Skip to main content

ผ่านมาสี่วัน ถ้าจะให้บอกว่าประทับใจอะไรกับปราสาทหินบ้าง คงยากที่จะบอก เพราะวิ่งผ่านหินก้อนต่างๆ มากมายเสียจนไม่ทันได้หยุดคิดกับอะไรต่างๆ ดีที่ได้นักโบราณคดี นักประวัติศาสตร์ และนักมานุษยวิทยามากมายมาให้ความรู้ข้างๆ หูเวลาท่านถกเถียงกัน จึงพอจะเก็บเกี่ยวเชื่อมโยงอะไรมาได้บ้าง

แต่ที่ประทับใจจริงๆ เห็นจะได้แก่แสงและที่ว่างในเมืองเสียมเรียบ ความร่มรื่นของโบราณสถาน การปิคนิค และลักษณะเฉพาะตัวของโบราณสถานแต่ละแห่ง

ที่แตกต่างจากเมืองอื่นๆ ที่ผมเคยไปคือ เมืองเสียมเรียบยามค่ำคืนสวยงามมาก ไม่ใช่ด้วยความสว่างไสว แต่ด้วยความสลัวมัวซัว เสียมเรียบไม่สว่างจ้า หากไม่นับร้านประเภทสะดวกซื้อแล้ว ไม่ว่าจะร้านไหน สถานที่ราชการ หรือจะเป็นโรงแรมใหญ่โต บริษัทห้างร้าน ถนนหนทาง เสียมเรียบจะส่องสว่างเพียงแสงเรื่อเรือง ไม่จัดจ้า น้อยที่มากที่จะปล่อยแสงนีออนขาวแสบตา แต่ละที่ล้วนคุมความเข้มแสงไว้เพียงไฟสีเหลือง 

น่ายินดีที่แสงจ้าของนีออนซึ่งได้ทำลายเสน่ห์ของเมืองต่างๆ ไปเสียแล้ว ยังไม่สามารถทำลายความงามของแสงสลัวในเสียมเรียบได้ อยากจะหวังว่านโยบายแสงสลัวจะยังอยู่คู่เสียมเรียบต่อไปอีกนาน

เสียมเรียบมีที่ว่างมากมาย ประชากรจำนวนเบาบางคงเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดที่ว่างเหล่านี้ ที่ใดมีคูน้ำ ก็เหมือนกับจะถูกเติมแต้มด้วยดอกบัวชนิดต่างๆ ตลอดไปจนถึงชานเมืองและในชนบท ที่ว่างในเสียมเรียบปกคลุมไม่เพียงสถานที่ราชการ โรงแรม หรือกระทั่งในที่ซึ่งเรียกว่าสถานบันเทิงยามค่ำคืน หรือร้านอาหารขนาดใหญ่ ไม่ใช่ว่าที่ว่างหน้าสถานบันเทิงหรือร้านอาหารจะเป็นเพียงที่จอดพาหนะ แต่ยังเป็นสวนร่มรื่น 

นอกจากที่ว่างทางราบแล้ว เสียมเรียบยังเก็บที่ว่างทางสูงไว้ ด้วยกฎห้ามสร้างอาคารสูงเกินสี่ชั้น จึงไม่ต้องมีการแข่งกันสร้างหอคอยสูงตระหง่าน เอาไว้นอนชมปราสาทนครวัดกันแต่เพียงผู้มั่งคั่งร่ำรวย

โบราณสถานแต่ละแห่งที่ไป ยกเว้นแต่เพียงปราสาทนครวัด แต่ละแห่งล้วนร่มรื่น (ที่จริงนครวัดเองบริเวณโดยรอบก็ร่มรื่น) ถ้าไม่นับปราสาทบางปราสาทที่มีต้นไม้ปกคลุมตัวอาคารอยู่ ปราสาทหลายต่อหลายแห่งน่าปูเสื่อนั่งจิบไวน์หรือเอาอาหารไปนั่งกินกันอย่างยิ่ง ที่ที่ประทับใจในความร่มรื่นที่สุดสำหรับผมคือปราสาทสมบอรไปรกุก ซึ่งตั้งอยู่ในป่าเบญจพรรณ มีต้นไม้หลายหลากชนิด ทั้งแสงที่ลอดใบไม้ลงมา ทั้งเสียงนกกา ทั้งลมเอื่อยๆ ทำให้การชมปราสาทต้องถูกรบกวนด้วยความงามของธรรมชาติเป็นระยะๆ 

