Skip to main content

แทนที่จะเถียงกับอีกท่านหนึ่งที่วิจารณ์ผมต่อหน้ามากมายเมื่อวาน ผมขอใช้พลังงานเถียงกับข้อเสนอล่าสุดของอาจารย์ธีรยุทธ บุญมีจากข่าวในมติชนออนไลน์ (http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1354935625&grpid=01&catid=&subcatid=) ดังนี้

 
1. อ.ธีรยุทธ: "ความขัดแย้งระหว่างสองสีเสื้อจะไม่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงทิศทางการเมืองของประเทศ เพราะเหลือง-แดง เป็นเพียงแค่กลุ่มตื่นตัวทางการเมือง ไม่ใช่ขบวนการทางการเมือง ซึ่งต้องมีเป้าหมายทางอุดมการณ์ทางการเมืองที่ชัดเจน"
 
ขอเถียงว่า: อาจารย์ธีรยุทธกลับด้านคำอธิบาย เพราะอันที่จริงความขัดแย้งเหลือง-แดงเป็นผลจากความเปลี่ยนแปลงที่ลึกซึ้งในทางเศรษฐกิจและการเมือง ความขัดแย้งเหลือง-แดง "มาจาก" ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอยู่ก่อนแล้ว ดังนั้นไม่ว่าความขัดแย้งนี้จะดำเนินต่อไปอย่างไร ความเปลี่ยนแปลงในสังคมไทยก็ได้เกิดขึ้นมาก่อนแล้ว
 
ความขัดแย้งเหลือง-แดงเป็นอาการระดับพื้นผิว แต่ที่ลึกกว่านั้นคือความเปลี่ยนแปลงพื้นฐานทางเศรษฐกิจในระดับรากหญ้า ในสังคมไทยปัจจุบันนั้น คนจนลดลง คนชั้นกลางระดับล่างมากขึ้น แหล่งทุนในชนบทมากขึ้น ทำให้เกิดนายทุนในระดับท้องถิ่นมากขึ้น เกษตรกรกลายเป็นผู้ประกอบการมากขึ้น ความเป็นเมืองในต่างจังหวัดขยายตัวมากขึ้น
 
ความเปลี่ยนแปลงเหล่านี้สัมพันธ์กับความขัดแย้งทางการเมืองและอุดมการณ์ คนเสื้อแดงส่วนใหญ่เติบโตขึ้นมาจากการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ ด้านการเมือง ความสัมพันธ์เชิงอำนาจในชนบทหลากหลายและยืดหยุ่นมากขึ้น ทำให้ระบบเจ้าพ่อผู้มีอิทธิพลอ่อนกำลังลง ชาวบ้านมีทางเลือกมากขึ้น การเมืองท้องถิ่นขยายความเข้าใจเร่่ืองประชาธิปไตยและการเลือกตั้งมากขึ้น 
 
ด้านอุดมการณ์  การเลือกตั้งมีความหมายต่อชีวิตคนมากขึ้น และอำนาจในการจัดการตนเองของคนส่วนใหญ่มากขึ้น มีการวิพากษ์ชนชั้นนำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสถาบันกษัตริย์และสถาบันตุลาการ ซึ่งไม่เคยมีมาก่อนมากและกว้่างขวางขนาดนี้ 
 
2. อ.ธีรยุทธ: "ทิศทางประเทศจะมีเพียงปัญหาความรุนแรงระดับย่อยๆ ตราบใดที่ตัวละครหลัก คือ รัฐสภา พรรคการเมือง กองทัพ และศาล ไม่ล้ำเส้นกัน"
 
ขอเถียงว่า: ในระบอบประชาธิปไตยแบบรัฐสภา รัฐสภาและพรรคการเมืองมีสิทธิแก้รัฐธรรมนูญ มีอำนาจที่จะปรับบทบาทสถาบันทางการเมืองใดๆ และสามารถแก้ไขลดทอนอำนาจศาล กองทัพ รวมทั้งปรับบทบาทสถาบันกษัตริย์ให้สอดคล้องกับทิศทางที่ก้าวหน้าของสังคมมากขึ้นได้
 
มุมมองแบบของอาจารย์ธีรยุทธจึงเป็นมุมมองที่มุ่งคงรักษาสถานะของสังคมไว้ให้หยุดนิ่ง หรืออีกนัยหนึ่งคือ เป็นมุมมองที่รักษาความเหลื่อมล้ำทางอำนาจเอาไว้ไม่ให้ถูกแตะต้องแก้ไข พูดแบบวิชาการคือ เป็นทัศนะที่มุ่งรักษา status quo ไว้ไม่ให้เปลี่ยนแปลง มองแบบ functionalism ลดทอนความขัดแย้งทางการเมืองในระดับรากฐาน ไปเป็นเพียงปัญหาของการ "ล้ำเส้น" คือแต่ละสถาบันทางสังคมไม่รู้หน้าที่ของตนเอง 
 
