Skip to main content

 

บ้านเก่าเมืองหลัง เป็นสำนวนของคนไทดำในเวียดนาม เมื่อก่อน พอได้ขึ้นไปเยี่ยมเยือนพี่น้องชาวไทดำที่เซอนลาแต่ละครั้ง ก็จะถูกพวกคนเฒ่าคนแก่ล้อว่าเหมือนพวกหลานๆ กลับมาเยี่ยมบ้านเก่าเมืองหลังสินะในความหมายที่ว่า เหมือนผมได้กลับไปเยี่ยมบ้านเกิดเมืองนอนนั่นเอง ทั้งๆ ที่ตอนนั้น ก็ห่างหายไปแค่เพียงหลายเดือน หรืออย่างมากก็ในรอบปี

อันที่จริงความผูกพันระหว่างผมกับชาวบ้านไทดำที่ตัวจังหวัดเซอนลา ชาวไทขาวที่เมืองไล ลายเจิว ชาวไทขาวที่มายเจิว หว่าบิ่ญ ชาวไทขาวที่ฟองโถ่ ลายเจิว ชาวไทแดงที่แทญหัวและเหงะอาน และชาวไทดำที่เหงี๊ยะโหละ เอียนบ๋าย ไม่ได้ลึกซึ้งขนาดจะคุยได้ว่าบ้านเมืองเหล่านั้นเป็นบ้านเก่าเมืองหลััง หากแต่ผู้คนบางถิ่นก็ถือรับนับเอาผมเป็นเหมือนญาติพี่น้อง เป็นลูกหลานชั่วคราว ส่วนผมเองไม่กล้าอวดอ้างแบบนักวิชาการต่างชาติบางคนหรอกว่า ได้ถูกนับเป็นลูกเลี้ยงหรือเป็นคนในครอบครัวชาวบ้านคนไหน

แต่จะว่าไป เมื่อเกือบสองปีก่อน ผมถูกขอร้องให้ช่วยเป็นพ่อบุญธรรม หรือเรียกในอีกสำนวนว่าพ่อเลี้ยงให้กับเด็กหญิงไทขาวคนหนึ่งที่มายเจิว เธอชื่อวีตอนนั้นวีเกือบสองขวบ เจ็บไข้ประจำ ลุงของพ่อวีซึ่งเป็นหมอด้านจิตวิญญาณบอกว่า ต้องหาพ่อเลี้ยงให้เจ้าวี ผมจึงตกปากรับคำแบบไม่ยั้งคิด แล้วเข้าพิธีที่ไม่ได้วุ่นวายอะไรมากไปกว่าการบอกกล่าวบรรพบุรุษต่อหน้าหิ้งบูชาผีเรือน แล้วใช้ด้ายบางๆ ภาษาที่นั่นเรียกไหมคล้องคอวี

อันที่จริง ในขณะที่ตัดสินใจนั้น ใจหนึ่งก็นึกเอาเปรียบครอบครัววี ที่อยากให้ตัวเองเป็นตัวอย่างของการจัดพิธีเป็นพ่อเลี้ยง ทั้งด้วยเพราะว่าตนเองอยากสังเกตการณ์ และเพราะอยากให้ลูกศิษย์ที่ไปด้วยกันอีก 30 คนได้มีส่วนร่วม แต่อีกใจหนึ่งก็เห็นว่า ในเมื่อมันไม่ได้เสียหายอะไรและน่าจะทำให้ครอบครัวเพื่อนสบายใจ ก็จึงรับเข้าพิธี

หลังจากนั้นมาอีกหนึ่งปี ผมเจอวีอีกครั้ง เธอร่าเริงแข็งแรงมาก จากที่เคยร้องไห้บ่อยๆ เจ็บป่วยประจำ และกลัวทุกคนที่เข้าใกล้ วีเล่นกับทุกคน หน้าตาสดใส ผิดกันไปเป็นคนละคนกับเมื่อปีก่อน มาคราวนี้ได้ไปเจอวีและพ่อ-แม่ของเธออีกครั้ง วีพูดคุยสนุก วิ่งเล่นไปมา พ่อแม่วีบอกที่โรงเรียนอนุบาล วีเที่ยวคุยกับเพื่อนๆ ว่านี่เธอ เรามีพ่อเลี้ยงด้วยนะ

