Skip to main content

งานวิจัยทางสังคมศาสตร์ที่ดี โดยเฉพาะงานทางมานุษยวิทยา มักมีแรงขับจากอารมณ์ใคร่บางอย่าง

แต่ละปี ผมสอนวิชาชั้นปริญญาตรีภาคละหนึ่งวิชา ตามปกติ ภาคที่ 2 ของแต่ละปี ผมจะสอนวิชาชื่อ “ชาติพันธ์ุนิพนธ์” (ethnography) ส่วนแรกของวิชา จะให้นักศึกษาอ่านงานเขียน มาถกเถียงกันถึงแนวคิดต่างๆ ที่วิพากษ์งานเขียนทางมานุษยวิทยา ส่วนหลัง จะให้นักศึกษาทำโครงการวิจัยของแต่ละคน โดยมีโจทย์ให้แต่ละสัปดาห์ต้องเขียนบันทึกภาคสนามด้านต่างๆ แล้วนำมาให้เพื่อนอ่านและวิจารณ์กันในชั้นเรียน ด้วยห้องเรียนขนาดค่อนข้างใหญ่ บางปี 35 คน ปีนี้มีถึง 65 คน ทำให้การจัดการชั้นเรียนเพื่อให้ได้วัตถุประสงค์แบบที่ผมต้องการทำได้อย่างยากเย็นมาก แต่สุดท้าย นักศึกษาในวิชานี้ก็มักจะผลิตผลงานดีๆ ออกมา

 

ปีนี้ นักศึกษาเริ่มเสนอหัวข้อวิจัยที่แต่ละคนอยากทำ มีหัวข้อที่น่าสนใจมากมาย เช่น ความคิดเกี่ยวกับร่างกายของผู้ป่วยมะเร็งเต้านมที่ต้องตัดเต้านม คนสูงอายุกับโลกเทคโนโลยีปัจจุบัน ความคิดเรื่องการรักสัตว์ของคนเลี้ยงหมา เมืองในสายตาคนขับแท็กซี่ ชีวิตข้ามพรมแดนของชาวซิกข์ ชีวิตชายที่เลือกเป็นพ่อบ้าน อัตภาวะของตัวตนคนพิการ ฯลฯ แต่ก็ยังมีนักศึกษาอีกมากที่ขณะนี้ยังคิดหัวข้อวิจัยไม่ออก 

 

เพื่อกระตุ้นให้นักศึกษาคิดหาหัวข้อวิจัย ผมเขียนข้อความต่อไปนี้ให้นักศึกษาอ่าน...

 

งานวิจัยที่ดีไม่จำเป็นต้องมาจากการอาศัยระเบียบวิธีวิจัยที่แข็งแกร่ง หรือความเคร่งครัดในการเก็บข้อมูลอย่างเข้มข้น ไม่ได้มาจากการใช้ทฤษฎีที่หรูหรา ยุ่งยากวกวนแต่อย่างใด

 

แต่งานวิจัยที่ดีมักมาจากแรงขับบางอย่าง มาจากความมุ่งมั่นบางอย่าง นักวิจัยที่มีประสบการณ์บางคนบอกว่า งานวิจัยที่ดีมาจาก passion ที่ผมอยากแปลว่า "อารมณ์ใคร่" หากคุณทำงานวิจัยด้วยความใคร่ งานวิจัยมักออกมาดี ความใคร่แบบไหนบ้างที่จะกระตุ้นให้เกิดงานวิจัยที่ดีได้

 

- curiosity ความใคร่รู้ใคร่เห็น สอดรู้สอดเห็น อยากเข้าใจ อยากรู้จัก อยากพูดคุยสนทนา อยากรู้เบื้องหลัง เบื้องลึก ของคนที่ยังไม่รู้จัก หรือแม้แต่ของคนที่รู้จักดีอยู่แล้ว นี่เป็นความใคร่พื้นฐานของการวิจัย

 

