Skip to main content


ยุกติ มุกดาวิจิตร 

 


คำกล่าวเปิดเวทีเสวนา “รับเพื่อน(น้อง)ใหม่…เอาให้เคลียร์”
จัดโดย องค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และ กลุ่มธรรมศาสตร์เสรีเพื่อประชาธิปไตย
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รังสิต 12 กันยายน 2555


ยุคใครยุคมัน
ผมอยากเปิดเวทีเสวนา “รับเพื่อน(น้อง)ใหม่…เอาให้เคลียร์” ด้วยคำพูดของนักปรัชญาชาวเดนนิชในศตวรรษที่ 19 ชื่อ ซอเรน เคียร์เคอกอร์ด ที่ว่า
“คนทุกๆ รุ่นต้องเริ่มต้นอะไรของตนเองอยู่เสมอ…คนทุกๆ รุ่นต้องลงแรงสร้างอะไรเอง ไม่ต่างกันทุกรุ่น”
คำพูดของนักวิชาการอีกคนหนึ่งที่น่านำมากล่าวไว้ในที่นี้คือ คำพูดของจอน แบล็คกิง นักมานุษยวิทยาดนตรีอเมริกันที่เชี่ยวชาญดนตรีแอฟริกัน เขาคิดต่อจากเคียร์เคอกอร์ดแล้วเสนอว่า
“ถ้าคุณเป็นประพันธกรที่เก่งกาจ และเคารพไชคอฟสกี้อย่างที่สุด แล้วคุณเอางานไชคอฟสกี้มาเรียบเรียงใหม่ในยุคสมัยของคุณ ไม่ว่าจะอย่างไร คุณก็ไม่สามารถเรียบเรียงและเล่นเพลงของไชคอฟสกี้ได้ในแบบเดียวกับที่ไชคอฟสกี้เล่นในยุคสมัยของเขา ไม่ใช่เพราะไชคอฟสกี้เป็นอัจฉริยะจนใครต่อใครเอาอย่างไม่ได้ แต่เพราะดนตรีในยุคสมัยของคุณ มันแตกต่างจากดนตรีในยุคของไชคอฟสกี้”
ผมจึงอยากตั้งคำถามไว้ก่อนว่า ในยุคของคุณ พวกคุณจะต้องมีพิธีกรรมนี้จริงๆ หรือ? แล้วอะไรกันแน่คือคุณค่า ไม่ใช่แค่เหตุผล ของการจัดพิธีรับน้องในยุคสมัยของคุณ? หรือถึงที่สุดแล้ว ยุคสมัยคุณยังต้องการการรับน้องอยู่อีกหรือ?
 
ประสบการณ์ไม่รับน้อง
สมัยผมเรียนธรรมศาสตร์ ผมชอบไปเดินเล่นที่มหาวิทยาลัยแถวหน้าพระลาน ผมชอบบรรยากาศที่นั่น ชอบอาหารโรงอาหารที่นั่น ชอบกล่ินสี กลิ่นดิน งานศิลปะ ชอบนั่งดูพวกที่มาเรียนศิลปะเรียนโบราณคดีแต่งตัวกัน ชอบไปหาเพื่อนที่รู้จักซึ่งก็มีไม่กี่คน แต่เพื่อนผมที่เรียกตัวเองว่า “ศิลปิน” บอกว่า มันชอบมานั่งที่ธรรมศาสตร์ มันบอกพวกธรรมศาสตร์ช่างคิดช่างเขียนช่างอ่านกันดี
 
แต่ถึงผมจะชอบมหาวิทยาลัยแถวหน้าพระลานขนาดไหน ผมก็ไม่อิจฉาและงงทุกครั้งที่เห็นการรับน้องแบบที่นั่น เขาพาน้องเดินไปเดินมาที่สนามหลวง ไปกันเป็นฝูงๆ ให้น้องแต่งตัวแปลกๆ บางทีจะเรียกว่าแต่งตัวยังไม่ได้เลย อีกอย่างที่เขาทำคือ ให้น้องใส่ป้ายชื่อใหญ่ๆ
 
