Skip to main content

ยุกติ มุกดาวิจิตร



เย็นวาน (26 กันยายน 2555) โชคดีและนึกขอบคุณนักศึกษาที่คะยั้นคะยอจนผมต้องยอมไปเสวนากับพวกเขาเรื่อง "จาก Gangnam Style กลายมาเป็นกำนันสไตล์" เพราะทำให้ได้คิดกับเรื่อง pop culture หรือวัฒนธรรมมวลชน วัฒนธรรมป็อบในอีกมุมหนึ่ง คือเรื่องการเมืองของสิ่งไร้รสนิยมพร้อมๆ กับความเป็นศิลปะของสิ่งขี้เหร่

ผมสารภาพกับนักศึกษาว่าใช้เวลาร่างบันทึกเพื่อมาพพูดในเวลาเพียงครึ่งชั่วโมงก่อนพูด เพราะคิดมาเป็นสัปดาห์แล้วและดูวิดีโอคังนัมสไตล์มาเป็นสิบๆ เวอร์ชั่น เท่าไหร่ก็นึกไม่ออกสักทีว่าจะพูดอะไรที่ไม่ซ้ำกันนักกับที่เขาพูดๆ กันมา

หลายคนพูดถึงการล้อเลียน การประชดประชันของ MV เนื้อร้อง รวมทั้งนาย Psy (ไซ) นักร้องและผู้แสดง MV นี้ แต่ประเด็นที่ผมชวนคุยกับนักศึกษา ซึ่งก็ไม่ได้ใหม่นัก แต่ผมชอบวิธีที่ผมปะติดปะต่อเรื่องราว มีดังนี้

ผมเริ่มจากข้อสรุปว่า เพลงนี้เป็นตัวอย่างของการนำเอาความขี้เหร่ ความไร้รสนิยม รวมทั้งคามบ้านๆ เปิ่นๆ เชยๆ ดาดๆ ที่อาจเรียกรวมความอยู่ในคำว่า kitsch มาเป็นงานศิลปะ พร้อมๆ กับการที่มันเป็นศิลปะของการล้อเลียนชนชั้นสูง ล้อเลียนความมั่งคั่ง ความเหลื่อมล้ำ

จากนั้นผมลองตีความฉากต่างๆ ของ MV เพลงนี้ (บทวิจารณ์หลายชิ้นก็ทำอย่างนี้) เช่น ฉากแรก แทนที่จะเป็นนายไซนอนอาบแดดที่ชายหาด นายไซกลับกางเตียงผ้าใบนอนบนทรายสนามเด็กเล่น ฉากเดินควงสาวสองคนเดินฝ่าฝุ่นและบรรดาขยะที่ลอยมา ฉากซาวน่าในห้องซาวน่าคับแคบที่มีพวกยากูซ่า ฉากเต้นบนรถทัวร์พวกป้าๆ ฉากลานจอดรถ แต่นายไซใน MV ไม่มีรถขับ ฯลฯ เรียกว่า ทุกฉากของ MV นี้แสดงความไร้รสนิยม ความไม่ใช่ชาวคังนัมของไซ

Chaeyoung Jung นักศึกษาที่ร่วมเสวนาให้คำอธิบายเพิ่มเติมว่า เสื้อผ้าที่ไซใส่เป็นเสื้อผ้านักร้องลูกทุ่งเกาหลี แถมท่าเต้นของไซ ยังออกแนว "ไร้รสนิยม" สำหรับชาวเกาหลี ทั้งประวัติและหน้าตาของไซ ก็ล้วนไม่เป๊ะกับความหรูหรา ความเป็นย่านธุรกิจดนตรีและแฟชั่นชั้นนำของคังนัม

