Skip to main content

ความทรงจำเดือนเมษายน 2553 ของผมมิได้เกิดขึ้นจากประสบการณ์ตรงเฉกเช่นเพื่อนๆ หลายคน ทว่าเหตุการณ์ในครั้งนั้นมีส่วนสำคัญในการเปลี่ยนแปลงโลกทัศน์ของผมเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะประเด็นเรื่องการเมืองของการมองเห็น (Politics of seeing)

ในฐานะผู้สอนวิชาวัฒนธรรมทัศนา ซึ่งนักศึกษาส่วนใหญ่มาจากสาขาวิชาสื่อศิลปะและการออกแบบสื่อ กับสาขาวิชาการถ่ายภาพ ผมมักหยิบยกเหตุการณ์ในเดือนเมษาขึ้นมาอภิปรายก่อนที่จะลำดับความทางแนวคิดและทฤษฏี เนื่องจากเหตุการณ์ในครั้งนั้นสะท้อนปัญหาของการมองเห็นอย่างถึงรากถึงโคน

ผมเล่าว่า หากใครจดจำภาพเหล่านั้นได้ เราจะสังเกตว่าผู้สื่อข่าวไทยจำนวนมาก แต่งชุดเต็มยศ ซึ่งประกอบไปด้วยเสื้อกันกระสุนและหมวกทหาร แม้การแต่งกายจะเป็นทั้งเครื่องชี้วัดและสร้างความจริงให้กับผู้ชมสถานการณ์เหล่านั้นได้เป็นอย่างดี ทว่า สิ่งที่สำคัญมากไปกว่านั้นคือตำแหน่งแห่งที่ของการมอง

ใช่...นักข่าวเหล่านั้นยืนอยู่เบื้องหลังทหารและมองไปยังทิศที่ทหารมอง ภาษาภาพที่พวกเขารายงานอยู่นั้นช่างน่าพิศวงมาก มันเป็นทั้งการล้อมปราบเพื่อรักษาความสงบ ขณะเดียวกันก็ประหนึ่งรายงานโดยนัยว่าทหารโดนตอบโต้กลับอย่างไร

ถึงจุดนี้ ผมนึกถึงวลีทางมานุษยวิทยาที่ว่า "มองผ่านสายตาของคนใน/คนพื้นถิ่น" อย่างเสียอดมิได้ การรายงานข่าวโดยผ่านสายตาของทหารหรือจากจุดที่ทหารมองย่อมเกิดขึ้นได้ในสภาวะสงคราม ทว่า การมองภายใต้เงื่อนไขนี้ก็มีผลต่อการสร้างข้อจำกัดในการรับรู้ความจริงจากจุดต่างๆ อีกมากมาย

ผมเล่าให้ลูกศิษย์ฟังต่อว่า ผมร่ำเรียนมาทางมานุษยวิทยาก็จริงแต่ก็อดรำคาญวลีหรือคำขวัญที่แสนโรแมนติกนี้ไม่ได้ เพราะบ่อยครั้งทีเดียวคนในก็มิได้บริสุทธิ์ผุดผ่อง ยิ่งเป็นคนในที่มีอำนาจด้วยแล้ว พวกเขาก็มักคัดสรรและเลือกให้เราได้มองเห็นและกลบส่วนที่มองไม่เห็นออกไป โดยเฉพาะมุมมองของกลุ่มคนที่ถูกเรียกคนนอก หรือคนนอกความปรารถนาหรือเจตจำนงค์ของรัฐ

ในสถานการณ์ความขัดแย้งที่แหลมคม การเลือกตำแหน่งแห่งที่ของการมองที่ต่างจากรัฐ อาจนำมาสู่อันตรายและความรุนแรงชนิดถึงตาย ผมบอกกับนักศึกษาเช่นนั้น

ผมนึกถึงคุณฟาบิโอ โปแลงกี ช่างภาพชาวอิตาลี และคุณฮิโรยูกิ มูราโมโตช่างภาพรอยเตอร์ชาวญี่ปุ่นซึ่งเสียชีวิตระหว่างการกระชับพื้นที่ของเจ้าหน้าที่ในบริเวณราชประสงค์ ใช่ พวกเขาเสียชีวิตลงเพราะกระสุนปืน ทว่า พวกเขาตายเพราะ การได้เห็นและได้บันทึกภาพจากตำแหน่งแห่งที่ซึ่งทหารไม่อนุญาติ ที่ถูกยิงเสียชีวิตอีกเช่นกัน จนตอนนี้ยังไม่มีใครได้เห็นภาพจากเมมโมรี่การ์ดที่หายไป

นอกจากช่างภาพทั้งสองแล้ว ยังมีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บอีกมากจากการที่ "เห็น" ในสิ่งผู้กุมอำนาจไม่ปรารถนาให้ปรากฏ และบันทึกในสิ่งที่รัฐไม่ปรารถนา ทุกวันนี้ การเอาผิด "รัฐฆาตกรรม" ผู้ที่มองโลกต่างออกไปก็ยังไม่มีมาตราการใดๆ อย่างชัดเจน

