Skip to main content

 

ขอบอกว่า วันนี้นอยกับบูราวอย (Michael Burawoy) พอสมควร

บูราวอยเป็นศาสตราจารย์ทางสังคมวิทยาชื่อดังจาก UC-Berkeley สหรัฐอเมริกา วันนี้เขามาเสนอเรื่อง public sociology ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย บูราวอยเป็นนักวิชาการที่เสนอว่า งานวิชาการต้องตอบโจทย์ของสังคมด้วย บูราวอยพูดเก่งมาก ฟังสนุก มีพลังมาก แม้อายุน่าจะใกล้หรืออาจจะเลยเลข 7 แล้ว 
 
ข้อเสนอเขา ซึ่งเขาเองยอมรับว่าลดทอนความซับซ้อนของโลกเพื่อให้ง่ายเข้า ที่สำคัญๆ ที่เขาพูดวันนี้ก็เช่นว่า
 

- ที่จริงการทำวิชาการให้เข้าถึงสาธารณชนเป็นสิ่งที่ปฏิบัติกันทั่วโลก โดยเฉพาะในซีกโลกทางใต้ ในอเมริกาเองเสียอีกที่มีน้อย
 
- งานวิชาการทางสังคมศาสตร์มีสี่กลุ่ม แบบเน้นวิชาการล้วนๆ (professional) แบบเน้นนโยบาย (policy) แบบวิชาการแนววิพากษ์ (critical) กับแบบเน้นเพื่อสาธารณชน (public) สี่กลุ่มนี้เป็นการแบ่งงานกันทำ (division of labor)
 
- ประเด็นซับซ้อนขึ้นอีกนิดคือ ขณะที่พวกเน้นวิชาการและนโยบายเป็นพวกใช้ความรู้เพียงแค่เป็นเครื่องมือ เป็นกลไก (instrumental knowledge) แต่พวกวิพากษ์และพวกเน้นสาธารณะ เป็นพวกใช้ความรู้แบบครุ่นคิดทบทวนมากกว่า (reflexive knowledge) พูดง่ายๆ คือพวกแรกไม่ค่อยตรวจสอบทบทวนตนเอง ใช้ความรู้แบบทื่อๆ พวกหลังดูก้าวหน้ากว่าเพราะมักวิพากษ์ทั้งคนอื่นและตนเอง
 
- เขายกตัวอย่างประเทศต่างๆ ว่าแต่ละประเทศต่างก็มีพื้นที่ให้กับสี่ส่วนนี้แตกต่างกันออกไป แต่เขาไม่ได้อธิบายว่า ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น
 
- บูราวอยเสนอให้ต้องเน้นแบบสุดท้ายให้มากขึ้น เพื่อกอบกู้ภาคประชาสังคมจากภัยคุกคามของรัฐกับทุน (เริ่มคุ้นๆ แล้วไหมครับ) ตรงนี้บูราวอยพยายามโชว์ว่าเขาทำการบ้านว่าเขารู้จักนักวิชาการไทยที่เป็นนักวิชาการสาธารณะเป็นอย่างดี ด้วยการอ้างทฤษฎี "สามเหลี่ยมเขยื้อนภูเขา" (ของใครไปหากันเอาเองครับ)
 
เมื่องานสัมมนาเปิดให้แสดงความเห็น ผมกึ่งยิงกึ่งผ่าน กึ่งถามกึ่งวิจารณ์ว่า
 
"ข้อเสนออาจารย์บูราวอยค่อนข้างเสนอภาพการแบ่งงานกันทำแบบ Durkhiemian (คือต่างคนต่างทำงานสอดประสานกัน) มากกว่าจะเป็นแบบ Marxist (คือแสดงภาพความไม่ลงรอยกัน ขัดแย้งกัน อันเนื่องมาจากสังกัดทางการเมืองและพื้นฐานทางเศรษฐกิจที่ขัดแย้งกัน) ไม่มีการเมืองระหว่าง 4 กลุ่มงานวิชาการนั้นเลย..

"อาจารย์ไม่ได้คำนึงถึงปัญหาของความเหลื่อมล้ำทางวิชาการที่มีในระบบโลก นักวิชาการในเอเชีย หรืออย่างในไทย ในเวียดนาม ไม่สามารถทำงานแบบวิชาการล้วนได้ ส่วนหนึ่งด้วยเงื่อนไขบังคับภายในประเทศเอง แต่อีกส่วนหนึ่งก็ด้วยเงื่อนไขที่วงวิชาการตะวันตกครอบงำและยึดอำนาจการนำเสนองานวิชาการมาตลอด กีดกันการเข้าถึงโลกวิชาการของคนจากซีกโลกใต้มาตลอด (ด้วยเงื่อนไขทางความรู้ ภาษา และต้นทุนการเรียนรู้)..

