Skip to main content

หากเรียกร้องเรื่องทรงผม ก็ต้องเรียกร้องเรื่องชุดนักเรียนนักศึกษาด้วย จะได้เป็นก้าวแรกของการอภิวัฒน์การศึกษาไทยอย่างจริงจังเสียที พวกผู้ใหญ่ที่คอยเรียกร้องนักเรียนกับครูอาจารย์ ให้สอนให้เด็กรู้จักคิดน่ะ พวกท่านเคยคิดบ้างหรือเปล่าว่า ชุดนักเรียนนักศึกษาเป็นปราการปิดกั้นเสรีภาพการคิดอย่างไร และเด็กๆ เองก็ควรเข้าใจด้วยว่า การควบคุมเรือนร่างเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างสังคมแบบอำนาจนิยมอย่างไร

การบงการร่างกายเป็นก้าวแรกของการบงการทางสังคม ในทางจิตวิทยาสังคม การควบคุมการขับถ่ายเป็นจุดแรกเริ่มของอำนาจควบคุมทางสังคมในตัวมนุษย์ การควบคุมเรือนร่างมีในทุกสังคม แต่ต่างรูปแบบและต่างวัตถุประสงค์กันออกไป อำนาจบนเรือนกายคืออำนาจที่ใกล้ตัวที่สุด สังคมอำนาจนิยมจึงอาศัยการควบคุมเรือนร่างเป็นเครื่องมือที่สำคัญทั้งสิ้น

สังคมที่บังคับให้สมาชิกสวมเครื่องแบบเป็นสังคมอำนาจนิยม สังคมแบบนี้มักควบคุมการแสดงออกด้านต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการควบคุมการแสดงออกทางเรือนร่าง เช่น สังคมของคนเคร่งศาสนาหรือนักบวช สังคมของค่ายทหาร โรงงานอุตสาหกรรม และบริษัทห้างร้านใหญ่ๆ สังคมลักษณะนี้ต้องการเอกภาพ จึงมีความเข้มงวดสูง และต้องควบคุมสมาชิก ไม่เว้นแม้แต่การแสดงออกทางเรือนร่าง สมาชิกในสังคมเหล่านี้จึงต้องแต่งกายให้เหมือนกัน สังคมเหล่านี้จึงมีระเบียบการแต่งกายที่เข้มงวด

ไปๆ มาๆ เครื่องแบบไม่เพียงเป็นเครื่องมือควบคุมทางสังคม แต่เครื่องแบบยังกลายเป็นตัวสถาบันของอำนาจในตัวของมันเอง เมื่อมันสวมลงมาในตัวแล้ว กลายเป็นว่าผู้สวมใส่ต้องเคารพมัน เครื่องแบบกลายเป็นนายเหนือเรา เครื่องแบบกลายเป็นสัญลักษณ์ของอำนาจในตัวของมันเอง เครื่องแบบกลายเป็นตัวสถาบันที่เข้ามาครอบเราเมื่อเราสวมใส่ เราเป็นเพียงร่างทรงของเครื่องแบบ

คำถามคือ ในโรงเรียน ในสถาบันการศึกษา ในมหาวิทยาลัย ซึ่งเราต้องการปลูกฝังวัฒนธรรมของการใช้ความคิด การแสดงความคิดเห็น ความกล้าแสดงออก เราจะยังต้องควบคุมการแสดงออกขั้นพื้นฐานอย่างหนึ่งคือการแสดงออกของเรือนร่างไปทำไม หากเราควบคุมนักเรียนนักศึกษาให้แต่งกายอย่างไร ย่อมหมายถึงว่า เรากำลังควบคุมให้พวกเขาอยู่ในระบบระเบียบ กำลังลดทอนความเป็นคนของพวกเขา กำลังใช้อำนาจกดพวกเขาอยู่ด้วย

