Skip to main content

 

ผมนั่งดูบันทึกรายการ The Voice Thailand (เดอะวอยซ์) เป็นประจำ แม้ว่าจะเห็นคล้อยตามคำนิยมของโค้ชทั้ง 4 อยู่บ่อยๆ แถมยังแอบติดตามความเห็นเปรี้ยวๆ ของนักเขียนบางคนที่ชอบเรียกตนเองสวนทางกับวัยเธอว่า "ป้า" ซึ่งหมดเงินกดโหวตมากมายให้นักร้องหนุ่มน้อยแนวลูกทุ่ง แต่ผมไม่ได้รับความบันเทิงจากเดอะวอยซ์เพียงจากเสียงเพลง

 
พร้อมๆ กับความสนุกสนานจากเสียงเพลงและลุ้นว่าผู้เข้าประกวดที่ชอบจะเข้ารอบหรือไม่ ผมยังพยามยามทำความเข้าใจการฟังเพลง หรือจะเรียกให้เจาะจงกว่านั้นคือ การสร้างความหมายให้กับการแสดงและการร้องเพลงของคนชั้นกลางชาวกรุงปัจจุบัน เท่าที่ดูมา ผมอดคิดสงสัยไม่ได้ว่าความบันเทิงแบบเดอะวอยซ์เป็นอย่างไรกันแน่
 
เห็นได้ชัดว่า แม้เดอะวอยซ์จะพยายามชูเรื่องการใช้เสียง และผู้เข้าแข่งขันหลายต่อหลายคนก็จะพูดย้ำซ้ำซากว่า "เดอะวอยซ์เขาไม่ดูที่หน้าตา เขาวัดกันที่เสียง" แต่รายการนี้ยึดมั่นหลักนั้นจริงๆ หรือ ยึดมั่นแค่ไหน หรือถึงที่สุดแล้ว ลำพัง "เสียง" จะใช้เป็นเกณฑ์กำหนดความสามารถในการให้ความบันเทิงจากการร้องเพลงได้จริงๆ หรือ
 
เช่นว่า เอาเข้าจริงผู้เข้าแข่งขันหลายคนที่เข้ารอบเป็นผู้หญิงสวย หรือถ้าไม่สวยก็เป็นผู้หญิงที่มีเสน่ห์ หรือไม่ก็ "ผู้หญิง" ในร่างชายที่มีเสน่ห์ แม้รายการจะชวนให้เชื่อว่า โค้ชทั้งสี่ไม่มีส่วนในการเลือกผู้แข่งขันจากหน้าตา แต่เราจะรู้ได้อย่างไรว่ากรรมการในรอบออดิชั่นไม่ได้เลือกผู้สมัครจากหน้าตาด้วย ทำไมสัดส่วนผู้เข้าแข่งขันที่หน้าตาดี รูปร่างสมส่วนแบบที่นิยมกันในปัจจุบัน จึงได้รับคัดเลือกเข้ามามาก อย่างน้อยก็ในรอบออดิชั่น
 
แต่เมื่อผ่านเข้ามารอบลึกๆ ดูเหมือนเดอะวอยซ์พยายามยืนยันการคัดเลือกจากเสียง ไม่ใช่ที่หน้าตามากขึ้น มากเสียจนผมเผลอคิดไปว่า เดอะวอยซ์กลายเป็นสมาคมสังคมสงเคราะห์ของวงการดนตรีไปเสียแล้ว เพราะคนที่มีอัตลักษณ์แบบ "เด็กใสซื่อ" "ชาวลูกทุ่ง" "ชาวเพศทางเลือก" "คนไม่สวย" "คนหน้าใหม่ในวงการ" ดูจะมาแรงกว่ามาตรฐานของวงการบันเทิงปกติ กระทั้งไม่แน่ใจว่า ตกลงเกณฑ์เรื่องเสียงหรือเกณฑ์เรื่อง "การให้โอกาส" กันแน่ที่สำคัญ ข้อนี้ทำให้เดอะวอยซ์ไทยแลนด์แทบจะกลายเป็นธุรกิจขายความเอื้ออาทรไปเลยทีเดียว
 
