Skip to main content

โดยบังเอิญ ผมไปถึงกัมพูชาในวันแรม 15 ค่ำ ซึ่งเป็นวันสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระนโรดม สีหนุ พอดี

แต่ไม่ว่าจะเกิดเหตุนี้ขึ้นหรือไม่ ผมก็เห็นปราสาทหินในกัมพูชาเป็นโลกเพ้อฝัน ความงามของปราสาทอยู่คนละภพภูมิกันกับผู้คนที่รองฐานปราสาทอยู่ มองอย่างนี้มานานก่อนที่จะมีโอกาสได้มาเยือน และยิ่งได้มาเยือนแล้วก็ยิ่งตอกย้ำความเชื่อเดิมยิ่งขึ้นไปอีก

ความโดดเด่นแตกต่างของปราสาทแต่ละหลัง ดูจะสะท้อนความแก่งแย่งชิงดีกันของกษัตริย์แต่ละยุคสมัย เหมือนกษัตริย์แต่ละพระองค์ต่างก็ต้องการสร้างอาณาจักรของตนเอง ทั้งที่แต่ละพระองค์ครอบครองและสืบทอดอำนาจได้เพียงระยะเวลาสั้นๆ 

พื้นที่แหว่งวิ่นไม่สืบเนื่องกันของประเทศกัมพูชา และพื้นที่รายรอบที่กินเข้ามาถึงลาว ไทย และส่วนใต้ของเวียดนาม เป็นเวทีของการประชันขันแข่งกันบนหยาดเหงื่อแรงงานของผู้คน กษัตริย์พระองค์หนึ่งสร้างปราสาทเพื่อบูชาลัทธิของตนเอง เมื่อเปลี่ยนมาอีกพระองค์หนึ่ง ก็ทุบทำลายปราสาทก่อนเก่า แล้วสร้างปราสาทบูชาลัทธิธรรมเนียมของตนเองขึ้นใหม่

ในปัจจุบัน แม้ชาวกัมพูชาจะสามารถเข้าเยี่ยมชมปราสาทเหล่านี้ได้ แต่ไม่ว่าชาวกัมพูชาจะรับรู้ถึงความงามและประวัติศาสตร์ของปราสาทเหล่านี้จากแง่มุมใด ก็ไม่รู้ว่าจะต้องรออีกนานเท่าใดที่ความยิ่งใหญ่ตระการตาของปราสาทจึงจะช่วยให้ชาวกัมพูชาเงยหน้าอ้าปากขึ้นมาได้ 

แน่นอนว่าเราไม่ควรลดทอนคุณค่าทางศิลปะและความสามารถในการบริหารจัดการงานอนุรักษ์ ด้วยความเหลื่อมล้ำทางสังคมที่ยังคงอยู่ เพราะไม่เช่นนั้นเราอาจต้องคิดว่าในประเทศที่บริหารงานอนุรักษ์อย่างย่ำแย่อย่างตอแหลแลนด์ ก็น่าจะมีสังคมที่ลดความเหลื่อมล้ำได้ดีกว่า 

แต่อุตสาหกรรมการเดินย่ำปราสาท ที่น่าจะนำรายได้เป็นอันดับต้นๆ ให้กับกัมพูชา ก็ยังดูห่างไกลจากการเป็นแหล่งรายได้ที่กระจายลงไปสู่ประชาชนทั่วไป

ถึงอย่างนั้นก็เถอะ ดูเหมือนวันนี้ กัมพูชาก็คงมีเพียงปราสาทหินเหล่านี้นี่แหละ ที่พอจะช่วยจะกอบกู้ชีวิตผู้คนหลังการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์และการรอดพ้นอย่างพิกลพิการจากกับระเบิดที่ไม่มีวันกู้หมดได้ เรื่องราวของคนเหล่านั้นยังพัวพันใกล้ชิดกับชาวกัมพูชาสามัญ แต่นักท่องปราสาทสักกี่คนกันที่จะอยากฟังเรื่องน่าสะอิดสะเอียนสยอง "กบาล" (ภาษาขแมร์) เหล่านี้