ผมรู้สึกเหมือนมีความรับผิดชอบบางอย่างที่ไม่รู้แจ้งนักว่ามันคืออะไรรออยู่ข้างหน้า ลำพังตนเองไม่ได้มีลูกของตนเอง แต่เวลานี้กลับมีลูกเลี้ยงในต่างแดน กลับไปมายเจิวคราวนี้จึงไปหาซื้อของเล็กๆ น้อยๆ ไปฝากวี ผมซื้อสร้อยเงินเส้นเล็กๆ เหมาะกับคอเรียวๆ ของเด็กน้อยไปคล้องคอแทนด้ายเส้นบางที่ขาดไปแล้ว

เช่นเดียวกันกับป้าเจิว ภรรยาของครูที่ผมศึกษาด้วย เดิมทีระหว่างที่ผมเก็บข้อมูลทำวิทยานิพนธ์อยู่ ผมจะรู้สึกไปเองหรือเปล่าก็ไม่ทราบว่า เธอคงเห็นผมมองเธอเป็นข้อมูล เป็นวัตถุแห่งการสังเกตการณ์อย่างอยากมีส่วนร่วม แต่นานวันเข้า เธอคงเข้าใจขึ้นบ้างว่า การทำงานวิจัยกับผู้คนไม่ได้ทำให้นักวิจัยปลอดจากอคติขนาดนั้นได้ง่ายดายนัก เราตื่นเต้นกับความแปลกแตกต่าง เราสงสัยและบันทึกอะไรมากมายโดยไม่ทันได้นึกคิดว่าคู่สนทนาจะรู้สึกเหมือนถูกเก็บข้อมูลตลอดเวลา แต่เราก็ทำทั้งเก็บข้อมูลและสร้างมิตรภาพไปพร้อมๆ กัน

มื้อแรกที่เซอนลาในการเดินทางครั้งนี้เป็นอย่างนั้นจริงๆ ผมกับแฟนและ Masao เพื่อนนักวิจัยชาวญี่ปุ่น นัดเจอกับพี่แก้ว เพื่อนชาวไทดำที่เมื่อเรียกแกว่าเป็นคนไทดำแล้วผมก็จะรู้สึกเคอะเขิน และเข้าใจถึงความตื้นเขินของคำว่ากลุ่มชาติพันธ์ุได้ทันที เพราะพี่แก้วเป็นคนในหลายๆ โลก (cosmopolitan) แบบที่เราก็เป็นเหมือนกันนั่นแหละ

พี่แก้วอายุสี่สิบปลายๆ ชอบใส่ชุดวอร์ม สวมรองเท้าผ้าใบ มีสไตล์การแต่งตัวแบบยับปี้ฮานอยอย่างนี้มาตั้งแต่สี่ห้าปีก่อน แกสร้างเรือนแบบมีชาวฮานอยที่มีรสนิยมวิไล ตกแต่งเรือนได้หมดจดมีลีลาดีกว่าคนกรุงเทพฯ พี่แก้วนั่งเล่นอินเตอร์เน็ตเป็นชีวิตประจำวัน อ่านข่าวสารที่คนเวียดนามมักไม่ได้รับรู้ แต่ก็สืบทอดสำนึกความเป็นไทดำจากการเป็นลูกเจ้าเมืองคนสุดท้ายของเมืองมั่วะเมืองสำคัญในการเมืองสมัยใหม่ของเวียดนาม (ที่อยู่นอกสำนึกขาดวิ่นของนักวิชาการสยามเกี่ยวกับสิบสองจุไท แต่ก็ช่างนักวิชาการสยามเถอะ ปล่อยให้รู้อะไรน้อยๆ บ้างก็ดี จะได้นึกว่าตนเองเก่งกันนักสืบไป)