หลักการต่างๆ สำหรับบังคับให้นักศึกษาใส่เคร่่ืองแบบจึงล้วนเป็นข้ออ้าง ไม่ใช่เหตุผล เป็นข้ออ้างที่ยกมาเพื่อกลบเกลื่อนการใช้อำนาจควบคุม หากใช้เหตุผล ข้ออ้างเหล่านี้ล้วนฟังไม่ขึ้นทั้งสิ้น

(1) ข้ออ้างเรื่องความประหยัด? ฟังไม่ขึ้น การที่พ่อแม่ผู้ปกครองต้องเสียเงินซื้อชุดนักเรียนในวันเปิดเทอมแต่ละภาคสิ้นเปลืองเพียงใด ย่อมรู้กันดี ในต่างจังหวัดห่างไกล การบังคับให้เด็กใส่ชุดนักเรียนเป็นปัญหามายาวนาน และอันที่จริง เมื่อเทียบคุณภาพของเนื้อผ้าและความสะดวกสบายแล้ว เสื้อยืดและกางเกงยีนส์ทั้งถูกและทนกว่าชุดนักเรียนนักศึกษาแน่นอน แถมเด็กๆ และนักศึกษายังสามารถใส่ได้ทุกโอกาส ไม่ใช่เอาไว้ใส่ไปโรงเรียนไปสถานศึกษาเท่านั้น 

แต่หากไม่ใส่ชุดนักเรียน การเปิดโอกาสให้สามารถหาเสื้อผ้าและรองเท้าที่เหมาะสมกับอากาศ ลักษณะนิสัย รสนิยม และกำลังทรัพย์ของผู้ปกครองเอง จะช่วยให้ผู้ปกครองและเด็กๆ มีทางเลือกมากขึ้น แทนที่จะสิ้นเปลืองเงิน พลังงาน และสิ่งแวดล้อม ไปกับการพยายามรักษาความขาวของเสื้อนักเรียน เสื้อยืดราคาย่อมเยากับกางเกงยีนส์หรือกางเกงขาสั้นราคาประหยัดที่มีอยู่มากมายตามตลาดนัด จะช่วยให้ผู้ปกครองประหยัดได้เช่นกัน

(2) ข้ออ้างเรื่องความสะอาด? ฟังไม่ขึ้น การบังคับให้นักเรียนทั้งหญิงและชายต้องใส่รองเท้าหนังหรือผ้าใบและถุงเท้าตลอดเวลานั้น ขัดกับอากาศบ้านเราอย่างยิ่ง ยิ่งพวกนักเรียนมักวิ่งเล่นกันตลอด ทำให้เหงื่อสะสมในถุงเท้ารองเท้ามาก โรงเรียนส่วนใหญ่ก็ไม่มีห้องอาบน้ำรองรับ ไม่มีการให้ผลัดเปลี่ยนเสื้อผ้าในวิชาพละ มาแต่เช้าชุดไหน ก็เรียนพละชุดนั้น ใส่ชุดนั้นวิ่งเล่นต่อตอนเย็น แล้วกลับบ้านโหนรถเมล์ เบียดเสียดยัดทะนานกันก็ไปในชุดนั้น

มีเกร็ดเกี่ยวกับเท้าผมคือ ตอนเด็กๆ เท้าผมเป็นเชื้อราตลอดเวลา ทั้งๆ ที่ผมซักรองเท้าทุกสัปดาห์จนสีซีดและพังไวจนต้องเปลืองเงินซื้อใหม่บ่อยๆ ส่วนถุงเท้า ผมซักเองตั้งแต่อายุ 10 ขวบ มันดำมากและเหม็นเพราะต้องถอดเดินในห้องเรียน จนผมพัฒนาวิธีซักถุงเท้าด้วยการซักถึง 3 น้ำ รอบแรกน้ำเปล่า ขยี้ถี่ๆ แรงๆ ความสกปรกจะออกไปจนย้อมให้น้ำใสๆ กลายเป็นดำเลยทีเดียว รอบสองใช้ผงซักฟอก รอบสุดท้ายน้ำเปล่า แต่จนแล้วจนรอด เท้าผมก็ยังเป็นเชื้อรา มีใครเคยสนใจเท้านักเรียนบ้างหรือไม่ สนใจสุขภาพบนเรือนกายจากการบังคับให้แต่งตัวแบบไม่เหมาะสมกับสภาวะอากาศร้อนชื้นบ้างหรือไม่ 

