Skip to main content

ท่ามกลางความมืดของผืนฟ้า  พระจันทร์ดวงกลมโตอวดแสงนวลอยู่บนนั้น

แม้คืนนี้มองไม่เห็นดาว  แต่พระจันทร์คงไม่เหงา  ก็บนท้องฟ้า เต็มไปด้วยดวงไฟสีส้มนับร้อย นับพันดวง วาววับ จนไม่อาจนับจำนวนได้

โคมไฟ หรือ ว่าวไฟ ในเทศกาลลอยกระทง ต่างลอยขึ้นไปตามแรงลม และความร้อนจากเปลวไฟเล็กๆ ที่ห้อยอยู่ข้างท้าย แม้คนจุดจะมีทั้งชาวเมืองเชียงใหม่ หรือนักท่องเที่ยวจากเมืองอื่น

แต่สิ่งที่ฉันได้รู้ในวันนี้ก็คือ สำหรับคนบางคนแล้ว ดาวสีส้มบางดวงนั้นขึ้นไปตามแรงศรัทธาและความเชื่อที่สั่งสมมาตลอดชีวิต

“ได้เวลาจุดไฟกันแล้วนะ”
ชายชราคนหนึ่งคนตะโกนบอกหลานชาย หลังจากเมื่อไม่กี่ชั่วโมงก่อนหน้านี้ เขาเพิ่งประดับประดาหน้าบ้านเสร็จ สิ่งที่เขาทำก็คือการถือมีดด้ามใหญ่ไปฟันต้นกล้วยมา 2 ต้น เขากับหลานชายช่วยกันมัดติดไว้กับรั้วบ้าน  จากนั้น  ก็ห้อยโคมไฟอันเล็กๆ ติดไว้ทั้งสองข้าง ตลอดเวลา

เขาทำไปด้วยรอยยิ้ม และหันมาทักทายกับฉันเป็นระยะๆ เมื่อเห็นว่าฉันก็พยายามประดับหน้าบ้านด้วยโคมไฟเช่นกัน
“ไม่มีต้นกล้วยเหรอ” เขาถาม
“เอ่อ ค่ะ ไม่มี จริงๆ มันใช้ต้นอื่นได้ใช่ไหม” ฉันถามเขาอย่างเจียมตนในความอ่อนด้อยของประสบการณ์
“ถ้าสมัยก่อน เราก็ใช้ต้นกล้วย ต้นอ้อย หรือก้านมะพร้าว แต่ตอนนี้ต้นอะไรก็ได้แหละหนู”

เขามองอย่างมีเมตตา ฉันยิ้มรับ จากนั้นก็หันซ้ายหันขวา เล็งไปยังกระถางดอกไม้ที่เพิ่งขนย้ายมาอยู่บ้านใหม่ เมื่อยังไม่ได้ลงดิน ก็จัดแจงยกมาประดับ ชายชราบ้านตรงข้ามหันมาชื่นชมอย่างให้กำลังใจ

หลานชายของเขาเริ่มต้นจุดเทียน จากดวงที่หนึ่ง ไปดวงที่สอง และดวงถัดๆไป ฟ้ายังไม่มืดดีนัก เพียงพอที่จะเห็นสมาชิกในหมู่บ้านแต่ละหลัง วนเวียนกันออกมาจุดเทียนหน้าบ้าน ต่างคนยิ้มแย้มชักชวนกันไปลอยกระทงที่ท่าน้ำ ซึ่งชาวบ้านช่วยกันตอกไม้ไผ่ให้เป็นราวจับ มีแผ่นไม้ให้เหยียบเดินและหยุดอธิษฐานก่อนจะส่งกระทงลงไป

“ไปลอยด้วยกันไหมหนู” เขาชักชวน
“สักพักถึงจะออกไปค่ะลุง เดี๋ยวจะรอจุดโคมไฟก่อน”
“อ๋อ  เห็นว่าปีนี้เขาแจ้งว่าให้ดูทิศลมอะไรก่อน เขากลัวเครื่องบินตก ใช่ไหม”