เราไปกินอาหารไทดำชานเมืองเซอนลากัน พอพี่แก้วเริ่มพูดคำหรือประโยคอะไรที่เราไม่เคยได้ยิน อย่างเมื่อเราสั่งปลาก้อยมา พี่แก้วบอกว่าแส้บเหยือกินเหยือหมา แส้บปากินปาก้อย” (หิวเนื้อกินเนื้อหมา หิวปลากินปลาก้อย) สัญชาติญาณนักวิจัยของพวกเราก็ทำงานทันที พี่แก้วแค่พูดไปตามความเคยชินของคนที่นี่ที่เมื่อภูมิใจในวัฒนธรรมตนเองแล้วก็มักจะบอกเล่าให้คนต่างเมืองรับรู้ ส่วนพวกเราก็ทำตามความเคยชินคือ เมื่อได้ยินได้เห็นอะไรแปลกใหม่ก็เก็บบันทึกตลอดเวลา

กลับมาเวียดนามคราวนี้เหมือนมาบ้านเก่าเมืองหลัง แต่ก็เหมือนมาบ้านใหม่เมืองหน้า การเดินทางไปถิ่นที่เดิมๆ บ่อยๆ ย่อมได้ความเข้าใจที่ต่อเนื่อง แต่เมื่อเว้นช่วงห่างจากกันไปนานๆ สามสี่ปีบ้าง ก็รับรู้ได้ถึงความเปลี่ยนแปลงอย่างชัดเจนยิ่งขึ้น และก็เริ่มสงสัยกับสิ่งที่เคยรับรู้มาว่า อันที่จริงก่อนหน้าที่เราจะได้รู้จักสังคม-วัฒนธรรมเหล่านี้ ผู้คนเปลี่ยนมาก่อนหน้านี้กี่มากน้อยกี่หลายหนแล้ว

