ท่ามกลางความมืดของผืนฟ้า พระจันทร์ดวงกลมโตอวดแสงนวลอยู่บนนั้น
แม้คืนนี้มองไม่เห็นดาว แต่พระจันทร์คงไม่เหงา ก็บนท้องฟ้า เต็มไปด้วยดวงไฟสีส้มนับร้อย นับพันดวง วาววับ จนไม่อาจนับจำนวนได้
โคมไฟ หรือ ว่าวไฟ ในเทศกาลลอยกระทง ต่างลอยขึ้นไปตามแรงลม และความร้อนจากเปลวไฟเล็กๆ ที่ห้อยอยู่ข้างท้าย แม้คนจุดจะมีทั้งชาวเมืองเชียงใหม่ หรือนักท่องเที่ยวจากเมืองอื่น
แต่สิ่งที่ฉันได้รู้ในวันนี้ก็คือ สำหรับคนบางคนแล้ว ดาวสีส้มบางดวงนั้นขึ้นไปตามแรงศรัทธาและความเชื่อที่สั่งสมมาตลอดชีวิต
“ได้เวลาจุดไฟกันแล้วนะ”
ชายชราคนหนึ่งคนตะโกนบอกหลานชาย หลังจากเมื่อไม่กี่ชั่วโมงก่อนหน้านี้ เขาเพิ่งประดับประดาหน้าบ้านเสร็จ สิ่งที่เขาทำก็คือการถือมีดด้ามใหญ่ไปฟันต้นกล้วยมา 2 ต้น เขากับหลานชายช่วยกันมัดติดไว้กับรั้วบ้าน จากนั้น ก็ห้อยโคมไฟอันเล็กๆ ติดไว้ทั้งสองข้าง ตลอดเวลา
เขาทำไปด้วยรอยยิ้ม และหันมาทักทายกับฉันเป็นระยะๆ เมื่อเห็นว่าฉันก็พยายามประดับหน้าบ้านด้วยโคมไฟเช่นกัน
“ไม่มีต้นกล้วยเหรอ” เขาถาม
“เอ่อ ค่ะ ไม่มี จริงๆ มันใช้ต้นอื่นได้ใช่ไหม” ฉันถามเขาอย่างเจียมตนในความอ่อนด้อยของประสบการณ์
“ถ้าสมัยก่อน เราก็ใช้ต้นกล้วย ต้นอ้อย หรือก้านมะพร้าว แต่ตอนนี้ต้นอะไรก็ได้แหละหนู”
เขามองอย่างมีเมตตา ฉันยิ้มรับ จากนั้นก็หันซ้ายหันขวา เล็งไปยังกระถางดอกไม้ที่เพิ่งขนย้ายมาอยู่บ้านใหม่ เมื่อยังไม่ได้ลงดิน ก็จัดแจงยกมาประดับ ชายชราบ้านตรงข้ามหันมาชื่นชมอย่างให้กำลังใจ
หลานชายของเขาเริ่มต้นจุดเทียน จากดวงที่หนึ่ง ไปดวงที่สอง และดวงถัดๆไป ฟ้ายังไม่มืดดีนัก เพียงพอที่จะเห็นสมาชิกในหมู่บ้านแต่ละหลัง วนเวียนกันออกมาจุดเทียนหน้าบ้าน ต่างคนยิ้มแย้มชักชวนกันไปลอยกระทงที่ท่าน้ำ ซึ่งชาวบ้านช่วยกันตอกไม้ไผ่ให้เป็นราวจับ มีแผ่นไม้ให้เหยียบเดินและหยุดอธิษฐานก่อนจะส่งกระทงลงไป
“ไปลอยด้วยกันไหมหนู” เขาชักชวน
“สักพักถึงจะออกไปค่ะลุง เดี๋ยวจะรอจุดโคมไฟก่อน”
“อ๋อ เห็นว่าปีนี้เขาแจ้งว่าให้ดูทิศลมอะไรก่อน เขากลัวเครื่องบินตก ใช่ไหม”
เขาชวนคุยไปด้วย พร้อมจุดเทียนไปด้วย
“ค่ะ เห็นว่าแบบนั้น โดยเฉพาะจุดที่ปล่อยพร้อมกันเยอะๆ นะคะลุง”
“อืม ใช่ ในเมืองคงจุดกันเยอะ เราก็จุดกันดวงสองดวงพอ ถือว่าบูชาเทวดา”
ว่าแล้ว ชายชราก็หันไปคุยกับหลานชายต่อ ส่วนฉัน จุดเทียนเกือบเสร็จหมดแล้ว มองไปบนถนน แสงไฟวอมแวมต่อกันไปเป็นทอดๆ มองเห็นเป็นสาย ระหว่างนั้น ก็นึกถึงคำของลุง