ที่มหาวิทยาลัยแถวสามย่านก็มีประเพณีประหลาด อย่างอื่นผมไม่รู้ แต่สมัยผมที่ผมรับรู้คือ เขาให้นิสิตปีหนึ่งผู้หญิงใส่รองเท้าขาว นิสิตผู้ชายต้องผูกไท ผมงงทุกทีว่าทำไมน้องใหม่ผู้หญิงจะต้องระวังไม่ให้รองเท้าเลอะเทอะมากกว่าน้องผู้ชาย และทำไมน้องใหม่ผู้ชายต้องเอาผ้ามารัดคอเข้าห้องเรียนด้วย
 
ผมนึกดีใจขึ้นมาที่สอบไม่ติดมหาวิทยาลัยหน้าพระลาน ผมอยากเรียนคณะจิตรกรรมที่นั่น แต่นึกๆ ดูว่า หากเข้าไปได้ ผมคงต้องอึดอัดอยู่ที่นั่นไม่ได้ เพราะไม่ชอบถูกว้ากถูกรับน้องแบบนั้น คณะรองลงมาที่อยากเข้าคือคณะสถาปัตย์ฯ มหาวิทยาลัยสามย่าน เพราะอยากสร้างงานศิลปะให้คนเข้าไปอาศัย แต่ตอนหลังก็นึกดีใจที่ผมไม่ต้องไปเอาผ้ารัดคออยู่ปีนึง
 
อยู่ธรรมศาสตร์ พอมาถึงมหาวิทยาลัยทีไร ผมบอกตัวเองแทบทุกนาทีว่า “ธรรมศาสตร์มีเสรีภาพทุกตารางนิ้ว” ผมคิดว่าหากเรามีเหตุผลกับสิ่งที่เลือกทำ และไม่ได้ทำร้ายใคร ผมก็จะทำ ผมก็เลือกไม่ไปงานรับน้อง ไม่ไปรับใครเป็นน้อง ไป “บายเหนี่ย” ตอนปีสี่ครั้งเดียว แต่ไม่สนุก เพราะไม่รู้จักใคร และที่จริงก็ไม่อยากรู้จักใคร
ที่ธรรมศาสตร์ แม้ว่าจะพยายามรณรงค์ให้เรียกกันว่า “การรับเพื่อนใหม่” แต่คำว่าเพื่อนใหม่ก็ไม่ติดปาก คนมาใหม่ก็จะเป็นน้องอยู่ตลอดอยู่นั่นเอง ธรรมศาสตร์สมัยผมแม้ส่วนมากไม่รับน้องรุนแรง แต่มีบางคณะเหมือนกันที่ใช้วิธี “ว้ากน้อง” มีบางคณะเหมือนกันที่ให้น้องทำอะไรโง่ๆ อย่าให้เอ่ยชื่อคณะเลย
 
รับน้องทำไม
การรับน้องไม่ได้มีขึ้นเพื่อการศึกษาแน่ เพราะมันไม่มีเหตุผลอะไรที่คนจะต้องทำอะไรที่ดูโง่ๆ ตามๆ กัน จะต้องเชื่อฟังพี่อย่างง่ายๆ ซื่อๆ กระทั่งถึงกับไร้ศักดิ์ศรี เพื่อจะให้สามารถสร้างงานศิลปะได้ดีอย่างนั้นหรือ จะต้องใส่รองเท้าขาว เอาผ้ารัดคอ เพื่อให้ท่องตำราได้คล่องแคล่วอย่างนั้นหรอ ไม่ใช่แน่
 
หรือถ้าจะบอกว่าการรับน้องเพื่อสร้างสัมพันธ์ สร้างการมีเพื่อน ก็ไม่ใช่แน่ เพราะคนในโลกนี้คบหาเป็นเพื่อนกันได้โดยไม่จำเป็นต้องมีพิธีกรรมรับน้องอะไร ผมเองไม่เคยไปรับน้อง ก็มีเพื่อนฝูงมากมายจนไม่สามารถสังสันทน์ได้ครบ
 