"สุดท้าย ไม่ว่านักวิชาการจากซีกโลกใต้จะอยากทำงานเน้นวิชาการหรือไม่ อย่างดีก็เป็นได้แค่นักวิชาการพื้นถิ่น (แบบ native anthropoloists) นักวิชาการชั้นสองหรือสาม ที่เพียงนำเสนอข้อมูลให้นักวิชาการระดับโลกเก็บไปสร้างทฤษฎี (ลืมเหน็บไปว่า อาจารย์เองก็คงกำลังทำอย่างนั้นกับพวกเราที่นี่อยู่)..
 
บูราวอยตอบผมว่า "แน่นอนว่ามีการเมือง แต่ไม่ได้บอกรายละเอียดในตอนบรรยาย และแน่นอนว่าวิชาการเพื่อสาธารณะที่เขาหมายถึง คือเพื่อคนที่ถูกลดทอนคุณค่า คนที่ไม่สามารถมีปากมีเสียงได้ (the subaltern, the dominated)"
 
ตอนบ่าย มีการอภิปรายโดยนักวิชาการไทยและมาเลเซีย ว่าหากนำแนวคิดของบูราวอยมาวิเคราะห์ในประเทศตน ตามประสบการณ์แต่ละคนแล้วจะเป็นอย่างไร  ผมขอไม่สรุป (ไม่ใช่ว่าไม่ดี แต่จะยาวไป) บูราวอยก็นั่งฟังอยู่ด้วย เมื่อเปิดให้ตั้งคำถาม ผมออกตัวว่า "I'm sorry if I will be nasty." แล้วถามต่อจากที่เก็บไว้ไม่ได้ถามเมื่อเช้าว่า

"เราพูดกันในที่นี้ราวกับว่า หากเราเพียงวิจารณ์นักวิชาการที่ทำงานแบบเน้นวิชาการล้วน กับวิขาการณ์พวกเน้นวิชาการเพื่อผลิตนโยบาย แล้วหันมาทำแบบเน้นสาธารณะขึ้น เราก็จะมาถูกทางและดูดีมีศีลธรรมกว่าพวกนักวิชาการเหล่านั้นแล้ว..

"แต่เราถามด้วยหรือเปล่าว่า เราจะตอบสนองสาธารณชนแบบไหน เราจะเลือกเน้นสาธารณชนไปในทางไหน..

"เช่น การที่เมื่อเช้าบูราวอยอ้าง "สามเหลี่ยมเขยื้อนภูเขา" นั่นก็เป็นวิชาการที่เน้นสาธารณะแบบหนึ่ง การที่งานนี้มีศาสตราจารย์อมรามาเปิดงานแล้วท่านเล่าถึงประสบการณ์การทำงานวิชาการแบบเน้นสาธารณะ นั่นก็เป็น public แบบหนึ่ง..

"แต่ยังมีนักวิชาการสาธารณะแบบอื่นๆ ที่ไม่ได้เน้นแนวทางเดียวกับที่กล่าวมานั้น ความเป็นสาธารณะจึงไม่ได้มีแนวทางเดียว ลำพังการทำงานสาธารณะจึงไม่ได้ทำให้นักวิชาการเป็นนักวิชาการสาธารณะโดยอัตโนมัติ แต่เราต้องเข้าใจการเมืองของการเป็นนักวิชาการสาธารณะด้วยไม่ใช่หรือ.."

เวลาหมด และบูราวอยเองก็คงนอยผมแล้วเหมือนกัน เลยไม่ได้ตอบอะไร แต่ที่จริงมีอีกสองประเด็นไม่ทันได้พูด เพราะรู้สึกว่าตนเองถามและวิจารณ์มากอยู่คนเดียวเกินไปแล้ว เลยขอทิ้งไว้ตรงนี้ว่า

"แต่ละประเทศมีเพดานของการพูดเรื่องสาธารณะไม่เหมือนกัน เช่น เวียดนามมีเรื่องพรรคคอมมิวนิสต์และเรื่องสิทธิมนุษยชน ไทยมีเรื่องสถาบันกษัตริย์ เคยได้ยินนักวิชาการญี่ปุ่นบ่นว่า วิจารณ์เรื่องโรงไฟฟ้าพลังนิวเคลียร์ไม่ได้..