บางปราสาทที่ไม่มีนักท่องเที่ยวมากนัก ยิ่งน่าอภิรมณ์ เพราะไม่มีเสียงโหวกเหวกของนักท่องเที่ยว ที่ไม่รู้จะเดินทางมาแสนไกลเพื่อมาตะโกนคุยกันไปทำไม จะได้ยินเสียงนกร้องท่ามกลางแมกไม้ ช่วยให้การปีนป่ายก้อนหินเหล่านี้ได้อรรถรสมากขึ้น

สิ่งที่ดูแปลกตาน่าศึกษาอีกประการคือ การปิคนิคของชาวกัมพูชา คนเสียมเรียบนิยมพาครอบครัวไปนั่งปูเสื่อปูผ้า กินข้าวหรือเพียงนั่งเล่นนั่งคุยกันตามสวนสาธารณะ ตามริมถนนที่ร่มรื่น หรือตามโบราณสถาน หรือแม้แต่ตามข้างถนนระหว่างจังหวัดบริเวณที่มีร่มไม้ ผมไม่แน่ใจว่ามีคนไทยกี่มากน้อยที่ทำอย่างนี้ แต่ตอนเด็กๆ พ่อแม่มักพาครอบครัวผมไปเที่ยวปิคนิคตามที่ต่างๆ อย่างนี้เหมือนกัน 

ยังไม่ค่อยเข้าใจว่าทำไมชาวเสียมเรียบจึงชอบปิคนิคกัน แต่นึกถึงจากประสบการณ์ผมเองแล้ว ก็เดาว่าไม่มีอะไรมากไปกว่าการได้เปลี่ยนบรรยากาศการสังสันท์ของครอบครัว จากในบ้านที่คับแคบและร้อนระอุ มายังที่โปร่งโล่งและลมเชย ก็ทำให้มีความสุขอย่างง่ายๆ ได้เช่นกัน

ถ้าไม่นับบางปราสาทดังๆ อย่างนครวัดแล้ว แม้ไม่มีความรู้อะไรเลยเกี่ยวกับโบราณสถานแต่ละแห่ง ผมก็ประทับกับลักษณะเฉพาะของปราสาทแต่ละแห่ง หากไม่พยายามระลึกชื่อปราสาท ชื่อผู้สร้าง ศักราชที่สร้าง และเทพเจ้าประจำแต่ละปราสาท ผมก็จะจำปราสาทแต่ละที่ได้จากเอกลักษณ์ของปราสาทแต่ละแห่ง เช่น มีปราสาทที่มีต้นไม้ขึ้นปกคลุมทั่วไปหมด ปราสาทที่มีน้ำท่วมเต็มไปหมด ปราสาทที่สร้างให้มีสระน้ำในนั้น ปราสาททรงปิรามิด ปราสาทอิฐ ปราสาทที่มีหน้าคนบนยอด ปราสาทที่มีมอสเยอะ ปราสาทที่ล้มระเนระนาดแทบจะทั้งหมด 

ความเฉพาะตนของปราสาทเหล่านี้ทำให้ทึ่งว่า มนุษย์ช่างจินตนาการกับหินให้กลายเป็นพื้นที่และรูปทรงลักษณะต่างๆได้มากมายเพียงนี้ได้อย่างไรกัน ผมคิดถึงว่า หากเอาหินให้ผมทำอะไรให้แตกต่างกันสักห้าก้อน ผมก็คงหมดปัญญาคิดอะไรแปลกใหม่ไปตั้งแต่หินก้อนที่สามแล้ว แต่คนโบราณเหล่านี้ทำไมจึงช่างสร้างสรรค์อะไรได้ไม่รู้จบมากมายขนาดนี้

 

