Skip to main content

 

เมื่ออ่านข่าวแอร์โฮสเตสที่เพิ่งถูกให้ออก ผมมีคำถามหลายข้อ ทั้งในมิติของโซเชียลมีเดีย hate speech และสิทธิแรงงาน อย่างไรก็ดี ขอเคลียร์ก่อนว่าหากใครทราบจุดยืนทางการเมืองของผม ย่อมเข้าใจดีว่าความเห็นต่อไปนี้ไม่ได้มาจากความเห็นทางการเมืองที่เอนเอียงไปในทางเดียวกับพนักงานสายการบินคนนี้แต่อย่างใด ข้อสังเกตคือ

 

1) ในมิติของโซเชียลมีเดีย เฟซบุกซึ่งมีสถานะเสมือนพื้นที่ส่วนตัวนั้น ได้กลับกลายเป็นกระแสสังคมขึ้นมาจนเจ้าตัวเองไม่สามารถควบคุมได้ ผลคือ เจ้าของคำพูด เจ้าของข้อความ กลับกลายมาต้องตกที่นั่งของการปรากฏตัวต่อสาธารณะ โดยที่ตนเองอาจจะไม่ได้ตั้งใจ พรมแดนที่ก้าวข้ามไปมาระหว่างพื้นที่ส่วนตัวกับพื้นที่สาธารณะในโซเชียลมีเดียในกรณีนี้ น่าจะเป็นอุทาหรณ์ให้ใครก็ตามที่อาศัยอยู่ในพื้นที่นี้ ว่าควรระวังคำพูดคำจาให้มากขนาดไหน

 

สำหรับกรณีนี้ ผมคิดว่ามันไม่ยุติธรรมเลยที่คำพูดในกลุ่ม “เพื่อน” ซึ่งแม้ว่าจะถูกระบุให้เป็น “public” กลับกลายไปเป็นคำพูด “สาธารณะ” ในพื้นที่ “นอกกลุ่มเพื่อน” ด้วยเช่นกัน ผมคิดว่าเฟซบุกกำลังกลายเป็นเวทีของการลุกล้ำอาณาบริเวณส่วนตัวมากยิ่งขึ้นทุกขณะ เนื่องจากเจ้าของคำพูดเองอาจไม่ได้ต้องการให้สถานะความเป็น “public” มีความเป็นสาธารณะในระดับกว้างขนาดนั้น 

 

ความเป็นสาธารณะในขอบเขตของกลุ่มเพื่อนในเฟซบุกจึงเป็นสิ่งที่ควบคุมไม่ได้ ปัญหานี้ไม่ได้เกิดขึ้นกับกรณีแอร์โฮสเตสคนนี้เท่านั้น แต่ผมเชื่อว่ามันได้เคยเกิดขึ้นกับใครต่อใครหลายคนที่เล่นเฟซบุกมาแล้ว เพราะความเป็นเพื่อนและความสาธารณะมันไม่ได้ถูกจำกัดพื้นที่ชัดเจนนั่นเอง

 

2) ในมิติของคำพูดที่สร้างความเกลียดชัง แน่นอนว่าความเห็นของแอร์โฮสเตสคนนี้เป็นความเห็นที่ใช้ไม่ได้ แน่นอนว่าเราอาจวิจารณ์กันไปได้ในฐานะที่มันเป็นประเด็นทางสังคม แต่พิษภัยของคำกล่าวนั้นควรนำไปสู่โทษทัณฑ์สถานใด เราจะถือว่ากรณีนี้เป็น hate speech ได้หรือไม่ จากคำพูดซึ่งมาจากอคติทางการเมือง และเป็นคำพูดที่อาจกระตุ้นให้เกิดความรุนแรง ถ้าอย่างนี้ก็น่าจะเข้าข่าย hate speech

 

หากจะถือว่าเป็นดังนั้น ผมก็เห็นว่าในความขัดแย้งทางการเมืองที่ผ่านมา เรามี hate speech เต็มไปหมด มีหลากหลายรูปแบบ ทั้งที่รุนแรงมาก และที่กระตุ้นให้เกิดความรุนแรงได้อย่างแท้จริง (คำพูดประเภท “ล้มเจ้า” “คุณเอาเจ้าหรือไม่”) และกระทบต่อคนบางกลุ่มอย่างรุนแรงมากกว่าคนบางกลุ่ม (เช่นการที่ “ผังล้มเจ้า” มีส่วนในการใส่ร้ายทางการเมือง และนำไปสู่ความเกลียดชัง กระทั่งถูกเชื่อมโยงกับการชุมนุมของคนเสื้อแดงที่ถูกล้อม ปราบอย่างทารุณ นี่น่าจะถือว่าฟังล้มเจ้าเป็น hate speech ที่มีส่วนให้เกิดการสังหารโหดกลางกรุง) 

 

