Skip to main content

 

ผมนั่งดูบันทึกรายการ The Voice Thailand (เดอะวอยซ์) เป็นประจำ แม้ว่าจะเห็นคล้อยตามคำนิยมของโค้ชทั้ง 4 อยู่บ่อยๆ แถมยังแอบติดตามความเห็นเปรี้ยวๆ ของนักเขียนบางคนที่ชอบเรียกตนเองสวนทางกับวัยเธอว่า "ป้า" ซึ่งหมดเงินกดโหวตมากมายให้นักร้องหนุ่มน้อยแนวลูกทุ่ง แต่ผมไม่ได้รับความบันเทิงจากเดอะวอยซ์เพียงจากเสียงเพลง

 
พร้อมๆ กับความสนุกสนานจากเสียงเพลงและลุ้นว่าผู้เข้าประกวดที่ชอบจะเข้ารอบหรือไม่ ผมยังพยามยามทำความเข้าใจการฟังเพลง หรือจะเรียกให้เจาะจงกว่านั้นคือ การสร้างความหมายให้กับการแสดงและการร้องเพลงของคนชั้นกลางชาวกรุงปัจจุบัน เท่าที่ดูมา ผมอดคิดสงสัยไม่ได้ว่าความบันเทิงแบบเดอะวอยซ์เป็นอย่างไรกันแน่
 
เห็นได้ชัดว่า แม้เดอะวอยซ์จะพยายามชูเรื่องการใช้เสียง และผู้เข้าแข่งขันหลายต่อหลายคนก็จะพูดย้ำซ้ำซากว่า "เดอะวอยซ์เขาไม่ดูที่หน้าตา เขาวัดกันที่เสียง" แต่รายการนี้ยึดมั่นหลักนั้นจริงๆ หรือ ยึดมั่นแค่ไหน หรือถึงที่สุดแล้ว ลำพัง "เสียง" จะใช้เป็นเกณฑ์กำหนดความสามารถในการให้ความบันเทิงจากการร้องเพลงได้จริงๆ หรือ
 
เช่นว่า เอาเข้าจริงผู้เข้าแข่งขันหลายคนที่เข้ารอบเป็นผู้หญิงสวย หรือถ้าไม่สวยก็เป็นผู้หญิงที่มีเสน่ห์ หรือไม่ก็ "ผู้หญิง" ในร่างชายที่มีเสน่ห์ แม้รายการจะชวนให้เชื่อว่า โค้ชทั้งสี่ไม่มีส่วนในการเลือกผู้แข่งขันจากหน้าตา แต่เราจะรู้ได้อย่างไรว่ากรรมการในรอบออดิชั่นไม่ได้เลือกผู้สมัครจากหน้าตาด้วย ทำไมสัดส่วนผู้เข้าแข่งขันที่หน้าตาดี รูปร่างสมส่วนแบบที่นิยมกันในปัจจุบัน จึงได้รับคัดเลือกเข้ามามาก อย่างน้อยก็ในรอบออดิชั่น
 
แต่เมื่อผ่านเข้ามารอบลึกๆ ดูเหมือนเดอะวอยซ์พยายามยืนยันการคัดเลือกจากเสียง ไม่ใช่ที่หน้าตามากขึ้น มากเสียจนผมเผลอคิดไปว่า เดอะวอยซ์กลายเป็นสมาคมสังคมสงเคราะห์ของวงการดนตรีไปเสียแล้ว เพราะคนที่มีอัตลักษณ์แบบ "เด็กใสซื่อ" "ชาวลูกทุ่ง" "ชาวเพศทางเลือก" "คนไม่สวย" "คนหน้าใหม่ในวงการ" ดูจะมาแรงกว่ามาตรฐานของวงการบันเทิงปกติ กระทั้งไม่แน่ใจว่า ตกลงเกณฑ์เรื่องเสียงหรือเกณฑ์เรื่อง "การให้โอกาส" กันแน่ที่สำคัญ ข้อนี้ทำให้เดอะวอยซ์ไทยแลนด์แทบจะกลายเป็นธุรกิจขายความเอื้ออาทรไปเลยทีเดียว
 
ยิ่งหากลงรายละเอียดในรายของชาวลูกทุ่ง ความเป็นลูกทุ่งในรายการเดอะวอยซ์เหมือนการกินอาหารฟิวชั่นของคนกรุง คือจะเป็นปลาร้าหลนแท้ก็ไม่ใช่ แต่เป็นปลาร้าฟิวชั่นที่จัดใส่จานปรุงแสงสีตกแต่งหน้าตา เสียจนกลายเป็นปลาร้าเสิร์ฟในโรงละครบรอดเวย์ ไม่ใช่ลูกทุ่งแบบที่คอลูกทุ่งเขาจะชอบกัน เราเห็นความไม่เข้าใจลูกทุ่งตั้งแต่การที่โค้ชแต่ละคนไม่ใช้ถ้อยคำประเภท "ลูกทุ่ง-สตริง" ที่ชาวลูกทุ่งใช้ ไปจนถึงความไม่สามารถในการแนะนำแนวการเปล่งเสียง สำเนียงของลูกทุ่งให้เด่นชัดขึ้น แถมโค้ชบางคนยังพยายามแนะให้นักร้องลูกทุ่งพยายามตัดลูกคอลูกทุ่งออกไปเสียอีก
 