- adventurous ความตื่นเต้นท้าทาย เป็นความสนุกที่ได้คิด ได้ประลองทางปัญญา อยากทะเลาะโต้เถียงกับใคร อยากเขียนงานหรือวิจัยสิ่งที่ตนเองอยากอ่าน เนื่องจากยังไม่เห็นมีใครเขียนสิ่งที่ตนเองอยากอ่าน อยากรู้ หรือยังไม่เห็นมีใครใช้มุมมองแบบที่ตนเห็น เพื่ออธิบายสิ่งที่มักกล่าวถึงกันมามากแล้ว เป็นเสมือน “คนเห็นผี” ที่คนอื่นไม่เห็น นี่เป็นความใคร่พื้นฐานอีกข้อหนึ่งของนักผจญภัยทางปัญญา

 

- shock ตื่นตระหนกกับสิ่งแปลกใหม่ ตื่นตระหนกกับมุมมองใหม่ที่มีต่อสิ่งปกติประจำวัน หรือแม้กระทั่งไม่เฉื่อยชา ไม่ตายด้านกับสิ่งคุ้นเคย ไม่ take for granted กับสิ่งต่างๆ จนเห็นทุกอย่างเป็นเรื่องธรรมชาติไปเสียหมด นี่เป็นอารมณ์ใคร่แบบนักวิจัยทางสังคมโดยแท้

 

- empathy and sympathy เห็นอกเห็นใจ เอาใจใส่ อ่อนไหว ต้องการทำความเข้าใจคนอื่น ไม่ตัดสินคนอื่นจากอคติของตนเองแต่แรก ไม่มองข้ามความเฉพาะเจาะจงที่อาจมีเหตุผลแตกต่างรองรับความแปลกประหลาด นี่มักเป็นความใคร่แบบนักมานุษยวิทยา ที่มุ่งทำความเข้าใจชีวิตที่แตกต่าง

 

- anger ความโกรธ โกรธที่เห็นคนถูกเข้าใจผิด โกรธที่เห็นคนถูกดูถูก โกรธที่เห็นคนถูกละเมิด ถูกเอาเปรียบ โกรธที่คนไม่เข้าใจคนบางกลุ่ม ทนไม่ได้กับความบิดเบี้ยวของสังคม เกิดแรงบันดาลโทสะกับการเอารัดเอาเปรียบที่อยู่ต่อหน้า ทำให้อยากอธิบาย อยากเข้าใจ เพื่อช่วยเหลือ เพื่อให้สังคมยอมรับพวกเขา เพื่อให้สังคมเป็นธรรม นี่เป็นความใคร่ของนักวิจัยที่มีจุดยืนเชิงวิพากษ์สังคม

 

- resentment ความคับข้องใจ อึดอัดใจดับสภาพที่ตนเองหรือผู้อื่นถูกกดดัน หรือกับการที่ตนเองหรือผู้อื่นถูกกระทำอย่างอยุติธรรม จึงอยากเขียนงาน อยากวิจัย เพื่อให้คนเข้าใจ ให้สังคมเข้าใจ นี่เป็นงานวิจัยที่แสดงให้สังคมรับรู้และเข้าใจชีวิตของผู้วิจัยเอง

 

อาจมีอารมณ์ใคร่อื่นๆ อีกที่ทำให้คนทำวิจัย แต่ส่วนใหญ่ผมอาศัยอารมณ์ใคร่ต่างๆ ข้างต้นเพื่อการทำวิจัย งานแต่ละชิ้นอาจมาจากอารมณ์ใคร่คนละแบบกัน หรือหลายๆ แบบปะปนกัน แต่แทบทุกครั้งที่ผมทำวิจัย หรือเขียนงาน ผมทำด้วยอารมณ์ใคร่บางอย่างเสมอ 

 