แต่กระนั้นก็ตาม หากผู้สร้าง hate speech เหล่านั้นจะถูกโทษทัณฑ์ เขาควรจะได้รับโทษทัณฑ์ในฐานะอะไร ในฐานะผู้ที่ทำลายชื่อเสียงองค์กรที่เขาสังกัดอยู่ ในฐานะทำลายชื่อเสียงของประเทศชาติ หรือในฐานะพลเมืองที่สร้างความเกลียดชังแก่กันในสังคมจนเป็นเหตุให้คนใช้ความรุนแรงทำร้ายกันได้ หากจะลงทัณฑ์กันหรือหาความรับผิดชอบ ควรจะเป็นแบบใด ก็ควรจะเป็นความรับผิดชอบในประการหลังไม่ใช่หรือ เพราะถือว่าเป็นคำพูดที่กระตุ้นให้เกิดความเกลียดชังในสังคม เป็นความผิดต่อสังคมโดยรวม ไม่ใช่โดยกลุ่มบุคคลหนึ่งใด

 

แต่ที่แย่คือ แอร์ฯ คนนี้ กลับถูกลงโทษในลักษณะทำนองที่ว่า เธอก่อความเสียหายให้บริษัท เธอทำลายชื่อเสียงบริษัท ความผิดของเธอจึงไม่ใช่ความผิดต่อสังคม แต่กลายเป็นความผิดต่อบริษัท

 

3) ในแง่สิทธิแรงงาน กรณีนี้จะนับว่าบริษัทลงโทษเกินกว่าเหตุได้หรือไม่ บริษัทต้องการปกป้องตนเอง หรือต้องการแสดงความรับผิดชอบต่อสังคมกันแน่ บริษัทอาศัยกฎที่ว่า “ข้อมูลของผู้โดยสารจะต้องได้รับการปกปิด” แต่หากพนักงานเพียงกล่าวในเฟซบุกตนเองด้วยทัศนคติไปในอีกทางหนึ่ง เช่นว่า “วันนี้ดีใจมากเลย ได้บริการคุณน้องกุ๊บกิ๊บ อภิชาติบุตรีของท่านนายก...ที่อยู่ในดวงใจฉันตลอดกาล” พนักงานคนนี้ก็อาจจะไม่ต้องถูกให้ออก แต่เป็นเพราะข้อความที่พนักงานคนนี้กล่าวถูกนำไปวิพากษ์วิจารณ์ไปในทางลบมากกว่าหรือไม่ ที่ทำให้พนักงานคนนี้ต้องออกจากงาน

 

หากเกิดกรณีทำนองเดียวกันนี้อีก ที่แม้ว่าอาจจะไม่ได้ก่อความเสียหายแก่สังคมอย่างชัดเจน แต่หากคำพูดของพนักงานคนใดทำลายชื่อเสียงของบริษัท แล้วกลับกลายเป็นว่าพนักงานผู้นั้นจะต้องถูกให้ออก สิ่งน้ีจะกลายเป็นบรรทัดฐานไปในอนาคตหรือไม่ กรณีทำนองนี้เคยเกิดขึ้นกับพนักงานบริษัทชุดชั้นในแห่งหนึ่ง ที่ถูกเลิกจ้างเนื่องจากแสดงความเห็นทางการเมืองในทิศทางที่สังคมไม่ส่วนหนึ่งไม่เห็นด้วย แต่กลายเป็นว่า บริษัทเห็นว่าความเห็นนั้้นมีผลเสียต่อบริษัท ทั้งๆ ที่บริษัทไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการแสดงความเห็นนั้น ไม่มีส่วนต้องรับผิดชอบต่อความเห็นนั้น 

 

คำถามคือ ยุติธรรมหรือไม่ที่พนักงานจะต้องถูกให้ออกด้วยเหตุที่เขาหรือเธอแสดงความเห็นที่ขัดต่อความรู้สึกของสังคม และหากใช้มาตรฐานเดียวกันนี้ ในอนาคตอันใกล้ คงจะมีพนักงานบริษัทอีกมากมาย หรือพนักงานมหาวิทยาลัยจำนวนมาก ถูกเลิกจ้างอันเนื่องมาจากแสดงความเห็นขัดต่อความรู้สึกของกระแสมวลชน

 

ถึงที่สุดแล้ว ผมว่ากรณีนี้ทำให้สังคมโซเชียลมีเดียน่าจะต้องไตร่ตรองถึงการนำข้อมูล “ส่วนตัว” ออกมาเปิดเผย สื่อมวลชนที่นำข่าวสารจากโซเชียลมีเดียมาขยายผล ก็น่าจะต้องใคร่ครวญขอบเขตของการคัดกรองข่าว “ส่วนตัว” เพื่อการนำเสนอสู่ “สาธารณะ”

 

ประเด็นที่กว้างกว่านั้นคือ หากเราจะหาคนรับผิดชอบต่อการสร้างความจงเกลียดจงชังอย่างต่อเนื่องขึ้นมาในสังคมนี้ไม่ได้ ปัจเจกชนก็คงต้องพิจารณาเองให้ดีว่า ความแตกต่างทางการเมืองไม่ว่าจะในนามของความจงเกลียดหรือจงรักใคร ก็ไม่ควรต้องผลักดันกันจนสุดกู่ จนอาจนำไปสู่การมุ่งร้ายแก่กัน หรือกระตุ้นให้เกิดการสังหารโหดกลางกรุงอย่างที่ผ่านๆ  มาอีก