แต่หากมองปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองที่ผ่านมาในระยะ 20 ปีนี้ เราจะเห็นว่า ฝ่ายหนึ่ง คือทหารและศาล เป็นตัวแทนของฝ่ายอนุรักษ์นิยม อยู่ฝ่ายชนชั้นนำที่ต้านกระแสการเปลี่ยนแปลง ต้านการส่งเสริมสิทธิเสรีภาพของประชาชน 
 
ส่วนฝ่ายประชาชนที่รักความก้าวหน้าของสังคม และประชาชนรากหญ้าที่ให้ความสำคัญกับการเลือกตั้งและสิทธิเสรีภาพ พวกเขามุ่งหวังให้รัฐสภาเป็นที่พึ่ง และการเชื่อมั่นในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์อยู่ใต้รัฐธรรมนูญ หากแต่ในขณะนี้รัฐสภากลับไม่ใช้อำนาจของตนอย่างเต็มที่ ดังจะเห็นได้จากการรณรงค์แก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ที่ประชาชนกว่า 30,000 คนส่งเอกสารให้รัฐสภา เนื่องจากพวกเขายังหวังที่จะพึ่งรัฐสภา
 
3. อ.ธีรยุทธ: "ในระยะเวลา 5 ปีข้างหน้า คนเสื้อเหลืองและเสื้อแดงจะคลี่คลายตัวมันเองไปตามธรรมชาติ โดยกลุ่มคนเสื้อเหลืองจะคลี่คลายไปเป็นกลุ่มอนุรักษนิยม แนวกลุ่มจงรักภักดี และกลุ่มชาตินิยม ดังเช่นที่เกิดในหลายประเทศ เช่น ญี่ปุ่น ขณะที่เสื้อแดงจะพัฒนาไปเป็นกลุ่มพลังการเมืองภูมิภาค การเมืองท้องถิ่น เป็นสำคัญ"
 
ขอเถียงว่า: การสร้างภาพลักษณะคู่ตรงข้ามระหว่างภูมิภาค/เสื้อแดง กับเสื้อเหลือง/เมือง อย่างนี้ ไม่น่าจะสอดคล้องกับทิศทางของพัฒนาการของสังคมไทยเท่าใดนัก เนื่องจากพลังทางการเมืองไม่ได้วางอยู่บนความขัดแย้งเชิงพื้นที่ในลักษณะ "สองนคราประชาธิปไตย" อีกต่อไป คนชนบทกำลังกลายเป็นคนเมืองมากขึ้น การเคลื่อนไหวไหลเวียนระหว่างเมืองกับชนบทกำลังมีมากขึ้น ทิศทางของสังคมที่เชื่อมั่นในสิทธิเสรีภาพจะขยายตัวมากยิ่งขึ้น
 
นอกจากนั้น อุดมการณ์ "อนุรักษ์นิยม แนวกลุ่มจงรักภักดี" ไม่ได้มีภาวะอกาลิโก อุดมการณ์นี้ที่เราเห็นเข้มข้นอยู่ทุกวันนี้ อาจเปลี่ยนไปในระยะอันใกล้ เมื่อถึงวันนั้นเราจะได้เห็นกันว่า การยึดติด "ตัวบุคคล" เหนือ "สถาบัน" และการไม่ยอมรับในอุดมการณ์ "กษัตริย์ใต้รัฐธรรมนูญ" จะนำความเสื่อมมาสู่ทั้งตัวสถาบันเองและความจงรักภักดีอย่างไร
 
ความแตกต่างขัดแย้งกันในขณะนี้จึงน่าจะคลี่คลายตัวไปจริง แต่น่าจะเป็นไปในทิศทางที่จะทำให้มีคน "แบบแดงๆ" มากยิ่งขึ้นมากกว่า
 
ผมจึงเห็นในทางตรงข้ามกับอาจารย์ธีรยุทธว่า ความขัดแย้งเหลือง-แดงสะท้อนความเปลี่ยนแปลงที่มาอยู่แล้ว และจะไม่เปลี่ยนถอยหลังกลับไปได้แน่ๆ แต่หากเชื่อตามวาทกรรม "ไม่ล้ำเส้น" คือให้รัฐสภาและพรรคการเมืองหยุดนิ่ง ไม่ปรับโครงสร้างอำนาจให้สะท้อนความต้องการของสังคมผ่านการแก้รัฐธรรมนูญ เชื่อได้ว่าสังคมไทยจะก้าวเข้าสู้ความขัดแย้งเหลือง-แดงอีกครั้งในอนาคตอันใกล้นี้
 

