Skip to main content

แทนที่จะเถียงกับอีกท่านหนึ่งที่วิจารณ์ผมต่อหน้ามากมายเมื่อวาน ผมขอใช้พลังงานเถียงกับข้อเสนอล่าสุดของอาจารย์ธีรยุทธ บุญมีจากข่าวในมติชนออนไลน์ (http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1354935625&grpid=01&catid=&subcatid=) ดังนี้

 
1. อ.ธีรยุทธ: "ความขัดแย้งระหว่างสองสีเสื้อจะไม่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงทิศทางการเมืองของประเทศ เพราะเหลือง-แดง เป็นเพียงแค่กลุ่มตื่นตัวทางการเมือง ไม่ใช่ขบวนการทางการเมือง ซึ่งต้องมีเป้าหมายทางอุดมการณ์ทางการเมืองที่ชัดเจน"
 
ขอเถียงว่า: อาจารย์ธีรยุทธกลับด้านคำอธิบาย เพราะอันที่จริงความขัดแย้งเหลือง-แดงเป็นผลจากความเปลี่ยนแปลงที่ลึกซึ้งในทางเศรษฐกิจและการเมือง ความขัดแย้งเหลือง-แดง "มาจาก" ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอยู่ก่อนแล้ว ดังนั้นไม่ว่าความขัดแย้งนี้จะดำเนินต่อไปอย่างไร ความเปลี่ยนแปลงในสังคมไทยก็ได้เกิดขึ้นมาก่อนแล้ว
 
ความขัดแย้งเหลือง-แดงเป็นอาการระดับพื้นผิว แต่ที่ลึกกว่านั้นคือความเปลี่ยนแปลงพื้นฐานทางเศรษฐกิจในระดับรากหญ้า ในสังคมไทยปัจจุบันนั้น คนจนลดลง คนชั้นกลางระดับล่างมากขึ้น แหล่งทุนในชนบทมากขึ้น ทำให้เกิดนายทุนในระดับท้องถิ่นมากขึ้น เกษตรกรกลายเป็นผู้ประกอบการมากขึ้น ความเป็นเมืองในต่างจังหวัดขยายตัวมากขึ้น
 
ความเปลี่ยนแปลงเหล่านี้สัมพันธ์กับความขัดแย้งทางการเมืองและอุดมการณ์ คนเสื้อแดงส่วนใหญ่เติบโตขึ้นมาจากการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ ด้านการเมือง ความสัมพันธ์เชิงอำนาจในชนบทหลากหลายและยืดหยุ่นมากขึ้น ทำให้ระบบเจ้าพ่อผู้มีอิทธิพลอ่อนกำลังลง ชาวบ้านมีทางเลือกมากขึ้น การเมืองท้องถิ่นขยายความเข้าใจเร่่ืองประชาธิปไตยและการเลือกตั้งมากขึ้น 
 
ด้านอุดมการณ์  การเลือกตั้งมีความหมายต่อชีวิตคนมากขึ้น และอำนาจในการจัดการตนเองของคนส่วนใหญ่มากขึ้น มีการวิพากษ์ชนชั้นนำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสถาบันกษัตริย์และสถาบันตุลาการ ซึ่งไม่เคยมีมาก่อนมากและกว้่างขวางขนาดนี้ 
 
2. อ.ธีรยุทธ: "ทิศทางประเทศจะมีเพียงปัญหาความรุนแรงระดับย่อยๆ ตราบใดที่ตัวละครหลัก คือ รัฐสภา พรรคการเมือง กองทัพ และศาล ไม่ล้ำเส้นกัน"
 
ขอเถียงว่า: ในระบอบประชาธิปไตยแบบรัฐสภา รัฐสภาและพรรคการเมืองมีสิทธิแก้รัฐธรรมนูญ มีอำนาจที่จะปรับบทบาทสถาบันทางการเมืองใดๆ และสามารถแก้ไขลดทอนอำนาจศาล กองทัพ รวมทั้งปรับบทบาทสถาบันกษัตริย์ให้สอดคล้องกับทิศทางที่ก้าวหน้าของสังคมมากขึ้นได้
 
มุมมองแบบของอาจารย์ธีรยุทธจึงเป็นมุมมองที่มุ่งคงรักษาสถานะของสังคมไว้ให้หยุดนิ่ง หรืออีกนัยหนึ่งคือ เป็นมุมมองที่รักษาความเหลื่อมล้ำทางอำนาจเอาไว้ไม่ให้ถูกแตะต้องแก้ไข พูดแบบวิชาการคือ เป็นทัศนะที่มุ่งรักษา status quo ไว้ไม่ให้เปลี่ยนแปลง มองแบบ functionalism ลดทอนความขัดแย้งทางการเมืองในระดับรากฐาน ไปเป็นเพียงปัญหาของการ "ล้ำเส้น" คือแต่ละสถาบันทางสังคมไม่รู้หน้าที่ของตนเอง 
 