พอเข้ามหาวิทยาลัย ที่ธรรมศาสตร์ ส่วนใหญ่ผมดำเนินชีวิตแบบ "3 ย" คือเสื้อยืด กางเกงยีนส์ รองเท้ายาง ไม่เคยมีชุดนักศึกษา เคยใส่กางเกงสีดำ เสื้อเชิ้ตขาว รองเท้าหนังไปเรียนอยู่ไม่กี่เดือนเท่านั้น ไม่เคยมีเข็มขัดหัวตรามหาวิทยาลัย ชีวิตปลายเท้าผมดีขึ้นมาก ไม่เป็นเชื้อราอีกต่อไป และทำให้เพิ่งเข้าใจว่า ที่ผ่านมาเท้าตัวเองไม่ปกติ 

แต่มีวิชาหนึ่ง ผมใส่รองเท้าแตะ กางเกงยีนส์ เสื้อยืดเข้าไปเรียนในวันเปิดเทอมวันแรก ซึ่งก็เหมือนๆ กับไปเรียนวิชาอื่นๆ แต่ที่จริงผมตั้งใจจะไปเรียนวิชานี้มาก เพราะสนใจเนื้อหา แต่อาจารย์ไม่ค่อยเปิดสอน วันแรกเข้าไป เจออาจารย์ดุเอาว่า "เธอแต่งตัวแบบนี้แสดงว่าไม่เคารพอาจารย์และวิชานี้เลย" ผมไหว้อาจารย์ ไม่ได้ขอโทษแต่ร่ำลา แล้วหันหลังเดินออกจากห้อง ไปถอนวิชานั้นทันที 

(3) ข้ออ้างเรื่องความเหมาะสมกับเพศและวัย? ฟังไม่ขึ้น การบังคับให้นักเรียนหญิงนุ่งกระโปรงและสวมรองเท้าหนัง ซึ่งเป็นแบบของรองเท้าที่ใส่ไม่สบายเลย นับเป็นการกดขี่ทางเพศ เป็นการควบคุมการเคลื่อนไหวร่างกายของเด็กผู้หญิง แถมการนุ่งกระโปรงยังล่อแหลมต่อการล่วงละเมิดทางเพศได้มากกว่าการสวมกางเกง

เมื่อเร็วๆ นี้เห็น infographic ที่แชร์กันมากๆ ว่าประเทศไหนยังบังคับให้นักศึกษามหาวิทยาลัยแต่งชุดนักศึกษาอยู่แล้วขัดใจ เนื่องจากรวมประเทศเวียดนามไว้กับไทยด้วย คนทำคงนั่งเทียนคิดเอาเองว่าเวียดนามคงบังคับเหมือนไทย แต่ที่จริงเวียดนามไม่ได้บังคับให้นักศึกษามหาวิทยาลัยแต่งชุดนักศึกษา ไม่มีชุดนิสิตนักศึกษาในเวียดนาม แม้แต่ชุดนักเรียนหญิงเวียดนามก็ยังเป็นกางเกงเลย ไม่บังคับให้ต้องนุ่งกระโปรง