ถ้าลองวิเคราะห์ดู ผมคิดว่าการรับน้องแบบนั้นสร้างระบบรุ่น และระบบอาวุโสแบบรุ่นพี่รุ่นน้อง ระบบนี้รวมเรียกว่าระบบอุปถัมภ์ การอุปถัมภ์เกื้อกูลกันระหว่างรุ่นพี่รุ่นน้องในมหาวิทยาลัยทำงานแข็งขันมาก สมัยก่อนหรือสมัยนี้ก็คงยังมีอยู่ ใครจบจากสถาบันไหน ก็จะสร้างเครือข่ายของสถาบันนั้น ถ้าคุณสังเกตวงการบางวงการ องค์กรบางองค์กร บริษัทบางบริษัท จะมีผู้จบจากบางสถาบันครอบงำอยู่ตลอด สืบทอดกัน ไม่ใช่เพราะความสามารถอย่างเดียว แต่เพราะความเป็นสถาบัน ยิ่งหากอาชีพนั้นเฉพาะเจาะจงตามคณะที่เรียนกันมา ความเป็นรุ่นพี่รุ่นน้องก็จะยิ่งมีความสำคัญต่อการรับไม่รับรุ่นพี่รุ่นน้องกันเข้าทำงาน
 
หากวิเคราะห์ตามนักคิดทางสังคมอย่างมักซ์ เวเบอร์ การสืบทอดสถาบันและรุ่นมีลักษณะไม่ต่างจากระบบการสืบทอดอำนาจแบบประเพณี ความเป็นพี่น้องคล้ายระบบสืบสายโลหิต ระบบเครือญาติ พิธีกรรมรับน้องทำหน้าที่สร้างความผูกพันแบบเครือญาติที่วางอยู่บนระบบอาวุโส เข้ากลุ่มเจอกันก็ต้องไหว้ เรียกพี่เรียกน้องกันทั้งๆ ที่อายุก็ห่างกันไม่เท่าไหร่ หรือบางทีคนที่ “ซิ่ว” มาก็มี เข้าโรงเรียนไม่พร้อมกันก่อนหลังบ้างก็มี บางคนสมัยก่อนสอบเทียบมาก็มี อายุจึงไม่ได้ลดหลั่นกันตามปีที่เข้ามหาวิทยาลัย แต่พิธีกรรมนี้ก็จะทำให้ระบบอาวุโสทำงานไปตลอด ไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง
 
ระบบการรับน้องจึงมีส่วนทำลายระบบความสามารถ ระบบการใช้เหตุผล บางครั้งอาจเป็นการบ่มเพาะระบบพวกพ้อง ที่เกื้อกูลกันแม้ไม่ถูกกฎเกณฑ์ แม้ผิดกฎหมาย
 
เลยไปกว่านั้น ผมว่าพิธีรับน้องสร้างชนชั้นผู้มีการศึกษา เพราะไม่มีการศึกษาระดับอื่นที่มีการรับน้อง หรือเดี๋ยวนี้มีหรือเปล่า ผมไม่ทราบ แต่สมัยผมไม่เห็นมีใครรับน้องอนุบาล รับน้องประถม รับน้องมัธยม มีแต่ในระดับการศึกษาระดับมหาวิทยาลัยที่มี
 
การรับน้องจึงเป็นเรื่องของชนชั้นทางสังคม ที่สร้างขึ้นมาจากการทำให้แตกต่าง ทำให้พิเศษไปจากการศึกษาระดับอื่นๆ ทำให้เป็นกลุ่มเป็นก้อนกันระหว่าง “ผู้มีการศึกษา” ทั้งๆ ที่การศึกษาระดับมหาวิทยาลัย–ตามที่ควรจะเป็น–ไม่ได้มุ่งสอนให้คนเชื่องเชื่ออะไรง่ายดายอย่างนั้น
 