แต่หากมองปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองที่ผ่านมาในระยะ 20 ปีนี้ เราจะเห็นว่า ฝ่ายหนึ่ง คือทหารและศาล เป็นตัวแทนของฝ่ายอนุรักษ์นิยม อยู่ฝ่ายชนชั้นนำที่ต้านกระแสการเปลี่ยนแปลง ต้านการส่งเสริมสิทธิเสรีภาพของประชาชน 
 
ส่วนฝ่ายประชาชนที่รักความก้าวหน้าของสังคม และประชาชนรากหญ้าที่ให้ความสำคัญกับการเลือกตั้งและสิทธิเสรีภาพ พวกเขามุ่งหวังให้รัฐสภาเป็นที่พึ่ง และการเชื่อมั่นในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์อยู่ใต้รัฐธรรมนูญ หากแต่ในขณะนี้รัฐสภากลับไม่ใช้อำนาจของตนอย่างเต็มที่ ดังจะเห็นได้จากการรณรงค์แก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ที่ประชาชนกว่า 30,000 คนส่งเอกสารให้รัฐสภา เนื่องจากพวกเขายังหวังที่จะพึ่งรัฐสภา
 
3. อ.ธีรยุทธ: "ในระยะเวลา 5 ปีข้างหน้า คนเสื้อเหลืองและเสื้อแดงจะคลี่คลายตัวมันเองไปตามธรรมชาติ โดยกลุ่มคนเสื้อเหลืองจะคลี่คลายไปเป็นกลุ่มอนุรักษนิยม แนวกลุ่มจงรักภักดี และกลุ่มชาตินิยม ดังเช่นที่เกิดในหลายประเทศ เช่น ญี่ปุ่น ขณะที่เสื้อแดงจะพัฒนาไปเป็นกลุ่มพลังการเมืองภูมิภาค การเมืองท้องถิ่น เป็นสำคัญ"
 
ขอเถียงว่า: การสร้างภาพลักษณะคู่ตรงข้ามระหว่างภูมิภาค/เสื้อแดง กับเสื้อเหลือง/เมือง อย่างนี้ ไม่น่าจะสอดคล้องกับทิศทางของพัฒนาการของสังคมไทยเท่าใดนัก เนื่องจากพลังทางการเมืองไม่ได้วางอยู่บนความขัดแย้งเชิงพื้นที่ในลักษณะ "สองนคราประชาธิปไตย" อีกต่อไป คนชนบทกำลังกลายเป็นคนเมืองมากขึ้น การเคลื่อนไหวไหลเวียนระหว่างเมืองกับชนบทกำลังมีมากขึ้น ทิศทางของสังคมที่เชื่อมั่นในสิทธิเสรีภาพจะขยายตัวมากยิ่งขึ้น
 
นอกจากนั้น อุดมการณ์ "อนุรักษ์นิยม แนวกลุ่มจงรักภักดี" ไม่ได้มีภาวะอกาลิโก อุดมการณ์นี้ที่เราเห็นเข้มข้นอยู่ทุกวันนี้ อาจเปลี่ยนไปในระยะอันใกล้ เมื่อถึงวันนั้นเราจะได้เห็นกันว่า การยึดติด "ตัวบุคคล" เหนือ "สถาบัน" และการไม่ยอมรับในอุดมการณ์ "กษัตริย์ใต้รัฐธรรมนูญ" จะนำความเสื่อมมาสู่ทั้งตัวสถาบันเองและความจงรักภักดีอย่างไร
 
ความแตกต่างขัดแย้งกันในขณะนี้จึงน่าจะคลี่คลายตัวไปจริง แต่น่าจะเป็นไปในทิศทางที่จะทำให้มีคน "แบบแดงๆ" มากยิ่งขึ้นมากกว่า
 
ผมจึงเห็นในทางตรงข้ามกับอาจารย์ธีรยุทธว่า ความขัดแย้งเหลือง-แดงสะท้อนความเปลี่ยนแปลงที่มาอยู่แล้ว และจะไม่เปลี่ยนถอยหลังกลับไปได้แน่ๆ แต่หากเชื่อตามวาทกรรม "ไม่ล้ำเส้น" คือให้รัฐสภาและพรรคการเมืองหยุดนิ่ง ไม่ปรับโครงสร้างอำนาจให้สะท้อนความต้องการของสังคมผ่านการแก้รัฐธรรมนูญ เชื่อได้ว่าสังคมไทยจะก้าวเข้าสู้ความขัดแย้งเหลือง-แดงอีกครั้งในอนาคตอันใกล้นี้
 