ความไร้รสนิยมเหล่านี้จึงขัดแย้ง ตัดกันกับการโอ้อวดของไซ (ใน MV) ว่า "แบบฉันนี่แหละ คนมีรสนิยมแบบคังนัม" แต่เป็นการตัดกัน ขัดแย้งแบบเสียดเย้ยรสนิยมคนรวย คนชั้นนำ ดังนั้นจึงไม่ผิดเลยที่นักวิจารณ์หลายคนกล่าวขนาดว่า MV นี้ทำขึ้นมาเพื่อวิพากษ์ความฟุ้งเฟ้อของเกาหลีปัจจุบัน

ผมเดินหน้าต่อไปด้วยการเปรียบเทียบกับเพลงไทยสองเพลง คือเพลง "ดาวมหาลัย" ของสาวมาดฯ ซึ่งอยู่ในข่ายของการเสียดสีความฟุ้งเฟ้อลืมตนของสาวบ้านนอก กับอีกเพลงคือ "คิดฮอด" ของบอดี้ สแลม ที่ผมมองว่าเป็นการหากินกับความแปลกของเพลงหมอลำ มากกว่าจะเอาความบ้านๆ พื้นๆ มาวิพากษ์อะไร

ผมโยงไปไกลถึงศิลปะที่เสียดเย้ยด้วยความไร้รสนิยม แบบงาน "นำ้พุ" (Fountain) ของดูชองป์ (Marcel Duchamp) ที่ทำขึ้นเมื่อค.ศ. 1917 (พ.ศ. ๒๔๖๐) ด้วยการเอาโถฉี่ผู้ชายมาหงายขึ้น แล้วเซ็นชื่อ R. Mutt ส่งไปแสดงเป็นงานศิลปะ

ต้องอธิบายยืดยาวว่าดูชองป์ต้องการสื่ออะไรและงานเขาบุกเบิกและมีอิทธิพลมาจนกระทั่งศตวรรษปัจจุบันอย่างไร แต่โดยสรุปคือ ดูชองป์ท้าทายความงามด้วยความไร้รสนิยม ด้วยความบ้านๆ ด้วยความดาดดื่น ด้วย kitsch เขาเสนอให้งานศิลปะเป็นงานทางความคิดมากกว่าทักษะฝีมือ

ประเด็นที่ผมเอาดูชองป์มาเกี่ยวกับ MV Gangnam Style คือ มันคือการนำเอาสิ่งไร้รสนิยมมาเป็นงานศิลปะ เพื่อท้าทายวัฒนธรรมสูงส่ง

ผมยังวิจารณ์ผลงานของศิลปินไทยอีกบางคนที่หากินกับ asethetics of Thai kitsch ซึ่งผมเห็นว่าไม่ต่างอะไรกับการหากินกับความแปลกของเพลงหมอลำ แบบที่บอดี้ สแลมทำ

แถมผมยังโยงไปถึงเรื่องที่ไม่น่าจะโยงไปถึงจนได้ แต่ไม่อยากกล่าวในที่นี้ (ไม่ใช่เพราะกลัว แต่เพราะเกรงคนจะหาว่าผมกลัวใคร จนต้องหาทางพูดถึง "เรื่องนั้น" จนได้)

ที่น่าสนใจคือ คังนัมสไตล์เวอร์ชั่นไทยอย่างน้อย 2 เวอร์ชั่นนั้น เดินตามวิถีทางศิลปะของ Gangnam Style อย่างแนบสนิท คือฉบับที่เรียกว่า "กำนันสไตล์" และฉบับ "กำนันสิตาย" คือเอาความไร้รสนิยมมาล้อเลียนวัฒนธรรมสูงส่ง พร้อมๆ กับล้อเลียนตนเอง คล้ายๆ กับ "ดาวมหาลัย"

จากนั้นผมลองเปรียบเทียบคังนัมสไตล์หลายๆ เวอร์ชั่นในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ไปจนถึงเวอร์ชั่นที่ล้อเลียนผู้นำเกาหลีเหนือ MV เหล่านี้ล้อเลียนสังคมตนเองผ่านชื่อ และลักษณะเฉพาะทางวัฒนธรรมของสังคมที่ผลิต MV ขึ้นมา (ที่โดดเด่นและมีหลากหลายมากคือของมาเลเซีย ที่เล่นเรื่องเพศ จะอีกยาวเกินไปหากจะให้เขียนวิเคราะห์)

