉลาดชายยังทำงานอยู่  อาจารย์ถามเหมือนเดิม หิวไหม เหนื่อยไหม อดทนนะ เดี๋ยวตัวหนังสือจะค่อยๆ เล็กลงอีก จากนั้นแกก็หัวเราะและส่งกำลังใจผ่านยิ้มกว้างๆ ตามแบบฉบับของอาจารย์

ในงานชุมนุมต่อต้านเอดีบีครั้งนั้น แว่นผมหายและฟันร้าวเพราะดันล้มไปให้ส้นคอมแบทของทหารเหยียบและกระทืบ แถมโดนหิ้ว โดนกดเอาหน้าไปนาบกับพื้นยางมะตอยร้อนๆ ภาพตอนโดนหิ้วขึ้นหน้าหนังสือพิมพ์  หลังเหตุการณ์ ผมเจออาจารย์ฉลาดชายแถวคณะสังคมฯ  อาจารย์ถามด้วยความห่วงใยเช่นเดิม บอกว่าเห็นในหนังสือพิมพ์แล้วโกรธมากที่นักศึกษาโดนกระทำแบบนั้น  ตอนนั้น อาจารย์บอกว่าทหารกลัวพลังบริสุทธิ์ของพวกคุณ  ผมก็แอบพูดเบาๆ ไปว่ามันเลยเอาผมไปย่างให้สุกก่อนไงจารย์  แต่อาจารย์ได้ยินเลยหัวเราะ พร้อมถามถึงแว่นที่หายไป ทั้งยังออกตัวด้วยว่าตัดแว่นให้เอาไหม ผมส่ายหน้าและกล่าวขอบคุณ เพราะตอนนั้นพี่ๆ ที่ทำงานเอ็นจีโออยู่แถววัดร่ำเปิงช่วยกันออกค่าแว่นให้

เจอกันตอนนั้น อาจารย์ฉลาดชายขอให้ผมกลับมาเข้าห้องเรียนสักที  เรียนให้จบ และเอาสิ่งที่ทำกิจกรรมมาไปคิดต่อในเชิงวิชาการ  ผมก็กลับเข้าห้องเรียนตามที่อาจารย์ท่านบอกแม้จะใช้เวลานานแต่ผมก็เรียนจนจบ ทำงาน เรียนต่อ เป็นอาจารย์ แล้วไปศึกษาต่อต่างประเทศ  หลังจากจบการศึกษาจากมหาลัยเชียงใหม่  ผมเจออาจารย์อยู่หลายครั้ง อาจารย์ยังคงจำผมได้และชวนสนทนาเหมือนเดิม บทสนทนาของเราไม่ใช่เรื่องการเมือง แต่เป็นแง่มุมของการอภิปรายทางศิลปะ ครั้งสุดท้ายที่คุยกันตอนนั้นมีพี่เอ๋ (ฆัสรา ขมะวรรณ มุกดาวิจิตร) อยู่ด้วย อาจารย์พูดถึงการ reframing ว่าด้วยการรับรู้ระหว่างชายของและศูนย์กลางของอำนาจ  ประเด็นไม่ใช่อยู่ที่การทำให้ชายขอบเป็นศูนย์กลางของการอภิปรายและการศึกษา  แต่อาจารย์บอกว่ามันเป็นการเลื่อนเฟรมให้ชายขอบเป็นศูนย์กลาง พร้อมอุปมาว่าคล้ายงานทางศิลปะกรรมหรือภาพจิตรกรรมฝาผนัง สิ่งที่อาจารย์ชอบมองคือ ภาพคนป่าหรือไร้ความศิวิไลซ์ที่ปรากฏอยู่ตามขอบริมกำแพงซึ่งห่างจากตัวเอกของเรื่องที่มีผิวพรรณสีทองเปล่งปลั่ง  การเลื่อนเฟรมให้ชนป่าหรืออานารยะเป็นศูนย์กลางนั้น ไม่ใช่แค่โวหารทางวิชาการแต่มันเป็นการต่อสู้ในระดับสุนทรียศาสตร์ของการเมืองหรือ Aestheticization of the politics ผมก็เพิ่งมาเข้าใจขึ้นบ้างในประเด็นนี้ตอนมาเรียนที่เยอรมนี

เพิ่งมาตระหนักเอาวันนี้เองว่าอาจารย์ไม่เคยหยุดนิ่งและพัฒนาความคิดตลอด จากวันที่อาจารย์เขียนหนังสือเรื่องผีเจ้านายจนมาถึงวันสุดท้ายที่เราได้คุยกัน กระนั้น สิ่งที่อาจารย์คงเส้นคงวาที่สุดคือสำนึกในความไม่เป็นธรรมและปัญหาของสัมพันธ์เชิงอำนาจ