เขาชวนคุยไปด้วย พร้อมจุดเทียนไปด้วย
“ค่ะ เห็นว่าแบบนั้น โดยเฉพาะจุดที่ปล่อยพร้อมกันเยอะๆ นะคะลุง”
“อืม ใช่ ในเมืองคงจุดกันเยอะ เราก็จุดกันดวงสองดวงพอ ถือว่าบูชาเทวดา”

ว่าแล้ว ชายชราก็หันไปคุยกับหลานชายต่อ ส่วนฉัน จุดเทียนเกือบเสร็จหมดแล้ว มองไปบนถนน แสงไฟวอมแวมต่อกันไปเป็นทอดๆ มองเห็นเป็นสาย ระหว่างนั้น ก็นึกถึงคำของลุง

การบูชาเทวดา เท่าที่เคยอ่านพบ บอกว่าทำเพื่อบูชาพระเกตุแก้วจุฬามณีบนสรวงสวรรค์ บางแห่งบอกว่า การปล่อยโคม เป็นการส่งเหล่าเทวดาอารักษ์กลับขึ้นสู่สวรรค์ หลังจากที่ลงมาปกปักษ์รักษาชาวบ้านจากปีศาจในช่วงเข้าพรรษา ส่วนบางความเชื่อ เขาคิดว่า เป็นการปล่อยทุกข์โศกของแต่ละปีให้พ้นไปจากครอบครัว เช่นเดียวกับการอธิษฐานก่อนลอยกระทง เพื่อให้ชีวิตหลังจากวันนี้ไป เป็นชีวิตที่ดีขึ้นกว่าเดิม

ฉันเองก็เชื่ออย่างนั้น เพราะภาพที่เห็น ไม่มีใครเลยที่จะทำหน้าบูดบึ้งสำหรับวันนี้ บางบ้านพากันปูเสื่อที่ลานหญ้า พร้อมต้นกล้วยที่ตัดเป็นท่อน ใบตอง มีเด็กๆ ล้อมวงช่วยกันทำกระทง ดอกไม้สวยงามในบ้านต่างถูกนำมาใช้ในวันนี้ หากเรากำลังรู้สึกดี ได้ทำบุญ และใช้เวลากับครอบครัว มีหรือที่ชีวิตจะไม่เป็นสุข

“เย้ โคมลอยขึ้นไปแล้ว” ฉันพูดอย่างตื่นเต้น เมื่อเห็นดาวสีส้มของฉันลอยสูงขึ้นไปเรื่อยๆ แม้จะมีเพียง 2 ดวง บนท้องฟ้าทางทิศใต้ของเมือง ฉันยืนนิ่ง และอธิษฐาน ว่าหากที่ผ่านมาไม่ได้แสดงความเคารพต่อสวรรค์และเทวดา ครั้งนี้ก็ขอให้เป็นไปตามเป้าหมายนั้น

เสร็จแล้ว ฉันก็เดินทางไปลอยกระทง เลือกซื้อกระทงใบตองให้คนไปด้วยอีก 2 คน ส่วนฉันเลือกกระทงดอกไม้สีเหลืองสดใสและเหลือเป็นอันสุดท้าย ขยับตัวไปรออยู่บริเวณท่าน้ำ ได้ยินเสียงคนคุยกันเบาๆ
“ใส่เหรียญหรือยัง”
“อ๋อ ใส่แล้ว ใส่ไป 2 บาทเองนะ มันโอเคหรือเปล่า”

อีกฝ่ายหัวเราะ แล้วตอบว่า
“ใส่ไปกี่บาทก็ได้น่ะ ตามกำลัง”

ฉันแอบยืนฟังและอมยิ้ม นึกไม่ถึงว่าจะยังมีคนอยากใส่เหรียญลงในกระทงอยู่ ก็ตอนเด็กๆ เคยมีคนเล่าว่า สมัยโบราณ ท้ายคลองหรือท้ายแม่น้ำ จะมีคนยากจนอาศัยอยู่ เขาจะช่วยเก็บกระทงเหล่านี้ให้กับชาวบ้าน  ดังนั้น เงินเหล่านี้เป็นเงินทำบุญให้กับพวกเขานั่นเอง