ท้ายสุด ผมพบว่าเพลงคังนัมสไตล์เป็น "วิถีเอเชี่ยน" แบบหนึ่ง ในการวิพากษ์ชนชั้นนำ ด้วยการล้อเลียนตนเอง ถ้ามองในแง่หนึ่ง นี่อาจจะเป็นการดูถูกตนเอง ในอีกด้านหนึ่ง นี่อาจจะเป็นการเอาความพื้นๆ ดาดๆ มาเสพดุจงานศิลปะ 

แต่ผมอยากเลือกที่จะมองว่า วิถีคังนัมสไตล์เป็นวิถีของการวิพากษ์วัฒนธรรมสูงส่ง เป็นการนำเอาวัฒนธรรมที่ขัดกันสองแบบ มาวางไว้ในที่เดียวกัน เพื่อเยาะเย้ยความเหลื่อมล้ำทางวัฒนธรรม และพร้อมกันนั้นก็เยาะเย้ยความเหลื่อมล้ำทางสังคมและเศรษฐกิจไปในตัว

การเมืองของความไร้รสนิยมอาจไม่ได้มีผลเปลี่ยนแปลงสังคมได้ แต่มันเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการทางวัฒนธรรมและสังคมอันยาวนาน ที่สามารถบ่อนเซาะอำนาจครอบงำทางวัฒนธรรมได้เช่นกัน

นักศึกษาช่วยกันรวบรวม MV จำนวนมากไว้ใน http://www.facebook.com/events/359615054117336/








 

 