หวังว่าจะได้อ่านงานวิจัยที่พวกคุณทำด้วยความใคร่

บล็อกของ ยุกติ มุกดาวิจิตร

ยุกติ มุกดาวิจิตร
ผมเลี่ยงที่จะอ่านข่าวเกี่ยวกับมติครม.งดเหล้าเข้าพรรษาเพราะไม่อยากหงุดหงิดเสียอารมณ์ ไม่อยากมีความเห็น และไม่อยากต้องโดนด่าหลังแสดงความเห็น
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อต้องกลับมาชวนคนอ่านงานของบรมครูทาง "วัฒนธรรมศึกษา" คนหนึ่ง ที่ผมไม่ได้เชี่ยวชาญอะไรนัก 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ไปแม่ฮ่องสอนสามวัน ค้างสองคืน เพื่อร่วมงาน "ไทใหญ่ศึกษา" ทั้งๆ ที่ไม่เคยไปมาก่อน ไม่รู้จักวัฒนธรรมไทใหญ่มาก่อน พอจะรู้จากการอ่านงานเรื่อง "ฉาน" เรื่องรัฐไทใหญ่ เรื่องประวัติศาสตร์บ้างนิดหน่อย จึงมิอาจให้ความเห็นใดๆ กับอาหารไทใหญ่ได้ ทำได้แค่เพียงบอกเล่า "ความประทับใจแรกเริ่ม" ในแบบที่นักชาติพันธ์ุนิพนธ์ทั่วไปมักทำกัน
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ไม่รู้เป็นอะไรกันนักหนากับเครื่องแต่งกายนักศึกษา จะต้องมีการประจาน จะต้องมีการให้คุณค่าบวก-ลบ จะต้องถือเป็นเรื่องจริงจังกันจนบางคณะถึงกับต้องนำเรื่องนี้เข้ามาเป็นวาระ "เพื่อพิจารณา" ในที่ประชุมคณาจารย์
ยุกติ มุกดาวิจิตร
อาจารย์ชาญวิทย์เกิดวันที่ 6 พฤษภาคม วันที่ 22 มิถุนายนนี้ ลูกศิษย์ลูกหาจัดงานครบรอบ 72 ปีให้อาจารย์ที่คณะศิลปศาสตร์ ธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อวานนี้ (12 มิถุนายน 2556) อาจารย์ที่คณะท่านหนึ่งเชิญไปบรรยายในวิชา "มนุษย์กับสังคม" หัวข้อ "สังคมศาสตร์กับความเข้าใจผู้คนและสังคม" ให้นักศึกษาปริญญาตรีชั้นปี 1 ในห้องเรียนมีนักศึกษาราว
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ข้อเขียนนี้ถูกเผยแพร่ในอีกพื้นที่หนึ่งไปเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว เนื่องจากเห็นว่าเข้ากับโอกาสของการเปิดภาคการศึกษาของมหาวิทยาลัย จึงขอนำมาเสนออีกครั้งในที่นี้
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ทั้งๆ ที่ประเทศไทยมีกลุ่มชาติพันธ์ุอยู่หลากหลายกลุ่ม พวกเขาอาศัยอยู่ในพื้นที่ยุทธศาสตร์ที่สำคัญ และร่วมสร้างสังคม สร้างประวัติศาสตร์โบราณและสมัยใหม่อย่างขาดไม่ได้ แต่ประเทศไทยก็ไม่เคยมีนโยบายกลุ่มชาติพันธ์ุมาก่อน (ยาวนะครับ ถ้ายังอยู่ในโลก 8 บรรทัดโปรดอย่าอ่าน)
ยุกติ มุกดาวิจิตร
 มีคนบ่นว่า "ผ่านมาสามปีแล้ว ทำไมคนเสื้อแดงยังไปรวมตัวกันที่ราชประสงค์กันอีก นี่พวกเขาจะต้องระลึกถึงเหตุการณ์นี้กันไปจนถึงเมื่อไหร่" แล้วลงท้ายว่า "รถติดจะตายอยู่แล้ว ห้างต้องปิดกันหมด ขาดรายได้ นักท่องเที่ยวเดือดร้อน" นั่นสิ น่าคิดว่าทำไมการบาดเจ็บและความตายที่ราชประสงค์เมื่อพฤษภาคม 2553 มีความหมายมากกว่าโศกนาฏกรรมทางการเมืองครั้งที่ผ่านมาก่อนหน้านี้
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เรียน ศาสตราจารย์ ดร. อมรา พงศาพิชญ์ ประธานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เห็นนักคิดไทยสองคนออกมาเทศนาแล้วอดสงสัยไม่ได้ว่า "ทำไมนักคิดไทย พอแก่ตัวลงต้องไปจนแต้มที่วิธีคิดแบบพุทธๆ"