(4) ข้ออ้างเรื่องไม่ให้ไขว้เขวไปแต่งตัวยั่วเพศ? ฟังไม่ขึ้น การแต่งกายเป็นส่วนหนึ่งของการแสดงออก เป็นการแสดงออกทางเรือนร่าง การแต่งกายแสดงความคิดเกี่ยวกับตัวเอง แสดงการให้ความหมายแก่ตัวเอง เป็นการสื่อสารทางสังคมและการปฏิสัมพันธ์กับสังคมที่อาศัยอยู่ ผู้แต่งกายทุกคนจึงต้องรู้จักตนเอง รู้จักเลือกที่จะบอกว่าฉันเป็นใคร เลือกที่จะสื่อสารกับสังคมที่เกี่ยวข้องด้วย ไม่ได้เพื่อเรียกร้องความสนใจทางเพศเท่านั้น 
 
ตรงกันข้าม ดังที่เราก็เห็นๆ กันอยู่ว่า ปัจจุบันชุดนักเรียนชุดนักศึกษากลายเป็นวัตถุทางเพศ ยั่วยุกามารมณ์ได้ไม่แพ้บิกินี่เช่นกัน
 
หากปลดแอกจากการใส่ชุดนักเรียนนักศึกษา การแสดงออกย่อมหลากหลายกว่านี้ เหมือนการแต่งตัวของวัยรุ่นทั่วไปเมื่อเขาไม่ได้ไปโรงเรียนหรือไม่ได้เข้าห้องเรียน ไม่ใช่ว่าทุกคนอยากจะย่ัวสวาทกันตลอดเวลา ไม่ใช่ว่าชุดรัดรูป แหว่งเว้าที่นั่นที่นี่จะยั่วยวนทุกคนได้เสมอไป และไม่ใช่ว่าการแสดงออกของวัยรุ่นจะต้องมุ่งกระตุ้นเร้าทางเพศกันตลอดเวลา
 
ที่สำคัญคือ การแสดงออกทางร่างกายเป็นด้านหนึ่งของการแสดงออกถึงความคิดสร้างสรรค์ ไม่ว่าจะดูสร้างสรรค์หรือไม่ในสายตาผู้ใหญ่ก็ตาม การแต่งกายเป็นการบอกเล่าความคิด ความรู้สึก ความหมาย กระทั่งจิตวิญญาณของผู้สวมใส่ ไม่เช่นนั้นทำไมนักบวช ทหาร ข้าราชการ จึงไม่แต่งกายให้เหมือนไปกันหมดทั้งประเทศเล่า 
 
หากเด็กวันนี้ถูกปิดกั้นการแสดงออก ทำให้ไม่สามารถแม้แต่จะบอกได้ว่าตนเองเป็นใคร ผ่านเรือนร่าง ผ่านการแต่งกายของพวกเขา แล้วเราจะคาดหวังให้เขาโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีความคิดต่อสิ่งต่างๆ อย่างสร้างสรรค์ได้อย่างไรเล่า จะให้พวกเขาสร้างสรรค์ความคิดความอ่านที่ยิ่งใหญ่กว่าตัวเขาเองได้อย่างไร จะให้พวกเขากล้าแสดงออกถึงความคิดสร้างสรรค์ให้สังคมและประเทศชาติได้รับรู้ได้อย่างไร ถ้าแม้แต่กับร่างกายของเขาเองก็ยังไม่ให้พวกเขาคิดเห็น ไม่ให้พวกเขาแสดงออก

 