บล็อกของ ยุกติ มุกดาวิจิตร

ยุกติ มุกดาวิจิตร
มาเกียวโตเที่ยวนี้หนาวที่สุดเท่าที่เคยมา (สัก 6 ครั้งได้แล้ว) อุณหภูมิอยู่ราวๆ 0-5 องศาเซลเซียสตลอด แต่นี่ยังไม่เท่าเมืองที่เคยอยู่ คือวิสคอนซิน สหรัฐอเมริกา ซึ่งขณะนี้อยู่ราวๆ -20 องศาเซลเซียส และเคยหนาวได้ถึง -40 องศาเซลเซียส หนาวขนาดนั้นมีแต่นกกากับกระรอก ที่อึดพอจะอยู่นอกอาคารได้นานๆ แต่ที่เกียวโต คนยังสามารถเดินไปเดินมา หรือกระทั่งเดินเล่นกันได้เป็นชั่วโมงๆ หากมีเครื่องกันหนาวที่เหมาะสม
ยุกติ มุกดาวิจิตร
การสัมมนาที่มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์เมื่อวันที่ 23-24 มค. ยังความรื่นรมย์มสู่แวดวงวิชาการสังคมศาสตร์อีกครั้ง ถูกต้องแล้วครับ งานนี้เป็นงาน "เวทีวิจัยมนุษยศาสตร์ไทย ครั้งที่ 7" หากแต่อุดมคับคั่งไปด้วยนักสังคมศาสตร์ (ฮ่าๆๆๆ) น่ายินดีที่ได้พบเจอเพื่อนฝูงทั้งเก่าทั้งใหม่มากหน้าหลายตา แต่ที่น่ายินดียิ่งกว่านั้นคือการได้สนทนาทั้งอย่างเป็นทางการ ผ่านงานเขียนและการคิดอ่านกันอย่างจริงจัง บนเวทีวิชาการ กับเพื่อนๆ นักวิชาการรุ่นใหม่
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อเช้า (26 มค.) ผมไปเลือกตั้งล่วงหน้าที่เขตจอมทอง ด้วยเหตุจำเป็นไม่สามารถไปเลือกตั้งวันที่ 2 กพ. ได้ ก่อนไป สังหรณ์ใจอยู่ก่อนแล้วว่าจะเกิดเหตุไม่ดี ผมไปถึงเขตเลือกตั้งเวลาประมาณ 9:00 น. สวนทางกับผู้ชุมนุมนกหวีดที่กำลังออกมาจากสำนักงานเขต นึกได้ทันทีว่ามีการปิดหน่วยเลือกตั้งล่วงหน้า มวลชนหลักร้อย ดูฮึกเหิม ท่าทางจะไปปิดหน่วยเลือกตั้งอื่นต่อไป ผมถ่ายรูปคนจำนวนหนึ่งไว้
ยุกติ มุกดาวิจิตร
หนังสือ ประวัติศาสตร์ไทดำ : รากเหง้าวัฒนธรรม-สังคมไทยและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (2557) เล่มนี้เป็นผลจากการวิจัยเมื่อ 10 ปีที่แล้ว ผมทำวิจัยชิ้นนั้นก็เพื่อให้เข้าใจงานเขียนทางประวัติศาสตร์ของชาวไทในเวียดนามสำหรับทำวิทยานิพนธ์ปริญญาเอก แต่เนื้อหาของหนังสือนี้แทบไม่ได้ถูกนำเสนอในวิทยานิพนธ์
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เดือนที่แล้ว หลังเสร็จงานเขียนใหญ่ชิ้นหนึ่ง ผมกะจะหลบไปไหนสัก 4-5 วัน ระยะนั้นประเด็นวันเลือกตั้งยังไม่เข้มข้นขนาดทุกวันนี้ ลืมนึกไปจนกลายเป็นว่า ตัวเองกำหนดวันเดินทางในช่วงวันเลือกตั้ง 2 กพ. 57 พอดี เมื่อมาคิดได้ เมื่อวันที่ 14 มค. ก็เลยถือโอกาสที่ที่ทำงานให้หยุดงานไปลงทะเบียนเลือกตั้งล่วงหน้าในเขตตนเอง ใช้เวลาไม่เกิน 15 นาทีก็ได้เอกสารมาเก็บไว้ รอไปเลือกตั้งล่วงหน้าวันอาทิตย์ที่ 26 มค.
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เหตุที่ประโยค Respect My Vote. กลายเป็นประโยคที่นำไปใช้ต่อ ๆ กันแพร่หลายกินใจผู้รักประชาธิปไตยในขณะนี้ ไม่เพียงเพราะประโยคนี้มีความหมายตามตัวอักษร แต่เพราะประโยคนี้ยังเป็นถ้อยแถลงทางการเมืองของประชาชน ที่ประกาศว่า อำนาจสูงสุดของประเทศนี้เป็นของประชาชน