แต่การสร้างชนชั้นผู้มีการศึกษา แยกพวกเรียนมหาวิทยาลัยออกจากคนไม่ได้มีโอกาสเข้าหรือไม่ได้จบมหาวิทยาลัย ทำให้พวกจบมหาวิทยาลัยแปลกแยก แต่กลับอยู่เหนือสังคม ทั้งๆ ที่สังคมเลี้ยงดูอุ้มชูให้พวกเขาเติบโตมา ภาษีประชาชนที่มาชดเชยช่วยให้ค่าเล่าเรียนในมหาวิทยาลัยรัฐราคาถูก กลับสร้าง “ชนชั้นผู้มีการศึกษา” ขึ้นมาดูถูกประชาชนที่จ่ายภาษีเลี้ยงดูมหาวิทยาลัย การรับน้องมีส่วนสร้างกลุ่มคนที่ “อกตัญญูต่อสังคม” เหล่านี้
 
ประดิษฐ์ประเพณีใหม่
ประเพณีต่างๆ ล้วนถูกประดิษฐ์ขึ้นมารับใช้ยุคสมัยของมัน สนองสังคมที่ประดิษฐ์มันขึ้นมา แต่ประเพณีที่ถูกประดิษฐ์ขึ้นมาแล้ว มักกลับมาครอบงำคน จนกระทั่งคนที่เดินตามมันหลงลืม ไม่รู้แล้วว่าคุณค่าของประเพณีนั้นๆ คืออะไร แล้วก็เลยไม่ทันได้ตรวจสอบทบทวนว่ามันยังมีประโยชน์สอดคล้องกับยุคสมัยหรือไม่
 
ผมอยากเสนอว่า ในยุคสมัยของพวกคุณ คุณน่าจะมาคิดกันว่า จะรับน้องหรือไม่? จะรับกันไปทำไม? หากจะทำกิจกรรมบางอย่างทดแทน จะทำอะไร? จะทำไปเพื่ออะไร?
 
ผมคิดว่าเราควรจะคุยกัน แลกเปลี่ยนความคิดกัน อย่างถึงลูกถึงคน อย่างหลากหลายแง่มุม อย่างสุดทางของเหตุผลและระบบคุณค่า
 
มาทบทวนกันว่า พวกคุณยังต้องการสร้างและสืบทอดระบบอุปถัมภ์อยู่หรือไม? พวกคุณยังอยากแยกตนเองเป็นชนชั้นผู้มีการศึกษาอยู่หรือไม่? หรืออย่างน้อย พวกคุณยังอยากทำอะไรตามๆ กันโดยไม่ตรวจสอบสงสัย หรือดัดแปลงหรือไม่?
 
เราไม่ควรพูดเลี่ยงเพียงแค่ด้วยสำนวนที่ว่า “ความคิดใครความคิดมัน มุมมองใครมุมมองมัน” เพราะถึงที่สุดแล้ว กิจกรรมรับน้องเป็นกิจกรรมที่ “รุ่นน้อง” ถูกทำให้ต้องยอมรับอย่างจำยอม ไม่ใช่เพราะ “ความคิดใครความคิดมัน” การพูดว่าความคิดใครความคิดมันเป็นการกลบเกลื่อนการใช้อำนาจเหนือการแลกเปลี่ยนเชิงเหตุผลของคนในประชาคม
 
ประเพณีธรรมศาสตร์
บอกแล้วว่าประเพณีของยุคไหนก็เป็นเรื่องที่แต่ละยุคต้องคิดกันเอาเอง ผมคิดแทนไม่ได้ แต่อยากเสนอแนวทางหนึ่งไว้เป็นข้อคิดว่า การจะตัดสินว่า จะเดินหน้ากันต่อไปอย่างไรเป็นเรื่องที่น่าจะช่วยกันคิดถึง “คุณค่า” คิดถึง “ความหมายที่ลึกซึ้ง” ของยุคสมัย และค้นหาอัตลักษณ์เฉพาะตนของประชาคม เพื่อที่เราจะได้นำเสนอคุณค่าที่แตกต่าง เป็นเอกเทศ แบบเท่ๆ ของเราเองให้กับสังคม
 
