Skip to main content

แทนที่จะเถียงกับอีกท่านหนึ่งที่วิจารณ์ผมต่อหน้ามากมายเมื่อวาน ผมขอใช้พลังงานเถียงกับข้อเสนอล่าสุดของอาจารย์ธีรยุทธ บุญมีจากข่าวในมติชนออนไลน์ (http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1354935625&grpid=01&catid=&subcatid=) ดังนี้

 
1. อ.ธีรยุทธ: "ความขัดแย้งระหว่างสองสีเสื้อจะไม่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงทิศทางการเมืองของประเทศ เพราะเหลือง-แดง เป็นเพียงแค่กลุ่มตื่นตัวทางการเมือง ไม่ใช่ขบวนการทางการเมือง ซึ่งต้องมีเป้าหมายทางอุดมการณ์ทางการเมืองที่ชัดเจน"
 
ขอเถียงว่า: อาจารย์ธีรยุทธกลับด้านคำอธิบาย เพราะอันที่จริงความขัดแย้งเหลือง-แดงเป็นผลจากความเปลี่ยนแปลงที่ลึกซึ้งในทางเศรษฐกิจและการเมือง ความขัดแย้งเหลือง-แดง "มาจาก" ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอยู่ก่อนแล้ว ดังนั้นไม่ว่าความขัดแย้งนี้จะดำเนินต่อไปอย่างไร ความเปลี่ยนแปลงในสังคมไทยก็ได้เกิดขึ้นมาก่อนแล้ว
 
ความขัดแย้งเหลือง-แดงเป็นอาการระดับพื้นผิว แต่ที่ลึกกว่านั้นคือความเปลี่ยนแปลงพื้นฐานทางเศรษฐกิจในระดับรากหญ้า ในสังคมไทยปัจจุบันนั้น คนจนลดลง คนชั้นกลางระดับล่างมากขึ้น แหล่งทุนในชนบทมากขึ้น ทำให้เกิดนายทุนในระดับท้องถิ่นมากขึ้น เกษตรกรกลายเป็นผู้ประกอบการมากขึ้น ความเป็นเมืองในต่างจังหวัดขยายตัวมากขึ้น
 
ความเปลี่ยนแปลงเหล่านี้สัมพันธ์กับความขัดแย้งทางการเมืองและอุดมการณ์ คนเสื้อแดงส่วนใหญ่เติบโตขึ้นมาจากการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ ด้านการเมือง ความสัมพันธ์เชิงอำนาจในชนบทหลากหลายและยืดหยุ่นมากขึ้น ทำให้ระบบเจ้าพ่อผู้มีอิทธิพลอ่อนกำลังลง ชาวบ้านมีทางเลือกมากขึ้น การเมืองท้องถิ่นขยายความเข้าใจเร่่ืองประชาธิปไตยและการเลือกตั้งมากขึ้น 
 
ด้านอุดมการณ์  การเลือกตั้งมีความหมายต่อชีวิตคนมากขึ้น และอำนาจในการจัดการตนเองของคนส่วนใหญ่มากขึ้น มีการวิพากษ์ชนชั้นนำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสถาบันกษัตริย์และสถาบันตุลาการ ซึ่งไม่เคยมีมาก่อนมากและกว้่างขวางขนาดนี้ 
 
2. อ.ธีรยุทธ: "ทิศทางประเทศจะมีเพียงปัญหาความรุนแรงระดับย่อยๆ ตราบใดที่ตัวละครหลัก คือ รัฐสภา พรรคการเมือง กองทัพ และศาล ไม่ล้ำเส้นกัน"
 
ขอเถียงว่า: ในระบอบประชาธิปไตยแบบรัฐสภา รัฐสภาและพรรคการเมืองมีสิทธิแก้รัฐธรรมนูญ มีอำนาจที่จะปรับบทบาทสถาบันทางการเมืองใดๆ และสามารถแก้ไขลดทอนอำนาจศาล กองทัพ รวมทั้งปรับบทบาทสถาบันกษัตริย์ให้สอดคล้องกับทิศทางที่ก้าวหน้าของสังคมมากขึ้นได้
 