ลอยกระทงปีนี้ ฉันได้ทำหลายอย่างแบบที่ไม่เคยทำมาหลายปี ขณะมองดูความเชื่อและศรัทธาที่ไหลไปตามแม่น้ำ หรือบนท้องฟ้า นึกถึงใบหน้าชายชราข้างบ้าน และคนแก่ที่อดีตเคยทำไร่ทำนา คงรู้ความหมายของการขอบคุณแม่คงคามากกว่าใคร แม้ยุคสมัยจะเปลี่ยนไปมากมาย ให้เทศกาลลอยกระทงเป็นอะไรก็ได้ อย่างที่พวกเขาอยากให้เป็น

แต่อย่างน้อยฉันก็ยังหวังว่า เทวดาบนนั้นคงมองเห็น ความห่วงใยในผืนน้ำหรือชะตากรรมของบ้านเมือง จากความรู้สึกของคนบ้านนอกคอกนาที่ไม่ประสากับขบวนแห่กระทงยักษ์ คนตัวเล็กๆ หลายคน
ที่ร้องขอกันอยู่เงียบๆ

picture

picture

picture

picture

picture

picture

บล็อกของ วาดวลี

วาดวลี
เมื่อหลายสิบปีก่อน เมื่อชายวัยกลางคนคนหนึ่งมาปลูกบ้านอยู่ริมแม่น้ำ เขายิ้มให้กับชีวิตพลางบอกลูกเมียว่า อยากกินปลามื้อไหนขอให้บอก จะเอาตัวเล็กตัวใหญ่ แค่คว้าแห คว้าไซ เบ็ดตกปลา หรือเดินดุ่มลงไปยกยอ ไม่เกิน 15 เท่านั้น ก็จะมีปลามาแกงได้ทั้งหม้อน้ำแม่โก๋นข้างบ้านพ่อชุม
วาดวลี
๑.นอนพักเถิด มวลมิตร ที่ชิดใกล้เก็บแรงไว้คุ้ยหาเศษอาหารฟ้าสวยสวย พื้นที่กว้าง ที่กลางลานคือสวรรค์สถาน ของผองเราอย่าไปเครียด จริงจัง เลยวันพรุ่งเดี๋ยวก็รุ่ง เดี๋ยวก็ค่ำ เหมือนวันเก่ารู้วิถี ตัวตน บนทางเราอย่าเกะกะใครเขาก็เท่านั้นเราเป็นชนกลุ่มน้อยด้อยในโลกจะส่งซึ่ง ภาษาโศก ภาษาขันก็หามีใครฟังเจ้าทั้งนั้นคนอื่นล้วน สื่อสารกัน ภาษาเขา
วาดวลี
“เขาขนทรายกันตรงไหนคะ”ฉันเอ่ยถามเสียงเบาๆ หากจะให้เดาก็คงเป็นที่วัด แต่วัดในบริเวณนี้มีตั้งหลายแห่ง และก็ไม่ได้อยู่ติดกับแม่น้ำแบบวัดใหญ่ของอีกฝั่งฟากถนน วัดใหญ่นั้น ตีเขตไปเป็นอีกตำบล อีกอำเภอหนึ่ง ซึ่งเดาได้ว่า คนในหมู่บ้านฉัน คงไม่ได้ไปทำบุญกันที่นั่น พี่สาวใจดีข้างบ้าน บอกฉันทุกเรื่อง ในสิ่งที่ฉันสงสัย จะว่าไป มีเพียงครอบครัวเดียวที่ฉันรู้จักมักคุ้น แม้จะย้ายบ้านมาได้หลายเดือนแล้ว คนอื่นๆ ส่วนใหญ่ ออกไปใช้ชีวิตประจำวันนอกบ้าน เราเจอกันยามค่ำ ก็ยิ้มให้กันไปมา แล้วต่างแยกย้ายกันไป แค่เวลา 2 ทุ่มกว่า ทั้งหมู่บ้านก็เงียบสนิท มีเพียงฉันที่เปิดไฟทำงานจนถึงดึกดื่นจะสงกรานต์แล้ว…