 

บล็อกของ ยุกติ มุกดาวิจิตร

ยุกติ มุกดาวิจิตร
ผมเลี่ยงที่จะอ่านข่าวเกี่ยวกับมติครม.งดเหล้าเข้าพรรษาเพราะไม่อยากหงุดหงิดเสียอารมณ์ ไม่อยากมีความเห็น และไม่อยากต้องโดนด่าหลังแสดงความเห็น
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อต้องกลับมาชวนคนอ่านงานของบรมครูทาง "วัฒนธรรมศึกษา" คนหนึ่ง ที่ผมไม่ได้เชี่ยวชาญอะไรนัก 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ไปแม่ฮ่องสอนสามวัน ค้างสองคืน เพื่อร่วมงาน "ไทใหญ่ศึกษา" ทั้งๆ ที่ไม่เคยไปมาก่อน ไม่รู้จักวัฒนธรรมไทใหญ่มาก่อน พอจะรู้จากการอ่านงานเรื่อง "ฉาน" เรื่องรัฐไทใหญ่ เรื่องประวัติศาสตร์บ้างนิดหน่อย จึงมิอาจให้ความเห็นใดๆ กับอาหารไทใหญ่ได้ ทำได้แค่เพียงบอกเล่า "ความประทับใจแรกเริ่ม" ในแบบที่นักชาติพันธ์ุนิพนธ์ทั่วไปมักทำกัน
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ไม่รู้เป็นอะไรกันนักหนากับเครื่องแต่งกายนักศึกษา จะต้องมีการประจาน จะต้องมีการให้คุณค่าบวก-ลบ จะต้องถือเป็นเรื่องจริงจังกันจนบางคณะถึงกับต้องนำเรื่องนี้เข้ามาเป็นวาระ "เพื่อพิจารณา" ในที่ประชุมคณาจารย์
ยุกติ มุกดาวิจิตร
อาจารย์ชาญวิทย์เกิดวันที่ 6 พฤษภาคม วันที่ 22 มิถุนายนนี้ ลูกศิษย์ลูกหาจัดงานครบรอบ 72 ปีให้อาจารย์ที่คณะศิลปศาสตร์ ธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อวานนี้ (12 มิถุนายน 2556) อาจารย์ที่คณะท่านหนึ่งเชิญไปบรรยายในวิชา "มนุษย์กับสังคม" หัวข้อ "สังคมศาสตร์กับความเข้าใจผู้คนและสังคม" ให้นักศึกษาปริญญาตรีชั้นปี 1 ในห้องเรียนมีนักศึกษาราว
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ข้อเขียนนี้ถูกเผยแพร่ในอีกพื้นที่หนึ่งไปเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว เนื่องจากเห็นว่าเข้ากับโอกาสของการเปิดภาคการศึกษาของมหาวิทยาลัย จึงขอนำมาเสนออีกครั้งในที่นี้
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ทั้งๆ ที่ประเทศไทยมีกลุ่มชาติพันธ์ุอยู่หลากหลายกลุ่ม พวกเขาอาศัยอยู่ในพื้นที่ยุทธศาสตร์ที่สำคัญ และร่วมสร้างสังคม สร้างประวัติศาสตร์โบราณและสมัยใหม่อย่างขาดไม่ได้ แต่ประเทศไทยก็ไม่เคยมีนโยบายกลุ่มชาติพันธ์ุมาก่อน (ยาวนะครับ ถ้ายังอยู่ในโลก 8 บรรทัดโปรดอย่าอ่าน)
ยุกติ มุกดาวิจิตร
 มีคนบ่นว่า "ผ่านมาสามปีแล้ว ทำไมคนเสื้อแดงยังไปรวมตัวกันที่ราชประสงค์กันอีก นี่พวกเขาจะต้องระลึกถึงเหตุการณ์นี้กันไปจนถึงเมื่อไหร่" แล้วลงท้ายว่า "รถติดจะตายอยู่แล้ว ห้างต้องปิดกันหมด ขาดรายได้ นักท่องเที่ยวเดือดร้อน" นั่นสิ น่าคิดว่าทำไมการบาดเจ็บและความตายที่ราชประสงค์เมื่อพฤษภาคม 2553 มีความหมายมากกว่าโศกนาฏกรรมทางการเมืองครั้งที่ผ่านมาก่อนหน้านี้
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เรียน ศาสตราจารย์ ดร. อมรา พงศาพิชญ์ ประธานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เห็นนักคิดไทยสองคนออกมาเทศนาแล้วอดสงสัยไม่ได้ว่า "ทำไมนักคิดไทย พอแก่ตัวลงต้องไปจนแต้มที่วิธีคิดแบบพุทธๆ"