มุมมองแบบของอาจารย์ธีรยุทธจึงเป็นมุมมองที่มุ่งคงรักษาสถานะของสังคมไว้ให้หยุดนิ่ง หรืออีกนัยหนึ่งคือ เป็นมุมมองที่รักษาความเหลื่อมล้ำทางอำนาจเอาไว้ไม่ให้ถูกแตะต้องแก้ไข พูดแบบวิชาการคือ เป็นทัศนะที่มุ่งรักษา status quo ไว้ไม่ให้เปลี่ยนแปลง มองแบบ functionalism ลดทอนความขัดแย้งทางการเมืองในระดับรากฐาน ไปเป็นเพียงปัญหาของการ "ล้ำเส้น" คือแต่ละสถาบันทางสังคมไม่รู้หน้าที่ของตนเอง 
 
แต่หากมองปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองที่ผ่านมาในระยะ 20 ปีนี้ เราจะเห็นว่า ฝ่ายหนึ่ง คือทหารและศาล เป็นตัวแทนของฝ่ายอนุรักษ์นิยม อยู่ฝ่ายชนชั้นนำที่ต้านกระแสการเปลี่ยนแปลง ต้านการส่งเสริมสิทธิเสรีภาพของประชาชน 
 
ส่วนฝ่ายประชาชนที่รักความก้าวหน้าของสังคม และประชาชนรากหญ้าที่ให้ความสำคัญกับการเลือกตั้งและสิทธิเสรีภาพ พวกเขามุ่งหวังให้รัฐสภาเป็นที่พึ่ง และการเชื่อมั่นในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์อยู่ใต้รัฐธรรมนูญ หากแต่ในขณะนี้รัฐสภากลับไม่ใช้อำนาจของตนอย่างเต็มที่ ดังจะเห็นได้จากการรณรงค์แก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ที่ประชาชนกว่า 30,000 คนส่งเอกสารให้รัฐสภา เนื่องจากพวกเขายังหวังที่จะพึ่งรัฐสภา
 
3. อ.ธีรยุทธ: "ในระยะเวลา 5 ปีข้างหน้า คนเสื้อเหลืองและเสื้อแดงจะคลี่คลายตัวมันเองไปตามธรรมชาติ โดยกลุ่มคนเสื้อเหลืองจะคลี่คลายไปเป็นกลุ่มอนุรักษนิยม แนวกลุ่มจงรักภักดี และกลุ่มชาตินิยม ดังเช่นที่เกิดในหลายประเทศ เช่น ญี่ปุ่น ขณะที่เสื้อแดงจะพัฒนาไปเป็นกลุ่มพลังการเมืองภูมิภาค การเมืองท้องถิ่น เป็นสำคัญ"
 
ขอเถียงว่า: การสร้างภาพลักษณะคู่ตรงข้ามระหว่างภูมิภาค/เสื้อแดง กับเสื้อเหลือง/เมือง อย่างนี้ ไม่น่าจะสอดคล้องกับทิศทางของพัฒนาการของสังคมไทยเท่าใดนัก เนื่องจากพลังทางการเมืองไม่ได้วางอยู่บนความขัดแย้งเชิงพื้นที่ในลักษณะ "สองนคราประชาธิปไตย" อีกต่อไป คนชนบทกำลังกลายเป็นคนเมืองมากขึ้น การเคลื่อนไหวไหลเวียนระหว่างเมืองกับชนบทกำลังมีมากขึ้น ทิศทางของสังคมที่เชื่อมั่นในสิทธิเสรีภาพจะขยายตัวมากยิ่งขึ้น
 