ผมเป็นศิษย์ที่ไม่อยู่ในคอกของมอชอ แต่สิ่งหนึ่งที่รับและซึมซับมาตลอดก็คือ สำนึกที่ครูบาอาจารย์ส่งมอบมาให้  มันไม่ใช่เรื่องทางวิชาการ ผมไม่มีทางเป็นมาร์กซิสต์แบบอาจารย์ได้  ทว่า อาจารย์ฉลาดชายและบรรยากาศในช่วงเวลานั้นก็ได้สร้างสำนึกอันอ่อนไหวต่อความไม่เป็นธรรมอย่างไม่รู้ตัว  ตอนนั้นผมไม่รู้เลยว่าอาจารย์เป็นคนที่คอยอยู่ข้างหลังและหนุนส่งเราให้หัดเลือกทางเดินของตนเอง หลายบทหลายตอน อาจารย์เข้ามามีส่วนร่วมในชีวิตเราอย่างเงียบๆ และอบอุ่น  มาในช่วงเวลาที่จำเป็นเพื่อปล่อยให้เราอยู่อย่างเสรี

อาจารย์มักพูดถึงวรรณกรรมเรื่องหนึ่งชื่อ "เราลิขิต" ผู้แต่งเป็นญาติของอาจารย์เอง ใช้นามปากกาว่า ร. จันทพิมพะ  อาจารย์บอกว่าวรรณกรรมนี้เป็นเรื่องราวของความรักที่ได้รับอิทธิพลทางความคิดจากบรรยากาศหลังยุคความเปลี่ยนแปลง 2475 ซึ่งด้านหนึ่งทำให้คนสามัญจำนวนไม่น้อยเชื่อว่าสามารถลิขิตชีวิตตัวเองได้ สร้างความเปลี่ยนแปลงได้ โดยไม่ต้องรอให้ฟ้าหรือพระพรหมมากำหนดชีวิตตัวเรา วรรณกรรมนี้ สะท้อนถึงสิ่งที่อาจารย์ปฏิบัติกับคนอื่นและปฏิบัติกับตนเอง

ตอนนี้อาจารย์ได้เลือกที่จะละสังขารและพ้นไปจากความทรมาน ผมไม่เสียใจอะไรอีกแล้ว นอกจากความปรารถนาให้อาจารย์ได้รับความสุขอันเป็นนิรันดร์และอย่าได้ห่วงกังวลต่อโลกใบนี้มากนัก

จนกว่าเราจะพบกันอีก

ด้วยความระลึกถึงอาจารย์เสมอ

บล็อกของ Sonne

Sonne
สมัยเรียนปริญญาตรีรหัส 41 ที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่  ผมเริ่มต้นทำกิจกรรมนักศึกษาและถูกรุ่นพี่ชักชวนให้เข้าวงถกเถียงและอ่านหนังสือ  บางทีก็เรียกวงเหล่านี้ว่าโรงเรียนการเมือง  วงประเภทนี้จัดในมหาวิทยาลัยบ้างแต่ส่วนมากจะดำเนินการแถวซอยวัดอุโมงค์เป็นหลัก  บางครั้งวงคุยมีอดีตคนออกจาก
Sonne
วันนี้วันเกิดลูกสาว คิดถึงลูกสาวมากมายอย่างหาที่สุดไม่ได้ โ
Sonne
ความทรงจำเดือนเมษายน 2553 ของผมมิได้เกิดขึ้นจากประสบการณ์ตรงเฉกเช่นเพื่อนๆ หลายคน ทว่าเหตุการณ์ในครั้งนั้นมีส่วนสำคัญในการเปลี่ยนแปลงโลกทัศน์ของผมเป็นอย่างมา
Sonne
ความสัมพันธ์ระหว่างร่างกายกับอำนาจรัฐนั้นเปี่ยมด้วยปริศนาที่ชวนให้พิจารณาในเรื่องความไม่เป็นธรรมที่ผู้คนในสังคมนั้นๆ ต้องเผชิญและอยู่ร่วมกับความรุนแรงที่มาจากรัฐกรณีของชัยภูมิ ป่าแส เมื่อเรามองภาพนี้แล้วเราเห็นอะไร?
Sonne
ในช่วงสองสามเดือนแรกของการมาเรียนที่เบอร์ลิน (กันยายน - พฤศจิกายน ที่ผ่านมา) ที่ผ่านมา ห้องเรียนของผมส่วนมากจะอยู่ในพิพิธภัณฑ์ทางมานุษยวิทยาและศิลปะ (จริงๆแล
Sonne
ผมได้มีโอกาสไปชมสารคดีเรื่อง หมอนรถไฟ หรือ Railway Sleepers ของคุณสมพจน์ ชิตเกสรพงศ์ ในเทศกาล Berlinale และประทับใจกับการใช้ภาษาภาพของเขาเป็นพิเศษ  อย่างที่หลายคนทราบ สารคดีเรื่องนี้ใช้เวลาในการถ่ายทำถึงแปดปี เขาและคนรู้ใจต่างเดินทางขึ้นล่องตามเส้นทางรถไฟสายต่างๆ จนเรียกได้ว่าครบทุกเส้น การต