การบูชาเทวดา เท่าที่เคยอ่านพบ บอกว่าทำเพื่อบูชาพระเกตุแก้วจุฬามณีบนสรวงสวรรค์ บางแห่งบอกว่า การปล่อยโคม เป็นการส่งเหล่าเทวดาอารักษ์กลับขึ้นสู่สวรรค์ หลังจากที่ลงมาปกปักษ์รักษาชาวบ้านจากปีศาจในช่วงเข้าพรรษา ส่วนบางความเชื่อ เขาคิดว่า เป็นการปล่อยทุกข์โศกของแต่ละปีให้พ้นไปจากครอบครัว เช่นเดียวกับการอธิษฐานก่อนลอยกระทง เพื่อให้ชีวิตหลังจากวันนี้ไป เป็นชีวิตที่ดีขึ้นกว่าเดิม
ฉันเองก็เชื่ออย่างนั้น เพราะภาพที่เห็น ไม่มีใครเลยที่จะทำหน้าบูดบึ้งสำหรับวันนี้ บางบ้านพากันปูเสื่อที่ลานหญ้า พร้อมต้นกล้วยที่ตัดเป็นท่อน ใบตอง มีเด็กๆ ล้อมวงช่วยกันทำกระทง ดอกไม้สวยงามในบ้านต่างถูกนำมาใช้ในวันนี้ หากเรากำลังรู้สึกดี ได้ทำบุญ และใช้เวลากับครอบครัว มีหรือที่ชีวิตจะไม่เป็นสุข
“เย้ โคมลอยขึ้นไปแล้ว” ฉันพูดอย่างตื่นเต้น เมื่อเห็นดาวสีส้มของฉันลอยสูงขึ้นไปเรื่อยๆ แม้จะมีเพียง 2 ดวง บนท้องฟ้าทางทิศใต้ของเมือง ฉันยืนนิ่ง และอธิษฐาน ว่าหากที่ผ่านมาไม่ได้แสดงความเคารพต่อสวรรค์และเทวดา ครั้งนี้ก็ขอให้เป็นไปตามเป้าหมายนั้น
เสร็จแล้ว ฉันก็เดินทางไปลอยกระทง เลือกซื้อกระทงใบตองให้คนไปด้วยอีก 2 คน ส่วนฉันเลือกกระทงดอกไม้สีเหลืองสดใสและเหลือเป็นอันสุดท้าย ขยับตัวไปรออยู่บริเวณท่าน้ำ ได้ยินเสียงคนคุยกันเบาๆ
“ใส่เหรียญหรือยัง”
“อ๋อ ใส่แล้ว ใส่ไป 2 บาทเองนะ มันโอเคหรือเปล่า”
อีกฝ่ายหัวเราะ แล้วตอบว่า
“ใส่ไปกี่บาทก็ได้น่ะ ตามกำลัง”
ฉันแอบยืนฟังและอมยิ้ม นึกไม่ถึงว่าจะยังมีคนอยากใส่เหรียญลงในกระทงอยู่ ก็ตอนเด็กๆ เคยมีคนเล่าว่า สมัยโบราณ ท้ายคลองหรือท้ายแม่น้ำ จะมีคนยากจนอาศัยอยู่ เขาจะช่วยเก็บกระทงเหล่านี้ให้กับชาวบ้าน ดังนั้น เงินเหล่านี้เป็นเงินทำบุญให้กับพวกเขานั่นเอง
ลอยกระทงปีนี้ ฉันได้ทำหลายอย่างแบบที่ไม่เคยทำมาหลายปี ขณะมองดูความเชื่อและศรัทธาที่ไหลไปตามแม่น้ำ หรือบนท้องฟ้า นึกถึงใบหน้าชายชราข้างบ้าน และคนแก่ที่อดีตเคยทำไร่ทำนา คงรู้ความหมายของการขอบคุณแม่คงคามากกว่าใคร แม้ยุคสมัยจะเปลี่ยนไปมากมาย ให้เทศกาลลอยกระทงเป็นอะไรก็ได้ อย่างที่พวกเขาอยากให้เป็น
แต่อย่างน้อยฉันก็ยังหวังว่า เทวดาบนนั้นคงมองเห็น ความห่วงใยในผืนน้ำหรือชะตากรรมของบ้านเมือง จากความรู้สึกของคนบ้านนอกคอกนาที่ไม่ประสากับขบวนแห่กระทงยักษ์ คนตัวเล็กๆ หลายคน
ที่ร้องขอกันอยู่เงียบๆ