ผมคิดถึงคุณค่า “ธรรมศาสตร์” ที่ไม่ต้องเลี่ยนมาก ไม่ต้อง “ธรรมส้าดธรรมศาสตร์” ไม่ต้องอ้างคาถา 14 ตุลา, 6 ตุลา, ปรีดี, ป๋วย กันตลอดเวลาหรอก ตอนผมเรียน ผมก็ไม่ได้อยากรู้เรื่องพวกนี้มากนักหรอก มันน่าเบื่อจะตาย ถูกกรอกหูจากรุ่นพี่ตลอด
 
เพียงแต่อย่าลืมว่า พวกคุณเป็นหนี้สังคมไทยอย่างไร ลำพังเงินบิดามารดาคุณไม่สามารถลงทุนสร้างมหาวิทยาลัยให้มีชื่อเสียง ให้มีเงินจ้างอาจารย์มาสอน ให้มีเพื่อนๆ ดีๆ มีคนที่มีคุณภาพของสังคมมาให้คบหาประชาคมกันได้หรอก พวกคุณจึงเป็นหนี้สังคมที่สร้างสภาพแวดล้อมของการเรียนรู้แบบนี้ขึ้นมา
 
แต่คุณค่าของธรรมศาสตร์คืออะไร? ธรรมศาสตร์ในยุคของคุณคืออะไร? ธรรมศาสตร์ที่คุณจะสร้างต่อไปคืออะไร? ธรรมศาสตร์สมัยนี้ควรสืบทอดและสร้างอะไรใหม่? ธรรมศาสตร์ควรประดิษฐ์ประเพณีรับน้องของตนเองแบบใด? หรือธรรมศาสตร์ไม่ต้องการการรับน้องอีกต่อไปแล้ว? เป็นเรื่องที่ต้องตรองกันดู

 

 

