Skip to main content

ยุกติ มุกดาวิจิตร

 


"แบบเกรียนภาษา" เป็นปรากฏการณ์ในเฟซบุกไทยที่ผมว่าน่าติดตามอย่างยิ่งในขณะนี้ ผมขอตั้งข้อสังเกตบางประการคือ

(1) แต่ละสำนักเกรียนล้อเลียนภาษาด้วยวิธีการต่างกัน เรียกว่าวิธีวิทยาของการเกรียนของแต่ละสำนักมีแนวทางเฉพาะตัว เช่น
- "ษม่ค่ล์มนิ๋ญฒสก๊อย" เล่นกับการสะกดรุงรังโบราณ
- "พจนานุเกรียน" ให้อรรถาธิบายคำศัพท์วันรุ่น
- "มามี มานะ ล้อเลียน" วิพากษ์อุดมการณ์รัฐที่สอดแทรกในแบบเรียน
- "ตะละแม่ป๊อบคัลเจอร์" เอาคำศัพท์วันรุ่นมาล้อภาษารุงรังโบราณ
ความเฉพาะตนที่ว่า แสดงให้เห็นถึงความคิดสร้างสรรค์ของคนรุ่นใหม่บนพื้นที่ออนไลน์ได้อย่างดี

(2) แต่ละสำนักได้รับความสนใจมาก กรณีสมาคมนิยมสก๊อยก็เคยมีคนสนใจไปกดไลท์นับหมื่นในเวลาเพียงไม่กี่วัน ส่วนตะละแม่ฯ ก็ทำปรากฏการณ์สร้างความนิยมในชั่วข้ามสัปดาห์ที่มีคนไลท์ถึงหลักหมื่นในระยะเวลาไม่นาน ส่วนมานี มานะ ก็มีคนเล่น แชร์ และสร้างใหม่ต่อไปเรื่อยๆ 

ถ้าเป็นจริงที่ว่าผู้เล่นเฟซบุกส่วนใหญ่เป็นคนรุ่นใหม่ อายุน้อย และอาศัยในเขตเมือง นี่แสดงให้เห็นว่าภาษาเป็นสิ่งที่คนรุ่นใหม่ให้ความสำคัญอย่างยิ่ง พวกเขาตื่นตัวกับภาษาอย่างยิ่ง เพียงแต่พวกเขาไม่ได้ให้ความสำคัญกับภาษาแบบอนุรักษ์ แต่พวกเขาให้ความสำคัญกับการทำให้ภาษามีวิวัฒนาการ มีการสร้างสรรค์

(3) การตื่นตัวกับภาษาไม่เพียงเป็นภาษาพูด แต่คนในเฟซบุกตื่นตัวกับภาษาเขียน ทุกเพจที่โด่งดังขึ้นมาล้วนใช้ภาษาเขียน เกี่ยวพันกับภาษาเขียน เล่นกับภาษาเขียน 

กรณีสมาคมฯ ชัดเจนว่าเขาเล่นกับตัวอักษร จากบทสัมภาษณ์ (ที่ผมเลือกจะเชื่อว่าเป็นแอดมินตัวจริง) เจ้าของเพจพูดถึงความไร้สาระของอักษรไทย ที่มีการสะกดที่รุงรังยุ่งเหยิง ไม่ว่าเราจะเห็นด้วยกับเธอหรือไม่ นี่ก็เป็นทัศนะที่เคยมีผู้นำการเมืองไทยเห็นด้วยมาแล้ว เคยมีนักปราชญ์ภาษาไทยเสนออะไรทำนองนี้มาแล้ว 

ส่วนตะละแม่ฯ นั้น เห็นได้ชัดว่าเล่นกับภาษาเขียน ด้วยการแปลงภาษาวัยรุ่นเป็นภาษาเขียน "โบราณ" ให้ดูเป็นภาษาภาษาวรรณกรรมโบราณ คนรุ่นเก่าจำนวนมากอาจไม่สนุกด้วย แต่คนรุ่นใหม่เขาสนุกมาก ผมเคยเข้าไปติดตามการเล่นของพวกเขา ที่สนุกคือเมื่อตะละแม่ฯ โพสต์มา แฟนๆ ก็จะไปแข่งกันทายว่าที่ตะละแม่ฯ เขียนมาหมายถึงวลีหรือคำวัยรุ่นคำไหน วลีไหน บางคนเร็วมากจนคนอื่นยกย่อง กดไลท์ให้เป็นร้อยในไม่กี่นาที

มานี มานะ เล่นกับการเขียน เล่นกับภาษาเด็กประถม เล่นกับคำไม่กี่คำ เป็นภาษาเขียนล้อเลียนที่มีพลังมากสำหรับผม ประกอบกับภาพเขียนแนวตำราเรียน (ที่มีคนกรุณาให้ความรู้ในเฟซบุกว่าเป็นลายเส้นสไตล์ของเตรียม ชาชุมพร)