ผมไม่ได้จะมาปกป้องความเป็นลูกทุ่งแท้อะไรหรอก เพราะที่จริงถ้าจะพูดกันให้สุดทางไป อย่าว่าแต่ลูกทุ่งสมัยนี้ที่พยายามจะเอาลูกคอและน้ำเสียง "สตริง" ไปผสม และพวกร็อคแนวๆ ที่นำแนวทางของลูกทุ่งไปดัดแปลงแล้ว ลูกทุ่งที่มีอยู่แต่เดิมมันก็ "ไม่ลูกทุ่ง" พออยู่แล้ว เนื่องจากมันเพี้ยนจากของเดิมของมันคือความเป็นพื้นบ้านมาไกลจนขายได้ แต่เรื่องนั้นเป็นเรื่องใหญ่อีกเรื่องที่ต้องยกไว้ก่อน เพียงแต่ในกรณีเดอะวอยซ์ โค้ชเองก็ยอมรับว่าไม่มีความสามารถในการโค้ชลูกทุ่ง และจึงไม่สามารถเข้าใจลูกทุ่งแบบที่ลูกทุ่งเข้าใจกันเอง ลูกทุ่งที่เข้ารอบจึงไม่ได้มาจากเกณฑ์ของเสียงดีแบบลูกทุ่ง เท่ากับว่าเสียงดีในหูแบบชาวกรุง 
 
ถึงที่สุดแล้ว เห็นได้ชัดว่าลำพัง "เสียงร้อง" ไม่ใช่ทั้งหมดของความบันเทิงจากการร้องเพลง แต่ยังมี พื้นผิวของน้ำเสียง ตัวบทเพลงที่เหมาะกับผู้แสดง ประสบการณ์ชีวิตผู้แสดงที่มีส่วนดัดแปลงหรือส่งผ่านความหมายของบทเพลง การแสดงออกบนเวที (เช่นที่โค้ชบางคนบอกว่า นักร้องคนนี้เสียงดีอยู่แล้ว แต่เขากังวลเรื่องการเต้นมากกว่า) ตลอดจนเงื่อนไขเฉพาะเจาะจงและควบคุมไม่ได้คือ "ผู้ชม"  (ทั้งที่โหวตมา และผู้ชมในจินตนาการของโค้ชคนหนึ่ง ที่บอกว่าเธอเลือกนักร้องคนนี้เพราะคนไทยชอบแบบนี้)

แน่นอนว่าทุกคนเสียงดี แต่หากพวกเขาดีที่เสียงอย่างเดียว ก็ไม่เพียงพอสำหรับ "ความบันเทิงแบบชาวกรุงไทยสมัยนี้" ความสวย การแสดง ตลอดจนคุณค่าของสังคมร่วมสมัยที่พยายามเน้นอัตลักษณ์ที่หลากหลาย ล้วนมีส่วนกำหนดความบันเทิงแบบเดอะวอยซ์ไทยแลนด์

 