หมายเหตุ: เผยแพร่ครั้งแรกที่ http://socanth.tu.ac.th

บล็อกของ ยุกติ มุกดาวิจิตร

ยุกติ มุกดาวิจิตร
มาเกียวโตเที่ยวนี้หนาวที่สุดเท่าที่เคยมา (สัก 6 ครั้งได้แล้ว) อุณหภูมิอยู่ราวๆ 0-5 องศาเซลเซียสตลอด แต่นี่ยังไม่เท่าเมืองที่เคยอยู่ คือวิสคอนซิน สหรัฐอเมริกา ซึ่งขณะนี้อยู่ราวๆ -20 องศาเซลเซียส และเคยหนาวได้ถึง -40 องศาเซลเซียส หนาวขนาดนั้นมีแต่นกกากับกระรอก ที่อึดพอจะอยู่นอกอาคารได้นานๆ แต่ที่เกียวโต คนยังสามารถเดินไปเดินมา หรือกระทั่งเดินเล่นกันได้เป็นชั่วโมงๆ หากมีเครื่องกันหนาวที่เหมาะสม
ยุกติ มุกดาวิจิตร
การสัมมนาที่มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์เมื่อวันที่ 23-24 มค. ยังความรื่นรมย์มสู่แวดวงวิชาการสังคมศาสตร์อีกครั้ง ถูกต้องแล้วครับ งานนี้เป็นงาน "เวทีวิจัยมนุษยศาสตร์ไทย ครั้งที่ 7" หากแต่อุดมคับคั่งไปด้วยนักสังคมศาสตร์ (ฮ่าๆๆๆ) น่ายินดีที่ได้พบเจอเพื่อนฝูงทั้งเก่าทั้งใหม่มากหน้าหลายตา แต่ที่น่ายินดียิ่งกว่านั้นคือการได้สนทนาทั้งอย่างเป็นทางการ ผ่านงานเขียนและการคิดอ่านกันอย่างจริงจัง บนเวทีวิชาการ กับเพื่อนๆ นักวิชาการรุ่นใหม่
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อเช้า (26 มค.) ผมไปเลือกตั้งล่วงหน้าที่เขตจอมทอง ด้วยเหตุจำเป็นไม่สามารถไปเลือกตั้งวันที่ 2 กพ. ได้ ก่อนไป สังหรณ์ใจอยู่ก่อนแล้วว่าจะเกิดเหตุไม่ดี ผมไปถึงเขตเลือกตั้งเวลาประมาณ 9:00 น. สวนทางกับผู้ชุมนุมนกหวีดที่กำลังออกมาจากสำนักงานเขต นึกได้ทันทีว่ามีการปิดหน่วยเลือกตั้งล่วงหน้า มวลชนหลักร้อย ดูฮึกเหิม ท่าทางจะไปปิดหน่วยเลือกตั้งอื่นต่อไป ผมถ่ายรูปคนจำนวนหนึ่งไว้
ยุกติ มุกดาวิจิตร
หนังสือ ประวัติศาสตร์ไทดำ : รากเหง้าวัฒนธรรม-สังคมไทยและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (2557) เล่มนี้เป็นผลจากการวิจัยเมื่อ 10 ปีที่แล้ว ผมทำวิจัยชิ้นนั้นก็เพื่อให้เข้าใจงานเขียนทางประวัติศาสตร์ของชาวไทในเวียดนามสำหรับทำวิทยานิพนธ์ปริญญาเอก แต่เนื้อหาของหนังสือนี้แทบไม่ได้ถูกนำเสนอในวิทยานิพนธ์
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เดือนที่แล้ว หลังเสร็จงานเขียนใหญ่ชิ้นหนึ่ง ผมกะจะหลบไปไหนสัก 4-5 วัน ระยะนั้นประเด็นวันเลือกตั้งยังไม่เข้มข้นขนาดทุกวันนี้ ลืมนึกไปจนกลายเป็นว่า ตัวเองกำหนดวันเดินทางในช่วงวันเลือกตั้ง 2 กพ. 57 พอดี เมื่อมาคิดได้ เมื่อวันที่ 14 มค. ก็เลยถือโอกาสที่ที่ทำงานให้หยุดงานไปลงทะเบียนเลือกตั้งล่วงหน้าในเขตตนเอง ใช้เวลาไม่เกิน 15 นาทีก็ได้เอกสารมาเก็บไว้ รอไปเลือกตั้งล่วงหน้าวันอาทิตย์ที่ 26 มค.
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เหตุที่ประโยค Respect My Vote. กลายเป็นประโยคที่นำไปใช้ต่อ ๆ กันแพร่หลายกินใจผู้รักประชาธิปไตยในขณะนี้ ไม่เพียงเพราะประโยคนี้มีความหมายตามตัวอักษร แต่เพราะประโยคนี้ยังเป็นถ้อยแถลงทางการเมืองของประชาชน ที่ประกาศว่า อำนาจสูงสุดของประเทศนี้เป็นของประชาชน