บล็อกของ ยุกติ มุกดาวิจิตร

ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อวาน (4 ตุลาคม 2560) นิสิตมหาวิทยาลัยหนึ่งโทรศัพท์มาสัมภาษณ์เรื่องการพิมพ์คำ "คะ" "ค่ะ" ผิดๆ ในโซเชียลมีเดียและการส่งข้อความต่างๆ บอกว่าจะเอาไปลงวารสารของคณะเธอ เธอถามว่าการใช้คำผิดแบบนี้มีนัยทางสังคมอย่างไร
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อคืนวาน (30 กันยายน 2560) นักศึกษาปริญญาโทชั้นเรียนมานุษยวิยาคนหนึ่ง ซึ่งเป็นผู้เขียนบทละครเรื่อง "The Dark Fairy Tales นิทานเรื่องนี้ไม่เคยเล่า" ชวนไปดูและร่วมแลกเปลี่ยนความเห็นหลังละครจบ ช่วยให้คิดอะไรเกี่ยวกับการอ่านนิทานได้อีกมากทีเดียวจึงอยากบันทึกไว้
ยุกติ มุกดาวิจิตร
การสนทนาอย่างออกรสไม่ได้จะต้องอยู่ในบรรยากาศเคร่งขรึมในห้องเรียน ห้องสัมมนาเสมอไป ด้วยเหตุนี้ผมจึงเชื่อว่า การใช้เวลานอกห้องเรียน นอกห้องสัมมนาวิชาการ สำคัญไม่น้อยไปกว่าการใช้เวลาในห้องสี่เหลี่ยมที่มีระเบียบต่างๆ ควบคุมการสนทนาอย่างเคร่งครัดเกินไป
ยุกติ มุกดาวิจิตร
จากเหตุการณ์เข้ามาคุกคามพื้นที่ทางวิชาการของคณะทหารในการประชุมไทยศึกษานานาชาติครั้งที่ 13 ที่เชียงใหม่ จนทำให้นักวิชาการที่มาร่วมประชุมกลุ่มหนึ่งแสดงออกด้วยการชูป้าย "เวทีวิชาการไม่ใช่ค่ายทหาร" แล้วท้ายสุดมีนักวิชาการ 5 คนถูกตั้งข้อหาว่าเป็นคนนอกเข้ามายุยงให้ต่อต้านรัฐบาล
ยุกติ มุกดาวิจิตร
วันแม่นำความกระอักกระอ่วนใจมาให้ผมตั้งแต่ยังเด็ก เพราะแม่ในเพลง "ค่าน้ำนม" ที่เด็กในกรุงเทพฯ รุ่นผมถูกให้หัดร้องตามจนแทบจะจำเนื้อได้ทั้งเพลงมาตั้งแต่จำความได้ ไม่ตรงกับแม่ในชีวิตจริงของผม
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ในฐานะอาจารย์มหาวิทยาลัยคนหนึ่ง ผมไม่อาจยอมรับการกระทำของอาจารย์ต่อนิสิตด้วยความรุนแรงดังที่เกิดขึ้นที่มหาวิทยาลัยอันทรงเกียรติแห่งหนึ่งได้ 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
วันนี้เกิดความผิดพลาดบางอย่างทำให้บทแนะนำอาจารย์แคทเธอรีน บาววี องค์ปาฐกคนหนึ่งของงานประชุมไทยศึกษาปีนี้ที่จังหวัดเชียงใหม่ ไม่ได้ถูกนำเสนอในงานประชุม ในเมื่อผมเตรียมไปพูดแล้วแต่ไม่ได้พูด ก็ขอนำบันทึกที่ร่างไว้นี้มาเผยแพร่ในที่นี้แทนก็แล้วกัน 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
"ฟ้าข้างในนี้กว้างกว่าข้างนอก ฟ้าในนี้กว้างจนแทบจะเห็นขอบฟ้า"
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ช่วงนี้คงเป็นช่วงเขียนรายงาน เขียนวิทยานิพนธ์ของหลายๆ คน ผมเองช่วงนี้เป็นช่วงต้องอ่านงานนักศึกษามากมาย ที่สาหัสที่สุดคืองานวิทยานิพนธ์ของนักศึกษาปริญญาโทและเอก 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ผมอ่านงานจิตรครั้งแรกๆ ก็ตอนที่เรียนมหาวิทยาลัยระดับปริญญาตรี ตอนนั้นเมื่อออกจากโลกโรงเรียนก็รู้สึกว่า โลกหนังสือของห้องสมุดธรรมศาสตร์ช่างกว้างใหญ่มาก กว้างใหญ่กว่าห้องสมุดแห่งชาติที่สมัยเรียนมัธยมผมชอบไปสิงอยู่มากนัก นี่กล่าวเฉพาะหนังสือที่น่าอ่านเกี่ยวกับสังคม วัฒนธรรม ปรัชญา และศาสนา
ยุกติ มุกดาวิจิตร
วันนี้ (3 พค. 60) ผมไปวิจารณ์งานนักศึกษาที่มหาวิทยาลัยซึ่งคณะราษฎรมีส่วนก่อตั้งเช่นกัน แต่สำคัญผิดกันไปว่าผู้อื่นมีบุญคุณมากกว่า
ยุกติ มุกดาวิจิตร
บางทีนามสกุลกับบทบาทความเป็นครูของครูฉลบชลัยย์ พลางกูร คงไม่ทำให้คนสนใจครูฉลบเกินบทบาทไปกว่าการเป็นภรรยาของนายจำกัด พลางกูร และเป็นผู้ให้กำเนิดโรงเรียนดรุโณทยาน