ในชนบทที่ห่างออกไปจากตัวเมืองเสียมเรียบไม่เกิน 20 กิโลเมตร เรายังสามารถเห็นเกวียนเทียมวัวควายล้อไม้ ครกกระเดื่องตำข้าว พร้อมใช้งานอยู่ใต้ถุนเรือนไม้จริง ไม้ไผ่ มุงกระเบื้องบ้างมุงจากบ้าง ขนาดกระทัดรัดวางบนเสาสูงชลูด เรือนเหล่านี้ปลูกสลับท้องนาและบึงน้ำ กอตาล ป่าหมาก ต้นมะพร้าว และวัวควาย ยังคงเป็นสิ่งมีชีวิตที่ถูกกินถูกใช้อยู่ทั่วไป ก็มีบ้างเช่นกันที่จะเห็นเรือนที่ดูดีมีฐานะหลังใหม่ๆ 

จักรยานถีบและรถจักรยานยนต์ยังคงครองท้องถนนที่อยู่นอกพื้นที่การท่องเที่ยว รถยนต์และน้ำมันเติมรถยังราคาแพง พาหนะสาธารณะในเมืองเสียมเรียบขนาดกระทัดรัดดูเหมือนจะมีเพียงรถจักรยานยนต์พ่วงที่นั่งเก๋ง แลดูคล้ายรถสกายแล็ปในลาวหรือหนองคาย แต่มีการตกแต่งในแบบเฉพาะของที่นี่เอง ด้วยลูกกรงไม้กลึง แลดูคล้ายที่นั่งบนหลังช้าง 

ชาวกัมพูขาเล่าว่า ด้วยน้ำมันราคาลิตรละกว่า 50 บาท และราคารถยนต์ที่แพงกว่าเมืองไทยอีก 30% สามัญชนกัมพูชาที่ไหนจะสามารถมีรถใช้อย่างดาดดื่นได้ ขณะที่รถโดยสารสาธารณะระหว่างเมืองก็ยังไม่เป็นระบบนัก

แต่หากจะขอใช้คำพูดแบบดาดๆ แล้ว ผู้คนก็ยังต้องปากกัดตีนถีบต่อไป ชีวิตในตลาดสด (ที่ได้รับการเจียดเวลาให้ 20 นาที เพราะนี่เป็นทริปชมปราสาท ไม่ใช่ทริปเที่ยวตลาด หุหุ) เป็นโลกแทบจะคนละใบกับชีวิตในปราสาทหิน 

กลิ่นปลาร้าหมัก ดินเฉอะแฉะ เลือดปลาสดๆ สาดกระเด็นไปทั่ว หัว-ไส้-หู-ตับ-ไต-ตาหมู วัวบนโต๊ะบุอลูมิเนียม เด็กนอนเดียวดาย คนขายผักที่เคยไปใช้ชีวิตขายแรงงานในเมืองไทย อาหารคุ้นตาคุ้นกลิ่น แต่ไม่มีเวลาพอได้ชิมรส ไก่บ้านเป็ดบ้านตัวแกร็นๆ...

นี่คือข้อสังเกตอีกด้านในวันข้างขึ้นไม่กี่ค่ำของเมืองปราสาทหิน ในช่วงเวลาที่แสงเดือนเสี้ยวส่องสว่างให้เห็นได้เพียงเงาสลัวของเรือนร่างอวบอัดและรอยยิ้มพิมพ์ใจของนางอัปสร

 
 

 

 
 
 
 

