Skip to main content

โดยบังเอิญ ผมไปถึงกัมพูชาในวันแรม 15 ค่ำ ซึ่งเป็นวันสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระนโรดม สีหนุ พอดี

แต่ไม่ว่าจะเกิดเหตุนี้ขึ้นหรือไม่ ผมก็เห็นปราสาทหินในกัมพูชาเป็นโลกเพ้อฝัน ความงามของปราสาทอยู่คนละภพภูมิกันกับผู้คนที่รองฐานปราสาทอยู่ มองอย่างนี้มานานก่อนที่จะมีโอกาสได้มาเยือน และยิ่งได้มาเยือนแล้วก็ยิ่งตอกย้ำความเชื่อเดิมยิ่งขึ้นไปอีก

ความโดดเด่นแตกต่างของปราสาทแต่ละหลัง ดูจะสะท้อนความแก่งแย่งชิงดีกันของกษัตริย์แต่ละยุคสมัย เหมือนกษัตริย์แต่ละพระองค์ต่างก็ต้องการสร้างอาณาจักรของตนเอง ทั้งที่แต่ละพระองค์ครอบครองและสืบทอดอำนาจได้เพียงระยะเวลาสั้นๆ 

พื้นที่แหว่งวิ่นไม่สืบเนื่องกันของประเทศกัมพูชา และพื้นที่รายรอบที่กินเข้ามาถึงลาว ไทย และส่วนใต้ของเวียดนาม เป็นเวทีของการประชันขันแข่งกันบนหยาดเหงื่อแรงงานของผู้คน กษัตริย์พระองค์หนึ่งสร้างปราสาทเพื่อบูชาลัทธิของตนเอง เมื่อเปลี่ยนมาอีกพระองค์หนึ่ง ก็ทุบทำลายปราสาทก่อนเก่า แล้วสร้างปราสาทบูชาลัทธิธรรมเนียมของตนเองขึ้นใหม่

ในปัจจุบัน แม้ชาวกัมพูชาจะสามารถเข้าเยี่ยมชมปราสาทเหล่านี้ได้ แต่ไม่ว่าชาวกัมพูชาจะรับรู้ถึงความงามและประวัติศาสตร์ของปราสาทเหล่านี้จากแง่มุมใด ก็ไม่รู้ว่าจะต้องรออีกนานเท่าใดที่ความยิ่งใหญ่ตระการตาของปราสาทจึงจะช่วยให้ชาวกัมพูชาเงยหน้าอ้าปากขึ้นมาได้ 

แน่นอนว่าเราไม่ควรลดทอนคุณค่าทางศิลปะและความสามารถในการบริหารจัดการงานอนุรักษ์ ด้วยความเหลื่อมล้ำทางสังคมที่ยังคงอยู่ เพราะไม่เช่นนั้นเราอาจต้องคิดว่าในประเทศที่บริหารงานอนุรักษ์อย่างย่ำแย่อย่างตอแหลแลนด์ ก็น่าจะมีสังคมที่ลดความเหลื่อมล้ำได้ดีกว่า 

แต่อุตสาหกรรมการเดินย่ำปราสาท ที่น่าจะนำรายได้เป็นอันดับต้นๆ ให้กับกัมพูชา ก็ยังดูห่างไกลจากการเป็นแหล่งรายได้ที่กระจายลงไปสู่ประชาชนทั่วไป

ถึงอย่างนั้นก็เถอะ ดูเหมือนวันนี้ กัมพูชาก็คงมีเพียงปราสาทหินเหล่านี้นี่แหละ ที่พอจะช่วยจะกอบกู้ชีวิตผู้คนหลังการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์และการรอดพ้นอย่างพิกลพิการจากกับระเบิดที่ไม่มีวันกู้หมดได้ เรื่องราวของคนเหล่านั้นยังพัวพันใกล้ชิดกับชาวกัมพูชาสามัญ แต่นักท่องปราสาทสักกี่คนกันที่จะอยากฟังเรื่องน่าสะอิดสะเอียนสยอง "กบาล" (ภาษาขแมร์) เหล่านี้