นอกจากนั้น อุดมการณ์ "อนุรักษ์นิยม แนวกลุ่มจงรักภักดี" ไม่ได้มีภาวะอกาลิโก อุดมการณ์นี้ที่เราเห็นเข้มข้นอยู่ทุกวันนี้ อาจเปลี่ยนไปในระยะอันใกล้ เมื่อถึงวันนั้นเราจะได้เห็นกันว่า การยึดติด "ตัวบุคคล" เหนือ "สถาบัน" และการไม่ยอมรับในอุดมการณ์ "กษัตริย์ใต้รัฐธรรมนูญ" จะนำความเสื่อมมาสู่ทั้งตัวสถาบันเองและความจงรักภักดีอย่างไร
 
ความแตกต่างขัดแย้งกันในขณะนี้จึงน่าจะคลี่คลายตัวไปจริง แต่น่าจะเป็นไปในทิศทางที่จะทำให้มีคน "แบบแดงๆ" มากยิ่งขึ้นมากกว่า
 
ผมจึงเห็นในทางตรงข้ามกับอาจารย์ธีรยุทธว่า ความขัดแย้งเหลือง-แดงสะท้อนความเปลี่ยนแปลงที่มาอยู่แล้ว และจะไม่เปลี่ยนถอยหลังกลับไปได้แน่ๆ แต่หากเชื่อตามวาทกรรม "ไม่ล้ำเส้น" คือให้รัฐสภาและพรรคการเมืองหยุดนิ่ง ไม่ปรับโครงสร้างอำนาจให้สะท้อนความต้องการของสังคมผ่านการแก้รัฐธรรมนูญ เชื่อได้ว่าสังคมไทยจะก้าวเข้าสู้ความขัดแย้งเหลือง-แดงอีกครั้งในอนาคตอันใกล้นี้
 