บล็อกของ ยุกติ มุกดาวิจิตร

ยุกติ มุกดาวิจิตร
ผมเลี่ยงที่จะอ่านข่าวเกี่ยวกับมติครม.งดเหล้าเข้าพรรษาเพราะไม่อยากหงุดหงิดเสียอารมณ์ ไม่อยากมีความเห็น และไม่อยากต้องโดนด่าหลังแสดงความเห็น
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อต้องกลับมาชวนคนอ่านงานของบรมครูทาง "วัฒนธรรมศึกษา" คนหนึ่ง ที่ผมไม่ได้เชี่ยวชาญอะไรนัก 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ไปแม่ฮ่องสอนสามวัน ค้างสองคืน เพื่อร่วมงาน "ไทใหญ่ศึกษา" ทั้งๆ ที่ไม่เคยไปมาก่อน ไม่รู้จักวัฒนธรรมไทใหญ่มาก่อน พอจะรู้จากการอ่านงานเรื่อง "ฉาน" เรื่องรัฐไทใหญ่ เรื่องประวัติศาสตร์บ้างนิดหน่อย จึงมิอาจให้ความเห็นใดๆ กับอาหารไทใหญ่ได้ ทำได้แค่เพียงบอกเล่า "ความประทับใจแรกเริ่ม" ในแบบที่นักชาติพันธ์ุนิพนธ์ทั่วไปมักทำกัน
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ไม่รู้เป็นอะไรกันนักหนากับเครื่องแต่งกายนักศึกษา จะต้องมีการประจาน จะต้องมีการให้คุณค่าบวก-ลบ จะต้องถือเป็นเรื่องจริงจังกันจนบางคณะถึงกับต้องนำเรื่องนี้เข้ามาเป็นวาระ "เพื่อพิจารณา" ในที่ประชุมคณาจารย์
ยุกติ มุกดาวิจิตร
อาจารย์ชาญวิทย์เกิดวันที่ 6 พฤษภาคม วันที่ 22 มิถุนายนนี้ ลูกศิษย์ลูกหาจัดงานครบรอบ 72 ปีให้อาจารย์ที่คณะศิลปศาสตร์ ธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อวานนี้ (12 มิถุนายน 2556) อาจารย์ที่คณะท่านหนึ่งเชิญไปบรรยายในวิชา "มนุษย์กับสังคม" หัวข้อ "สังคมศาสตร์กับความเข้าใจผู้คนและสังคม" ให้นักศึกษาปริญญาตรีชั้นปี 1 ในห้องเรียนมีนักศึกษาราว
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ข้อเขียนนี้ถูกเผยแพร่ในอีกพื้นที่หนึ่งไปเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว เนื่องจากเห็นว่าเข้ากับโอกาสของการเปิดภาคการศึกษาของมหาวิทยาลัย จึงขอนำมาเสนออีกครั้งในที่นี้
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ทั้งๆ ที่ประเทศไทยมีกลุ่มชาติพันธ์ุอยู่หลากหลายกลุ่ม พวกเขาอาศัยอยู่ในพื้นที่ยุทธศาสตร์ที่สำคัญ และร่วมสร้างสังคม สร้างประวัติศาสตร์โบราณและสมัยใหม่อย่างขาดไม่ได้ แต่ประเทศไทยก็ไม่เคยมีนโยบายกลุ่มชาติพันธ์ุมาก่อน (ยาวนะครับ ถ้ายังอยู่ในโลก 8 บรรทัดโปรดอย่าอ่าน)
ยุกติ มุกดาวิจิตร
 มีคนบ่นว่า "ผ่านมาสามปีแล้ว ทำไมคนเสื้อแดงยังไปรวมตัวกันที่ราชประสงค์กันอีก นี่พวกเขาจะต้องระลึกถึงเหตุการณ์นี้กันไปจนถึงเมื่อไหร่" แล้วลงท้ายว่า "รถติดจะตายอยู่แล้ว ห้างต้องปิดกันหมด ขาดรายได้ นักท่องเที่ยวเดือดร้อน" นั่นสิ น่าคิดว่าทำไมการบาดเจ็บและความตายที่ราชประสงค์เมื่อพฤษภาคม 2553 มีความหมายมากกว่าโศกนาฏกรรมทางการเมืองครั้งที่ผ่านมาก่อนหน้านี้
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เรียน ศาสตราจารย์ ดร. อมรา พงศาพิชญ์ ประธานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เห็นนักคิดไทยสองคนออกมาเทศนาแล้วอดสงสัยไม่ได้ว่า "ทำไมนักคิดไทย พอแก่ตัวลงต้องไปจนแต้มที่วิธีคิดแบบพุทธๆ"