ในชนบทที่ห่างออกไปจากตัวเมืองเสียมเรียบไม่เกิน 20 กิโลเมตร เรายังสามารถเห็นเกวียนเทียมวัวควายล้อไม้ ครกกระเดื่องตำข้าว พร้อมใช้งานอยู่ใต้ถุนเรือนไม้จริง ไม้ไผ่ มุงกระเบื้องบ้างมุงจากบ้าง ขนาดกระทัดรัดวางบนเสาสูงชลูด เรือนเหล่านี้ปลูกสลับท้องนาและบึงน้ำ กอตาล ป่าหมาก ต้นมะพร้าว และวัวควาย ยังคงเป็นสิ่งมีชีวิตที่ถูกกินถูกใช้อยู่ทั่วไป ก็มีบ้างเช่นกันที่จะเห็นเรือนที่ดูดีมีฐานะหลังใหม่ๆ 

จักรยานถีบและรถจักรยานยนต์ยังคงครองท้องถนนที่อยู่นอกพื้นที่การท่องเที่ยว รถยนต์และน้ำมันเติมรถยังราคาแพง พาหนะสาธารณะในเมืองเสียมเรียบขนาดกระทัดรัดดูเหมือนจะมีเพียงรถจักรยานยนต์พ่วงที่นั่งเก๋ง แลดูคล้ายรถสกายแล็ปในลาวหรือหนองคาย แต่มีการตกแต่งในแบบเฉพาะของที่นี่เอง ด้วยลูกกรงไม้กลึง แลดูคล้ายที่นั่งบนหลังช้าง 

ชาวกัมพูขาเล่าว่า ด้วยน้ำมันราคาลิตรละกว่า 50 บาท และราคารถยนต์ที่แพงกว่าเมืองไทยอีก 30% สามัญชนกัมพูชาที่ไหนจะสามารถมีรถใช้อย่างดาดดื่นได้ ขณะที่รถโดยสารสาธารณะระหว่างเมืองก็ยังไม่เป็นระบบนัก

แต่หากจะขอใช้คำพูดแบบดาดๆ แล้ว ผู้คนก็ยังต้องปากกัดตีนถีบต่อไป ชีวิตในตลาดสด (ที่ได้รับการเจียดเวลาให้ 20 นาที เพราะนี่เป็นทริปชมปราสาท ไม่ใช่ทริปเที่ยวตลาด หุหุ) เป็นโลกแทบจะคนละใบกับชีวิตในปราสาทหิน 

กลิ่นปลาร้าหมัก ดินเฉอะแฉะ เลือดปลาสดๆ สาดกระเด็นไปทั่ว หัว-ไส้-หู-ตับ-ไต-ตาหมู วัวบนโต๊ะบุอลูมิเนียม เด็กนอนเดียวดาย คนขายผักที่เคยไปใช้ชีวิตขายแรงงานในเมืองไทย อาหารคุ้นตาคุ้นกลิ่น แต่ไม่มีเวลาพอได้ชิมรส ไก่บ้านเป็ดบ้านตัวแกร็นๆ...

นี่คือข้อสังเกตอีกด้านในวันข้างขึ้นไม่กี่ค่ำของเมืองปราสาทหิน ในช่วงเวลาที่แสงเดือนเสี้ยวส่องสว่างให้เห็นได้เพียงเงาสลัวของเรือนร่างอวบอัดและรอยยิ้มพิมพ์ใจของนางอัปสร

 
 

 

 
 
 
 