ยุกติ มุกดาวิจิตร
วันที่ 9 มกราคม 2557 เวทีเสวนาประชาธิปไตยภาคใต้ ได้จัดอภิปรายเรื่อง "ปฏิรูปประเทศไทย : ปาตานีในระยะเปลี่ยนผ่าน" ณ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ผมกับอาจารย์เอกชัย ไชยนุวัติ ได้รับเชิญในฐานะตัวแทนจากสมัชชาปกป้องประชาธิปไตยไปร่วมบรรยายกับวิทยากรชาวปัตตานีและชาวสงขลา
ยุกติ มุกดาวิจิตร
 ผมอยู่ในแวดวงวิชาการ พร้อม ๆ กับทำกิจกรรมบริการทางสังคมด้านสิทธิ-เสรีภาพ การบริการทางสังคมเป็นส่วนหนึ่งของการทำงานทางวิชาการ นอกเหนือจากการสอน การทำวิจัย และการเขียนงานวิชาการ แต่ในโลกทางวิชาการไทยปัจจุบัน เมื่อคุณก้าวออกมานอกรั้วมหาวิทยาลัยแล้ว คุณจะกลายเป็น "คนมีสีเสื้อ" ไม่ว่าปกติคุณจะใส่เสื้อสีอะไร จะมีสติ๊กเกอร์ติดเสื้อคุณอยู่เสมอว่า "เสื้อตัวนี้สี..." เพียงแต่เสื้อบางสีเท่านั้นที่ถูกกีดกัน
ยุกติ มุกดาวิจิตร
การปฏิรูปก่อนเลือกตั้งคือการยึดอำนาจของ กปปส. เพื่อจัดตั้งสภาประชาชน ไม่มีทางที่การปฏิรูปก่อนการเลือกตั้งจะเป็นการปฏิรูปที่ปวงชนชาวไทยจะมีส่วนร่วม เนื่องจาก...
ยุกติ มุกดาวิจิตร
 ผมเก็บข้อมูลการวิจัยเมื่อปี 2553-2554 จนถึงหลังการเลือกตั้งครั้งที่แล้ว ผมมีโอกาสได้สัมภาษ์นักการเมืองท้องถิ่นคนหนึ่ง เป็นผู้สมัครรับเลือกตั้ง สส. เขตของพรรคหนึ่ง ไม่ใช่เพื่อไทย ไม่ใช่ประชาธิปัตย์ ในจังหวัดหนึ่งในภาคอีสาน ไม่ใช่จังหวัดเสื้อแดงแจ๋อย่างอุดรธานีหรือขอนแก่น เขตเลือกตั้งนี้เป็นเขตเลือกตั้งในชนบท เป็นพื้นที่ซึ่งพรรคเพื่อไทยมีฐานเสียงอยู่่พอสมควร แต่ไม่เด็ดขาด ด้วยความไว้เนื้อเชื่อใจอันเนื่องมาจากโยงใยที่ใกล้ชิดกับผู้ที่แนะนำให้ผมติดต่อไปสัมภาษณ์ ผู้สมัคร สส. คนนี้เล่าวิธีการซื้อเสียงของเขาให้ผมฟังโดยละเอียด
ยุกติ มุกดาวิจิตร
 ข้อเสนอว่าด้วยการปฏิวัติประชาชนของอาจารย์ธีรยุทธไม่ได้วางอยู่บนข้อเท็จจริงของสังคมไทยปัจจุบัน การปฏิวัติประชาชนตามข้ออ้างจากประวัติศาสตร์ประเทศต่างๆ ของอาจารย์ ล้วนแสดงให้เห็นถึงการปฏิวัติของประชาชนเพื่อโค่นล้มผู้กุมอำนาจรัฐที่ไม่ชอบธรรมเพราะผูกขาดอำนาจเป็นของตนเอง ตลอดจนเป็นการโค่นอำนาจรัฐที่ไม่เหมาะสมกับยุคสมัยที่ประชาชนเป็นใหญ่มากขึ้น หากแต่เราจะถือว่า “มวลมหาประชาชน” หนึ่งล้านห้าแสนคน หรือต่อให้สองล้านคนในมวลชนนกหวีดเป็น “ประชาชน” ในความหมายนั้นได้หรือไม่ 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
อาจารย์ชัยวัฒน์ครับ ผมยินดีที่อาจารย์ออกมาแสดงความเห็นในสถานการณ์ล่อแหลมเช่นนี้ นี่ย่อมต้องเป็นสถานการณ์ที่สำคัญอย่างยิ่งยวดจริงๆ ไม่เช่นนั้นอาจารย์ก็จะไม่แสดงความเห็นอย่างแน่นอน ดังเช่นเมื่อปี 2553 เหตุการณ์การสลายการชุมนุมที่มีผู้เสียชีวิต 90 กว่าคน บาดเจ็บเกือบ 2,000 คน อาจารย์ก็ยังเงียบงันจนผมสงสัยและได้เคยตั้งคำถามอาจารย์ไปแล้วว่า "นักสันติวิธีหายไปไหนในภาวะสงคราม"