บล็อกของ ยุกติ มุกดาวิจิตร

ยุกติ มุกดาวิจิตร
มาเกียวโตเที่ยวนี้หนาวที่สุดเท่าที่เคยมา (สัก 6 ครั้งได้แล้ว) อุณหภูมิอยู่ราวๆ 0-5 องศาเซลเซียสตลอด แต่นี่ยังไม่เท่าเมืองที่เคยอยู่ คือวิสคอนซิน สหรัฐอเมริกา ซึ่งขณะนี้อยู่ราวๆ -20 องศาเซลเซียส และเคยหนาวได้ถึง -40 องศาเซลเซียส หนาวขนาดนั้นมีแต่นกกากับกระรอก ที่อึดพอจะอยู่นอกอาคารได้นานๆ แต่ที่เกียวโต คนยังสามารถเดินไปเดินมา หรือกระทั่งเดินเล่นกันได้เป็นชั่วโมงๆ หากมีเครื่องกันหนาวที่เหมาะสม
ยุกติ มุกดาวิจิตร
การสัมมนาที่มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์เมื่อวันที่ 23-24 มค. ยังความรื่นรมย์มสู่แวดวงวิชาการสังคมศาสตร์อีกครั้ง ถูกต้องแล้วครับ งานนี้เป็นงาน "เวทีวิจัยมนุษยศาสตร์ไทย ครั้งที่ 7" หากแต่อุดมคับคั่งไปด้วยนักสังคมศาสตร์ (ฮ่าๆๆๆ) น่ายินดีที่ได้พบเจอเพื่อนฝูงทั้งเก่าทั้งใหม่มากหน้าหลายตา แต่ที่น่ายินดียิ่งกว่านั้นคือการได้สนทนาทั้งอย่างเป็นทางการ ผ่านงานเขียนและการคิดอ่านกันอย่างจริงจัง บนเวทีวิชาการ กับเพื่อนๆ นักวิชาการรุ่นใหม่
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อเช้า (26 มค.) ผมไปเลือกตั้งล่วงหน้าที่เขตจอมทอง ด้วยเหตุจำเป็นไม่สามารถไปเลือกตั้งวันที่ 2 กพ. ได้ ก่อนไป สังหรณ์ใจอยู่ก่อนแล้วว่าจะเกิดเหตุไม่ดี ผมไปถึงเขตเลือกตั้งเวลาประมาณ 9:00 น. สวนทางกับผู้ชุมนุมนกหวีดที่กำลังออกมาจากสำนักงานเขต นึกได้ทันทีว่ามีการปิดหน่วยเลือกตั้งล่วงหน้า มวลชนหลักร้อย ดูฮึกเหิม ท่าทางจะไปปิดหน่วยเลือกตั้งอื่นต่อไป ผมถ่ายรูปคนจำนวนหนึ่งไว้
ยุกติ มุกดาวิจิตร
หนังสือ ประวัติศาสตร์ไทดำ : รากเหง้าวัฒนธรรม-สังคมไทยและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (2557) เล่มนี้เป็นผลจากการวิจัยเมื่อ 10 ปีที่แล้ว ผมทำวิจัยชิ้นนั้นก็เพื่อให้เข้าใจงานเขียนทางประวัติศาสตร์ของชาวไทในเวียดนามสำหรับทำวิทยานิพนธ์ปริญญาเอก แต่เนื้อหาของหนังสือนี้แทบไม่ได้ถูกนำเสนอในวิทยานิพนธ์
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เดือนที่แล้ว หลังเสร็จงานเขียนใหญ่ชิ้นหนึ่ง ผมกะจะหลบไปไหนสัก 4-5 วัน ระยะนั้นประเด็นวันเลือกตั้งยังไม่เข้มข้นขนาดทุกวันนี้ ลืมนึกไปจนกลายเป็นว่า ตัวเองกำหนดวันเดินทางในช่วงวันเลือกตั้ง 2 กพ. 57 พอดี เมื่อมาคิดได้ เมื่อวันที่ 14 มค. ก็เลยถือโอกาสที่ที่ทำงานให้หยุดงานไปลงทะเบียนเลือกตั้งล่วงหน้าในเขตตนเอง ใช้เวลาไม่เกิน 15 นาทีก็ได้เอกสารมาเก็บไว้ รอไปเลือกตั้งล่วงหน้าวันอาทิตย์ที่ 26 มค.
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เหตุที่ประโยค Respect My Vote. กลายเป็นประโยคที่นำไปใช้ต่อ ๆ กันแพร่หลายกินใจผู้รักประชาธิปไตยในขณะนี้ ไม่เพียงเพราะประโยคนี้มีความหมายตามตัวอักษร แต่เพราะประโยคนี้ยังเป็นถ้อยแถลงทางการเมืองของประชาชน ที่ประกาศว่า อำนาจสูงสุดของประเทศนี้เป็นของประชาชน