วาดวลี
“ฝนกำลังตกซิๆ”เสียงตามสายโทรศัพท์จากเพื่อนหนุ่มที่ฉันเคยเขียนถึงเมื่อตอนที่แล้ว เอ่ยบอกเล่าเบาๆ ถึงสิ่งที่กำลังอยู่ในชีวิตเขาของในเช้าวันนี้คนทางนี้เรียกสายฝนด้วยคำนั้น “ฝนตกซิๆ” บางครั้ง ฉันก็ชอบลักษณะฝนอย่างว่า ด้วยเป็นคนที่ชอบอยู่บ้าน จะมีอะไรสุขใจไปกว่าการได้นั่งดูสายฝนที่ไม่มีลมแรงๆ ให้ต้องหวาดกลัว อากาศเย็นสบาย จิบชาอุ่นๆ แล้วนั่งทำงาน แต่ก็อดเห็นใจไม่ได้ ถึงคนที่กำลังเดินทาง หรือคนทำมาค้าขาย  อาการฝนตกซิๆ นั่นคือเรื่องรำคาญใจ และรบกวนการทำงานอย่างยิ่ง วูบนั้น ฉันก็นึกไปถึง ป้ายสุภาษิตหน้าวัดต้นปิน ซึ่งเขียนไว้บนแผ่นไม้ติดผนังวัดว่า “ฝนตกซิๆ นานเอื้อน หมาขี้เรื้อน นานต๋าย”…
วาดวลี
“ผมจะย้ายกลับบ้านเกิดแล้วนะ” อีกครั้ง ที่เพื่อนชายคนเดิม คนที่ฉันเคยช่วยเก็บข้าวของเมื่อปีก่อน บอกกับฉันในต้นปลายเดือนมีนาคมของปีนี้ถึงเรื่องการย้ายกลับภูมิลำเนาเกิดไปยังอำเภอฝาง บ่ายที่แดดจัดจ้านนั้น ฉันจำได้ดีถึงประกายนัยน์ตามุ่งมั่นของเขา เมื่อหกเดือนที่แล้ว ................  
วาดวลี
อาจด้วยความเมตตาของผืนฟ้า และความปราณีของผืนดิน ที่ยังคงให้เราได้หายใจหายคอได้อยู่  ทั้งที่ “อะไรที่มองไม่เห็นในอากาศ” นั้น กำลังมาบอกอย่างโต้งๆ ว่า โลกไม่ใช่แค่กำลังร้อน แต่มันกำลังเสื่อมสลายและผุกร่อน“ขี่รถไปไหนแสบตามากเลย หายใจไม่ค่อยออก”คนรู้จักของฉันเล่าให้ฟัง ฉันได้แต่พยักหน้าเห็นด้วย เพราะอาการก็ไม่ต่างกัน เมื่อวานนี้ ฉันซ้อนมอเตอร์ไซค์คนที่บ้านขี่เลียบน้ำปิงไปยังเขตเมือง ใบไม้ร่วงกราวจากพายุที่ก่อตัวตั้งเค้ามาในช่วงบ่าย ใบไม้แห้งสีน้ำตาลกรอบกระจายไปถ้วนทั่วท้องถนนและผืนหญ้าบนสวนสาธารณะ บางแห่งพัดปลิวเอาเศษกระดาษ ถุงพลาสติก วนอยู่ในอากาศ ก่อนจะร่วงไปตกลงในลำน้ำปิง…
วาดวลี