ส่วนพจนานุเกรียน อาจดูเป็นภาษาพูด แต่ผมคิดว่าส่วนใหญ่เขาได้มาจากภาษาในโลกอินเทอร์เน็ต โลกอินเทอร์เน็ตไทยสร้างภาษาเขียนมากมาย เช่นคำว่าเกรียน คำว่าวทน. คำว่า เมพขิงๆ คำว่า จังเบย หรือวลีว่า ดงบังวงแตก ก็มาจากโลกอินเทอร์เน็ต ซึ่งเป็นโลกของภาษาเขียน

นี่แสดงว่า การเขียนและการอ่านกลับมาหรือยังมีความสำคัญกับโลกยุคปัจจุบันเป็นอย่างยิ่ง ปรากฏการณ์นี้น่าจะยังอยู่กับเราตราบเท่าที่โลกดิจิทัลยังไม่สามารถ "เร็ว" และกินเนื้อที่ข้อมูลได้มากกว่าโลกของการเขียน

(4) หากใครมองว่าเฟซบุกไม่สร้างสรรค์ ทำลายการคิดค้นอะไรใหม่ๆ คนพวกนั้นคงยังต่อสู้แต่ในเวทีของการเมืองเปิดหน้า การเมืองแบบทางการ การเมืองแบบพลิกผันข้ามคืน การเมืองแบบการการปฏิวัติ และพวกเขาก็ล้าหลังกับกระบวนการเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรมและสังคมหลังยุคการปฏิวัติ ที่มักค่อยๆ เปลี่ยนอย่่างค่อยเป็นค่อยไป

แบบเกรียนภาษาเหล่านี้จึงไม่ได้เกรียนกันเล่นๆ แม้พวกเขาไม่ได้คิดถึงสิ่งที่ผมเพ้อเจ้อมาข้างต้นอย่างเป็นระบบ แต่นัยของผลงานทางวัฒนธรรมของพวกเขามีความหมายทางสังคมที่ยิ่งใหญ่จริงๆ ขอให้เกรียนกับต่อไป

ปัจฉิมลิขิต:  ขอแซวตะละแม่ฯ หน่อยครับว่า อ่านจากบทสัมภาษณ์ในประชาไท สงสัยตะละแม่ทั้งสามยังอ่าน "ความเป็นมาฯ" ของจิตร ภูมิศักดิ์ไม่จบ จึงยังเข้าใจความหมาย "ไท" ที่ไม่มี ย แบบชาตินิยมอยู่ และถ้าตะละแม่รู้ภาษาไท/ไตหรือลาวบ้าง คงรู้ว่าความหมายของคำว่าไท ไม่ได้แปลว่า อิสระ อย่างที่เราถูกสอนกันมาครับ ^ ^ และ... (ยังมีคำอธิบายต่อ แต่ขี้เกียจเขียนแล้ว)

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง: จำนรรจา นารีหลุดกาล: คุยกับแอดมิน "ตะละแม่ป๊อปคัลเจอร์"

เผยแพร่ครั้งแรกใน: https://www.facebook.com/yukti.mukdawijitra/posts/403352889731055

 

 

 

 

 

 

บล็อกของ ยุกติ มุกดาวิจิตร

ยุกติ มุกดาวิจิตร
ฮานอยเดือนตุลาคมเม็ดฝนเริ่มท้ิงช่วง บางวันฝนตกพร้อมอากาศเย็นๆ เดือนสิบมีวันสำคัญคือ Tết Trung thu คนเวียดนามปัจจุบันบางทีเรียกว่า "วันปีใหม่ของเด็กๆ" คือคืนวันพระจันทร์เต็มดวงเดือนแปดจันทรคติ ตรงกับวันไหว้พระจันทร์ที่เพิ่งผ่านไปนั่นเอง แต่ชาวเวียดนามเรียกตามฤดู ว่าปีใหม่กลางฤดูใบไม้ร่วง
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ยุกติ มุกดาวิจิตร  
ยุกติ มุกดาวิจิตร
 สุนทรียศาสตร์และการเมืองของสิ่งไร้รสนิยม (aesthetics and politics of kitsch)
ยุกติ มุกดาวิจิตร
 หากจำเป็นต้องหักหาญมิตรภาพกัน ก็ขอให้แน่ใจว่ามิตรสหายเราได้ละเมิดหลักการใหญ่ๆ ที่มิตรภาพไม่ควรได้รับการปลอบประโลมโอบอุ้มกันอีกต่อไป แต่หากเป็นเรื่องหยุมหยิมเกินไป ก็โปรดอย่าเปิดแนวรบจิกกัดมิตรสหายที่แทบไม่มีที่ยืนอยู่บนผืนหนังเดียวกันไปเสียทุกอนูความหมายเลยครับ
ยุกติ มุกดาวิจิตร
  บอกยากเหมือนกันว่าสุราทำหน้าที่อะไร แต่ผมเลือกจะเชื่อว่า มันถอดหน้ากากคน มันลดอัตตา มันทำให้คนหันหน้าเข้าหากัน แต่นี่คงต้องอยู่ในบริบทของการดื่ม ในสังคมที่มีระเบียบเข้มงวดในการด่ืมสุรา
ยุกติ มุกดาวิจิตร
บทต่อไป เมื่อนักมานุษยวิทยามานั่งศึกษาชุมชนเกรียนออนไลน์