บล็อกของ ยุกติ มุกดาวิจิตร

ยุกติ มุกดาวิจิตร
คำสำคัญ: sensory subjectivity, sensory categories, sensory bias, sensory ethnocentrism, sensory colonization (อธิบายไว้ท้ายข้อเขียน) คนทำเรื่องอาหารข้ามถิ่น ไม่ต่างจากการทำงานทางมานุษยวิทยา ที่ต้องตระหนักถึงการ ไม่นำเอา
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ถ้าคุณไม่สามารถเรียนรู้อะไรใหม่ๆ ได้แล้ว ก็โปรดอย่าถ่วงรั้งการเรียนรู้ของคนรุ่นใหม่เลย 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ปาฐกถาในเวทีเสวนา “50 ปี 14 ตุลาฯ ยังตามหารัฐธรรมนูญใหม่” จัดโดยสมัชชาคนจน วันที่ 14 ตุลาคม 2566
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อ 24 กค. 65 ผู้จัดการแสดง #ฮิญาบ2022  ชวนผมไปดูการแสดงของคุณฟารีดา จิราพันธ์ ที่กาลิเลโอเอซิส แล้วผู้จัดจะชวนผมสนทนาหลังละคร
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ในฐานะเพื่อนร่วมวิชาชีพวิชาการ ในฐานะผู้ปกครองนักศึกษาคณะวิจิตรศิลป์ และในฐานะคนรักศิลปะ ผมเขียนจดหมายนี้เพื่อตั้งคำถามต่อการที่ผู้บริหารคณะวิจิตรศิลป์จะตรวจสอบผลงานก่อการอนุญาตให้จัดแสดงผลงานของนักศึกษาภาควิชาสื่อศิลปะและการออกแบบสื่อ
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เห็นคนพูดถึงตัวละครในซีรีย์เกาหลีเอ่ยถึงจอร์จ บาไตล์ ในรูปนั่นน่ะครับ เป็นคอลเล็กชันจอร์จ บาไตล์บนชั้นหนังสือผมแบบเบาๆ ผมเก็บไว้ร่วม 20 ปีแล้ว
ยุกติ มุกดาวิจิตร
หลายคนคงรู้ว่าวันนี้เป็นวันชาติเวียดนาม แต่น้อยคนคงรู้ว่าเกิดอะไรขึ้นในวันนี้กันแน่ แล้ววันนี้ในอดีตถูกกำหนดเป็นวันขาติจากเหตุการณ์ปีใด 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
จนถึงวันนี้ การต่อสู้ของประชาชนในขบวนการ “คณะราษฎร 63” ได้แสดงให้เห็นแล้วว่า พลังของแสงดาวได้สร้างสรรค์สังคมไทยอย่างไร 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
การที่อธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญาได้ออกมาแสดงความเห็นว่ามีการสร้างกระแสกดดันศาลต่างๆ นานา (ดู https://www.thairath.co.th/news/local/bangkok/2081366) มองในแง่ดี ผมคิดว่านี่คือการออกมาอธิบายกับสังคมอีกครั้งของผู้มีอำนาจในกระบวนการยุติธรรมอย่างชัดแจ้ง หลังจากที่มีการชี้แจงถึงเหตุผลการไม่ปล่อยตัวผู้ต้องหาคดีการเมืองโดยโฆษกศาลและโฆษกกระทรวงยุติธรรมก่อนหน้านี้ 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
อะไรที่ทำให้ดนตรีมีสถานะในการทำร้ายกันได้บ้าง ผมว่าอย่างน้อยที่สุดต้องเข้าใจก่อนว่า ดนตรีไม่ใช่แค่เสียง
ยุกติ มุกดาวิจิตร
พอดีนั่งฟังเพื่อนนักวิชาการอ่านหนังสือ "กบฏชาวนา" ของรานาจิต คูฮา (1982) มาคุยให้ฟัง (แปลโดย ปรีดี หงษ์สต้น) ในเพจของสำนักพิมพ์ Illumination Editions เลยคิดถึงบันทึกที่เคยเขียนถึงหนังสือของ ดิเพช จักรบาร์ตี เรื่อง Provincializing Europe (2000)
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เรื่อง ถามถึงมโนธรรมสำนึกในความเป็นครูบาอาจารย์ของอาจารย์เอนก เหล่าธรรมทัศน์