บล็อกของ ยุกติ มุกดาวิจิตร

ยุกติ มุกดาวิจิตร
คำสำคัญ: sensory subjectivity, sensory categories, sensory bias, sensory ethnocentrism, sensory colonization (อธิบายไว้ท้ายข้อเขียน) คนทำเรื่องอาหารข้ามถิ่น ไม่ต่างจากการทำงานทางมานุษยวิทยา ที่ต้องตระหนักถึงการ ไม่นำเอา
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ถ้าคุณไม่สามารถเรียนรู้อะไรใหม่ๆ ได้แล้ว ก็โปรดอย่าถ่วงรั้งการเรียนรู้ของคนรุ่นใหม่เลย 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ปาฐกถาในเวทีเสวนา “50 ปี 14 ตุลาฯ ยังตามหารัฐธรรมนูญใหม่” จัดโดยสมัชชาคนจน วันที่ 14 ตุลาคม 2566
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อ 24 กค. 65 ผู้จัดการแสดง #ฮิญาบ2022  ชวนผมไปดูการแสดงของคุณฟารีดา จิราพันธ์ ที่กาลิเลโอเอซิส แล้วผู้จัดจะชวนผมสนทนาหลังละคร
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ในฐานะเพื่อนร่วมวิชาชีพวิชาการ ในฐานะผู้ปกครองนักศึกษาคณะวิจิตรศิลป์ และในฐานะคนรักศิลปะ ผมเขียนจดหมายนี้เพื่อตั้งคำถามต่อการที่ผู้บริหารคณะวิจิตรศิลป์จะตรวจสอบผลงานก่อการอนุญาตให้จัดแสดงผลงานของนักศึกษาภาควิชาสื่อศิลปะและการออกแบบสื่อ
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เห็นคนพูดถึงตัวละครในซีรีย์เกาหลีเอ่ยถึงจอร์จ บาไตล์ ในรูปนั่นน่ะครับ เป็นคอลเล็กชันจอร์จ บาไตล์บนชั้นหนังสือผมแบบเบาๆ ผมเก็บไว้ร่วม 20 ปีแล้ว
ยุกติ มุกดาวิจิตร
หลายคนคงรู้ว่าวันนี้เป็นวันชาติเวียดนาม แต่น้อยคนคงรู้ว่าเกิดอะไรขึ้นในวันนี้กันแน่ แล้ววันนี้ในอดีตถูกกำหนดเป็นวันขาติจากเหตุการณ์ปีใด 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
จนถึงวันนี้ การต่อสู้ของประชาชนในขบวนการ “คณะราษฎร 63” ได้แสดงให้เห็นแล้วว่า พลังของแสงดาวได้สร้างสรรค์สังคมไทยอย่างไร 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
การที่อธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญาได้ออกมาแสดงความเห็นว่ามีการสร้างกระแสกดดันศาลต่างๆ นานา (ดู https://www.thairath.co.th/news/local/bangkok/2081366) มองในแง่ดี ผมคิดว่านี่คือการออกมาอธิบายกับสังคมอีกครั้งของผู้มีอำนาจในกระบวนการยุติธรรมอย่างชัดแจ้ง หลังจากที่มีการชี้แจงถึงเหตุผลการไม่ปล่อยตัวผู้ต้องหาคดีการเมืองโดยโฆษกศาลและโฆษกกระทรวงยุติธรรมก่อนหน้านี้ 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
อะไรที่ทำให้ดนตรีมีสถานะในการทำร้ายกันได้บ้าง ผมว่าอย่างน้อยที่สุดต้องเข้าใจก่อนว่า ดนตรีไม่ใช่แค่เสียง
ยุกติ มุกดาวิจิตร
พอดีนั่งฟังเพื่อนนักวิชาการอ่านหนังสือ "กบฏชาวนา" ของรานาจิต คูฮา (1982) มาคุยให้ฟัง (แปลโดย ปรีดี หงษ์สต้น) ในเพจของสำนักพิมพ์ Illumination Editions เลยคิดถึงบันทึกที่เคยเขียนถึงหนังสือของ ดิเพช จักรบาร์ตี เรื่อง Provincializing Europe (2000)
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เรื่อง ถามถึงมโนธรรมสำนึกในความเป็นครูบาอาจารย์ของอาจารย์เอนก เหล่าธรรมทัศน์