ยุกติ มุกดาวิจิตร
วันที่ 9 มกราคม 2557 เวทีเสวนาประชาธิปไตยภาคใต้ ได้จัดอภิปรายเรื่อง "ปฏิรูปประเทศไทย : ปาตานีในระยะเปลี่ยนผ่าน" ณ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ผมกับอาจารย์เอกชัย ไชยนุวัติ ได้รับเชิญในฐานะตัวแทนจากสมัชชาปกป้องประชาธิปไตยไปร่วมบรรยายกับวิทยากรชาวปัตตานีและชาวสงขลา
ยุกติ มุกดาวิจิตร
 ผมอยู่ในแวดวงวิชาการ พร้อม ๆ กับทำกิจกรรมบริการทางสังคมด้านสิทธิ-เสรีภาพ การบริการทางสังคมเป็นส่วนหนึ่งของการทำงานทางวิชาการ นอกเหนือจากการสอน การทำวิจัย และการเขียนงานวิชาการ แต่ในโลกทางวิชาการไทยปัจจุบัน เมื่อคุณก้าวออกมานอกรั้วมหาวิทยาลัยแล้ว คุณจะกลายเป็น "คนมีสีเสื้อ" ไม่ว่าปกติคุณจะใส่เสื้อสีอะไร จะมีสติ๊กเกอร์ติดเสื้อคุณอยู่เสมอว่า "เสื้อตัวนี้สี..." เพียงแต่เสื้อบางสีเท่านั้นที่ถูกกีดกัน
ยุกติ มุกดาวิจิตร
การปฏิรูปก่อนเลือกตั้งคือการยึดอำนาจของ กปปส. เพื่อจัดตั้งสภาประชาชน ไม่มีทางที่การปฏิรูปก่อนการเลือกตั้งจะเป็นการปฏิรูปที่ปวงชนชาวไทยจะมีส่วนร่วม เนื่องจาก...
ยุกติ มุกดาวิจิตร
 ผมเก็บข้อมูลการวิจัยเมื่อปี 2553-2554 จนถึงหลังการเลือกตั้งครั้งที่แล้ว ผมมีโอกาสได้สัมภาษ์นักการเมืองท้องถิ่นคนหนึ่ง เป็นผู้สมัครรับเลือกตั้ง สส. เขตของพรรคหนึ่ง ไม่ใช่เพื่อไทย ไม่ใช่ประชาธิปัตย์ ในจังหวัดหนึ่งในภาคอีสาน ไม่ใช่จังหวัดเสื้อแดงแจ๋อย่างอุดรธานีหรือขอนแก่น เขตเลือกตั้งนี้เป็นเขตเลือกตั้งในชนบท เป็นพื้นที่ซึ่งพรรคเพื่อไทยมีฐานเสียงอยู่่พอสมควร แต่ไม่เด็ดขาด ด้วยความไว้เนื้อเชื่อใจอันเนื่องมาจากโยงใยที่ใกล้ชิดกับผู้ที่แนะนำให้ผมติดต่อไปสัมภาษณ์ ผู้สมัคร สส. คนนี้เล่าวิธีการซื้อเสียงของเขาให้ผมฟังโดยละเอียด
ยุกติ มุกดาวิจิตร
 ข้อเสนอว่าด้วยการปฏิวัติประชาชนของอาจารย์ธีรยุทธไม่ได้วางอยู่บนข้อเท็จจริงของสังคมไทยปัจจุบัน การปฏิวัติประชาชนตามข้ออ้างจากประวัติศาสตร์ประเทศต่างๆ ของอาจารย์ ล้วนแสดงให้เห็นถึงการปฏิวัติของประชาชนเพื่อโค่นล้มผู้กุมอำนาจรัฐที่ไม่ชอบธรรมเพราะผูกขาดอำนาจเป็นของตนเอง ตลอดจนเป็นการโค่นอำนาจรัฐที่ไม่เหมาะสมกับยุคสมัยที่ประชาชนเป็นใหญ่มากขึ้น หากแต่เราจะถือว่า “มวลมหาประชาชน” หนึ่งล้านห้าแสนคน หรือต่อให้สองล้านคนในมวลชนนกหวีดเป็น “ประชาชน” ในความหมายนั้นได้หรือไม่ 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
อาจารย์ชัยวัฒน์ครับ ผมยินดีที่อาจารย์ออกมาแสดงความเห็นในสถานการณ์ล่อแหลมเช่นนี้ นี่ย่อมต้องเป็นสถานการณ์ที่สำคัญอย่างยิ่งยวดจริงๆ ไม่เช่นนั้นอาจารย์ก็จะไม่แสดงความเห็นอย่างแน่นอน ดังเช่นเมื่อปี 2553 เหตุการณ์การสลายการชุมนุมที่มีผู้เสียชีวิต 90 กว่าคน บาดเจ็บเกือบ 2,000 คน อาจารย์ก็ยังเงียบงันจนผมสงสัยและได้เคยตั้งคำถามอาจารย์ไปแล้วว่า "นักสันติวิธีหายไปไหนในภาวะสงคราม"