ยุกติ มุกดาวิจิตร
วันที่ 9 มกราคม 2557 เวทีเสวนาประชาธิปไตยภาคใต้ ได้จัดอภิปรายเรื่อง "ปฏิรูปประเทศไทย : ปาตานีในระยะเปลี่ยนผ่าน" ณ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ผมกับอาจารย์เอกชัย ไชยนุวัติ ได้รับเชิญในฐานะตัวแทนจากสมัชชาปกป้องประชาธิปไตยไปร่วมบรรยายกับวิทยากรชาวปัตตานีและชาวสงขลา
ยุกติ มุกดาวิจิตร
 ผมอยู่ในแวดวงวิชาการ พร้อม ๆ กับทำกิจกรรมบริการทางสังคมด้านสิทธิ-เสรีภาพ การบริการทางสังคมเป็นส่วนหนึ่งของการทำงานทางวิชาการ นอกเหนือจากการสอน การทำวิจัย และการเขียนงานวิชาการ แต่ในโลกทางวิชาการไทยปัจจุบัน เมื่อคุณก้าวออกมานอกรั้วมหาวิทยาลัยแล้ว คุณจะกลายเป็น "คนมีสีเสื้อ" ไม่ว่าปกติคุณจะใส่เสื้อสีอะไร จะมีสติ๊กเกอร์ติดเสื้อคุณอยู่เสมอว่า "เสื้อตัวนี้สี..." เพียงแต่เสื้อบางสีเท่านั้นที่ถูกกีดกัน
ยุกติ มุกดาวิจิตร
การปฏิรูปก่อนเลือกตั้งคือการยึดอำนาจของ กปปส. เพื่อจัดตั้งสภาประชาชน ไม่มีทางที่การปฏิรูปก่อนการเลือกตั้งจะเป็นการปฏิรูปที่ปวงชนชาวไทยจะมีส่วนร่วม เนื่องจาก...
ยุกติ มุกดาวิจิตร
 ผมเก็บข้อมูลการวิจัยเมื่อปี 2553-2554 จนถึงหลังการเลือกตั้งครั้งที่แล้ว ผมมีโอกาสได้สัมภาษ์นักการเมืองท้องถิ่นคนหนึ่ง เป็นผู้สมัครรับเลือกตั้ง สส. เขตของพรรคหนึ่ง ไม่ใช่เพื่อไทย ไม่ใช่ประชาธิปัตย์ ในจังหวัดหนึ่งในภาคอีสาน ไม่ใช่จังหวัดเสื้อแดงแจ๋อย่างอุดรธานีหรือขอนแก่น เขตเลือกตั้งนี้เป็นเขตเลือกตั้งในชนบท เป็นพื้นที่ซึ่งพรรคเพื่อไทยมีฐานเสียงอยู่่พอสมควร แต่ไม่เด็ดขาด ด้วยความไว้เนื้อเชื่อใจอันเนื่องมาจากโยงใยที่ใกล้ชิดกับผู้ที่แนะนำให้ผมติดต่อไปสัมภาษณ์ ผู้สมัคร สส. คนนี้เล่าวิธีการซื้อเสียงของเขาให้ผมฟังโดยละเอียด
ยุกติ มุกดาวิจิตร
 ข้อเสนอว่าด้วยการปฏิวัติประชาชนของอาจารย์ธีรยุทธไม่ได้วางอยู่บนข้อเท็จจริงของสังคมไทยปัจจุบัน การปฏิวัติประชาชนตามข้ออ้างจากประวัติศาสตร์ประเทศต่างๆ ของอาจารย์ ล้วนแสดงให้เห็นถึงการปฏิวัติของประชาชนเพื่อโค่นล้มผู้กุมอำนาจรัฐที่ไม่ชอบธรรมเพราะผูกขาดอำนาจเป็นของตนเอง ตลอดจนเป็นการโค่นอำนาจรัฐที่ไม่เหมาะสมกับยุคสมัยที่ประชาชนเป็นใหญ่มากขึ้น หากแต่เราจะถือว่า “มวลมหาประชาชน” หนึ่งล้านห้าแสนคน หรือต่อให้สองล้านคนในมวลชนนกหวีดเป็น “ประชาชน” ในความหมายนั้นได้หรือไม่ 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
อาจารย์ชัยวัฒน์ครับ ผมยินดีที่อาจารย์ออกมาแสดงความเห็นในสถานการณ์ล่อแหลมเช่นนี้ นี่ย่อมต้องเป็นสถานการณ์ที่สำคัญอย่างยิ่งยวดจริงๆ ไม่เช่นนั้นอาจารย์ก็จะไม่แสดงความเห็นอย่างแน่นอน ดังเช่นเมื่อปี 2553 เหตุการณ์การสลายการชุมนุมที่มีผู้เสียชีวิต 90 กว่าคน บาดเจ็บเกือบ 2,000 คน อาจารย์ก็ยังเงียบงันจนผมสงสัยและได้เคยตั้งคำถามอาจารย์ไปแล้วว่า "นักสันติวิธีหายไปไหนในภาวะสงคราม"