(มองผ่านเหตุฆาตกรรมคุณชัยภูมิ ป่าแส ก็เช่นกัน ทุกวันนี้มีใครได้เห็นภาพของกล้องวงจรปิดบ้าง)

เมื่อครั้งบรรยาย นักศึกษาหลายคนถามผมว่า เมื่อการมองจากจุดที่แตกต่างสามารถนำมาสู่อันตรายแล้ว ทำไมเราจึงจำเป็นต้องมอง

ผมบอกพวกเขาไปว่าพันธะกิจของคนถือกล้องและสร้างสื่อหรืองานศิลปะก็คือ การสร้างความจริงเพื่อต่อสู้กับภาพลวงตาของความจริง ความจริงที่เกิดขึ้นจากมุมที่ถูกเก็บซ่อนและปิดกั้นย่อมมีพลังในฐานะการเผยให้เห็นถึงอำนาจที่ครอบงำสังคมและพลังแห่งความหวังของผู้คนที่ไม่มีทางจำนน

คำตอบของผมอาจไม่ได้ช่วยให้พวกเขาจบการศึกษาออกไปแล้วทำมาหากินได้ดีขึ้น แต่ผมก็เชื่อว่ามันคือบทเกริ่นนำของการเรียนรู้ในวิชาที่ผมสอนได้เป็นอย่างดี

ปัญหาของการมองมันมีมิติของอำนาจอยู่เสมอ การมองในบางเรื่องเป็นสิ่งที่ล่วงละเมิดมิได้ เราจึงมักมองโลกภายใต้กรอบอุดมการณ์และความคิดที่ทำให้เชื่อว่าโลกเป็นเช่นที่เราเห็น

ทว่า สำหรับผม ความทรงจำเดือนเมษา บอกกับผมว่า มีคนอีกมากมายที่กล้าประกาศถึงโลกที่พวกเขาและเธอปรารถนาจะเห็น โดยแลกกับความตาย

ถึงเวลาแล้วที่เราจะสบตากับความกลัว

 

 

บล็อกของ Sonne

Sonne
สมัยเรียนปริญญาตรีรหัส 41 ที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่  ผมเริ่มต้นทำกิจกรรมนักศึกษาและถูกรุ่นพี่ชักชวนให้เข้าวงถกเถียงและอ่านหนังสือ  บางทีก็เรียกวงเหล่านี้ว่าโรงเรียนการเมือง  วงประเภทนี้จัดในมหาวิทยาลัยบ้างแต่ส่วนมากจะดำเนินการแถวซอยวัดอุโมงค์เป็นหลัก  บางครั้งวงคุยมีอดีตคนออกจาก
Sonne
วันนี้วันเกิดลูกสาว คิดถึงลูกสาวมากมายอย่างหาที่สุดไม่ได้ โ
Sonne
ความทรงจำเดือนเมษายน 2553 ของผมมิได้เกิดขึ้นจากประสบการณ์ตรงเฉกเช่นเพื่อนๆ หลายคน ทว่าเหตุการณ์ในครั้งนั้นมีส่วนสำคัญในการเปลี่ยนแปลงโลกทัศน์ของผมเป็นอย่างมา
Sonne
ความสัมพันธ์ระหว่างร่างกายกับอำนาจรัฐนั้นเปี่ยมด้วยปริศนาที่ชวนให้พิจารณาในเรื่องความไม่เป็นธรรมที่ผู้คนในสังคมนั้นๆ ต้องเผชิญและอยู่ร่วมกับความรุนแรงที่มาจากรัฐกรณีของชัยภูมิ ป่าแส เมื่อเรามองภาพนี้แล้วเราเห็นอะไร?
Sonne
ในช่วงสองสามเดือนแรกของการมาเรียนที่เบอร์ลิน (กันยายน - พฤศจิกายน ที่ผ่านมา) ที่ผ่านมา ห้องเรียนของผมส่วนมากจะอยู่ในพิพิธภัณฑ์ทางมานุษยวิทยาและศิลปะ (จริงๆแล
Sonne
ผมได้มีโอกาสไปชมสารคดีเรื่อง หมอนรถไฟ หรือ Railway Sleepers ของคุณสมพจน์ ชิตเกสรพงศ์ ในเทศกาล Berlinale และประทับใจกับการใช้ภาษาภาพของเขาเป็นพิเศษ  อย่างที่หลายคนทราบ สารคดีเรื่องนี้ใช้เวลาในการถ่ายทำถึงแปดปี เขาและคนรู้ใจต่างเดินทางขึ้นล่องตามเส้นทางรถไฟสายต่างๆ จนเรียกได้ว่าครบทุกเส้น การต