บล็อกของ ยุกติ มุกดาวิจิตร

ยุกติ มุกดาวิจิตร
ไม่เพียงแต่นักเขียนบางคนเท่านั้นที่อาจจะไม่เข้าใจหรือมองข้ามประเด็นความแตกต่างทางชาติพันธ์ุ แต่ผมคิดว่าแวดวงภาษาและวรรณกรรมบ้านเราอาจจะไม่ตระหนักถึงปัญหานี้โดยรวมเลยก็ได้ และในแง่หนึ่ง ผมคิดว่าซีไรต์เองอาจจะมีส่วนสร้างวัฒนธรรมไม่อ่อนไหวต่อความแตกต่างทางวัฒนธรรมด้วยเช่นกัน และถึงที่สุดแล้ว นี่อาจจะกลายเป็นข้อจำกัดที่ปิดกั้นโอกาสที่วรรณกรรมไทยจะก้าวเข้าสู่ระดับสากล
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ทัศนะของนายแพทย์ที่เป็นตัวแทนของคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แห่งชาติ แสดงให้เห็นถึงความคิดคับแคบของผู้มีอำนาจกลุ่มหนึ่ง ที่มักใช้อำนาจก้าวก่ายชีวิตผู้คน บนความไม่รู้ไม่เข้าใจไม่อยากรับผิดชอบต่อปัญหาเชิงโครงสร้างที่ละเอียดอ่อน และบนกรอบข้ออ้างเรื่องคุณธรรมความดีที่ยกตนเองเหนือคนอื่น
ยุกติ มุกดาวิจิตร
แทนที่จะเถียงกับอีกท่านหนึ่งที่วิจารณ์ผมต่อหน้ามากมายเมื่อวาน ผมขอใช้พลังงานเถียงกับข้อเสนอล่าสุดของอาจารย์ธีรยุทธ บุญมีจากข่าวในมติชนออนไลน์ (http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1354935625&grpid=01&catid=&subcatid=) ดังนี้
ยุกติ มุกดาวิจิตร
นึกไม่ถึงและนึกไม่ออกจริงๆ ว่า ทำไมคนเปิดร้านขายหนังสือในปลายศตวรรษที่ 20 - ต้น 21 จะมีความคิดแบบนี้ได้ นี่แสดงว่าเขาไม่ได้อ่านหนังสือที่เขาขายบ้างเลย หรือนี่แสดงว่าการอ่านหนังสือไม่ได้ช่วยจรรโลงจิตใจนายทุนบางคนขึ้นมาได้เลย*
ยุกติ มุกดาวิจิตร
 เมื่ออ่านข่าวแอร์โฮสเตสที่เพิ่งถูกให้ออก ผมมีคำถามหลายข้อ ทั้งในมิติของโซเชียลมีเดีย hate speech และสิทธิแรงงาน อย่างไรก็ดี ขอเคลียร์ก่อนว่าหากใครทราบจุดยืนทางการเมืองของผม ย่อมเข้าใจดีว่าความเห็นต่อไปนี้ไม่ได้มาจากความเห็นทางการเมืองที่เอนเอียงไปในทางเดียวกับพนักงานสายการบินคนนี้แต่อย่างใด ข้อสังเกตคือ
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ขณะกำลังนั่งกินหอยแครงลวกอยู่เวลานี้ ก็ชวนให้คิดถึงคำพูดของนักวิชาการกัมพูชาคนหนึ่ง ที่เคยนั่งต่อหน้าอาหารเกาหลีจานพิเศษ คือหนอนทะเลดิบตัดเป็นชิ้นๆ ขยับตัวดึบๆ ดึบๆ อยู่ในจานแม้จะถูกตั้งทิ้งไว้เป็นชั่วโมง ตอนนั้น ผมบ่ายเบี่ยงไม่กล้ากินอยู่นาน แม้จะรู้ว่าเป็นอาหารพิเศษราคาแพงที่ศาสตราจารย์ชาวเกาหลีสรรหามาเลี้ยงต้อนรับการมาเกาหลีครั้งแรกของพวกเราหลายคน เพื่อนกัมพูชาบอกว่า "กินเถอะพี่ หอยแครงลวกในเมืองไทยน่ากลัวกว่านี้อีก" ผมจึงหาเหตุที่จะหลบเลี่ยงอีกต่อไปไม่ได้