บล็อกของ ยุกติ มุกดาวิจิตร

ยุกติ มุกดาวิจิตร
นี่เป็นข้อเขียนภาคทฤษฎีของ "การเมืองของนักศึกษาปัจจุบัน" หากใครไม่ชอบอ่านทฤษฎีก็ขอร้องโปรดมองข้ามไปเถอะครับ
ยุกติ มุกดาวิจิตร
จริงหรือที่นักศึกษาไม่สนใจการเมือง ขบวนการนักศึกษาตายแล้วจริงหรือ ถ้าคุณไม่เข้าใจว่าการถกเถียงเรื่องเครื่องแบบ เรื่องทรงผม เรื่องห้องเรียน เป็นเรื่องการเมืองได้อย่างไร แล้วดูแคลนว่ามันเป็นเพียงเรื่องเสรีภาพส่วนตัว เรื่องเรียกร้องเสรีภาพอย่างเกินเลยแล้วล่ะก็ คุณตกขบวนการเมืองของยุคสมัยไปแล้วล่ะ
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ในวาระที่กำลังจะมีการสรรหาอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในฐานะบุคคลากรของมหาวิทยาลัยแห่งนี้ผู้หนึ่ง ผมขอเสนอ 5 เรื่องเร่งด่วนที่อธิการบดีคนต่อไปควรเร่งพิจารณา เพื่ิอกอบกู้ให้มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์กลับมาเป็นดินแดนแห่งเสรีภาพ เป็นบ่อน้ำบำบัดผู้กระหายความรู้ และเป็นสถาบันที่เคียงข้างประชาชนต่อไป
ยุกติ มุกดาวิจิตร
บันทึกประกอบการพูดเรื่อง "การศึกษาไทย" เมื่อสัปดาห์ก่อน ผมเสนอว่าเรากำลังต่อสู้กับสามลัทธิคือ ลัทธิบูชาชาติ-ศาสน์-กษัตริย์ ลัทธิล่าปริญญา และลัทธิแบบฟอร์ม
ยุกติ มุกดาวิจิตร
"การศึกษาไทยไทย: ความสำเร็จหรือความล้มเหลว" เป็นโจทย์ที่นักกิจกรรมทางสังคมรุ่นใหม่ตั้งขึ้นอย่างท้าทาย พวกเขาท้าทายทั้งระบบการเรียนการสอน วัฒนธรรมการศึกษา เนื้อหาในหลักสูตร และระบบสังคมในสถานศึกษา
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ในฐานะที่ร่วมก่อตั้งและร่วมงานกับ "ศูนย์ข้อมูลประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์เมษา-พฤษภา 53" (ศปช.) ผมอดไม่ได้ที่จะเปรียบเทียบสปิริตของการทำงานของ ศปช. กับของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ว่ามองหลักสิทธิมนุษยชนต่างกันอย่างไร อย่างไรก็ดี นี่เป็นทัศนะและหลักการของผมเองในการร่วมงานกับ ศปช. ซึ่งอาจแตกต่างจากสมาชิกคนอื่นบ้าง 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
คำตัดสินของศาลอาญาในกรณี 6 ศพวัดประทุมฯ ชวนให้นึกถึงภาพถ่ายเช้าวันที่ 6 ตุลาคม 2519 ที่ใต้ต้นมะขามต้นหนึ่งที่สนามหลวง นอกจากภาพชายคนที่ใช้เก้าอี้ตีศพที่ถูกแขวนคอใต้ต้นมะขามแล้ว ภาพผู้คนที่รายล้อมต้นมะขามซึ่งแสดงอาการเห็นดีเห็นงามหรือกระทั่งสนับสนุนอยู่นั้น สะเทือนขวัญชาวโลกไม่น้อยกว่าภาพชายใช้เก้าอี้ทำร้ายศพ 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ผมเคยนั่งในพิธีรับปริญญาบัตรในฐานะผู้รับและในมุมมองของผู้ให้มาแล้ว แต่ไม่เคยได้นั่งในพิธีในฐานะผู้สังเกตการณ์จากบนเวทีแบบเมื่อครั้งที่ผ่านมานี้มาก่อน
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ปฐมลิขิต: ใครรังเกียจทฤษฎี เกลียดงานเขียนแบบหอคอยงาช้าง ไม่ต้องพลิกอ่านก็ได้นะครับ และเวลาผมใส่วงเล็บภาษาอังกฤษหรืออ้างนักคิดต่างๆ นี่ ไม่ได้จะโอ่ให้ดูขลังนะครับ แต่เพื่อให้เชื่อมกับโลกวิชาการสากลได้ ให้ใครสนใจสืบค้นอ่านต่อได้
ยุกติ มุกดาวิจิตร
จะว่าไป กสทช. คนที่แสดงความเห็นต่อเนื้อหาละครฮอร์โมนนั้น ดูน่าจะเป็นคนที่สามารถวิเคราะห์ เข้าใจสังคมได้มากที่สุดในบรรดา กสทช. ทั้ง 11 คน เพราะเขามีดีกรีถึงปริญญาเอกทางสังคมวิทยาจากมหาวิทยาลัยโด่งดังในเยอรมนี ต่างจากคนอื่นๆ ที่ถ้าไม่ใช่เพราะเป็นทหารหรือใครที่สมยอมกับการรัฐประหารปี 2549 แล้ว ก็เป็นช่างเทคนิคทางด้านการสื่อสาร
ยุกติ มุกดาวิจิตร
อาจารย์ผู้หญิงท่านหนึ่งตั้งคำถามว่า "ไม่รู้อาจารย์ผู้ชายทนสอนหนังสือต่อหน้านักศึกษานุ่งสั้นที่นั่งเปิดหวอหน้าห้องเรียนได้อย่างไร" สำหรับผม ก็แค่เห็นนักศึกษาเป็นลูกเป็นหลานก็เท่านั้น แต่สิ่งยั่วยวนในโลกทางวิชาการมีมากกว่านั้นเยอะ และบางทีจะยิ่งหลบเลี่ยงยากยิ่งกว่าการสร้าง incest taboo ในจินตนาการขึ้นมาหน้าห้องเรียน
ยุกติ มุกดาวิจิตร
นักเรียนมนุษยศาสตร์จำนวนมากสนใจวิธีการและทฤษฎีทางสังคมศาสตร์ แต่นักสังคมศาสตร์เขาตั้งท่าทำวิจัยกันอย่างไร แล้วหากนักมนุษยศาสตร์จะใช้วิธีการและทฤษฎีแบบสังคมศาสตร์บ้างจะทำอย่างไร