ยิ่งหากลงรายละเอียดในรายของชาวลูกทุ่ง ความเป็นลูกทุ่งในรายการเดอะวอยซ์เหมือนการกินอาหารฟิวชั่นของคนกรุง คือจะเป็นปลาร้าหลนแท้ก็ไม่ใช่ แต่เป็นปลาร้าฟิวชั่นที่จัดใส่จานปรุงแสงสีตกแต่งหน้าตา เสียจนกลายเป็นปลาร้าเสิร์ฟในโรงละครบรอดเวย์ ไม่ใช่ลูกทุ่งแบบที่คอลูกทุ่งเขาจะชอบกัน เราเห็นความไม่เข้าใจลูกทุ่งตั้งแต่การที่โค้ชแต่ละคนไม่ใช้ถ้อยคำประเภท "ลูกทุ่ง-สตริง" ที่ชาวลูกทุ่งใช้ ไปจนถึงความไม่สามารถในการแนะนำแนวการเปล่งเสียง สำเนียงของลูกทุ่งให้เด่นชัดขึ้น แถมโค้ชบางคนยังพยายามแนะให้นักร้องลูกทุ่งพยายามตัดลูกคอลูกทุ่งออกไปเสียอีก
 
ผมไม่ได้จะมาปกป้องความเป็นลูกทุ่งแท้อะไรหรอก เพราะที่จริงถ้าจะพูดกันให้สุดทางไป อย่าว่าแต่ลูกทุ่งสมัยนี้ที่พยายามจะเอาลูกคอและน้ำเสียง "สตริง" ไปผสม และพวกร็อคแนวๆ ที่นำแนวทางของลูกทุ่งไปดัดแปลงแล้ว ลูกทุ่งที่มีอยู่แต่เดิมมันก็ "ไม่ลูกทุ่ง" พออยู่แล้ว เนื่องจากมันเพี้ยนจากของเดิมของมันคือความเป็นพื้นบ้านมาไกลจนขายได้ แต่เรื่องนั้นเป็นเรื่องใหญ่อีกเรื่องที่ต้องยกไว้ก่อน เพียงแต่ในกรณีเดอะวอยซ์ โค้ชเองก็ยอมรับว่าไม่มีความสามารถในการโค้ชลูกทุ่ง และจึงไม่สามารถเข้าใจลูกทุ่งแบบที่ลูกทุ่งเข้าใจกันเอง ลูกทุ่งที่เข้ารอบจึงไม่ได้มาจากเกณฑ์ของเสียงดีแบบลูกทุ่ง เท่ากับว่าเสียงดีในหูแบบชาวกรุง 
 
ถึงที่สุดแล้ว เห็นได้ชัดว่าลำพัง "เสียงร้อง" ไม่ใช่ทั้งหมดของความบันเทิงจากการร้องเพลง แต่ยังมี พื้นผิวของน้ำเสียง ตัวบทเพลงที่เหมาะกับผู้แสดง ประสบการณ์ชีวิตผู้แสดงที่มีส่วนดัดแปลงหรือส่งผ่านความหมายของบทเพลง การแสดงออกบนเวที (เช่นที่โค้ชบางคนบอกว่า นักร้องคนนี้เสียงดีอยู่แล้ว แต่เขากังวลเรื่องการเต้นมากกว่า) ตลอดจนเงื่อนไขเฉพาะเจาะจงและควบคุมไม่ได้คือ "ผู้ชม"  (ทั้งที่โหวตมา และผู้ชมในจินตนาการของโค้ชคนหนึ่ง ที่บอกว่าเธอเลือกนักร้องคนนี้เพราะคนไทยชอบแบบนี้)

แน่นอนว่าทุกคนเสียงดี แต่หากพวกเขาดีที่เสียงอย่างเดียว ก็ไม่เพียงพอสำหรับ "ความบันเทิงแบบชาวกรุงไทยสมัยนี้" ความสวย การแสดง ตลอดจนคุณค่าของสังคมร่วมสมัยที่พยายามเน้นอัตลักษณ์ที่หลากหลาย ล้วนมีส่วนกำหนดความบันเทิงแบบเดอะวอยซ์ไทยแลนด์

 