บล็อกของ ยุกติ มุกดาวิจิตร

ยุกติ มุกดาวิจิตร
องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) เป็นส่วนหนึ่งของการปกครองในระดับภูมิภาคซึ่งแบ่งออกได้เป็น 3 ส่วน คือ การปกครองส่วนภูมิภาค สภาองค์กรชุมชน และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ในแต่ละปี ผมมักไปร่วมสัมภาษณ์นักเรียนเพื่อเข้าศึกษาในคณะในมหาวิทยาลัยที่ผมสอนประจำอยู่โดยไม่ได้ขาด เสียดายที่ปีนี้มีโอกาสสัมภาษณ์นักเรียนเพียงไม่กี่คน เพราะติดภาระกิจมากมาย แต่ก็ยังดีที่ได้สัมภาษณ์อย่างจริงจังถึง 10 คนด้วยกัน
ยุกติ มุกดาวิจิตร
การเสียชีวิตของเด็กหญิงบนรถไฟทำให้สังคมไทยสะเทือนใจกันไปทั่ว แต่ที่น่าสะเทือนใจไม่น้อยไปกว่าความสูญเสียดังกล่าวคือ การแสดงออกของสังคม ซึ่งชี้ให้เห็นความเป็นสังคมอาชญากรรมในหลายๆ ประการ
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อวัยเยาว์ ผมเริ่มสงสัยง่าย ๆ ว่า ในหัวของแต่ละคนคิดอะไรอยู่ จึงได้ทำให้คนแตกต่างกันหรือเหมือนกัน ผมพยายามค้นหาว่าความรู้ชนิดใดกันที่จะทำให้เข้าใจความคิดในหัวคนได้ แรก ๆ ก็เข้าใจว่าศาสนาจะช่วยให้เข้าใจได้ ต่อมาก็คือจิตวิทยา แต่ผมเลือกเรียนเศรษฐศาสตร์ แล้วมาสนใจประวัติศาสตร์และปรัชญา ก็ยังไม่ได้คำตอบที่ถูกใจ สุดท้ายผมได้เจอกับวิชาที่น่าสนใจว่าน่าจะช่วยให้เข้าใจทัศนคติได้ดี นั่นก็คือวิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ผมสงสัยว่า บุคคลที่น่านับถือจำนวนมากที่ยินยอมตอบรับหรือเสนอตัวเข้าร่วมกับคณะรัฐประหาร ในคณะกรรมการต่างๆ มากมายนั้น ทั้งโดยออกนอกหน้าและเสนอตัวว่าขอทำงานอย่างลับๆ พวกเขาเข้าร่วมด้วยหลักการอะไร 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ผมพยายามครุ่นคิดอยู่นานว่า ทำไมคนไทยกลุ่มหนึ่งจึงโกรธนักโกรธหนาที่สหภาพยุโรปและสหรัฐอเมริกาประณามและต่อต้านการรัฐประหารครั้งนี้อย่างรุนแรง ทั้งๆ ที่พวกเขานั้นเป็นทาสฝรั่งเหล่านี้มากที่สุดในประเทศนี้
ยุกติ มุกดาวิจิตร
นักวิชาการสันติศึกษาเหล่านี้*ท่านคงไม่ได้ติดตามข่าว ขณะนี้ไม่มีใครพูดถึงมาตรา 7 กันแล้ว ฝ่ายที่จะพยายามตั้งรัฐบาล ทั้ง กปปส. และพรรคพวก และการดำเนินงานของประธานวุฒิสภาเถื่อน (เพราะยังไม่ได้รับการโปรดเกล้า ทำเกินอำนาจหน้าที่) ในขณะนี้ ไม่ได้สนใจข้อกฎหมายมาตราใดๆ ทั้งสิ้น พวกเขาเพียงพยายามหาเสียงสนับสนุนจากสังคมโดยไม่ใยดีกับเสียงคัดค้าน ไม่ใยดีกับข้อกฎหมาย เพื่อที่จะทูลเกล้าเสนอชื่อนายกรัฐมนตรีของเขาเท่านั้น
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อวาน (8 พค. 57) ผมข้องเกี่ยวอยู่กับภาพยนตร์ในหลายๆ ลักษณะ ตอนเช้า สัมภาษณ์นักศึกษาสอบเข้าปริญญาโทสาขามานุษยวิทยา ธรรมศาสตร์ น่าแปลกใจที่ผู้เข้าสอบหลายต่อหลายคนสนใจภาพยนตร์ ตกบ่าย ไปชมภาพยนตร์เรื่อง "วังพิกุล"ตามคำเชิญของ "คุณสืบ" และ "คุณเปีย" ผู้กำกับและตากล้องภาพยนตร์เรื่อง "วังพิกุล"
ยุกติ มุกดาวิจิตร
การประชุมไทยศึกษานานาชาติครั้งที่ 12 เพิ่งจบสิ้นลงไปเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว (22-24 เมษายน ที่มหาวิทยาลัยซิดนีย์ ประเทศออสเตรเลีย) ผมไปประชุมครั้งนี้อย่างเหน็ดเหนื่อย เพราะต้องเตรียมตัวเสนอบทความตนเองหนึ่งชิ้น และร่วมในห้องเสวนาโต๊ะกลมอีกสองห้อง ทุกรายการอยู่คนละวัน ผมก็เลยต้องพูดทุกวันทั้งสามวัน