"ในเมื่อมีเรื่องสาธารณะบางเรื่องที่พูดถึงไม่ได้มากมายในแต่ละประเทศ บูราวอยจะว่านักวิชาการในบางประเทศไม่ยอมทำงานสาธารณะเต็มปากเต็มคำไม่ได้เช่นกัน เพราะเงื่อนไขทางการเมืองของแต่ละประเทศไม่เหมือนกัน.."
 
อีกประเด็นคือ ในระดับของระบบโลก..
 
"การทำงานเพื่อสาธารณะในประเทศหนึ่ง อาจเป็นการทำงานเพื่อตอบสนองนโยบายของประเทศอื่น เช่น ที่ผ่านมาประเด็นเรื่องกระบวนการพัฒนาเป็นประชาธิปไตย เป็นการดำเนินตามนโยบายเสรีนิยมของประเทศในโลกตะวันตก แล้วนำมาเผนแพร่ให้เป็นประเด็นสาธารณะในประเทศโลกที่สาม หรือการเน้นประชาสังคม ก็เป็นความคิดเชิงนโยบายในอีกซีกโลกหนึ่งมากก่อนไม่ใช่หรือ..

"ดังนั้น ความเป็นสาธารณะ เป็นนโยบาย เป็นวิชาการล้วน หรือแม้แต่การเป็นวิชาการแนววิพากษ์ในแต่ละบริบทการเมืองในโลกนี้ มิต่่างกันหรอกหรือ น่าเสียดายที่บูราวอยเป็นนักมานุษยวิทยามาก่อน แต่มองข้ามความเป็นท้องถิ่นของความรู้แบบต่างๆ"
 
ความจริงผมก็ควรจะเขียนวิจารณ์บูราวอยให้เป็นเรื่องเป็นราวแบบ "วิชาการ" นั่นแหละ แต่ขอยกเอาไว้ก่อนแล้วกันครับ
 
พรุ่งนี้เขาก็ยังมีนะครับ หากใครสนใจยังไปฟังได้ ดูรายละเอียดที่  "Confronting Unequal Worlds of Development: 

 

บล็อกของ ยุกติ มุกดาวิจิตร

ยุกติ มุกดาวิจิตร
ฮานอยเดือนตุลาคมเม็ดฝนเริ่มท้ิงช่วง บางวันฝนตกพร้อมอากาศเย็นๆ เดือนสิบมีวันสำคัญคือ Tết Trung thu คนเวียดนามปัจจุบันบางทีเรียกว่า "วันปีใหม่ของเด็กๆ" คือคืนวันพระจันทร์เต็มดวงเดือนแปดจันทรคติ ตรงกับวันไหว้พระจันทร์ที่เพิ่งผ่านไปนั่นเอง แต่ชาวเวียดนามเรียกตามฤดู ว่าปีใหม่กลางฤดูใบไม้ร่วง
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ยุกติ มุกดาวิจิตร  
ยุกติ มุกดาวิจิตร
 สุนทรียศาสตร์และการเมืองของสิ่งไร้รสนิยม (aesthetics and politics of kitsch)
ยุกติ มุกดาวิจิตร
 หากจำเป็นต้องหักหาญมิตรภาพกัน ก็ขอให้แน่ใจว่ามิตรสหายเราได้ละเมิดหลักการใหญ่ๆ ที่มิตรภาพไม่ควรได้รับการปลอบประโลมโอบอุ้มกันอีกต่อไป แต่หากเป็นเรื่องหยุมหยิมเกินไป ก็โปรดอย่าเปิดแนวรบจิกกัดมิตรสหายที่แทบไม่มีที่ยืนอยู่บนผืนหนังเดียวกันไปเสียทุกอนูความหมายเลยครับ
ยุกติ มุกดาวิจิตร
  บอกยากเหมือนกันว่าสุราทำหน้าที่อะไร แต่ผมเลือกจะเชื่อว่า มันถอดหน้ากากคน มันลดอัตตา มันทำให้คนหันหน้าเข้าหากัน แต่นี่คงต้องอยู่ในบริบทของการดื่ม ในสังคมที่มีระเบียบเข้มงวดในการด่ืมสุรา
ยุกติ มุกดาวิจิตร
บทต่อไป เมื่อนักมานุษยวิทยามานั่งศึกษาชุมชนเกรียนออนไลน์