บล็อกของ ยุกติ มุกดาวิจิตร

ยุกติ มุกดาวิจิตร
ผมเลี่ยงที่จะอ่านข่าวเกี่ยวกับมติครม.งดเหล้าเข้าพรรษาเพราะไม่อยากหงุดหงิดเสียอารมณ์ ไม่อยากมีความเห็น และไม่อยากต้องโดนด่าหลังแสดงความเห็น
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อต้องกลับมาชวนคนอ่านงานของบรมครูทาง "วัฒนธรรมศึกษา" คนหนึ่ง ที่ผมไม่ได้เชี่ยวชาญอะไรนัก 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ไปแม่ฮ่องสอนสามวัน ค้างสองคืน เพื่อร่วมงาน "ไทใหญ่ศึกษา" ทั้งๆ ที่ไม่เคยไปมาก่อน ไม่รู้จักวัฒนธรรมไทใหญ่มาก่อน พอจะรู้จากการอ่านงานเรื่อง "ฉาน" เรื่องรัฐไทใหญ่ เรื่องประวัติศาสตร์บ้างนิดหน่อย จึงมิอาจให้ความเห็นใดๆ กับอาหารไทใหญ่ได้ ทำได้แค่เพียงบอกเล่า "ความประทับใจแรกเริ่ม" ในแบบที่นักชาติพันธ์ุนิพนธ์ทั่วไปมักทำกัน
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ไม่รู้เป็นอะไรกันนักหนากับเครื่องแต่งกายนักศึกษา จะต้องมีการประจาน จะต้องมีการให้คุณค่าบวก-ลบ จะต้องถือเป็นเรื่องจริงจังกันจนบางคณะถึงกับต้องนำเรื่องนี้เข้ามาเป็นวาระ "เพื่อพิจารณา" ในที่ประชุมคณาจารย์
ยุกติ มุกดาวิจิตร
อาจารย์ชาญวิทย์เกิดวันที่ 6 พฤษภาคม วันที่ 22 มิถุนายนนี้ ลูกศิษย์ลูกหาจัดงานครบรอบ 72 ปีให้อาจารย์ที่คณะศิลปศาสตร์ ธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อวานนี้ (12 มิถุนายน 2556) อาจารย์ที่คณะท่านหนึ่งเชิญไปบรรยายในวิชา "มนุษย์กับสังคม" หัวข้อ "สังคมศาสตร์กับความเข้าใจผู้คนและสังคม" ให้นักศึกษาปริญญาตรีชั้นปี 1 ในห้องเรียนมีนักศึกษาราว
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ข้อเขียนนี้ถูกเผยแพร่ในอีกพื้นที่หนึ่งไปเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว เนื่องจากเห็นว่าเข้ากับโอกาสของการเปิดภาคการศึกษาของมหาวิทยาลัย จึงขอนำมาเสนออีกครั้งในที่นี้
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ทั้งๆ ที่ประเทศไทยมีกลุ่มชาติพันธ์ุอยู่หลากหลายกลุ่ม พวกเขาอาศัยอยู่ในพื้นที่ยุทธศาสตร์ที่สำคัญ และร่วมสร้างสังคม สร้างประวัติศาสตร์โบราณและสมัยใหม่อย่างขาดไม่ได้ แต่ประเทศไทยก็ไม่เคยมีนโยบายกลุ่มชาติพันธ์ุมาก่อน (ยาวนะครับ ถ้ายังอยู่ในโลก 8 บรรทัดโปรดอย่าอ่าน)
ยุกติ มุกดาวิจิตร
 มีคนบ่นว่า "ผ่านมาสามปีแล้ว ทำไมคนเสื้อแดงยังไปรวมตัวกันที่ราชประสงค์กันอีก นี่พวกเขาจะต้องระลึกถึงเหตุการณ์นี้กันไปจนถึงเมื่อไหร่" แล้วลงท้ายว่า "รถติดจะตายอยู่แล้ว ห้างต้องปิดกันหมด ขาดรายได้ นักท่องเที่ยวเดือดร้อน" นั่นสิ น่าคิดว่าทำไมการบาดเจ็บและความตายที่ราชประสงค์เมื่อพฤษภาคม 2553 มีความหมายมากกว่าโศกนาฏกรรมทางการเมืองครั้งที่ผ่านมาก่อนหน้านี้
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เรียน ศาสตราจารย์ ดร. อมรา พงศาพิชญ์ ประธานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เห็นนักคิดไทยสองคนออกมาเทศนาแล้วอดสงสัยไม่ได้ว่า "ทำไมนักคิดไทย พอแก่ตัวลงต้องไปจนแต้มที่วิธีคิดแบบพุทธๆ"