บล็อกของ ยุกติ มุกดาวิจิตร

ยุกติ มุกดาวิจิตร
รถกระบะพัฒนาจากการเป็นปัจจัยการผลิตจนกลายเป็นปัจจัยทางวัตถุเชิงวัฒนธรรมในระยะ 20 ปีมานี้เอง การเกิดขึ้นของวัฒนธรรมรถกระบะไม่ได้เกิดขึ้นโดยบังเอิญ แต่เกิดจากปัจจัยเชิงโครงสร้างทางเศรษฐกิจ และรัฐบาลนั่นแหละที่มีส่วนสำคัญทำให้เกิดพัฒนาการนี้ขึ้นมา
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ไปโตรอนโตได้สัก 5 วัน แต่เวลาส่วนใหญ่ก็อยู่ในห้องประชุม กับนั่งเตรียมเสนองาน จะมีบ้างก็สองวันสุดท้าย ที่จะมีชีวิตเป็นของตนเอง ได้เดินไปเดินมา เที่ยวขึ้นรถเมล์ รถราง กิน ดื่ม ละเลียดรายละเอียดของเมืองบางมุมได้บ้าง ก็ได้ความประทับใจบางอย่างที่อยากบันทึกเก็บไว้ ผิดถูกอย่างไรชาวโตรอนโตคงไม่ถือสานัก
ยุกติ มุกดาวิจิตร
อีกสถานที่หนึ่งที่ตั้งใจไปเยือนคือโรงเบียร์ใจกลางเมืองชื่อ Steam Whistle ทำให้ได้เห็นทั้งวิธีคิดของเมือง วิธีการทำเบียร์ ความเอาจริงเอาจังของคนรุ่นใหม่ในแคนาดา รวมทั้งเข้าใจอะไรๆ เกี่ยวกับเบียร์มากขึ้น
ยุกติ มุกดาวิจิตร
แรกทีเดียวก่อนไปชม ก็ไม่คิดว่าจะได้อะไรมาก คิดว่าคงแค่ไปดูความเป็นมาของบาทาเป็นหลัก แล้วก็คงมีรองเท้าดีไซน์แปลกๆ ให้ดูบ้าง กับคงจะได้เห็นรองเท้าจากที่ต่างๆ ทั่วโลกเอามาเปรียบเทียบกันด้วยความฉงนฉงายในสายตาฝรั่งบ้าง
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ผมมาประชุมวิชาการ AAS ประจำปี 2017 ที่โตรอนโต แคนาดา เมื่อเสนองานไปแล้วเมื่อวาน (18 มีค. 60) เมื่อเช้าก็เลยหาโอกาสไปทำความรู้จักกับเมืองและผู้คนบ้าง เริ่มต้นจากการไปแกลลอรีแห่งออนทาริโอ แกลลอรีสำคัญของรัฐนี้ ตามคำแนะนำของใครต่อใคร ไปถึงแล้วก็ไม่ผิดหวังเพราะแกลลอรีนี้น่าสนใจในหลายๆ ลักษณะ โดยเฉพาะอย่างยิ่งแนวคิดในการจัดแสดงงาน การเล่าเรื่องราว และการแสดงความเป็นแคนาดา
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ช่วงนี้มิวเซียมสยามมีนิทรรศการชั่วคราวชุดใหม่จัดแสดงอยู่ ชื่อนิทรรศการ "ต้มยำกุ้งวิทยา : วิชานี้อย่าเลียน !" ผมเพิ่งไปดูมาเมื่อสองวันก่อนนี้ ดูแล้วคิดอะไรได้หลายอย่าง ก็ขอเอามาปันกันตรงนี้
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ทันทีที่ คสช. ขอบคุณ ธีรยุทธ บุญมี ธีรยุทธก็ได้วางมาตรฐานใหม่ให้แก่การทำงานวิชาการเพื่อสนับสนุนและแอบอิงไปกับเผด็จการทหาร แนวทางสำคัญ ๆ ได้แก่งานวิชาการที่ 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
วันนี้ (27 มค. 60) ไปสอน นศ. ธรรมศาสตร์ปี 1 ที่ลำปาง วิชามนุษย์กับสังคม ผมมีหน้าที่แนะนำว่าสังคมศาสตร์คืออะไร แล้วพบอะไรน่าสนใจบางอย่าง 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อคืนวันที่ 18 พย. ผมไปดูละครเรื่อง "รื้อ" มา ละครสนุกเหลือเชื่อ เวลาชั่วโมงครึ่งผ่านไปอย่างรวดเร็ว พอดีผู้จัดซึ่งเป็นผู้แสดงหลักคนหนึ่งด้วย คืออาจารย์ภาสกร อินทุมาร ภาควิชาการละคร ศิลปกรรม ธรรมศาสตร์ ชวนไปเสวนาแลกเปลี่ยนหลังการแสดง ก็เลยต้องนั่งดูอย่างเอาจริงเอาจัง 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
นักมานุษยวิทยามีแนวโน้มที่จะ "โรแมนติก" นั่นคือ "อิน" ไปกับกลุ่มคนที่ตนเองศึกษา ความเห็นอกเห็นใจอาจเกินเลยจนกลายเป็นความหลงใหลฟูมฟายเออออไปกับกลุ่มคนที่ตนเองศึกษา 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ความเคลื่อนไหวในสังคมไทยขณะนี้มีหลายเหตุการณ์ที่ชี้ให้เห็นถึงขีดจำกัดคุณค่าความดีของสังคมไทยปัจจุบัน นั่นคือข้อเท็จจริงที่ว่า ความดีแบบไทยๆ ไม่จำเป็นต้องดีเสมอไป ไม่จำเป็นต้องดีอย่างไม่ต้องสงสัย เป็นความดีที่ผูกติดกับสังคมนิยมชนชั้น 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
อย่างที่บอก ผมไปเกาหลีเที่ยวนี้เพื่อไปประชุมวิชาการครบรอบ 50 ปีการก่อตั้งภาควิชาภาษาไทย มหาวิทยาลัยฮันกุ๊กภาษาและกิจการต่างประเทศ (Hankuk University of Foreign Studies)