หลายปีก่อน หญิงสาวรูปร่างบางตาคมคนหนึ่ง ซึ่งเป็นรุ่นน้อง เอ่ยกับฉันว่าการหอบสัมภาระเพื่อย้ายจาก “บ้านเช่า” ไป “บ้านใหม่” ที่เธอเป็นเจ้าของนั้น ต้องเก็บไปให้มากที่สุด เพื่อไม่ให้กลายเป็นภาระของคนมาทีหลัง “อะไรเอาไปได้ก็เอาไป ยกเว้นก็แต่ต้นไม้ มันโตจนเกินกว่าที่จะขุดขึ้นมา”ฉันไม่มีโอกาสไปเยี่ยมเธอเลยในหลายปีมานี้ แต่พอจะรับรู้ได้ว่า คนรักต้นไม้แบบเธอนั้นเพียรพยายามปลูกสารพัดต้นไม้เท่าที่ผืนดินจะอำนวย นอกจากต้นโมก ดอกแก้ว หรือพลูด่างแล้วเธอยังมีพืชสวนครัว เช่น ตะไคร้ พริก โหระพา เพื่อเอาไว้ทำกับข้าว แต่ฉันเดาเอาว่าเธอคงปลูกทั้งต้นมะม่วง จำปี กระทั่งฝรั่งหรือขนุน…
วาดวลี
"มีลูกแมวเพิ่งออกลูกตั้งหลายตัวแน่ะ""มันอยู่ตรงไหนคะ" "นั่นไง หลบอยู่หลังป้ายหาเสียงน่ะ"คนบอกชี้นิ้วไปยังบริเวณริมรั้วที่อยู่ฝั่งตรงข้าม ฉันอดไม่ได้ ที่จะจำใจมองไปยังป้ายโฆษณาหาเสียงขนาดใหญ่ สูงท่วมหัวตั้งโด่เด่อยู่เพียงอันเดียวในหมู่บ้าน  ป้ายอันนั้นทำด้วยไม้อัดเรียงต่อกัน แปะทับเข้าไปด้วยไวนิลพิมพ์ภาพ 4 สีสดใส ใบหน้าผุดผ่อง ขาวนวลและริมฝีปากแดงระเรื่อ ดูมีอำนาจวาสนาและความรู้ แต่ในเมื่อไม่มีป้ายหาเสียงของใครอื่นมาเทียบเคียงอีกเลย ฉันจึงคิดเล่นๆว่า  ดูท่าทางเขาไม่ใช่ผู้ลงสมัครระดับธรรมดา และบ้านหลังนั้นที่มีรถหาเสียงหลายๆ คันทยอยกันมาจอดชุมนุม…
วาดวลี
“เธอดูโน่นสิ แดดออกแล้ว แต่ฝนยังตกอยู่เลย”ฉันเอ่ยเสียงดัง แล้วละสายตาจากคอมพิวเตอร์ ออกมายืนยังประตูบ้าน กลิ่นไอฝนกระทบกับผืนดินแตะปลายจมูก  สูดกลิ่นเข้าไปเต็มปอด พลางพิจารณาแสงแดดที่ค่อยๆ มาแทนที่อย่างเชื่องช้าคนข้างกายลุกขึ้นบ้าง เราสองคนออกมายืนดูสายฝน ที่มีเม็ดเล็กลงเรื่อยๆ ตกช้าลง ช้าลง จนกระทั่งหยุดตก เหลือไว้เพียงก็รอยหมาดฝนบนผืนดิน ใบไม้ และทางเดิน “แบบนี้ต้องมีรุ้งกินน้ำแน่ๆ หิวข้าวหรือยัง”
“อ้าว เกี่ยวกันยังไง” ฉันทำหน้าเบ๋อ พุ่งตัวเข้าไปใกล้เธอในระยะประชิด“แปลว่าเราออกไปหาอะไรกิน แล้วไปดูรุ้งกินน้ำด้วยไง”ฉันยิ้มกริ่ม ถ้าเธอมีเวลาอยู่กับฉันทุกวันก็คงจะดี นานๆ หน…
วาดวลี