ยุกติ มุกดาวิจิตร
 ผมนั่งดูบันทึกรายการ The Voice Thailand (เดอะวอยซ์) เป็นประจำ แม้ว่าจะเห็นคล้อยตามคำนิยมของโค้ชทั้ง 4 อยู่บ่อยๆ แถมยังแอบติดตามความเห็นเปรี้ยวๆ ของนักเขียนบางคนที่ชอบเรียกตนเองสวนทางกับวัยเธอว่า "ป้า" ซึ่งหมดเงินกดโหวตมากมายให้นักร้องหนุ่มน้อยแนวลูกทุ่ง แต่ผมไม่ได้รับความบันเทิงจากเดอะวอยซ์เพียงจากเสียงเพลง
ยุกติ มุกดาวิจิตร
 ผมพยายามถามตัวเองว่า การจะสนับสนุนหรือไม่สนับสนุนการชุมนุมขององค์การพิทักษ์สยามที่นำโดย "เสธ.อ้าย" จะมาจากเหตุผลประการใดบ้าง แต่ผมก็ชักจะเริ่มไม่แน่ใจว่า เอาเข้าจริง คนที่เข้าร่วมชุมนุมกับเสธ.อ้ายจะมีเหตุผลหรือไม่ หรือหากมี พวกเขาจะใช้เหตุผลชุดไหนกันในการเข้าร่วมชุมนุม ยังไงก็ตาม อยากถามพวกคุณที่ไปชุมนุมว่า พวกคุณอยากให้ประเทศเป็นอย่างนี้จริงๆ หรือ
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อวาน (20 พฤศจิกายน 2555) นักศึกษาคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เชิญไปบรรยายในงานสัมมนา "การเมืองเรื่องคนธรรมดา" ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ขอตัดส่วนหนึ่งของบทบรรยายของผมที่ใช้ชื่อว่า "การเมืองวัฒนธรรมดา: ความไม่ธรรมดาของสามัญชน" มาเผยแพร่ในที่นี้
ยุกติ มุกดาวิจิตร
 เมื่อ 16 พฤศจิกายน 2555 นิสิตรัฐศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเชิญไปร่วมกิจกรรมจุฬาวิชาการ โดยให้ไปวิจารณ์บทความนิสิตปริญญาตรี คณะรัฐศาสตร์จุฬาฯ 4 ชิ้น 1) ว่าด้วยเบื้องหลังทางการเมืองของการก่อตั้งองค์การอาเซียน 2) ว่าด้วยบทบาทและการต่อรองระหว่างประเทศในอาเซียน 3) ว่าด้วยการใช้สิทธิประโยชน์ทางการค้าของธุรกิจเอกชนไทยในคู่ค้าอาเซียน และ 4) ว่าด้วยนโยบายชนกลุ่มชาติพันธ์ุในพม่า ข้างล่างนี้คือบันทึกบทวิจารณ์
ยุกติ มุกดาวิจิตร
 การที่ประธานรัฐสภาปัดข้อเรียกร้องของประชาชนกว่า 3 หมื่นคน ที่นำโดยคณะนิติราษฎร์และคณะรณรงค์แก้ไขมาตรา 112 ด้านหนึ่งนับเป็นความขลาดเขลาของประธานรัฐสภา ด้านหนึ่งสะท้อนความขลาดเขลาของพรรครัฐบาลที่บอกปัดข้อเสนอนี้มาตั้งแต่ ครก.112 เริ่มรณรงค์
ยุกติ มุกดาวิจิตร
 บ้านเก่าเมืองหลัง เป็นสำนวนของคนไทดำในเวียดนาม เมื่อก่อน พอได้ขึ้นไปเยี่ยมเยือนพี่น้องชาวไทดำที่เซอนลาแต่ละครั้ง ก็จะถูกพวกคนเฒ่าคนแก่ล้อว่า “เหมือนพวกหลานๆ กลับมาเยี่ยมบ้านเก่าเมืองหลังสินะ” ในความหมายที่ว่า เหมือนผมได้กลับไปเยี่ยมบ้านเกิดเมืองนอนนั่นเอง ทั้งๆ ที่ตอนนั้น ก็ห่างหายไปแค่เพียงหลายเดือน หรืออย่างมากก็ในรอบปี