ก่อนหน้านี้หลายสัปดาห์แล้วล่ะ  ที่ฉันไปยืนอยู่ตรงนั้นแล้วพยายามจะนับดูว่า ดอกทิวลิปที่ก้านอวบ กลีบสวย ในสวนตรงนี้ มีจำนวนกี่สีกันแน่มวลหมู่ไม้มากมาย พืชพันธุ์ทั้งไทยและฝรั่ง ผลิบานแสดงความแข็งแรงต่ออากาศหนาวยามเช้า และแดดจัดยามบ่ายในบริเวณสวนสาธารณะของหาดเชียงราย แม้มันจะไม่ได้เกิดและเติบโตที่นั่น แต่ถูกเพาะปลูกเลี้ยงดูด้วยการทดลอง กระทั่งเมื่อสำเร็จผล ก็ถูกขนย้าย มาลงบนผืนดินชั่วคราวเพื่อแสดงงานดอกไม้ดอกทิวลิป ลิลลี่ บานชื่อพันธุ์ใหม่ และดอกไม้ชื่อแปลกหูอีกหลายชนิด เบ่งบานอวดสีสันอยู่ไม่ไกลนักจากลำน้ำกกที่พากันไหลอ้อยสร้อย เชื่องช้าไม่เพียงแต่ทดสอบความทนทานของดอกไม้ต่ออากาศเท่านั้น…
วาดวลี
อากาศขมุกขมัว เริ่มต้นมาได้หลายวันแล้ว ขณะที่หมอกบางเพิ่งจางลงไปในตอนเช้า ตอนสายๆ ของฤดูหนาวกลับมีเม็ดฝนมาเยือน คนในครอบครัวต้องปรับตัวในการออกไปทำงาน  ด้วยการใส่ทั้งเสื้อกันหนาวและเสื้อกันฝน ส่วนฉัน ขี่รถมอเตอร์ไซค์ไปติดอยู่ที่แผงขายผักเล็กๆ ในหมู่บ้าน คุณยายมองดูสายฝนที่หนาหนักลงมา แล้วก็ถอนหายใจ"อย่าเพิ่งกลับเลยหนู รอให้ฝนซาก่อน"เขาบอกฉันอย่างมีไมตรี แล้วชวนให้เข้าไปหลบฝนด้านในร้าน เหลือบไปมองถนน บางคนฝ่าเม็ดฝนไปไม่กลัวเปียก บางคนทำท่าเก้ๆ กังๆแล้วบทสนทนาของฝนหลงฤดูก็เกิดขึ้น"มันแปลกจริงๆ ฝนจะมาช่วงนี้ได้ยังไง""อากาศวิปริต""จะเข้าหน้าร้อนแล้วก็แบบนี้แหละ ฝนหัวปี""เฮ้ย ยังไม่ถึง"…
วาดวลี
ผู้ชายคนนั้นเหมือนไม่สนใจใครเลยเขาย่ำเท้าหนักๆ ลงบนผืนทราย บุ๋มเป็นรอยเท้าทับซ้อนกันไปมา เขาง่วนอยู่กับข้าวของบางอย่างตรงหน้า แต่ฉันไม่คิดว่าเขาจะลืม ว่าเวลาที่ตะวันยามเช้าสะท้อนแม่น้ำจนเป็นสีเหลืองนวลนั้นสวยงามเพียงใดหาดทรายริมแม่น้ำโขงที่ฉันมาเยือน อยู่ในความสนใจของนักเดินทาง โลกนัดเวลาให้เราไว้แล้ว สำหรับการตื่นในที่แปลกถิ่นและออกมาสูดอากาศ หากตื่นเช้ากว่าใครเพื่อน เราจะมองเห็น ผู้คนทยอยโผล่หน้าออกจากเกสเฮาส์ที่เรียงรายกันตลอดริมฝั่ง บ้างก็ลงมาเดินเล่น บ้างก็กางขาตั้งกล้องรอเอาไว้ เพื่อจะได้กดชัตเตอร์เมื่อดวงตะวันกลมโตสีแดงโผล่พ้นทิวเขาหลังแม่น้ำขึ้นมา…